รีเซต
AFC Annual Awards : ออสการ์แห่งวงการบอลเอเชีย

AFC Annual Awards : ออสการ์แห่งวงการบอลเอเชีย

AFC Annual Awards : ออสการ์แห่งวงการบอลเอเชีย
Supanat
20 พฤศจิกายน 2560 ( 11:50 )
353

House of Thai Football ขอพาผู้อ่านรู้จักกับงานประกาศรางวัลแห่งวงการฟุตบอลเอเชีย AFC Annual Awards ที่จะมีขึ้นที่เมืองไทยวันที่ 29 พ.ย.นี้

หากจะนึกถึงงานประกาศรางวัลระดับนานาชาติขึ้นมาสักรางวัลหนึ่งแล้ว ชื่อของออสการ์คงเป็นชื่อที่หลายคนนึกออกและเป็นที่พูดถึงลำดับต้นๆ

แต่ถ้าพูดถึงงานประกาศรางวัลเชิงลูกหนัง แน่นอนว่าส่วนใหญ่คงจะนึกถึงบัลลงดอร์ อย่างไรก็ตามในวงการฟุตบอลเอเชียแล้ว ก็มีงานประกาศเกียรติคุณสำหรับบุคลากรในด้านนี้ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเช่นกัน นั่นก็คือ AFC Annual Awards

เป็นระยะเวลา 23 ปีมาแล้วที่ AFC Annual Awards จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนแก่นักฟุตบอล ฟุตซอล ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และบุคลากรลูกหนังด้านต่างๆ ที่ทำผลงานโดดเด่นในปีนั้นๆ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่มอบให้เฉพาะนักฟุตบอลชายและโค้ชที่ทำผลงานได้โดดเด่นในปีนั้น ได้แตกแขนงออกมาเป็น ดาวรุ่งยอดเยี่ยม นักฟุตบอลหญิงยอดเยี่ยม นักฟุตซอล ทีมชาติ สโมสร แข้งเอเชียที่ค้าแข้งต่างทวีป สมาคมฟุตบอล ผู้ตัดสิน แมตช์ คอมมิชชันเนอร์ รวมถึงผู้สร้างคุณูปการแก่วงการฟุตบอลโดยรวม

โดยในปีนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับเกียรติจากเอเอฟซีให้จัดงานนี้เป็นครั้งแรก ต่อจากสหรัฐเอมิเรตส์ที่เป็นเจ้าภาพเมื่อปีก่อน และ House of Thai Football จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับงานมอบรางวัลที่ยิ่งใหญ่ระดับทวีปงานนี้ไปพร้อมๆกัน

เกียรติประวัติของตำนานแข้งเอเชีย

หากชื่อเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนที่ผ่านๆมา เป็น คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ลิโอเนล เมสซี่, กาก้า, ซีเนดีน ซีดาน คนที่เคยได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมเอเชียในงาน AFC Annual Awards ก็คุ้นหูแฟนบอลไม่น้อยไปกว่ากัน

โดยผู้เล่นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 1994 คือ ซาอิด อัล-โอไวรัน ตำนานทีมชาติซาอุดีอาระเบียที่สร้างชื่อในฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาด้วยการเลี้ยงครึ่งสนามผ่านนักเตะเบลเยี่ยมเข้าไปยิง ซึ่งในปีดังกล่าว ทัพ “เหยี่ยวมรกต” ผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในการเล่นเวิลด์คัพรอบสุดท้าย

และในปี 1998 ฮิเดโตชิ นากาตะ ก็เป็นนักเตะคนแรกที่ได้รางวัลนี้ 2 สมัยติดต่อกัน จากการมีส่วนช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก และเป็นนักเตะคนที่ 2 ถัดจาก คาซูโยชิ มิอูระ ที่ไปเล่นในกัลโช่ เซเรีย อา

ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1990-2000 บรรดานักเตะเอเชียที่เล่นในยุโรปต่างเป็นพาเหรดตบเท้าเข้ารับรางวัลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น อาลี ดาอี จากบาเยิร์น มิวนิค, ฟาน จือ ยี่ จากดันดี, ชินจิ โอโนะ จากเฟเยนอร์ด และ เมห์ดี้ มาห์ดาวิเกีย จากฮัมบูร์ก จนกระทั่งเอเอฟซีได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และมีการมอบรางวัลให้กับนักเตะที่ค้าแข้งในทวีปและต่างทวีปออกจากกัน

โดยนักเตะคนแรกที่ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมเอเชียที่ค้าแข้งต่างทวีปก็คือ ชินจิ คากาวะ ที่คว้าแชมป์บุนเดสลีกากับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก่อนจะย้ายไปแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปีเดียวกันนั้นเอง ส่วนในปี 2016 ตกเป็นของ ชินจิ โอคาซากิ ที่คว้าแชมป์ประวัติศาสตร์กับเลสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาล 2015/16

เช่นเดียวกับรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมที่เคยผ่านมือบรรดาดาวจรัสแสงมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็น พาร์ค ชู ยอง อดีตศูนย์หน้าของโมนาโกและอาร์เซนอล, คี ซอง ยง กองกลางสวอนซี, อาลี อัดนาน วิงแบ็คของอูดิเนเซ่ รวมไปถึง อาเหม็ด คาลิล กองหน้ายูเออีดีกรีนักเตะยอดเยี่ยมเอเชียเมื่อปี 2015 ก็เคยได้รับรางวัลนี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นคนที่ 3 ถัดจาก มาห์ดาวิเกีย และ โอโนะ ที่ได้ทั้งรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมและนักเตะยอดเยี่ยมจากงาน AFC Annual Awards

รางวัลตอบแทนของยอดโค้ช

รางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมถือว่าเป็นรางวัลที่อยู่กับงาน  AFC Annual Awards มาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยโค้ชคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าวก็คือ ชาญวิทย์ ผลชีวิน ที่พาสโมสรธนาคารกสิกรไทยคว้าแชมป์สโมสรเอเชียเป็นสโมสรแรกของเมืองไทย ก่อนที่ตำนานของเกาหลีใต้อย่าง ชา บุม กุน จะได้รับรางวัลดังกล่าวจากการคุมทีมชาติเกาหลีใต้ในอีก 3 ปีถัดมา

ส่วนโค้ชนอกทวีปคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าวก็คือ ฟิลิปป์ ทุรสซิเย่ร์ ที่พาทีมชาติญี่ปุ่นคว้าแชมป์เอเชียน คัพ ปี 2000 และอีก 2 ปีต่อมาก็เป็น กุส ฮิดดิ้งก์ ที่ทำผลงานคุมทีมชาติเกาหลีใต้เข้าสู่รอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก ปี 2002 ถือเป็นผลงานดีที่สุดของชาติจากเอเชียในรายการนี้อีกด้วย

สำหรับโค้ชยอดเยี่ยมคนล่าสุดก็คือ ชเว คัง ฮี ของชนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ทีมแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2016

เพชรแห่งเอเชีย

รางวัลเพชรแห่งเอเชียถือว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่มีเกียรติประวัติสูงสุดที่มอบให้โดยเอเอฟซี โดยรางวัลดังกล่าวได้ทำการมอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานอันโดดเด่นในแง่ของการพัฒนาและส่งเสริมวงการฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารของเอเอฟซีโดยตรง

และผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวล้วนแต่เป็นคีย์แมนผู้ขับเคลื่อนวงการลูกหนัง ยกตัวอย่างเช่น เลนนาร์ท โยฮันส์สัน อดีตประธานยูฟ่า ผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ ยูโรเปี้ยน คัพ ให้เป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เฉกเช่นปัจจุบัน

ซึ่งคนล่าสุดที่ได้รับรางวัลก็คือ อิสซ่า ฮายาตู อดีตประธานรักษาการณ์ฟีฟ่า และประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา โดยคนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญเป็นรองแค่คณะกรรมการบริหารของเอเอฟซีเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก FA Thailand

ชมสด!! ศึกไทยลีก พร้อมติดตามข่าวสารทีมชาติไทย ได้ที่ Trueid App และ เว็บไซต์ Sport Trueid หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line@Trueid

ยอดนิยมในตอนนี้