รีเซต
NEXT ? เส้นทาง อนาคต และทางเลือกที่ดีที่สุดของ "บาร์เซโลน่า" ... by "อ.เอี่ยม"

NEXT ? เส้นทาง อนาคต และทางเลือกที่ดีที่สุดของ "บาร์เซโลน่า" ... by "อ.เอี่ยม"

NEXT ? เส้นทาง อนาคต และทางเลือกที่ดีที่สุดของ "บาร์เซโลน่า" ... by "อ.เอี่ยม"
kentnitipong
3 พฤศจิกายน 2560 ( 14:48 )
1.1K

สวัสดีครับแฟนกีฬา TrueID Sports และท่านผู้อ่านทุกท่าน เชื่อเหลือเกินว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาแฟนฟุตบอลหลายคนคงจะได้ข่าวใหญ่อีกคำรบจากแคว้นสุดฮอตแคว้นหนึ่งของสเปน … ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงแคว้นที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศนั่นก็คือ “กาตาลุนญา”

 

 

เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่ทราบ และครั้นจะใช้นิ้วทั้ง 20 นิ้วบนร่างกายก็คงนับไม่พอกับจำนวนครั้งที่ประชาชนชาวกาตาลุนญาพยายามลุกฮือออกมาประท้วงเพื่อต้องการแยกตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสเปน โดยล่าสุดเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุนญาได้ลงมติเห็นชอบประกาศตนเองเป็นเอกราชจากสเปน พร้อมจัดตั้งตนเองเป็นสาธารณรัฐ ด้วยคะแนนเสียง 70 จากคะแนนเสียงทั้งหมด 135 เสียงในสภา

ที่น่าสนใจ คือ “เอฟซี บาร์เซโลน่า” หรือ “บาร์ซ่า” ทีมฟุตบอลคู่บุญของแคว้นกาตาลุนย่าจะเดินไปทางไหนต่อ?

แต่ก่อนที่จะพูดถึงความเป็นไปได้ในการย้ายลีกหรืออะไรก็ตามแต่ ผมอยากให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับพวกเขากันสักนิด…

 

 

บาร์เซโลน่า ก่อตั้งในปี 1899 โดยกลุ่มนักฟุตบอล 3 สัญชาติ ประกอบด้วย สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ และสเปน นำโดย ฮานส์ แม๊กซ์ แกมเปอร์ เฮสซิค (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ชูอัง กัมเปร์) ผู้เดินทางมาเยี่ยมญาติของเขาที่สเปน แต่เกิดหลงรักแคว้นกาตาลุนญาเข้าอย่างจัง หลังจากนั้นเขาได้ลงประกาศโฆษณาใน “โลสเดปอร์เตส” ว่าอยากจะก่อตั้งสโมสรฟุตบอลในเมืองนี้ และนั่นคือจุดกำเนิดโดยสังเขปของในสโมสรที่ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

“Més que un club” แปลเป็นภาษาไทยประมาณว่า “เป็นมากกว่าสโมสร” คือ สโลแกนประจำสโมสรของบาร์เซโลน่า ที่ติดหราอยู่บนอัฒจันทร์ในสนามคัมป์ นู ซึ่งถือเป็นสโลแกนที่เกิดขึ้นจากความโหดร้ายในสงครามเผด็จการของนายพลฟรังโก้ และชาวกาตาลันที่ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย

และนี่คือสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างดีว่าความรักของชาวกาตาลันที่มีต่อ บาร์ซ่า นั้นมากมายเพียงใด แม้ในปัจจุบันเองเราก็จะเห็นชาวกาตาลันเองยอมเสียเงินรายปีเพื่อให้ตัวเองได้มีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของยอดสโมสรฟุตบอลที่เรียกได้ว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย” ของชาวกาตาลันแห่งนี้

เมื่อรู้จักกับ บาร์เซโลน่า พอสมควรแล้ว กลับมาพูดถึงประเด็นเรื่องอนาคตของพวกเขาหากแคว้นกาตาลุนย่าแยกตัวออกจากสเปนได้สำเร็จกันต่อ ซึ่งคงต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ในมุมมองของผม

ประเด็นแรก ท่านผู้อ่านต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแข่งขันของแต่ละสโมสรที่ตั้งอยู่ในประเทศสเปน ทั้งในระดับพรีเมร่า (ลาลีก้า ) รวมถึง เซกุนด้า อยู่ภายใต้การควบคุมของ ราชสหพันธ์ฟุตบอลสเปน (RFEF) และ ลาลีกา (LFP) ครับ ดังนั้น หากแคว้นกาตาลุนญาแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนได้สำเร็จ นั่นหมายความว่า บาร์เซโลน่า จะพ้นจากสภาพสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ทันที ส่งผลให้พวกเขาจะหมดสิทธิ์ในการลงเล่นใน ลา ลีก้า และทุกรายการแข่งขันฟุตบอลภายใต้การควบคุมของยูฟ่าอีกด้วย

สิ่งเดียวที่จะทำให้ บาร์เซโลน่า สามารถลงเล่นในลีกสูงสุดของสเปนต่อได้คือพวกเขาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอไปยัง ลา ลีก้า เพื่อพิจารณาสิทธิ์ให้พวกเขาสามารถลงเล่นในสเปนต่อไป ซึ่งผมมองว่าเปนไปได้ยาก เพราะ ฆาเบียร์ เตบาส ประธานของลา ลีก้า ดันเป็นแฟนมาดริดตัวยงซะนี่ แถมพ่วงด้วยวีรกรรมสุดแสบของเจ้าตัวที่อนุญาตให้ ลาส พัลมาส ปักธงชาติสเปนบนเสื้อแข่งขันในเกมพบ บาร์เซโลน่า เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าคงไม่ใช่ไอเดียที่ดีนักหาก บาร์เซโลน่า จะไปวัดดวงกับองค์กรที่มีแม่ทัพชื่อ เตบาส

 

 

ประเด็นที่สอง คือ การจัดตั้งลีกใหม่ของตัวเองในแคว้นกาตาลุนญา ซึ่งอันนี้ผมมองว่า “ทำง่ายแต่ไร้ประโยชน์” เพราะทางเลือกนี้จะทำให้มูลค่าของ บาร์เซโลน่า ลดลงเรื่อยๆ คิดดูสิครับ หากเราเห็น บาร์ซ่า ลงโม่แข้งกับ เอสปันญ่อล บาร์ดาโลน่า กิโรน่า ตาร์ราโกน่า ซาบาร์เดล ฯลฯ ถามความรู้สึกของผู้ชมอย่างเราก็พอว่าเป็นอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องถามถึงมุมมองของสปอนเซอร์รายใหญ่เลย

อย่าลืมนะครับว่า บาร์เซโลน่า จัดอยู่ในประเภท “สโมสรฟุตบอลอาชีพระดับสูง” (Elite Level) นั่นหมายความว่า สโมสรระดับนี้ไม่ได้ลงแข่งในเกมระดับทั่วไป หรือเล่นเพื่อกลุ่มแฟนบอลกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นครับ หากแต่พวกเขา คือ สินค้าทางการตลาดชิ้นโตที่สามารถทำเงินได้มากมายมหาศาลจากคนทั่วโลก และพวกเขาได้พิสูจน์แล้วกับการเป็นสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยเป็นอันดับสองของโลก โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 801 ล้านปอนด์ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) หลังสิ้นสุดฤดูกาลนี้

ซึ่งสปอนเซอร์ปัจจุบันอย่าง “Rakuten” ที่ยอมจ่ายเงินสูงสุดถึง 61.5 ล้านยูโรต่อฤดูกาล หาก บาร์ซ่า สามารถคว้าแชมป์ลาลีกา และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก  พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ บาร์เซโลน่า คือทีมที่มีอิทธิพลสูงในเชิงธุรกิจทุกย่างก้าว ไม่ใช่อยากจะไปซ้ายหรือขวาได้ตามใจชาวกาตาลุนญาเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งมูลค่าที่เกิดขึ้นมาจากเล็กจนกลายเป็นมหาศาลนี้ พวกเขาล้วนสร้างมูลค่าจากถิ่นฐานการลงเล่นในสเปนทั้งสิ้น  โดยเฉพาะ “เอล กลาซิโก้” แมทช์สุดคลาสสิกที่เคยทำรายได้มากกว่า 40 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 1.3 พันล้านบาท)

รายได้ระดับนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแข่งขันกับทีมจากแคว้นกาตาลุนญาด้วยกันเองอย่างแน่นอน และสุดท้ายพวกเขาอาจจะเสียซุปเปอร์สตาร์ของทีมไปโดยปริยายตามวิถีฟุตบอลสมัยใหม่

ถึงแม้ทางทฤษฎี บาร์เซโลน่า จะสามารถยื่นคำร้องขอย้ายลีกไปยังลีกเอิง ฝรั่งเศส หรือ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้ตามที่สื่อต่างๆคาดการณ์ก็ตาม แต่ก็ต้องผ่านการพิจารณาจากสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) หรือ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) และคงไม่ใช่งานง่ายที่องค์กรลูกหนังทั้งสองประเทศจะยินยอมง่ายๆ เพราะต้องคำนึงถึงสโมสรสมาชิกอีกหลายทีมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย และถึงแม้จะมีองค์กรของประเทศไหนยินยอมก็ไม่มีอะไรการันตีว่า บาร์เซโลน่า จะหารายรับได้มากเท่ากับปัจจุบันที่พวกเขาแทบจะเป็นเบอร์หนึ่งในสเปน

 

 

ไม่ว่าจะมองมุมไหน หากตัดเรื่องการเมืองออกไปและมองเฉพาะมุมของ “ธุรกิจกีฬา” ผมยังมองว่าทางเลือกที่ดีที่สุดของ บาร์เซโลน่า คือ การแสดงจุดยืนที่จะลงเล่นในลาลีกา สเปน ต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วการรักษาไว้ซึ่งสโมสรที่เป็นสัญลักษณ์ และลมหายใจของชาวกาตาลัน…

“ย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด”

 

บอลไทยบอลนอก ไม่พลาดทุกบิ๊กแมตช์ รวม 7 ลีก 5 ถ้วย มันส์ ชัดระดับ HD พร้อมกีฬาฮิตอีกมากมาย และ คลิปไฮไลท์ฟุตบอล
ติดตามข่าวสารได้ที่ TrueID App และ เว็บไซต์ Sport.Trueid.net หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID

 

ยอดนิยมในตอนนี้