รีเซต
Jaturamitr XI : 11 นักเตะยอดแข้งทีมชาติไทย จากสี่โรงเรียนเครือจตุรมิตร ... by "จอน"

Jaturamitr XI : 11 นักเตะยอดแข้งทีมชาติไทย จากสี่โรงเรียนเครือจตุรมิตร ... by "จอน"

Jaturamitr XI : 11 นักเตะยอดแข้งทีมชาติไทย จากสี่โรงเรียนเครือจตุรมิตร ... by "จอน"
armcasanova
15 พฤศจิกายน 2560 ( 13:52 )
5.4K

ศึกฟุตบอล จตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 28 กำลังอยู่ในระหว่างแข่งขันกันอย่างสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และอีกไม่กี่วัน ก็คงได้รู้กันแล้วว่า ใครจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลประเพณี 4 สถาบันโรงเรียนชายล้วนที่ยิ่งใหญ่สุดในประเทศไทยประจำปีนี้

 

ที่ผ่านมาทั้ง 27 ครั้ง ต่างก็มีนักฟุตบอลมากมายจากทั้ง 4 สถาบัน อย่าง โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ก้าวจากเวทีจตุรมิตร ไปยิ่งใหญ่ในเวทีระดับชาติโดยมีธงไตรรงค์ติดที่หน้าอก อันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเป็นนักกีฬาดีกรีทีมชาติไทย…

และนี่คือ 11 นักเตะที่เรารวบรวมมาเป็น ที่สุดของทีมจากโรงเรียนในเครือจตุรมิตร (Jaturamitr XI) ในระบบการเล่น 4-3-3 … จะมีใครบ้าง และโรงเรียนใดบ้าง ติดตามได้เลย

 

ผู้รักษาประตู :
กิตติศักดิ์ ระวังป่า (โรงเรียนอัสสัมชัญ)

อันที่จริง นอกจาก กิตติศักดิ์ ระวังป่า แล้ว ยังมีผู้รักษาประตูฝีมือดีที่เคยผ่านเวทีจตุรมิตรมาอีกไม่น้อย โดยเฉพาะ อินทรัตน์ อภิญญากุล จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเคยลงเล่นฟุตบอลโลก ยู-17 มาแล้ว ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 1999 และ นริศ ทวีกุล จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่เคยติดทีมชาติไทยชุดใหญ่มาแล้ว รวมถึง อัมรินทร์ เยาดำ เจ้าของแชมป์ซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซีย จากโรงเรียนอัสสัมชัญ

ทว่าหากนับดีกรีแล้ว ในตำแหน่งผู้รักษาประตูยังต้องยกให้ กิตติศักดิ์ ระวังป่า เป็นยอดนายด่านที่สุด เพราะมีดีกรีเคยก้าวขึ้นถึงการเป็นมือหนึ่งทีมชาติไทย ในช่วงที่ทำการลงเล่นรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2002 โซนเอเชีย ซึ่งเวลานั้น ทีมชาติไทย อยู่ภายใต้การคุมทีมโดย ปีเตอร์ วิธ และเขาก็ได้รับโอกาสจาก วิธ เฝ้าเสาทุกเกมในรอบ 10 ทีมสุดท้ายด้วย

นอกจากนี้ นายด่านตำนานของ สินธนา ก็ยังเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดจาก ปีเตอร์ วิธ ที่ยอมแลกโควตาอายุเกินกับตำแหน่งผู้รักษาประตู ในการเข้าแข่งขันกีฬาฟุตบอลในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2002 และเขาก็ช่วยทีมจนสามารถคว้าอันดับที่ 4 เอเชี่ยนเกมส์ เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ทีมชาติไทย

อนึ่ง : รายชื่อ 3 โควตาอายุเกิน 23 ปี ของทีมชาติไทย ในครั้งนั้นคือ กิตติศักดิ์ ระวังป่า (27 ปี), เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (29 ปี) และ ดุสิต เฉลิมแสน (32 ปี)

 

แบ็คขวา :
ไพฑูรย์ เทียบมา (โรงเรียนเทพศิรินทร์)

แบ็คขวานี่ก็เลือกยากเหมือนกันนะ เพราะนอกจาก ไพฑูรย์ เทียบมา แล้ว ยังมี อดิศร พรหมรักษ์ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) และ อานนท์ นานอก (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) เป็นอีกสองตัวเลือกชั้นดี

แต่สุดท้าย ยังไงก็คงต้องเลือก ไพฑูรย์ เทียบมา เพราะเขาผู้นี้ ผ่านสมรภูมิลูกหนังมาอย่างโชกโชน แถมยังเคยเป็นแชมป์จตุรมิตรมาแล้วด้วย เมื่อครั้งที่ 20 ในปี พ.ศ.2542

ไพฑูรย์ เทียบมา เป็นอดีตเด็กปั๊ม ก่อนที่จะคัดติดโควต้านักกีฬา ของ “ลูกแม่รำเพย” โดยช่วงเวลาแรกของการเล่นฟุตบอล เขาเป็นกองหน้าจอมถล่มประตู จนมีชื่อติดทีมนักเรียนไทย 18 ปี ร่วมกับหัวหอกดาวรุ่งแห่งยุคนั้นอย่าง สมเจตร สัตบุษ และ วสันต์ นาทะสัน ก่อนได้ติดทีมชาติชุดเยาวชนต่อเนื่อง และร่วมทีม ยู-19 ชุดคว้าแชมป์เอเชียมาครองอีกด้วย

จากนั้น ไพฑูรย์ ก็ผันตัวเองมาเป็นแบ็คขวาจอมบุก ในระดับสโมสร และเคยมีชื่อถูกเรียกติดทีมชาติไทยอยู่บ่อยครั้ง โดยเขาเป็นหนึ่งในทีมชาติไทย ชุดคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ 2002 และชุดคว้าอันดับที่ 4 การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ 2002 อีกด้วย

 

แบ็คซ้าย :
ศุภชัย คมศิลป์ (โรงเรียนเทพศิรินทร์)

เป็นตำแหน่งที่เลือกไม่ยากเท่าไรนัก เพราะค่อนข้างชัดเจน ทั้งดีกรี และฝีเท้า รวมถึงการยืนระยะในวงการฟุตบอล ซึ่งต้องยอมรับว่า ศุภชัย คมศิลป์ เนี่ยแหละ เบอร์หนึ่งจริงๆ ทางการเล่นแบ็คซ้ายของชาวจตุรมิตร

และนั่นก็ทำให้ “ลูกแม่รำเพย” เหมาหมดทั้งแบ็คขวา และแบ็คซ้ายไปเลยทีเดียว

“พี่บอย” ศุภชัย คมศิลป์ เคยคว้าแชมป์ จตุรมิตรสามัคคี (ครั้งที่ 19 ปี พ.ศ.2540) มาแล้วเมื่อสมัยที่เรียนอยู่ชั้น ม.5 ร่วมกับ เจษฏา จิตสวัสดิ์, วรวุฒิ วังสวัสดิ์ และ สมเจตน์ เกษารัตน์ ซึ่งหลังจากที่เรียนจบระดับชั้นมัธยม เขาก็ลงเล่นในทีมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนได้สัญญานักเตะอาชีพกับ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเขาก็ได้ลงเล่นไทยลีกกับ “นกวายุภักษ์” นับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งแปรเปลี่ยนเป็น บางกอกกล๊าส เอฟซี ในปัจจุบัน โดยมีช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่ย้ายไปอยู่กับ เชียงราย ยูไนเต็ด

สำหรับเวที ทีมชาติไทยนั้น “พี่บอย” คือเบอร์หนึ่งในตำแหน่งแบ็คซ้ายในยุคของ วินฟรีด เชเฟอร์ ในช่วงคัดเลือกฟุตบอลโลก 2014 โซนเอเชีย ซึ่งได้ลงสนามเกมชนะ โอมาน 3-0 (เหย้า), แพ้ ออสเตรเลีย 1-2 (เยือน), แพ้ ออสเตรเลีย 0-1 (เหย้า), เสมอ ซาอุดิอาระเบีย 0-0 (เหย้า) เป็นต้น

 

คู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ :
นิเวส ศิริวงศ์ (โรงเรียนอัสสัมชัญ)
โชคทวี พรหมรัตน์ (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน)

เป็นตำแหน่งที่สร้างผลผลิตมากมายให้กับทีมชาติไทยอีกหนึ่งตำแหน่ง สำหรับ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ โดยนอกจาก “พี่เป็ด” นิเวส ศิริวงศ์ และ “พี่โชค” โชคทวี พรหมรัตน์ แล้ว ยังมีทั้ง ภานุพงษ์ วงศ์ษา (โรงเรียนอัสสัมชัญ), อดิศร พรหมรักษ์ (โรงเรียนสวนกุหลาบ), สุทธินันท์ พุกหอม (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน), ปรัชญ์ สมัครราษฎร์ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย), ธฤติ โนนศรีชัย (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) และ เจษฎา จิตสวัสดิ์ (โรงเรียนเทพศิรินทร์) เป็นอีกสามกองหลังตัวกลางที่เคยผ่านการลงเล่นจตุรมิตรมาแล้ว

แต่ถ้าจะให้เลือกจริงๆ ยังไงก็ไม่มีทางตัด ทั้ง นิเวส ศิริวงศ์ กับ โชคทวี พรหมรัตน์ ออกไปได้เป็นแน่แท้ เพราะนี่คือโคตรปราการหลังในระดับตำนานของทีมชาติไทยเลยทีเดียว

นิเวส เซ็นเตอร์ฮาล์ฟเจ้าของฉายา “พี่โน้ส” ในสมัยฟุตบอลนักเรียนนั้น เขาเคยพา “อินทรีแดง” คว้าแชมป์ ฟุตบอลทหารอากาศ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี และครองแชมป์ จตุรมิตร ร่วมกับ สวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ในครั้งที่ 18 (ปี พ.ศ.2538) โดยในครั้งนั้น เขาเป็น ผู้เล่นยอดเยี่ยม ในตำแหน่งกองหลัง อีกด้วย

 

จากนั้น พอหลุดออกมาจากฟุตบอลนักเรียน นิเวส ก็กลายร่างเป็นนักเตะยอดเยี่ยมไทยลีกตั้งแต่อายุ 21 ปี และเป็นตัวหลักของทีมชาติไทย ตั้งแต่อายุยังน้อย จนถึงอายุ 35 ปี ก็ยังถูกเรียกติดทีมชาติไทยอีก ในสมัยของ วินฟรีด เชเฟอร์

ส่วน โชคทวี พรหมรัตน์ กองหลังเจ้าของฉายา “เจ้านกกระยางดำ” ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรให้ยืดยาว เพราะนี่คือ ดาวเด่นในแผงแนวรับที่เคยนำพาทีมชาติไทย ชุดดรีมทีม โชว์ฟอร์มเกรียงไกรมาแล้ว คว้าแชมป์มาแล้วทั้ง คิงส์คัพ (3 สมัย), ซีเกมส์ (2 สมัย) และ อาเซียนคัพ (1 สมัย) นอกจากนี้ยังเคยคว้าอันดับที่ 4 ของรายการเอเชี่ยนเกมส์ มาแล้ว 1 ครั้ง และผ่านศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก รอบ 10 ทีมสุดท้ายมาแล้วในการคัดเลือกของปี 2002

นอกจากนี้ เขายังก้าวขึ้นไปเป็น เฮ้ดโค้ชของทีมชาติไทย ชุดแชมป์ ซีเกมส์ มาแล้วด้วย เมื่อปี 2015 โดยมีสถิติสุดเกรียงไกร พา “ช้างศึก” ชนะรวดทั้ง 7 เกม ตั้งแต่รอบแรกยันรอบชิงชนะเลิศ แถมยังยิงได้ถึง 24 ประตู และเสียเพียง 1 ประตูเท่านั้น

 

สามคนแผงกองกลาง :
ณรงค์ชัย วชิรบาล (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน)
ปกเกล้า อนันต์ (โรงเรียนสวนกุหลาบ)
อนุรักษ์ ศรีเกิด (โรงเรียนเทพศิรินทร์)

รักพี่เสียดายน้องสุดๆ สำหรับแผงกองกลางสามคนที่ต้องตัดนักเตะดีกรีทีมชาติไทย ออกไปหลายราย ทั้ง อภิภู สุนทรพนาเวศ (โรงเรียนอัสสัมชัญ), เชาว์วัฒน์ วีระชาติ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) รวมถึง พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (โรงเรียนเทพศิรินทร์)

แต่เอาจริงๆ ที่เลือกมาสามราย ที่ติดโผพื้นที่ตรงกลางสนาม ก็คือสุดยอดนักเตะที่มีดีกรีในระดับทีมชาติไทย ทั้งสิ้น เริ่มจาก ณรงค์ชัย วชิรบาล จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเขาคือผู้ถือถ้วยแชมป์จตุรมิตรสามัคคี ในฐานะกัปตันทีม “ชงโคม่วงทอง” เมื่อปี 2542 ร่วมกับ วรวุฒิ วังสวัสดิ์ กัปตันทีมของ เทพศิรินทร์

 

จากนั้น ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธในฝีเท้าของ ณรงค์ชัย เลยว่าเป็นสุดยอดมิดฟิลด์อัจฉริยะคนหนึ่งของเมืองไทย โดยเขาอยู่ในทีมชาติไทย ชุดคว้าเหรียญทอง ซีเกมส์ เมื่อปี 2001 และแชมป์ เอเอฟเอฟ แชมเปี้ยน ชิพ 2002 นอกจากนี้ ยังผ่านการเป็นแชมป์ไทยลีกกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อปี 2008 โดยมีตำแหน่ง กองกลางยอดเยี่ยมประจำปี การันตีของดีในตัว

รายต่อมา มิดฟิลด์เชิงสูงจากรั้ว “ชมพู-ฟ้า” อย่าง ปกเกล้า อนันต์ ที่อาจจะดูว่ามีอายุเพียงแค่ 26 ปี เท่านั้น แต่ถ้าลงลึกถึงดีกรีที่สร้างไว้กับทีมชาติไทยแล้ว “เจ้าปก” นี่ต้องยอมรับว่า เป็นมิดฟิลด์ที่มาจากเวทีจตุรมิตร ที่ไปได้ไกลที่สุดคนหนึ่งเลย เพราะด้วยอายุเพียงแค่นี้ แต่ก็คว้ามาได้ครบแล้วทั้ง ซีเกมส์, เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ, คิงส์ คัพ รวมไปถึง การคว้าอันดับที่ 4 ในการแข่งขันฟุตบอล กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ มาแล้วอีกด้วยที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2014

 

คนสุดท้ายในตำแหน่งกองกลาง ที่จริงๆ สร้างชื่อเสียงในตำแหน่งกองหน้า ในช่วงที่เล่นฟุตบอลนักเรียนกับโรงเรียนเทพศิรินทร์ “พี่จุ่น” ยิงระเบิดระเบ้อให้กับ “ลูกแม่รำเพย” แต่น่าเสียดายที่เขาไม่เคยสัมผัสรายการจตุรมิตรเลย เนื่องจากได้รับบาดเจ็บพอดี ช่วงที่ทำการแข่งขัน

แต่สุดท้าย ก็มาโด่งดังสุดขีดในการเป็นกองกลางจอมถล่มประตูของทีมชาติไทย ในยุคหนึ่ง ซึ่งเขามักจะถูก ปีเตอร์ วิธ เรียกติดทีมชาติไทยอยู่เสมอ โดยผลงานมาสเตอร์พีซที่สุดนั่นคือการยิงแฮตทริคในศึกฟุตบอล คิงส์ คัพ นัดชิงชนะเลิศ เมื่อปี 2000 ที่ทีมชาติไทย ไล่ถล่ม ฟินแลนด์ ไปได้ถึง 5-1 โดยอีกสองประตูได้จาก พิพัฒน์ ต้นกันยา และ ธนัญชัย บริบาล

 

สามหัวหอกตัวฉกาจ
ธีรเทพ วิโนทัย (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน)
วรวุธ ศรีมะฆะ (โรงเรียนสวนกุหลาบ)
ประเสริฐ ช้างมูล (โรงเรียนอัสสัมชัญ)

และก็เหมือนเดิม เลือกยากอีกเช่นเคย ซึ่งผมจำเป็นต้องตัดชื่อยอดกองหน้าอีกหลายราย ทั้ง อดิศักดิ์ ไกรษร, ธนา ชะนะบุตร และ สมปอง สอเหลบ สามหัวหอกจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน รวมถึง กองกลาง และกองหน้าฝั่งซ้ายจอมเทคนิคอย่าง จักรกริช บุญคำ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และ ชาคริต บัวทอง จากโรงเรียนสวนกุหลาบ ที่พักหลังเล่นได้หลายตำแหน่ง ทั้งปีกขวา และแบ็คขวา แต่ก็เคยเป็นแข้งดาวรุ่งคนหนึ่งที่เกิดจากสารบบฟุตบอลนักเรียนในตำแหน่งกองหน้า

เริ่มต้นกองหน้ากันที่ ธีรเทพ วิโนทัย ไม่มีไม่ได้จริงๆ สำหรับผู้ชายคนนี้ เพราะเขาคือสุดยอดกองหน้าผู้สร้างสถิติมากมาย เชื่อไหมหละว่า “ลีซอ” ได้แชมป์จตุรมิตรตั้งแต่อายุ 13 ปี ทั้งที่เป็นรายการที่กำหนดอายุไม่เกิน 18 ปีเลยทีเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว “ลีซอ” นักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน สร้างความฮือฮาขึ้นมาเป็นหนึ่งในทีม “ชงโคม่วงทอง” ที่คว้าแชมป์จตุรมิตรเมื่อปี 2542 โดยเขาแบกอายุไว้ถึง 5 ปี และหลังจากนั้นอีกสามปี เขาก็แบกอายุต่อเนื่อง คราวนี้เป็นในระดับชาติ และแบกถึง 7 ปี ด้วยกัน เมื่อเจ้าตัวติดทีมชาติไทย ชุดแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2001 ตั้งแต่อายุ 16 ปี (กำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี) แถมยังยิงประตูแรกได้ตั้งแต่นาทีที่ 9 ในเกมกับ กัมพูชา

 

ลีซอ กลายเป็นตำนานของซีเกมส์ เพราะเขาคว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 4 ครั้งจากการเข้าร่วมแข่ง 4 สมัย โดยยิงไปทั้งสิ้น 14 ลูก โดยเกมที่โหดที่สุด คือ การซัดแฮตทริค ถล่มเวียดนาม 3-0 ในรอบชิงชนะเลิศ ปี 2005 และนอกจากแชมป์ซีเกมส์แล้ว เขายังก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทย ชุดใหญ่ อีกนับไม่ถ้วน ในรายการระดับนานาชาติ โดยเพิ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติไทย ชุดคว้าแชมป์ คิงส์ คัพ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

กองหน้าอีกคนที่เลือกมา นั่นคือ วรวุธ ศรีมะฆะ ดาวยิงร่างโย่งของทีมชาติไทย จากโรงเรียนสวนกุหลาบ ที่มีเกียรติประวัติในระดับชาติเป็นหางว่าวเช่นกัน ไล่ตั้งแต่การเป็นแชมป์ซีเกมส์ 3 สมัย ในยุคที่ซีเกมส์ ยังใช้ทีมชาติชุดใหญ่ลงสนาม และคว้าแชมป์ อาเซียน อีก 3 สมัย รวมถึงได้ที่สี่ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และคว้าแชมป์คิงส์คัพ มาครอบครองได้อีก 2 สมัย

นอกจากนี้ ในส่วนของการเป็นเฮ้ดโค้ช วรวุธ ศรีมะฆะ ที่ใครๆ ก็เรียกกันว่า “โค้ชโย่ง” ในยุคคนี้ ก็เพิ่งพาทีมชาติไทย คว้าแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาอีกด้วย

คนสุดท้าย ไปกันที่ยอดกองหน้าอีกคนของทีมชาติไทย นั่นคือ “เหน่อเสน่ห์” ประเสริฐ ช้างมูล ดาวยิงเจ้าความเร็วจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในแข้งระดับตำนานของสโมสร “สุภาพบุรุษโล่ห์เงิน” ตำรวจ

เกมในระดับชาติที่ใครๆ ก็ต้องจำชื่อของประเสริฐ ได้นั่นก็คือการที่เขาถูกจารึกชื่อเป็นประวัติศาสตร์ เพราะจัดการยิงประตูชัยให้ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติจีน 1-0 ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกเอเชี่ยนเกมส์ และที่เจ๋งก็คือ เขายิงเจ้าภาพ ในวันชาติของประเทศจีนด้วย (1 ตุลาคม 1990)

นอกจากนี้ ในปี 1992 ประเสริฐ ช้างมูล คนดีคนเดิม ก็กลายเป็นตัวแสบอีกครั้ง เมื่อจัดการยิงประตูชัย ดับทีมชาติเกาหลีใต้ 2-1 ช่วยให้ทีมชาติไทย ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันเอเชี่ยนคัพ 1992 ได้สำเร็จ

ชมสด!! ศึกไทยลีก พร้อมติดตามข่าวสารทีมชาติไทย ได้ที่ Trueid App และ เว็บไซต์ Sport Trueid หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line@Trueid

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้