รีเซต
TRUE OPINIONS : เรียก 27 รายงานวันแรก 13 ... วิกฤต ยู-23 โปรแกรมชน ACL แก้ยังไงดี ? ... by "จอน"

TRUE OPINIONS : เรียก 27 รายงานวันแรก 13 ... วิกฤต ยู-23 โปรแกรมชน ACL แก้ยังไงดี ? ... by "จอน"

TRUE OPINIONS : เรียก 27 รายงานวันแรก 13 ... วิกฤต ยู-23 โปรแกรมชน ACL แก้ยังไงดี ? ... by "จอน"
kentnitipong
22 ธันวาคม 2560 ( 15:06 )
6K

TRUE OPINIONS : เย็นวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้แวะไปสนามราชมังคลากีฬาสถาน เพราะจะไปธุระแถวนั้นพอดี เลยถือโอกาสไปชมการรายงานตัวของน้องๆ ชุด ยู-23 ทีมชาติไทย ที่กำลังเตรียมตัวทำศึก ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2018 ที่ประเทศจีน ช่วงต้นเดือนมกราคมนี้

 

 

และสิ่งที่ผมเห็นก็ทำเอาอึ้งไปนิดนึงเลย เพราะจากทั้งหมด 27 คนที่ถูกเรียกมาติดทีมชุดนี้ กลับมารายงานตัวที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพียงแค่ 13 คนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า “มารายงานตัววันแรก ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเตะที่เรียกมาทั้งหมด”

ตัวเลขดังกล่าวส่งผลชัดเจนต่อ ภาษากาย และสีหน้าของ โซรัน ยานโควิช เฮ้ดโค้ชทีมชาติไทยชุดนี้ ที่ดูไม่ค่อยโอเคนัก มีความหนักใจแอบแฝงบนใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มขณะถ่ายภาพอย่างเห็นได้ชัด

“หากมีนักเตะตัวหลักถอนไป ผมก็พร้อมใช้ผู้เล่นที่มีให้ดีที่สุด เราจะพยายามทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม หากต้องขาดตัวหลักจริง ยอมรับว่าหนักใจพอสมควร เราจะพยายามเจรจาให้ถึงที่สุด แต่ถ้าหากไม่สำเร็จเราก็จะใช้ผู้เล่นที่มีอยู่ให้ทำผลงานออกมาดีที่สุด ส่วนเรื่องการเรียกตัวเสริมเราก็มีแผนสำรองไว้เช่นกัน” นี่คือ บทสัมภาษณ์ของโค้ช (โซรัน ยานโควิช) ภายหลังการรายงานตัวที่ค่อนข้างเงียบเชียบที่สุดครั้งหนึ่งของทีมชาติไทย เท่าที่ผมเคยเห็นมา

นักเตะชุดนี้มีรากฐานมาจากชุดแชมป์ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย บวก ชุดทำศึก M-150 Cup 2017 ที่เพิ่งจบสิ้นลงไป ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่คว้าอันดับที่ 4 มาครอง ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ทำให้การรายงานตัวมีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง นั่นเพราะนักเตะส่วนใหญ่ ยังไม่ได้พักเลย ต่างกรำศึกหนักมาทั้งปี ทั้งฟุตบอลลีก, ฟุตบอลถ้วย, ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก, ซีเกมส์ รวมถึง M-150 Cup

“ต่อเนื่อง ยาวนาน กรอบเป็นข้าวเกรียบ แทบจะจิ้มน้ำพริกเผาทานได้เลย”

อีกปัญหาใหญ่ก็คือ การต้องลงเล่นรอบคัดเลือก รอบ 2 ของศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2018 ของ 2 สโมสรชั้นนำอย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ เชียงราย ยูไนเต็ด ในวันที่ 23 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาพอเหมาะพอเจาะ ระหว่างทัวร์นาเมนต์ ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย พอดิบพอดี

ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ไม่มีนักเตะจาก เชียงราย ยูไนเต็ด ทั้ง 6 ราย มารายงานตัวเลย รวมถึง เจนรบ สำเภาดี กองหน้ากัปตันทีมชุดนี้ จาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด อีกด้วย

คล้อยหลังเพียงวันเดียว เชียงราย ยูไนเต็ด ก็ได้ออกแถลงว่า สุริยา สิงห์มุ้ย, ชินภัทร์ ลีเอาะ และ พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล สามดาวเตะที่ไม่มารายงานตัวนั้น เกิดปัญหาอาการบาดเจ็บสะสม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือ 3 กำลังหลักของทีมมาตั้งแต่ชุดซีเกมส์แล้ว ซึ่งการขาดสามคนนี้ ทำให้แนวรับของทีมต้องเสียสมดุลไปอย่างชัดเจนในศึก M-150 Cup ที่ผ่านมา (ชินภัทร์ ลีเอาะ ได้ลงเล่นเพียงเกมชนะ ญี่ปุ่น 2-1 เท่านั้น)

 

 

อันที่จริง ปัญหาดังกล่าว จะโทษสโมสรแบบ 100% ก็ไม่ได้นะ เนื่องจากการลุ้นผ่านเข้ารอบ “เอซีแอล” นับเป็นเรื่องสำคัญในแง่ของผลงาน และภาพลักษณ์ของทั้งสโมสร รวมถึงค่าสัมประสิทธิ์ของไทยลีกเอง

นักเตะ และสโมสรต่างวางแผน ต่างทำงาน ต่างร่วมไม้ร่วมมือกันกรำศึกหนัก ลงทุนลงแรงทั้งพลังกาย พลังเงินมาทั้งปี เพื่อสร้างผลงานให้ดี เพื่อการเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม เอซีแอล ให้ได้ ก็เพื่อแฟนบอล เพื่อคุ้มค่ากับการลงทุน

และอีกอย่าง พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฏของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แต่อย่างไร เพราะทัวร์นาเมนต์ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย ไม่ได้เป็นแมตช์ฟีฟ่าเดย์ ฉะนั้นการไม่ปล่อยนักเตะมาเล่นของสโมสร ไม่ถือเป็นการผิดกฏ (เช่นเดียวกับ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ผ่านมา ที่ก็มีการไม่ปล่อยตัวมาร่วมทีมเหมือนกัน) แถมครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีโควตาไปลุยศึกโอลิมปิก เกมส์ แต่อย่างใดอีกด้วย

โอเคหล่ะ การพูดคุยกับทางสโมสรต้นสังกัด ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาแรกที่ควรทำอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้จริงๆ ปัญหานี้จะต้องแก้อย่างไรดี… ที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหาเบื้องต้น ด้วยการเรียกสองแนวรับเข้ามา คือ เนติพงษ์ แสนมะฮุง กองหลังจากสโมสร แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี กับ ปวีร์ ตัณฑะเตมีย์ จากสโมสร ราชบุรี มิตรผล เอฟซี

แต่แม้จะเรียกมาเพิ่งสองคนแล้ว ทว่า ในวันแรกที่มีการซ้อมกันที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ก็มีนักเตะเพียง 17 คนเท่านั้น… ทีมฟุตบอลที่มีการซ้อมกันแค่ 17 คนสำหรับทัวร์นาเมนต์ระดับเอเชีย มันเป็นจำนวนที่ไม่โอเคเอาซะเลย แต่ในเมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้ว ผมเลยคิดว่า โซรัน ยานโควิช อาจจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป

“ปัญหามีไว้ให้แก้
ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม”

ผมมองว่า โซรัน น่าจะตัดสินใจใช้วิธีการดันนักเตะชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ขึ้นมาเล่นในทีมชุดนี้เลย ด้วยเหตุผลคือ นักเตะชุดนี้หลายคนก็มีอายุอยู่ในเกณฑ์สามารถเล่นรอบคัดเลือก โอลิมปิกเกมส์ ในครั้งหน้าได้ พวกเขาจะได้ทำความคุ้นเคยกันเพิ่มขึ้น ได้โอกาสเรียนรู้ ทำความรู้จักในภาษาฟุตบอลกันมากขึ้น แถมระดับความเข้มข้นของทัวร์นาเมนต์นี้ยังมีน้อย เนื่องจากไม่มีโควตาใดๆ ทั้งสิ้น

การเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักเตะในเกมระดับนานาชาติ จะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น และนำสิ่งที่ได้มาเพิ่มเติมสิ่งที่ขาด ต่อยอดไปถึง เอเชี่ยนเกมส์ 2018, ซีเกมส์ 2019 และท้ายที่สุดคือสิ่งที่เราหวังไว้ นั่นคือการผ่านเข้ารอบสุดท้าย โอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในอีกสองปีข้างหน้า และบางตำแหน่ง ผมอยากให้วัดใจนักเตะจากชุด ยู-19 ขึ้นมาเลย เหมือนที่ตัดสินใจเรียกสิทธิโชค ภาโส มาติดทีม อย่างน้อยก็นำขึ้นมาซัพพอร์ตรุ่นพี่  เพราะพวกเขาจะได้ประสบการณ์อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน ก่อนจะไปแข่ง ยู-19 ชิงแชมป์เอเชีย ปลายปีหน้า ซึ่งมีตั๋ว “เวิลด์คัพ ยู-20” เป็นเดิมพัน อย่างเช่น “เจ้าแม็กซ์” จตุรพัชร สัทธรรม แบ็คซ้ายตัวเก่งของชุด ยู-19 ที่ข้ามรุ่นไปติดชุด ยู-21 ที่ผ่านมา ในทัวร์นาเมนต์ที่เวียดนาม

 

 

ไม่ได้ให้เรียกมายกชุดนะ ผมอยากให้ข้ามรุ่นขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย เติมเต็มส่วนที่ขาด ปรับใช้อย่างมีจิตวิทยา และตรงตามศักยภาพของน้องๆ ให้พวกเขาได้ซึมซับรุ่นที่โตขึ้น และเป็นการส่งต่อความเชื่อมั่น ความมุ่งมั่นให้กับรุ่นตัวเองได้ว่า เห้ย มีเพื่อนเราข้ามขึ้นไปเล่นกับพี่ๆ เขาได้หวะ…

อย่ากลัวความพ่ายแพ้ ให้คิดถึงสิ่งที่เด็กๆ จะได้รับ
มองไปข้างหน้า ถึงเป้าหมายที่แท้จริง และทัวร์นาเมนต์ที่มีโควตารองรับ

“พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
พลิกโอกาสให้เป็นความสำเร็จ

สัมผัสความพ่ายแพ้วันนี้
เพื่อแตะมือกับชัยชนะในวันข้างหน้า”

 

“จอน”

 

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้