รีเซต
TRUE OPINIONS : รวมแมตช์สุดระทึกของทีมชาติไทย ในศึก "AFF Futsal Championship" ... by "ตรู่ เชียร์ไทย''

TRUE OPINIONS : รวมแมตช์สุดระทึกของทีมชาติไทย ในศึก "AFF Futsal Championship" ... by "ตรู่ เชียร์ไทย''

TRUE OPINIONS : รวมแมตช์สุดระทึกของทีมชาติไทย ในศึก "AFF Futsal Championship" ... by "ตรู่ เชียร์ไทย''
kentnitipong
7 พฤศจิกายน 2560 ( 15:18 )
5K

Futsal Talk กับ “ตรู่ เชียร์ไทย” ยังคงอยู่ในกระแสหลังจากที่ ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย เพิ่งคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ ฟุตซอล แชมเปี้ยนชิพ 2017” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 68 เกมที่ทีมชาติไทยลงแข่งในชิงแชมป์อาเซียน มีหลายๆเกมที่อยู่ในความทรงจำ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นแมตช์คลาสสิคของทัวร์นาเม้นต์นี้ เราได้รวบรวมเกมสุดระลึกของทีมชาติไทย 6 เกม แฟนฟุตซอลคงลืมไม่ลงแน่ๆ

 

 

อันดับที่ 6 ไทย 1-3 อินโดนีเซีย รอบแบ่งกลุ่ม 2008

วันที่ 28 สิงหาคม 2551 ณ อาคารกีฬานิมิบุตร

ความพ่ายแพ้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยในรายการนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชุดที่ดีที่สุดเตรียมทีมไว้เล่น ไทยแลนด์ ไฟว์ 2008 และ เวิลด์คัพ 2008 ที่บราซิล ดังนั้นชิงแชมป์อาเซียน กลายเป็นเวทีของผู้เล่นอายุไม่เกิน 21 ปี ขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ แต่ละคนโนเนมทั้งนั้น อาทิ วิวัฒน์ ไทยเจริญ (17 ปี), ณัฐวุฒิ หมัดยะลาน (18 ปี), ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง (19 ปี), กฤษดา วงษ์แก้ว (20 ปี), จิรวัฒน์ สอนวิเชียร (20 ปี) มีเพียงแค่ อุกฤษณ์ แต่งตั้ง อายุเกินคนเดียวที่ถูกส่งมาประคองน้องๆ ชุดนี้

ก่อนแข่งต่างชนะมา 2 นัดทั้งคู่ เป็นการแย่งที่ 1 ของกลุ่ม แน่นอนว่ายู 21 เจอกับชุดใหญ่ ย่อมเสียเปรียบในเรื่องของประสบการณ์และความแข็งแกร่ง อีกทั้งอินโดนีเซียคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในปีนั้น เพราะออสเตรเลีย ทีมรองแชมป์เก่าไม่ได้เข้าร่วม แต่ไทยก็ทำได้ดีในช่วงที่คู่แข่งยังตั้งตัวไม่ติด กฤษดา วงษ์แก้ว ยิงนำตั้งแต่นาทีแรก หลังจากนั้นอิเหนายิงแซงจาก เมาลาน่า อิชซาน นาทีที่ 8 และ โทปาส ปามุงกัส นาทีที่ 18

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ายังบลัดของไทยสู้ได้ดี ไม่กลัวศักดิ์ศรีของผู้ใหญ่ จวนจะได้ประตูอยู่หลายครั้งแต่พลาดกันไปหมด สุดท้ายความคมกว่าของคู่แข่ง โทปาส ปามุงกัส ยิงได้นาทีที่ 36 หนีไป 3-1 นั่นทำให้ทุกอย่างเข้าทางอิเหนา แม้ว่าไทยจะบุกแหลกท้ายเกมที่ตีโซนรับไม่แตก เราต้องแพ้ไป 1-3

แต่ ”เฮทีหลังดังกว่า” คู่นี้โคจรมาพบกันอีกในรอบชิงชนะเลิศ คราวนี้เราชนะ 5-1 ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง เหมาคนเดียว 3 ประตู พร้อมทั้งคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า หลังจากนั้นเหล่านักเตะโนเนมในชุดนี้ กลายเป็นผู้เล่นชั้นนำของเอเชียกันยกขโยง ในรายของ ศุภวุฒิ พูดได้เต็มปากว่าเป็นระดับโลกไปแล้ว

***********

 

อันดับที่ 5 ไทย 0-2 เวียดนาม รอบแบ่งกลุ่ม 2014

วันที่ 23 กันยายน 2557 ณ สเตเดี้ยม เมลาวาติ ประเทศมาเลเซีย

เวียดนาม เป็นผู้จารึกว่าเป็นทีมแรกที่ไม่ถูกไทยยิงประตู และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ไทยยิงคู่แข่งไม่ได้ตลอดการลงเล่น 68 เกม แต่ไทยก็ไม่ใช่ชุดที่ดีที่สุด เพราะว่ากำลังหลักอย่าง ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง, กฤษดา วงษ์แก้ว, จิรวัฒน์ สอนวิเชียร ต้องรับใช้ ชลบุรี ทีมต้นสังกัดลงแข่งชิงแชมป์สโมสรโลก 2014 ที่ประเทศคาซัคสถาน

ชนะมา 3 นัดรวด เก็บ 9 คะแนนเต็มทั้งคู่ การเล่นส่งท้ายรอบแรกดุเดือดตั้งแต่นาทีแรก จากจังหวะนอกเกมกัน เจษฎา ชูเดช กับ ฟาม ดัก เฮา ถูกไล่ออกทั้งคู่ การขาด เจษฎา นั่นทำให้เราขาดอาวุธหนัก เพราะฟอร์มแรงจริง 3 นัดแรก ยิงไป 9 ประตู ประกอบกับในช่วงต้นเกมนักเตะบางคนสมาธิหลุด กลายเป็นเข้าทางแข้งเหงียนที่วิ่งสู้ฟัด ส่วนไทยไม่มีหน้าเป้ามาทดแทนได้ ขาดตัวเก็บบอล พลิกบอล เกมรุกขาดความอันตรายไปเยอะ พอตั้งหลักได้ไทยก็เหนือกว่าแต่ยังไม่คมพอ ครึ่งแรกจบลงที่ 0-0

 

 

มาถึงครึ่งหลังแก้เกมกันมาแล้ว เราค่อยๆ เล่นค่อยๆ บดเวียดนาม แต่โชคร้ายของไทยเป็นจุดเปลี่ยนของเกม ปิยพันธุ์ รัตนะ แนวรับตัวหลักถูกใบเหลืองที่ 2 นาทีที่ 30 เมื่อผู้ตัดสินมองว่าเจตนาทำแฮนด์บอลในเขตโทษ ถูกไล่ออกเป็นคนที่ 3 ในเกมนี้ เป็นคนที่ 2 ของไทย แม้ว่าไทยจะรอดตัวจากจุดโทษเมื่อ ทรัน วัน วู กัปตันเวียดนามยิงบอลไปติดเซฟ เฉลิมศรี พ่วงศรี ทว่าในช่วงที่เราต้องเล่นแค่ 4 คน เวียดนามก็ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย เล คว็อก นาม ยิงประตูนาทีที่ 31 ให้เวียดนามนำ 1-0 ทำให้ไทยต้องเดินหน้าบุกใส่ เวียดนาม อาศัยการโต้กลับมาได้ประตูปิดท้ายจาก พุง ตร็อง ลวน นาทีที่ 35 แพ้ 0-2

***********

 

 

อันดับที่ 4 ไทย 1-0 อินโดนีเซีย รอบรองชนะเลิศ 2014

วันที่ 25 กันยายน 2557 ณ สเตเดี้ยม เมลาวาติ ประเทศมาเลเซีย

ต่อเนื่องจากเกมในอันดับที่ 5 แม้เราจะแพ้แต่ก็ยังเข้ารอบรองชนะเลิศ นอกจากสภาพทีมไม่สมบูรณ์ เจษฎา ชูเดช และ ปิยพันธุ์ รัตนะ ติดโทษแบน สภาพจิตใจเองก็เช่นกันเพราะเพิ่งแพ้มา ผิดกับ อินโดนีเซีย ที่กำลังคึกจัด เพราะในรอบแรกถล่ม มาเลเซีย ทีมเจ้าภาพ 6-1 ยิ่งไปกว่านั้นพลิกล็อคเอาชนะ ออสเตรเลีย 4-1 เข้าป้ายเป็นที่ 1 ของกลุ่มเอ จากการชนะ 4 นัดรวด

วิคเตอร์ เฮอร์มันส์ โค้ชทีมชาติไทย ต้องปรับระบบการเล่น เพราะมีหน้าเป้าให้ใช้งานแค่ชุดเดียว โดยรวมแล้วเป็นเกมที่ตึงเครียด แต่เล่นกันแบบแฟร์เพลย์จริงๆ ไม่มีใบเหลือง ใบแดงเกิดขึ้นเลย แม้ไทยจะมีผู้เล่นติดโทษแบน 2 คน แต่โดยรวมแล้วศักยภาพก็เหนือกว่า ค่อยๆจับจังหวะแล้วเดินเกมบุกแบบระมัดระวัง ขณะที่ อินโดนีเซีย โต้กลับน่ากลัวและขึ้นเกมริมเส้นได้อันตราย ต้องบอกว่าแนวรับไทยมีปัญหากับการรับมือ บัมบัง ยายู ซัปตาจิ ตัวเก่งอิเหนาที่รอบแรกยิงไป 7 ประตู

ต่างฝ่ายต่างมีโอกาสทั้งคู่ จนกระทั่งนาทีสุดท้าย วัลลภ ปานสมสวย เป็นฮีโร่ซัดประตูชัยให้ไทยเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแบบหืดๆ ซึ่งอีกคู่ในรอบตัดเชือก ออสเตรเลีย ก็คืนฟอร์มเก่งชนะ เวียดนาม ที่โม้หนักหลังชนะไทยได้ สุดท้ายก็เป็น ช้างศึก ที่คว้าแชมป์เมื่อถล่มเอาชนะ ออสเตรเลีย 6-0

***********

 

 

อันดับที่ 3 ไทย 2-1 ออสเตรเลีย รอบชิงชนะเลิศปี 2013

วันที่ 27 ตุลาคม 2556 ณ อาคารชาญชัย อเคเดียม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

นี่คือหนที่ 2 ที่คู่นี้มาพบกันในรองชิงชนะเลิศ ย้อนไปเมื่อปี 2007 ไทยซิวแชมป์แบบเหนือชั้นด้วยการกระหน่ำไป 7-1 ณ อาคารกีฬานิมิบุตร แต่ไม่ใช่กับรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ ซึ่งก่อนจะโคจรมาพบกันไทย และ ออสเตรเลีย ต่างทำผลงานได้อย่างสมราคาคู่ชิงชนะเลิศ เกมเป็นไปอย่างสนุก ถูกอกถูกใจผู้ชมที่เข้ามาเต็มความจุกว่า 8,000 คน แม้ว่าทัพช้างศึกจะเหนือกว่าชัดเจน แต่ต้องชมเกมรับออสเตรเลียที่ช่วยกันได้ดี

 

 

จนกระทั่งนาทีที่ 13 ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ฉกบอลมาได้ที่กลางสนามก่อนจะหลุดเข้าไปยิงให้ไทยนำ 1-0 จากนั้น ศุภวุฒิ คนเดิมโชว์ความอัจฉริยะในการยิง เห็นผู้รักษาประตูออสเตรเลียออกมาไกล ศุภวุฒิ พาบอลขึ้นมาทางซ้ายเลยครึ่งสนามมาเล็กน้อย บอลจัดการซัดเรียดบอลเสียบเสาให้ไทยหนีไป 2-0 ในนาทีที่ 36 ช่วงเวลาที่เหลือ ออสเตรเลีย สู้ไม่ถอย บุกยับด้วยการเล่นพาวเวอร์เพลย์มาได้ประตูตีไข่แตกในขณะที่เหลืออีก 3 วินาทีสุดท้ายจาก ยาร์ร็อด บาสเจอร์ ที่เคยค้าแข้งในไทยกับ แบงค็อก เอฟซี

***********

 

 

อันดับที่ 2 ไทย 5-3 มาเลเซีย (รอบรองชนะเลิศปี 2016)

วันที่ 27 มกราคม 2560 ณ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก

2 ชาติที่เพิ่งไปลุยเวิลด์คัพ 2016 ที่ประเทศโคลัมเบีย มาหมาดๆ ออสเตรเลีย รองแชมป์ 3 สมัยซ้อนถอนตัว เวียดนาม ไม่มาเพราะตรงกับเทศกาลตรุษเต๊ด หรือช่วงปีใหม่ญวน ทำให้การแข่งขันครั้งนี้ดูจืดๆ ส่วนทีมชาติไทย มิเกล โรดริโก้ คุมทีมลงแข่งชิงแชมป์อาเซียนเป็นครั้งแรกของตัวเอง ใส่ชื่อผู้เล่นอายุไม่เกิน 20 ปี มูฮัมหมัด อุสมานมูซา และ ปาณัสม์ กิตติภาณุวงศ์ บวกกับหน้าใหม่อย่าง พีระพล สัตย์ซื่อ และ พู่กัน โด่งดัง ก็ได้รับโอกาส ผนึกกับดาวดังอย่าง กฤษดา วงษ์แก้ว, จิรวัฒน์ สอนวิเชียร, สรศักดิ์ พูนจังหรีด และ คฑาวุธ หาญคำภา ก็ถือว่าเป็นชุดผสมที่ลงตัว แม้ว่าหน้าเป้าจะไม่เรียกใช้งาน ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง และ เจษฎา ชูเดช เข้ามาอยู่ใน 14 คนชุดนี้ แต่ว่า มูฮัมหมัด อุสมานมูซา ก็ทดแทนได้ดีเมื่อยิงไป 5 ประตูในรอบแรก

การเจอกับมาเลเซียที่ฟอร์มในรอบแรกต่ำกว่ามาตรฐานเพราะแพ้ต่อ เมียนมา 3-5 ทำให้ก่อนเกมดูเหมือนจะไม่ใช่อะไรที่ยากสำหรับทีมชาติไทย ทว่าแค่ 8 วินาทีเท่านั้น นิซาม ยิงประตูแรก จากนั้นสมาธิของไทยยังไม่อยู่กับร่องกับรอย แม้จะเดินเครื่องบุกก็ยังขาดๆเกินๆ กลายเป็นทีมเยือนมาหนีห่าง โมฮัมหมัด ไครูล เอฟเฟนดี้ นาทีที่ 9 และ เซเย็ด ไอซาด ดาเนี่ยล นาทีที่ 12 มาเลเซีย ยิ่งเล่นยิ่งได้ใจ บุกมาทีไรได้เสียวทุกที ส่วนไทยมีโอกาสไม่น้อยเลย ครองเกมก็เหนือกว่า ทว่าไม่มีประตู ก่อนจะจบครึ่งแรกไทยตาม 0-3

 

 

นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไทยต้องเป็นฝ่ายตามหลังมาเลเซียช่วงครึ่งแรก ในครึ่งเวลาหลังนอกจากการปรับแท็กติกแล้ว สำคัญกว่าคือการรวมใจสู้ ก่อนจะมารัว 5 ประตู มูฮัมหมัด อุสมานมูซา เรียกเสียงลั่น อินดอร์ สเตเดี้ยม ทำประตูตีไข่แตกหลังจากเริ่มครึ่งหลังแค่ 16 วินาที ก่อนที่ มูฮัมหมัด จะทำอีกประตูนาทีที่ 23 อาซวาน อิสมาอิล ผู้เล่นเสือเหลืองยิงเข้าประตูตัวเองนาทีที่ 25 จิรวัฒน์ สอนวิเชียร นาทีที่ 35, 39 พลิกกลับมาชนะ 5-3

***********

 

 

อันดับที่ 1 ไทย 3-3 (ต่อเวลาพิเศษ 4-3) มาเลเซีย (รอบชิงชนะเลิศปี 2017)

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ณ สนามพูโถ สเตเดี้ยม ประเทศเวียดนาม

เพิ่งเจอกันในรอบแบ่งกลุ่ม ไทยเข้าวิน 6-3 กลับมาฉะกันอีกครั้งในรอบ 6 วัน ไทยเริ่มเกมด้วยความมั่นใจบุกเข้าใส่เป็นระยะ แต่ว่ามาเลเซียสวนกลับโป้งเดียวนำ 1-0 อวาลุดดิน นาวี่ ลากบอลทางฝั่งขวาเข้ามายิงในนาทีที่ 6 ถัดมานาทีที่ 8 ไทยยืนรับลูกเซตเพลย์หลวมทำให้ ริดวาน บาครี ยิงประตูหนีไป 2-0 ก่อนจะเป็น ธนโชติ เสาะแสวง ยิงให้ไทยนาทีที่ 12 ไล่มา 2-1 ถึงตรงนี้ไทยกลับมามั่นใจมากขึ้น ขณะที่มาเลเซียก็มีลูกโชว์ ใช้ความสามารถลากเลื้อยโจมตีทางริมเส้น พร้อมทั้งบีบพื้นที่แดนบนไม่ให้ไทยเล่นง่ายๆ

ต้นครึ่งหลังนาทีที่ 23 มาเลเซีย ได้ทีเด็ดจากลูกนิ่งอีกครั้ง อวาลุดดิน ฮาซาน วิ่งเข้ามาใส่เต็มข้อ ขยับไป 3-1 หลังจากนั้นไทยบุกใส่เป็นพายุจนตีเสมอ มูฮัมหมัด อุสมานมูซา นาทีที่ 27 ตามด้วย เจษฎา ชูเดช นาทีที่ 30 ช่วงเวลา 10 นาทีที่เหลือไทยคุมเกมไว้ได้หมด บุกใส่ไม่พัก ทว่าประตูที่ 4 ยังไม่มา หมดเวลาเสมอกัน 3-3 ต้องต่อเวลาพิเศษ และนี่คือครั้งแรกที่ไทยเอาชนะใน 40 นาทีไม่ได้จากการดวลกัน 27 ครั้ง

กลับมาเล่นช่วงต่อเวลาพิเศษแค่ 2 นาที ไทยฟาวล์รวมต่อจากครึ่งหลังในช่วงเวลาปกติครบ 6 ครั้ง กลายเป็นจุดโทษจุดที่ 2 ของมาเลเซีย เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้เกมเปลี่ยนและกลับมานำไทยอีกหน อัคมารูล นิซาม รับหน้าที่ยิงแต่ไปติดเซฟของ คฑาวุธ หาญคำภา จังหวะนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงต่อเวลาพิเศษ เพราะนาทีที่ 44 รณชัย จูงวงษ์สุข ก็ซัดประตูที่ 4 ให้ไทยนำครั้งแรก

 

 

ช่วงเวลาที่เหลือมาเลเซียต้องเล่นพาวเวอร์เพลย์ ไทยเองต้องตั้งรับอย่างอดทน และไม่กล้าที่จะทำฟาวล์อีก เพราะจะถูกจุดโทษจุดที่ 2 ทันที แต่สุดท้ายไทยก็เอาชนะไปได้ 4-3 คว้าแชมป์ชนิดหัวใจแทบวาย สุดท้ายชุดผสมของไทยก็ยังเหนือกว่าชุดใหญ่จากชาติอื่นๆ

 

 

และนี่ก็คือ 6 เกมที่ผมยกให้เป็นการแข่งขันที่ลุ้นระทึกของทีมชาติไทย ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา สุดยอดแห่งเกมคลาสสิค สุดยอดแห่งเกมของศึกฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน…

 

“ตรู่ เชียร์ไทย”

 

ชมสด!! ศึกไทยลีก พร้อมติดตามข่าวสารทีมชาติไทย ได้ที่ Trueid App และ เว็บไซต์ Sport Trueid หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line@Trueid

ยอดนิยมในตอนนี้