รีเซต
TRUE OPINIONS : แฟนบอลไทย (ในสนาม) หายไปไหน ? ... by "บีม ภควิชญ์"

TRUE OPINIONS : แฟนบอลไทย (ในสนาม) หายไปไหน ? ... by "บีม ภควิชญ์"

TRUE OPINIONS : แฟนบอลไทย (ในสนาม) หายไปไหน ? ... by "บีม ภควิชญ์"
kentnitipong
15 พฤศจิกายน 2560 ( 16:56 )
13.2K

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำงานช่างภาพให้สโมสรฟุตบอลในไทย ดังนั้นจึงมีโอกาสได้แวะเวียนไปแทบทุกสนามของฟุตบอลลีกพระรอง และในเวลาว่างก็ได้เข้าไปเหยียบบางสนามของฟุตบอลไทยลีก 1 บ้างเป็นบางครั้ง

 

 

สิ่งที่ผมเห็น (ซึ่งน่าจะรวมถึงแฟน ๆ ทุกคนได้เห็นเหมือนกัน) คือจำนวนแฟนบอลที่ลดลงอย่างน่าใจหาย…

เชื่อหรือไม่ว่าหากเปิดสถิติตัวเลขในฤดูกาลล่าสุดที่กำลังจะปิดฉากลง ในบรรดา 15 ทีมที่ร่วมฟาดแข้งในศีกไทยลีก 1 มาตั้งแต่ฤดูกาล 2016 มีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่มีอัตราผู้ชมเฉลี่ยต่อเกมสูงขึ้นจากฤดูกาลก่อน (ขออนุญาตตัดทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นทิ้งไป เพราะตัวเลขผู้ชมต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการขยับลีก)

ทีมแรกคือ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่ทุ่มทุนซื้อผู้เล่นมากดีกรีเข้ามาสู่สโมสร ทำให้ทีมยกระดับขึ้นมามีลุ้นในทุกรายการที่ลงแข่งขัน รวมถึงการที่ได้เข้าชิงบอลถ้วยถึงสองรายการ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกองเชียร์เข้ามาให้กำลังใจในสนามมากขึ้นหากเทียบกับปีก่อน

 

เชียงราย ยูไนเต็ด ยังคงเนืองแน่นไปด้วยแฟนบอล

 

ในขณะที่อีกทีมกลายเป็น “โลมาน้ำเงิน” พัทยา ยูไนเต็ด ที่ปีนี้กลับมียอดกองเชียร์เฉลี่ยเข้ามาชมในสนามมากกว่าฤดูกาลแรกที่กลับมาเล่นลีกสูงสุดเสียอีก โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลงานที่เกินเป้า รวมถึงทิศทางของทีมที่กำลังไปได้ดี

ส่วนทีมอื่น ๆ อีก 13 ทีม ต่างประสบปัญหากองเชียร์ในสนามที่ลดลงทั้งสิ้น โดยทีมที่เจ็บหนักที่สุดคือ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ที่กองเชียร์หายไปเกือบครึ่ง จากยอดเฉลี่ย 11,536 คนเมื่อปีก่อน ลดลงเหลือเพียง 5,780 คน โดยเกมล่าสุดกับ “กระต่ายแก้ว” บางกอกกล๊าส เอฟซี มีผู้เข้าชมแค่ 1,583 รายเท่านั้น

 

รังเหย้าของ “สวาทแคท” แฟนบอลเริ่มบางตา

 

ปัญหานี้ไม่ใช่มีผลต่อทีมกลางและท้ายตาราง แต่เหล่าทีม “บิ๊กซิกส์” ไล่ตั้งแต่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, แบงค็อก ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าส เอฟซี และ ชลบุรี เอฟซี ต่างประสบปัญหากองเชียร์ลดลงมากน้อยต่างกันไป มีเพียง เชียงราย ยูไนเต็ด เท่านั้นที่มีกองเชียร์ในสนามเพิ่มขึ้น 20.8%

อย่างไรก็ตาม ผมว่าด้วยสถานะทางการเงินและบุคคลากรในมือของสโมสรข้างต้น พวกเขาไม่น่ามีปัญหาในการแก้ปัญหา และผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นในฤดูกาล 2018 ที่จะมาถึง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการซื้อตัวผู้เล่นเพื่อพัฒนาคุณภาพของทีม และกระตุ้นความสดใหม่ในสายตากองเชียร์ หรือ การปรับกลยุทธมาร์เก็ตติ้งนอกสนามที่จะช่วยเรียกผู้ชมกลับมาอีกครั้ง

สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือเหล่าสโมสรที่เกาะกลุ่มกันอยู่ในช่วงกลางตารางค่อนไปทางท้าย ๆ มากกว่า เพราะสโมสรพวกนี้มีเงินทุนหมุนเวียนในสโมสรก็จริง แต่ก็ไม่น่าจะขยับอันดับขึ้นไปสู้กับทีมบิ๊ก ๆ ที่กล่าวมาได้ในเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเรื่องในสนามหรือนอกสนาม

 

 

ในฐานะที่ต้องทำงานอยู่ในวงการนี้ ผมจับตาดูสถานการณ์ และค่อนข้างเป็นห่วงปัญหาการหายไปของคนดูค่อนข้างมาก เพราะฟุตบอลที่ไม่มีแฟนบอลย่อมไม่สามารถผลักดันให้เดินต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีเงินทุนมากแค่ไหนก็ตาม เพราะแฟนบอลคือผู้ที่จะสร้างวัฒนธรรมของแต่ละสโมสรนั้น ๆ เป็นเหมือนอีกหนึ่งเสาหลักที่คอยค้ำให้สโมสรยังยืนหยัดอยู่ได้

และทุกครั้งที่มีการดีเบตในหมู่แฟนบอลถึง “สาเหตุ” ที่แฟนบอลไม่เข้าสนาม สิ่งที่ถูกหยิบยกมาเป็นคำตอบแรก ๆ คือ “ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ”

เราคงทราบดีว่าทุกวันนี้นักฟุตบอลได้เงินเดือนมากขึ้นกว่าในอดีต หลายคนรับเงินที่หลักแสน ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละสโมสรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นย่อมไม่แปลกหากค่าตั๋วเข้าชมฟุตบอลจะมีราคาสูงขึ้นจากอดีต

แต่เชื่อมั้ยครับ แม้จะมีการเพิ่มค่าตั๋วและขายของที่ระลึกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เงินที่ได้จากแฟนบอลก็ยังไม่พอที่จะจ่ายเงินเดือนให้นักฟุตบอลหลายสโมสรอยู่ดี

นอกจากเงินเดือนนักฟุตบอลแล้ว สโมสรฟุตบอลยังมีค่าใช้จ่ายมากมาย จะเล่นเกมเหย้าก็ต้องมีค่าจ้างทีมจัดงาน ค่าเช่าสนาม ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เวลาออกเยือนก็ต้องมีค่าเดินทาง มีค่าที่พัก นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวันอย่างเบี้ยเลี้ยงซ้อม ค่าอาหาร และน้ำ และอื่น ๆ ที่จะให้ลิสต์มาตรงนี้ก็คงยาวออกไปเรื่อยๆ

ถ้าสโมสรสามารถหาสปอนเซอร์ส่วนไหนได้ก็ดีไป ส่วนไหนหาไม่ได้ก็จ่ายกันเอาเอง

ภาระการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินจึงต้องตกอยู่กับเจ้าของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อต้อง “เข้าเนื้อ” หลาย ๆ ปีติดกัน ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะเห็นหลายสโมสรที่เปิดตัวอย่างเร้าใจในอดีต แต่มาปีหลัง ๆ ต้องทยอยชะลอการใช้จ่ายและลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

พอสโมสรใช้จ่ายในตลาดนักเตะและการประชาสัมพันธ์น้อยลง ความวูบวาบในสายตาแฟนบอลย่อมลดลงไปด้วย ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจที่จะตามเข้ามาเชียร์ถึงขอบสนาม

ทุกอย่างมันหมุนเวียนเป็นวัฏจักร แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร ถ้าไม่ร่วมมือกันทุกส่วน

 

 

ผมว่าทางสมาคมฟุตบอลพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ดีพอสมควร แผนการลดจำนวนทีมเหลือ 16 ทีมในฤดูกาล 2019  นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการจัดเกมเหย้าและการเดินทางในเกมเยือนที่หายไปถึง 4 เกม และยังเป็นการลดจำนวน “เกมกลางสัปดาห์” ที่เป็นปัญหาใหญ่มาช้านานได้อีกด้วย รวมถึงการเอาจริงเอาจังกับการทำ คลับ ไลเซนซิ่ง ที่ช่วยยกระดับฟุตบอลลีกไทยในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมาคมควรเร่งแก้ไขคือปัญหาการตัดสินของกรรมการ ทุกวันนี้แฟนบอลได้เห็นคลิปไฮไลต์ความผิดพลาดกรรมการมากกว่าลูกยิงสวย ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของลีกในระยะยาวและเริ่มจะส่งผลให้เห็นบ้างแล้ว

“เสียเงินมาดูบอลแล้วทีมรักสู้ไม่ได้” มันยังรู้สึกดีกว่า “เสียเงินแล้วต้องมาแพ้เพราะพิษกรรมการให้ช้ำใจ”

ในส่วนของสโมสรเองผมว่ายังมีหลายอย่างที่ต้องปรับ ถึงจะไม่สามารถดึงแฟนบอลกลับมาอย่างในยุครุ่งเรืองได้ แต่ก็ไม่ควรจะเสียเพิ่มแล้ว รวมถึงการวางแผนค่าใช้จ่ายเผื่อยอดกองเชียร์ไม่ตรงตามเป้าด้วย เพราะอย่าลืมว่าปัจจัยที่สำคัญมากในการดึงดูดแฟนบอลเข้าสนามคือผลงานของทีม ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากในโลกของฟุตบอล

 

 

อย่างที่เขียนไปข้างต้น เงินที่ได้จากแฟนบอลเพียว ๆ นั้นไม่สามารถต่อลมหายใจของสโมสรฟุตบอลได้แน่ ๆ แต่การที่มีแฟนบอลให้ความสนใจในสโมสรเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้หาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นการต่อยอดมูลค่าของสโมสรได้อีกด้วย

การตลาดของสโมสรควรเน้นไปที่การสร้างความผูกพันธ์ในระดับท้องถิ่น ดังเช่นขอยกตัวอย่างแคมเปญการตลาดง่าย ๆ แต่ประสบความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลฝั่งอเมริกา ที่สโมสรจับมือกับร้านอาหารในบริเวณเมืองที่ตั้ง โดยทุกครั้งที่ทีมสามารถเก็บชัยชนะได้ ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ของสโมสรจะลดลงราคาอาหารในวันหลังการแข่งขัน ซึ่งจุดนี้จะเป็นการดึงดูดให้แฟนบอลและคนที่ไม่ใช่แฟนบอลคอยติดตามผลงานของสโมสรอีกทางหนึ่ง

แฟนบอลต้องมีความผูกพันธ์กับสโมสร ต้องคิดว่าสโมสรเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น ซึ่งผมมองว่าความรู้สึกนี้มันค่อย ๆ จางหายไปจากในช่วงที่ฟุตบอลลีกไทยบูมขึ้นมาใหม่ ๆ

ประการถัดมา การตอบสนองความต้องการของแฟนบอลก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในวงการฟุตบอลไทย

สโมสรควรจับจุดให้ได้ว่าพื้นฐานของแฟนบอลตัวเองมีความแตกต่างจากสโมสรอื่นอย่างไร เพราะนั่นคือวัฒนธรรมที่แฟนบอลร่วมกันสร้างขึ้นและพวกเขาก็คงต้องการให้สโมสรยึดมั่นในแนวทางนั้น

เมื่อสโมสรเข้าใจแฟนบอลตัวเองแล้ว มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่แฟนบอลต้องการ แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถตอบสนองได้ทุกคำร้อง แต่เราก็จะสามารถหาจุดร่วมที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ

ผมมั่นใจว่าถ้าสโมสรให้ใจกับแฟนบอล แฟนบอลก็จะมอบใจตอบแทนให้กับสโมสรเอง

การสร้างการรับรู้ต่อแฟนบอลใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่หลายทีมมักมองข้ามไป เพราะในปัจจุบันมีสโมสรน้อยมากที่พยายามจะดึงดูดแฟนบอลรุ่นใหม่ รวมถึงเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะเราต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลกับแฟนบอลเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะระยะยาว คบกันแล้วมักไม่เปลี่ยนใจ การสามารถเข้าถึงคนที่รักฟุตบอลแต่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในวงการฟุตบอลไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ผมมีโอกาสได้คุยกับแฟนบอลนอกหลายคนที่ไม่ได้เข้ามาดูฟุตบอลไทย แน่นอนว่าปัจจัยแรกคือ “ความสนุก” ที่เราสู้ฟุตบอลนอกไม่ได้ ซึ่งจุดนี้นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และคงต้องใช้เวลาอีกนานมากเราถึงจะสามารถตามประเทศเหล่านั้นทัน แต่มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ที่มาที่ไปและข้อมูลพื้นฐานของสโมสรท้องถิ่นเป็นอย่างไร หรือบางคนเข้ามาดูนัดสองนัดแล้วไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร เขาก็ไม่มาอีกเพราะมันไม่อิน

ผมก็เป็นคนนึงที่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้น ด้วยความที่คุ้นชินกับการดูฟุตบอลนอกมากว่่า 20 ปี พอเข้ามาดูบอลไทยในระดับท้องถิ่นแล้วมันไม่สนุก ไม่รู้จักว่านักฟุตบอลคนนั้นคือใครชื่ออะไร มันก็มีผลต่อการตัดสินใจสนับสนุนในระยะยาว

สโมสรฟุตบอลจึงควรมีพื้นที่สำหรับเปิดรับและให้ข้อมูลกับ “ว่าที่” แฟนบอลของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องประวัติสโมสรคร่าว ๆ, ผู้เล่นสตาร์หรือตำนานของทีม, สถิติและผลงานในอดีต หรือแม้แต่ ที่ตั้งของสนามแข่งขัน

สุดท้ายแล้ว ในส่วนของแฟนบอล ผมคงขออะไรมากไม่ได้ นอกจากขอให้ใจเย็น ๆ กันนิดนึง (ฮา)

ตอนนี้ฟุตบอลลีกไทยผ่านช่วงบูมมาแล้ว มันอาจจะมีการชะลอตัวในเรื่องการก้าวไปข้างหน้านิดหน่อย แต่ละทีมจะเริ่มถูกจัดหมู่เป็นกลุ่มลุ้นแชมป์, กลุ่มกลางตาราง และกลุ่มหนีตกชั้น โดยยิ่งเวลาผ่านไป “สถานะ” ของแต่ละทีมจะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยด้านการลงทุนและการบริหาร

มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกทีมมีความเท่าเทียมกันในการลุ้นแชมป์ แต่ละทีมย่อมต้องมีหนทางในการเอาตัวรอดที่จะพยุงทีมไว้ในฟุตบอลลีกแตกต่างกันไป อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเขาทำทีมเล่น ๆ หรือ เขาทำทีมเพื่อกำไร ไม่มีใครหรอกที่ทำทีมแล้วอยากให้ทีมมันแพ้รัว ๆ เพราะมันส่งผลต่อชื่อเสียงของผู้ทำทีม ไม่ว่าจะเป็นในนามของบุคคลหรือนามบริษัท ไม่มีแบรนด์ไหนในโลกที่อยากให้คนเกลียดมากกว่ารัก

 

 

เราเคยผ่านช่วงเวลาที่แฟนบอลอยากเชียร์แต่ไม่มีทีมเชียร์ และตอนนี้เราอาจจะกำลังเข้าสู่ช่วงมีทีมให้เชียร์แต่แฟนบอลเริ่มหดหาย

การจะผ่านช่วงเวลานี้ได้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นทุกคนที่เคยร่วมกันสร้าง “ฟุตบอลไทย” และต่อจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะช่วงให้มันพัฒนาอย่างยั่งยืนครับ…

“BEAM”

 

ชมสด!! ศึกไทยลีก พร้อมติดตามข่าวสารทีมชาติไทย ได้ที่ Trueid App และ เว็บไซต์ Sport Trueid หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line@Trueid

 

ยอดนิยมในตอนนี้