รีเซต
TRUE TALK : รู้จักลีกลูกหนังแดนมังกร "ไชนีส ซูเปอร์ลีก" ... by ''อ.เอี่ยม''

TRUE TALK : รู้จักลีกลูกหนังแดนมังกร "ไชนีส ซูเปอร์ลีก" ... by ''อ.เอี่ยม''

TRUE TALK : รู้จักลีกลูกหนังแดนมังกร "ไชนีส ซูเปอร์ลีก" ... by ''อ.เอี่ยม''
kentnitipong
7 พฤศจิกายน 2560 ( 17:23 )
1.1K

สวัสดีครับแฟนๆ TrueID Sports ทุกท่าน กลับมาพบกับผม “อ.เอี่ยม” และคอลัมน์ TRUE TALK ทุกวันอังคารเช่นเคยครับ

 

 

วันนี้ผมตั้งใจไว้ว่าจะนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับลีกฟุตบอลอาชีพที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลีกที่มีมูลค่าติดหนึ่งในสามของทวีปเอเชีย ลีกที่มีจำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ยสูงกว่ากัลโช่ ซีเรีย อา และลีก เอิง แถมด้วยดีกรีล่าสุดเข้าป้ายเป็นอันดับสามของการจัดอันดับสโมสร (Club Ranking) ที่จัดอันดับโดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) เมื่อไม่นานมานี้เอง

คงพอเดาออกใช่ไหมครับ ผมกำลังจะเขียนถึง… “ไชนีส ซูเปอร์ลีก” ลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อเอ่ยถึงฟุตบอลลีกของจีน หลายท่านคงจะพอทราบแล้วว่าฟุตบอลลีกนี้เต็มไปด้วยเหล่าซูเปอร์สตาร์จากยุโรปหลายคนที่ทยอยตบเท้าเข้ามาวาดลวดลายกับสโมสรต่างๆในแดนมังกรกันจนผมเองก็แอบที่จะอิจฉาอาตี๋ อาหมวย เมืองจีนเสียไม่ได้ ก็แหม.. ได้ชมฝีเท้าของดาวดังแทบทุกสัปดาห์แบบนั้น คงตื่นตา ตื่นใจกันเชียวล่ะ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 สตาร์คนแรกที่สร้างความฮือฮาและทำให้ ไชนีส ซูเปอร์ลีก เป็นที่กล่าวถึงกันทั่วโลก คือ อเล็กซ์ เตเซร่า แนวรุกสัญชาติบราซิลที่เคยตกเป็นเป้าหมายของ ลิเวอร์พูล ย้ายข้ามฟากจาก ชัคตาร์ โดเนตส์ มาที่ เจียงซู ซูหนิง หนึ่งในสโมสรยักษ์ใหญ่ของจีน ด้วยค่าตัวราว 42 ล้านปอนด์ (1.82 พันล้านบาท)

เวลาล่วงไปเพียงปีเดียว (2017) เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ทำเซอร์ไพรส์อีกครั้ง ด้วยการคว้าตัว ออสการ์ ดาวเตะทีมชาติบราซิลของเชลซีด้วยสนนราคาราว 60 ล้านปอนด์ (2.6 พันล้านบาท) พร้อมสร้างสถิติเป็นนักเตะที่มีค่าตัวในการย้ายทีมสูงที่สุดใน ไชนีส ซูเปอร์ลีก รวมถึงลีกฟุตบอลอาชีพในทวีปเอเชีย

ในปีเดียวกันคู่ปรับร่วมมหานครเซี่ยงไฮ้ อย่าง เซี่ยงไฮ้ เซินฮัว ไม่ยอมน้อยหน้าจัดดีลช๊อคโลกขึ้นอีกครั้งด้วยการคว้าตัว คาร์ลอส เตเบซ ศูนย์หน้าทีมชาติอาร์เจนติน่า พร้อมจ่ายค่าเหนื่อยเป็นสถิติโลกถึง 615,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (26.6 ล้านบาท)

ถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงกำลังตั้งคำถามกันอยู่ใช่ไหมครับว่า… สโมสรพวกนี้ร่ำรวยมาจากไหน?

มาครับ… ผมอาสาเล่าให้ฟัง

 

ขอบคุณภาพ : Chinese Super League

 

หลายท่านอาจจะทราบดีว่า สโมสรส่วนใหญ่ที่แข่งขันในระดับ ไชนีส ซูเปอร์ลีก นั้น มีเจ้าของสโมสรที่เป็นอภิมหาเศรษฐีแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น แชมป์ 7 สมัยซ้อนอย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ มีเจ้าของสโมสรเป็นกลุ่มทุน 2 กลุ่มใหญ่ หนึ่งคือกลุ่มทุนจาก “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นๆของประเทศจีน ถือหุ้นราว 60% อีกกลุ่มคือ “อาลีบาบา” ของ แจ๊ค หม่า อภิมหาเศรษฐีของจีนที่ถือหุ้นอีก 40% และที่สำคัญ ซวู เจียยิ่น ประธานกลุ่มบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ได้รับสิทธิ์ในการใช้เงินสดสำรองแบบไม่จำกัด ลักษณะคล้ายกับ คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ผู้บริหารของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จ่าฝูงพรีเมียร์ ลีก ปัจจุบัน

แล้วสโมสรเหล่านี้มีกฎข้อจำกัดทางการเงินเหมือนในยุโรปหรือไม่?

ขอตอบว่า “ไม่มี” ครับ เนื่องจาก ไชนีส ซูเปอร์ลีก นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ซึ่งไม่มีกฎข้อจำกัดทางการเงิน (FFP) ในการซื้อ-ขาย ตัวนักเตะเหมือนยุโรปที่มีกฎนี้บังคับใช้โดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA)  นั่นหมายความว่าพวกเขาพอใจที่จะจ่ายเงินมากขนาดไหนก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงที่ความสมดุลทางบัญชีอย่างเคร่งครัด อย่างที่เราเห็น เซี่ยงไฮ้ เซินฮัว ยอมจ่ายค่าเหนื่อยระดับมโหฬารให้ คาร์ลอส เตเบซ หรือแม้กระทั่ง เหอเป่ย ไชน่าร์ ฟอร์จูน ที่ยอมจ่ายค่าเหนื่อยถึง 400,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (17.3 ล้านบาท) ให้กับ เอเซเกล ลาเวซซี่

และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ไชนีส ซูเปอร์ลีก (CSL) พุ่งสูงถึง 1.25 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (4 หมื่นล้านบาท) เป็นมูลค่าที่อยู่อันดับต้นๆของลีกฟุตบอลอาชีพในทวีปเอเชีย

 

ขอบคุณภาพ : Chinese Super League

 

ร่ำรวยขนาดนี้ ทำไมไม่ไปลงทุนกับสโมสรในยุโรปบ้าง?

คำถามนี้มักจะพบเจอบ่อยครับ และหลายคนคงทราบดีว่ามีกลุ่มทุนหลายกลุ่มของจีนนำเงินไปลงทุนกับสโมสรฟุตบอลในยุโรปอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เช่น หลี่ หย่งหง ที่เข้าเทคโอเวอร์ เอซี มิลาน รวมถึง จาง จินตง ประธานกลุ่มบริษัทซูหนิงที่เข้าซื้อ อินเตอร์ มิลาน คู่ปรับร่วมเมืองในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนั้นในอังกฤษเองก็มี 4-5 สโมสรที่ถูกเข้าบริหารโดยกลุ่มทุนจากจีนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของหุ้นส่วนใหญ่หรือเล็กก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มี ไชน่า มีเดีย แคปิทอล หน่วยงานด้านสื่อของรัฐบาลจีน ถือหุ้นอยู่ราว 13% พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกคือ 13% ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกบริหารโดยรัฐบาลจีนครับ

ทำไมต้องเอาเงินมาลงทุนกับฟุตบอลมากมายขนาดนี้? นี่คือคำถามที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยไม่น้อย

 

ขอบคุณภาพ : Chinese Super League

 

เริ่มจาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน มีวิสัยทัศน์ที่จะใช้ฟุตบอลในการขยายธุรกิจของจีนออกไปยังต่างประเทศ และมีความเชื่อว่าการสร้างฟุตบอลให้เป็นสิ่งบันเทิงรวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงศูนย์กีฬาที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งบังคับวิชาฟุตบอลลงไปในหลักสูตรของทุกโรงเรียนในจีนจะส่งผลให้ประชาชนของจีนหันมาสนใจเล่นฟุตบอล คือ ถึงแม้จะไปต่อไม่สุดทางในสายกีฬาอาชีพ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ สี จิ้นผิง ต้องการอยากให้จีนได้รับเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกสักครั้ง โดยนโยบายนี้ได้ทำควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาทีมชาติจีนให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่ และคาดหวังว่าทีมชาติจีนจะเป็นมหาอำนาจลูกหนังของโลกภายในปี 2050

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของ ไชนีส ซูเปอร์ลีก ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับวงการฟุตบอลจีนซึ่งผมจะทยอยเขียนลงในคอลัมน์ TRUE TALK สัปดาห์ต่อๆไป

เชื่อผมเถอะครับว่าฟุตบอลจีนก็สนุกไม่แพ้ใครเหมือนกัน…

 

บอลไทยบอลนอก ไม่พลาดทุกบิ๊กแมตช์ รวม 7 ลีก 5 ถ้วย มันส์ ชัดระดับ HD พร้อมกีฬาฮิตอีกมากมาย และ ดูสดผ่านเว็บ ได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารได้ที่ TrueID App และ เว็บไซต์ Sport.Trueid.net หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้