รีเซต
TRUE FOCUS : ความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น ภายใต้แชมป์ร่วมของ "จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ... by "จอน"

TRUE FOCUS : ความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น ภายใต้แชมป์ร่วมของ "จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ... by "จอน"

TRUE FOCUS : ความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น ภายใต้แชมป์ร่วมของ "จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ... by "จอน"
kentnitipong
6 กุมภาพันธ์ 2561 ( 18:44 )
4.3K

จอน : ทุกต้นปี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผม ที่ต้องสูญเสียวันเสาร์ไป 1 วันเต็มให้กับการชมฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าของฝั่งลูกแม่โดม (คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา รหัส 49)

 

 

 

ผมจะได้เจออะไรบ้าง ที่สนามศุภชลาศัย
ผมได้ดูฟุตบอลคู่หนึ่ง ที่หวนกลับมาเจอกันเป็นประจำทุกปี
ผมได้พบเพื่อนฝูง ได้พูดคุยกับเหล่าเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องที่เป็นนักฟุตบอลฝั่งธรรมศาสตร์
ผมได้ชมการแปรอักษร และดูผลงานของทีมล้อการเมืองแบบสดๆ ในสนาม
ผมจะได้ยลโฉม เชียร์ลีดเดอร์ และดรัมเมเยอร์ แม้จะไกลพอสมควร แหะๆ ก็ผมเป็นผู้ชายคนหนึ่งนี่หน่า

 

โอเคหละ ด้วยความเป็นศิษย์เก่า มันก็ทำให้เรา “อิน” ได้กับบรรยากาศ และความสวยงามต่างๆ ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมอินที่สุดทุกๆ ปี แน่นอน มันคือ “ฟุตบอล” ยิ่งปีนี้ จุฬาฯ จัดเต็ม หวังคว้าแชมป์บ้าง เพราะพลาดให้กับ มธ. ในสองครั้งหลังสุด ด้วยสกอร์ที่ค่อนข้างห่างในระดับหนึ่งด้วย (0-2 และ 1-5)

“นักเตะดีกรีทีมชาติเต็มเลย ฟุตบอลมันต้องสนุกแน่ๆ…
นี่คือความคิดของผมก่อนเกมจะอุบัติขึ้น”

หลังจับจองที่นั่งพอเหมาะพอเจาะ ผมรอไม่นานนัก เกมก็เริ่มต้นขึ้น และจบลงไปตามเวลาของมัน

ผลการแข่งขันก็อย่างที่ทราบกัน จบลงด้วยการเสมอ 1-1 คว้าแชมป์ร่วมแบบมีดราม่า เพราะทางจุฬาฯ ตีเสมอ 1-1 ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ โดยที่มีจังหวะที่ “ลูกแม่โดม” ส่งบอลเข้าประตูไปแล้วในช่วงท้ายเกม แต่ถูกจับฟาวล์ซะก่อน เนื่องจากผู้ตัดสินมองว่า มีจังหวะชาร์จโกลในกรอบเขตโทษเกิดขึ้น

สำหรับเรื่องผลการแข่งขัน ผมไม่ได้ซีเรียสนัก เนื่องจากด้วยความที่เป็นเกมกีฬา มีแพ้มีชนะ เป็นเรื่องปกติ

การยิงท้ายเกม หรือการตัดสินของกรรมการ มันก็คือเรื่องปกติของฟุตบอล

 

ขอบคุณภาพ : Mint Rattanakool

 

ผมชมเกมฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยที่นักเตะทีมชาติไทยยุคดรีมทีมยังเล่นอยู่ ผมชอบดูนะ มันสนุกดี มีนักเตะทีมชาติไทย เดินกันให้ว่อนทั้งสองทีม กำไรคนดูที่ยังเป็นเด็กน้อยอย่างเรา โดยที่ไม่รู้หรอกว่า วันหนึ่งจะได้เข้ามาเรียนหนึ่งในสองมหาวิทยาลัยแห่งนี้

แต่ก็ยอมรับว่า ครั้งนี้ มันเป็น 90 นาที ของฟุตบอลประเพณีที่ไม่ค่อยคุ้นชินตาเท่าไร จากที่ผมเคยชม มันเป็นฟุตบอลกระชับมิตรที่เล่นหนักมาก เข้าบอลกันถึงลูกถึงคน จังหวะ 50-50 ใส่กันไม่มียั้ง เสี่ยงเจ็บสุดๆ แถมยังไร้ใบเหลือง-ใบแดง จากกรรมการอีกด้วย ทั้งที่นักเตะที่อยู่ในสนาม บางคนมีมูลค่าการตลาดในโลกของฟุตบอลอาชีพที่สูงมาก เช่น ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ของ จุฬาฯ หรือ สารัช อยู่เย็น ของ ธรรมศาสตร์

“ผมคิดระหว่างเกม เล่นหนักขนาดนี้ กังวลจังว่าจะ มีคนเจ็บแน่ๆ แต่ไม่รู้หวยโชคร้ายนี้จะไปตกที่ใคร”

และเหตุการณ์ที่กังวลก็เกิดขึ้นจริงให้หลังเพียง 1 วัน เมื่อมีข่าวร้ายสู่แฟนบอล เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ว่า อดิศักดิ์ ไกรษร กองหน้าไทยเบอร์ 1 ของทีม หลังสูญเสีย ธีรศิลป์ แดงดา ไปเล่น เจ ลีก ได้เกิดอาการบาดเจ็บหนักบริเวณเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด จนต้องรับการผ่าตัด และพักแน่นอนประมาณ 6-8 เดือน เนื่องจากถูก ณัฐพงษ์ สาริยา สกัดในนาที 42

ภาวะของ “เจ้ากอล์ฟ” ส่งผลโดยตรงแน่นอนกับต้นสังกัดอย่าง “กิเลนผยอง” ที่ต้องสูญเสียกำลังหลักก่อนปิดตลาดนักเตะแค่ 1 วันเท่านั้น นอกจากนี้ ทีมชาติไทย ก็ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเขา คือ ตัวสำรองเบอร์แรกๆ ของ ธีรศิลป์ แดงดา ในตำแหน่งกองหน้าช้างศึก ที่กำลังมีคิวฟาดแข้งทัวร์นาเมนต์ คิงส์ คัพ 2018 ในดือนหน้าที่จะถึง

 

ขอบคุณภาพ : Mint Rattanakool

 

การบาดเจ็บครั้งนี้ ทำให้ต้องย้อนกลับมาฉุกคิดเลยว่า การเลือกใช้นักเตะระดับตัวหลักของทีมชาติไทยลงสนาม ในศึกฟุตบอลประเพณี ก่อนเกมลีกเปิดไม่ถึง 7 วัน มันคุ้มค่าหรือไม่กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในยุคที่มูลค่าของนักเตะ และไทยลีกสูงลิบลิ่วขนาดนี้

แมตช์ฟุตบอลแห่งศักดิ์ศรีของสองสถาบันอุดมศึกษาชื่อดัง กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม เพราะความเสี่ยงที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งการใช้นักฟุตบอลอาชีพมาเล่น แน่นอน ไม่ว่าจะแมตช์ระดับใด ยังไงพวกเขาก็ใส่เต็ม ไม่มีใครไม่อยากชนะ ไม่มีใครอยากออกจากสนามด้วยความพ่ายแพ้

และการเลือกที่จะไม่ตักเตือนนักฟุตบอลด้วยใบเหลืองใบแดงตามกฏปกติของวงการลูกหนัง มันส่งผลกระทบทำให้เกมมันเดือดเกินไปหรือไม่ จนก่อให้เกิดจังหวะกระทบกระทั่งหลายครั้งในเกม

บทเรียนขนานใหญ่แก่สโมสรต้นสังกัด ที่อาจจะส่งผลให้สโมสรอื่นๆ ไม่ปล่อยตัวนักเตะมาเล่นในอนาคต ซึ่งสโมสรเองก็มีสิทธิ์เต็มๆ ที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่มีการการันตีแน่นอนเลยว่า นักเตะภายใต้การดูแลของพวกเขา จะมีใครบาดเจ็บอีกไหม

 

เราเดินออกมาจากสนาม ในฐานะศิษย์เก่าของทีมทีมหนึ่ง ที่ได้แชมป์ร่วมจากฟุตบอลแมตช์เดียว
แต่วันต่อมา ผู้แพ้ตัวจริงก็ได้เผยตัวให้เห็น นั่นคือ “ทีมชาติไทย”, นักเตะที่บาดเจ็บ และสโมสรต้นสังกัด

 

อยากให้หาจุดกึ่งกลาง ที่ลงตัวมากกว่านี้ เพื่อให้ฟุตบอลประเพณี จุฬา – ธรรมศาสตร์ ยังคงเป็นฟุตบอลดีๆ ดูสนุก ไม่เครียด เตะกันแบบฉันท์มิตรสหาย เพื่อนผองน้องพี่ ให้ผมได้ดู และได้อมยิ้ม เหมือนที่เคยเป็นมา

และที่สำคัญ มันต้องสนุกในแบบที่ไม่มีผลกระทบต่อสโมสรอาชีพต้นสังกัด รวมถึงทีมชาติไทย

“มันคงไม่มีประโยชน์อะไร หากเรายิ้มกริ่มกับชัยชนะ ที่อยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง”

 

“จอน”

 

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้