รีเซต
TRUE OPINIONS : Welcome to Thai League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : Welcome to Thai League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : Welcome to Thai League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"
Supanat
9 กุมภาพันธ์ 2561 ( 19:10 )
1.6K

Welcome to Thai League 2018…

พักกันไปนานพักใหญ่ฟุตบอลไทยลีก ลีกสูงสุดของบ้านเราหวนกลับมาลงสนามกันแล้วนับหนึ่งในค่ำวันนี้กับเกมแชมป์เก่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ประเดิมลงซัดทีมคู่ปรับที่มักจะสร้างความยากลำบากให้กับพวกเขาอยู่เสมอนั่นคือ “ราชันมังกร” ราชบุรี มิตรผล เอฟซี แน่นอนว่าหายไปนานๆ ให้คิดถึงย่อมมีสิ่งน่ามองให้ติดตามอยู่เสมอ

หลายคนที่ผมมีโอกาสได้พุดคุยบอกกับผมว่าในความรู้สึกที่มี “ไทยลีก” สนุกเร้าใจไม่แพ้ลีกชั้นนำของโลกสำหรับเขา มันเร้าใจ เร้าอารมณ์ไม่ต่างจากพรีเมียร์ลีก สะใจแบบที่หาไม่ได้จากลีกใดๆ ในโลกอีกแล้ว เชื่อว่าคำพูดนี้คุณๆ คงเคยผ่านตาเข้าหูกันมาบ้าง และเป็นธรรมดาหากจะคล้อยตามหรือเห็นต่าง เป็นไปได้ไงบอลไทยจะสนุกเท่าบอลนอก

เอาเป็นว่าผมจะยกเหตุผลที่ไม่รู้จะมากพอ 108 ข้อไหม มานำเสนอครับ

ลีกปืนกล

ไทยลีก หรือลีกสูงสุดบ้านเราถือเป็นเกมโคตรเอนเตอร์เทนกันจริงๆ หากคุณมองลงไปที่ปรัชญาของฟุตบอลที่ว่า ฟุตบอลสนุกที่สุดตอนไหน (ใครตอบตอนต่อยกันเดี๋ยวเอาสำลีขว้างก้นจนนั่งส้วมไม่ได้เลย) แน่นอนมันคืออารมณ์การยิงประตู นั่นแหละเสียวที่สุด สะใจที่สุด ยิ่งเป็นทีมรักยิงเข้านะคุณเอ้ย ไม่ว่ามันจะยิงระยะ 2 ฟุต หรือเลี้ยงหลุดมา 8 คนรับรองเฮลั่นไม่ต่างกันเท่าไหร่
ตรรกะง่ายๆแบบนี้ถือว่าเข้าทางฟุตบอลไทยขนาดแท้ เพราะตลอด 3 ฤดูกาลที่ผ่านมา ไทยลีกจะเป็นลีกยิงกระจายแบบหงายท้องตึง

306 เกมจากฤดูกาลที่ผ่านมา ลีกบ้านเรายิงกระจาย 1,037 ตุงคิดง่ายๆเฉลี่ยออกมาตกเกมละ 3.39 ประตู เป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดาเลย จริงๆ ผมอยากจะบอกว่า 3.39 ประตูต่อเกมเป็นตัวเลขเข้าข่ายมหัศจรรย์ แต่เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างฟุตบอลไทยเกินงาม ดังนั้นเอาตัวเลขดังกล่าวนำมาเปรียบเทียบกับลีกใหญ่ในยุโรป ( 2016-17)ที่ถ่ายทอดมายังประเทศไทยกันดูหน่อยเป็นหลักฐาน

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 380 เกม ผลิตสกอร์ไป 1,064 ประตู เฉลี่ย 2.8 ประตูต่อเกม
กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี 380 เกม ซัดกันนัวผิดภาพลักษณ์ 1,123 ประตู หรือ 2.96 ต่อเกม
บุนเดสลีกา เยอรมนี 306 เกม ยิงอุตลุด 877 ประตู หรือ 2.87 ประตู่อเกม
ลา ลีก้า สเปน 380 เกม ถล่มแหลก 1,118 ประตู หรือ 2.94 ประตูต่อเกม
ลีก เอิง ฝรั่งเศส 380 เกม ยิงระห่ำ 991 หรือ 2.61 ประตูต่อเกม

ย้อนกลับไป 3 ฤดูกาลหลังสุด จะพบว่าค่าเฉลี่ยในการทำประตู เพิ่มขึ้นทุกฤดูกาลครับ 2015 ลงสนาม 306 เกม 870 ประตู ตกเกมละ 2.84 ประตู 2016 แข่งขันได้ 277 เกม มีประตูทั้งหมด 830 ประตูเฉลี่ยเกมละ 3 ลูกพูนๆ ดังนั้นหากให้ยกเหตุผลว่าทำไมฟุตบอลถึงเร้าใจมาก ตัวเลขจำนวนประตูนี้ถือเป็นรูปธรรมที่สุด

ทั้งนี้สำหรับขาจรที่อาจไม่ได้มีทีมรักประจำตนแต่อยากลองสัมผัสบรรยากาศสักครั้งว่าทำไม ฟุตบอลไทยถึงก้าวกระโดดมาเป็นกระแส มาเป็น Talk Of The Town ได้ ทำไมอาชีพนักฟุตบอลถึงมีค่าเหนื่อยตกเดือนละ 7 หลักบวกค่าโฆษณาอีก 8 หลักต่อปีได้ เรามีทีมมาแนะนำครับทั้งนี้ไม่ได้แนะนำด้วยรสนิยม แต่เป็นเรื่องตัวเลขล้วนๆ

ซึมซับบรรยากาศจริงลูกหนังไทย

หากคุณอยากได้บรรยากาศสีสันจัดๆ คนดูแน่นสนามเสียงเชียร์กึกก้องแล้วละก็ สนามที่คุณน่าจะหาโอกาสไปสักครั้งเราชี้ไปที่ “ช้างอารีน่า” บุรีรัมย์ สนามนี้คือแชมป์เก่าเรื่องจำนวนผู้ชมตลอดทั้งฤดูกาล 2017 มีผู้ชมหมุนเวียนมาเยี่ยมเยือน 236,137 ชีวิต

เป็นทีมเดียวที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมในแต่ละเกมเกือนหมื่นคน (13,890 คน) ดังนั้นเรื่องบรรยากาศคึกคักไม่เป็นรองที่ไหน เช่นกันกับสีแดงเพลิงบนอัฒจันท์ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด สนามขนาด 14,000 ที่นั่งโดยประมาณ อัดแน่นเฉลี่ย 8,808 คนต่อเกม เรื่องความดุดันของกองเชียร์จัดเป็นแถวหน้า ไหนจะสนามเลื่องชื่ออย่าง แพท สเตเดี้ยม สิงห์ท่าเรือ ไปสามสนามนี้รับรองคุณจะรู้จักฟุตบอลไทยมากกว่าการอ่านเพจหรือเว็บบอร์ดอีกเยอะ

สนามเร่งอะดรีนาลีน

ได้รายชื่อสนามบรรยากาศดุดันไปแล้ว คราวนี้เราไปมองหาสนามที่ทำให้ร่างกายคุณหลั่งสารแห่งความตื่นเต้นอย่าง “อะดรีนาลีน” ว่าแต่เกมฟุตบอลนี่ทำเร่งสารดังกล่าวกันแบบไหน แน่นอนการบุกทำประตูยังไงละครับ ยิ่งยิงเยอะ ยิงบ่อยเข้าไม่ไม่เข้าไม่ทราบแต่ได้ลุ้นแน่ๆ
จากปีที่ผ่านมาสนามที่ว่าไม่ต้องถกเถียงนั่นคือสนามกีฬาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บ้านของ “ทรู” แบงค็อก ยูไนเต็ด

17 เกมลีกที่เกิดขึ้น พวกเขาถล่มคู่แข่งสบายเท้า 61 ประตู ตก 3.5 ประตูต่อเกม
กลับกันโดนทีมเยือนสอย 31 ตุง คิดเป็นเป็น 1.8 ประตูต่อเกม

นับรวมแล้ว 17 เกมผ่านสนามแห่งนี้มีประตูทั้ง 92 ครั้ง หรือ 5.4 ประตูต่อเกม ตัวเลขนี้บอกเลยบ้าไปแล้ว 90 นาทีมีห้าลูกครึ่ง 16.666 นาทีมีหนึ่งลูก

ไปเลยคุณครับลองตีตั๋วเข้าไปชมได้เลยเพลินแน่ทางที่ดีเสาร์นี้เลย บิ๊กแมตช์ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ซด เอสซีจี เมืองทอง 19.00 น เริ่มลงสนามไปเกี่ยบเก็บประสบการณ์สัก หกโมงเย็น ถือเป็นการเบิกร่องฤดูกาลใหม่ที่ยอดเยี่ยม

ไทยลีกพันล้าน

สำหรับไทยลีก 2018 ถือเป็นปีที่การันตีความดุเดือดได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเขี่ยบอล ไม่ต้องหาเหตุผลอื่นใดมาอ้างอิงเพียงแค่คำยืนยันจากผู้จัดการแข่งขันว่าปีนี้ตกชั้น 5 ทีมนะครับ “ไม่มีเปลี่ยน” เท่านี้ไฟก็ท่วมทุ่งแล้ว

ประกอบกับ ข้อมูลสื่อกีฬายักษ์ใหญ่บ้านเราอย่าง “สยามกีฬา” เปิดงบประมาณของแต่ละสโมสรในฤดูกาลนี้คนที่ตามฟุตบอลไทยแบบไม่วงในนักคงสะดุ้งยอดรวมพุ่งไปเกือน 3000 ล้านบาท

ในสกู๊ปข่าวดังกล่าวระบุว่าแชมป์ในการลงทุนปีนี้คือ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 400 ล้านบาท
ตามมาด้วย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์เก่า 300 ล้านบาท แบงค็อก ยูไนเต็ด และ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ประเมินไว้ 250 ล้านบาท

ไทยลีกเดินทางมาถึงจุดที่ ทีม 1 ทีมเปิดงบออกมา แตะ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าได้เพียงขออยู่รอดตกชั้น ใช่ครับเราถึงจุดนี้แล้วจุดที่การแข่งขันสูงลิบ สิ่งที่ตามมาคือความกดดันของคนทำงานซึ่งเป้าแรกก้ไม่ใช่ใคร คนคุ้นเคยกับความเครียดภาษาฟุตบอล นั่นก็คือ “โค้ช”

จากกันยายน 2016 จนถึง กันยายน 2017 ถือเป็นช่วงเวลาสะเด็ดน้ำเกมเก้าอี้ดนตรีโค้ชไทยลีก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งปลด (Sack) ลาออก (Resigned) ต่างคนต่างไป (Mutual consent) โยกไปนั่งเก้าอี้ตัวอื่นแล้วมีคนมาทำแทน ฯลฯ ทั้งหมด 19 ครั้ง มีชื่อโค้ชเข้ามาวนเวียนในลีกนี้ทั้งหมด 28 ราย

นี่ขนาดตกชั้นแค่ 3 ทีม ปีนี้ล่อกัน 5 ทีม หรือ 1 ใน 4 ไม่รู้เลยว่าหวยจะออกที่ใครกันบ้างแล้วตัวเลขจะไหลไปที่เท่าไหร่ อย่างไรเสียหวังใจให้ทุกคนโชคดีครับทั้งน้องนักฟุตบอลขอให้มีโอกาสเล่นอย่างเต็มที่ไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวน โค้ชก็ขอให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ มีโชคเข้าข้างตามที่โอกาสอำนวย ขอให้ทุกๆ เกมออกมาสวยงามน่ามอง และยุติธรรม ทั้งหมดเพื่อคุณภาพที่สูงขึ้น สนุกขึ้น อันเป็นกำไรต่อแฟนฟุตบอลไทย และวงการฟุตบอลภาพรวม

ทั้งนี้ในฐานะผู้บรรยายต้องขอบคุณทาง ทรูวิชั่นส์ โดยสุรพจน์ เค้าอ้น ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ ทรูวิชั่นส์ที่จัดงานดีๆ อย่างสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Thai League Commentator Workshop เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ โตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2018 เอาบ้านนๆคืออัพเลเวลผู้บรรยายก่อนลงสนามจริง ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันและผมเองก็โชคดีที่อยู่ในงานทั้ง2 ครั้ง

โดยปีนี้เราได้วิทยากรเป็นบุคลากรที่ทำงานจริงๆ ทั้งคุณ เบนจามิน ตัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายควบคุมการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา และตรวจสอบ คลับ ไลเซนซิง สมาคมฯ, คุณ ไพฤทธิ์ ต้านไพรี หัวหน้าฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด, คุณเอกพล พลนาวี ผู้จัดการฝ่ายจัดการแข่งขัน และกิจกรรมสมาคมฯ และ คนคุ้ยเคยเพื่อนร่วมชะตากรรมยามลงสนาม ศิวกรณ์ ภูอุดม ผู้ตัดสินฟีฟ่า อีลิท มาแนะนำทั้งในเรื่องวิธีคิดแนวทางการทำงานของลีก เป้าหมายอยู่ตรงไหน ระเบียบการ รูปแบบการตลาดที่จะมุ่งไป ปรัชญาที่ชัดเจน เช่นกันกับกติกาในสนามฟุตบอลที่เปลี่ยนไป

หลายอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเป็นรุปธรรมเรื่อข้อโอดครวญว่าทีมบางทีมมีช่วง On The Road ยาวไกลเหลือเกินเดินทางมันไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ ปีนี้ปัญหาจะหมดไปด้วยโปรแกรม GotSoccer ที่จะออกแบบโปรแกรมการแข่งขันให้ทุกทีมเดินทางไม่เกินเดือนละ 1500 กิโลเมตร ไหนจะช่วงเกมรายการใหญ่ของทีมชาติไทยอย่าง เอเชี่ยนเกมส์ ปีนี้ทางผู้จัดการแข่งขันยืนยันแล้วว่า “ไม่เบรกกกกกกกกกกลีก”

ใช่ครับ วงตัวใหญ่ๆ เอาไว้เลยนะตอนนี้เขายืนยันว่าไม่เบรก ส่วนจะจัดการอย่างไรไว้ตามกัน

เรื่องเกร็ดเล็กๆ น้อยๆเหล่านี้จะถูกย่อยออกมาเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเข้าใจง่ายผสมผสานคอยสอดแทรกระหว่างการรับชมศึกไทยลีก ที่ออกอรรถรสครบเครื่องทั้งความถูกต้องทั้งด้านข้อมูล เกมที่เร้าใจมาพร้อมรอยยิ้มอารมณ์ดี เหมาะสมนั่นคือสิ่งที่ทีมงานทุกคนรวมทั้งผู้บรรยายทุกท่านจะพยายามสร้างงานแบบนั้นให้เกิดขึ้น

เหตุผลง่ายๆครับอาชีพพวกเรา (ผู้บรรยาย) มันมีความรับผิดชอบหลายอย่างที่ต้องรักษาไว้ มากกว่าเเค่คำพูดบอกเล่าเรื่องราวในสนาม หน้าที่ความรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อมูลรวมถึงการสร้างสรรค์ถ้อยคำให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้ชมผ่านการถ่ายทอดการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ ถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดที่ผู้บรรยายกีฬาจะต้องตระหนักถึงจรรยาบรรณการทำงานของสื่อสารมวลชนที่มีต่อสังคม

นั่นคือคำของรุ่นที่น่ารักบอกพวกเราเอาไว้ และอย่างน้อยก็เป็นหลักคิดส่วนตัวจนทุกวันนี้
สุดท้ายขอให้การรอคอย ความคิดถึงฟุตบอลไทย เปลี่ยนเป็นความสุขแด่คุณผู้ชมนะครับ แล้วเราไปพบกันหน้าจอโทรทัศน์ ทรูวิชั่นส์, True4U

รวมทั้ง ที่นี่… ทรูไอดี ครับ

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้