รีเซต
TRUE OPINIONS : "เอ็นไขว้หน้า" จุดเล็ก ปัญหาใหญ่ของนักฟุตบอลยุคนี้ ... by "พี่หมอเอก"

TRUE OPINIONS : "เอ็นไขว้หน้า" จุดเล็ก ปัญหาใหญ่ของนักฟุตบอลยุคนี้ ... by "พี่หมอเอก"

TRUE OPINIONS : "เอ็นไขว้หน้า" จุดเล็ก ปัญหาใหญ่ของนักฟุตบอลยุคนี้ ... by "พี่หมอเอก"
kentnitipong
13 กุมภาพันธ์ 2561 ( 15:00 )
1.1K

พี่หมอเอก : ในที่สุดฟุตบอลอาชีพของไทยก็ได้ฤกษ์เปิดฉากฤดูกาลใหม่กันแล้ว หลังจากหยุดพักปิดฤดูกาลมาหลายเดือน พร้อมๆ กับข่าวการเตรียมความพร้อมของแต่ละทีม การย้ายทีมของนักฟุตบอลทั้งการย้ายทีมแบบเป็นข่าวฮือฮา และการย้ายทีมแบบเงียบๆ การแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ของหลายๆทีม ที่สร้างกระแสให้ฤดูกาลที่จะมีถึงมีการแข่งขันที่สนุกสนาน คุ้มค่าการรอคอยอย่างแน่นอน

 

 

แต่ช่วงก่อนที่ฤดูกาลใหม่จะเริ่มต้นขึ้น ก็มีนักฟุตบอลสองรายที่เจ็บหนักจนต้องปิดเทอมยาวก่อนใครไปแล้วนั่นก็คือกิลเบอร์โต มาเชน่า ของ สิงห์ เชียงรายฯ กับ อดิศักดิ์ ไกรษร ของเมืองทองฯ ที่มีการบาดเจ็บคล้ายๆ กันคือเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาด ซึ่งต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมกันไปครับ

การบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าสามารถพบเห็นได้เรื่อยๆ ในนักฟุตบอล อย่างเช่นฤดูกาลที่แล้วก็มี ตั้ม ธนบูรณ์ กองกลางค่าตัวแพงของทีม สิงห์ เชียงรายฯ กับอีกหลายรายที่ต้องประสบปัญหาการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้านี้ และต่อจากนี้เราก็อาจพบนักฟุตบอลที่ได้รับบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าอีกเรื่อยๆ ครับ

เวลาที่นักฟุตบอลแต่ละคนได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเอ็นไขว้หน้าขาดจนต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมนั้นจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางอาชีพในการค้าแข้งไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากหลังจากการผ่าตัดแล้วต้องมีการกายภาพบำบัดเป็นขั้นเป็นตอนที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะสามารถลงทำการซ้อมได้ปกติพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมทีม

แต่จากข้อมูลที่มีการเก็บสถิติไว้พบว่ากว่านักฟุตบอลจะสามารถกลับลงไปแข่งขันได้ตามปกตินั้นมีระยะเวลาเฉลี่ยที่ 9-12 เดือนกันเลยทีเดียวครับ นั่นก็หมายความว่าจะต้องหายหน้าหายตาไปประมาณหนึ่งฤดูกาลเต็มๆ เลย แถมด้วยของแถมที่ได้มาคือถึงแม้ได้รับการรักษาอย่างดีจนหายสนิทแล้วก็ตาม จะมีโอกาสที่บาดเจ็บซ้ำมากได้ถึง 2-5 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยได้รับการบาดเจ็บมาก่อนเลยทีเดียว

เมื่อเห็นความสำคัญของเจ้าเอ็นไขว้หน้านี้กันแล้วก็ลองถามตัวเองกันดูครับว่ารู้จักเจ้าเอ็นเส้นเล็กๆ ที่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตรกันแล้วหรือยังครับ วันนี้ผมเลยถือโอกาสมาแนะนำให้ได้รู้จักเจ้าเอ็นไขว้หน้านี้กันครับ…

เอ็นไขว้หน้านี้มีชื่อจริงทางการแพทย์คือ Anterior Cruciate Ligament หรือมีชื่อย่อคือ ACL ซึ่งเจ้าเอ็นเส้นนี้ทำหน้าที่ยึดอยู่ในข้อหัวเข่าไว้ไม่ให้ข้อหลุดเวลาที่มีการเหยียดหรือพับหัวเข่า มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตรครับ เป็นเส้นเอ็นเล็กๆ ที่สำคัญมากต่อการยึดหัวเข่าให้สามารถขยับพับงอ และเหยียดตรงได้

 

 

การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้านี้มักจะเกิดจากการเหยียดขาตรงสุดแล้วถูกกระแทก หรืออาจเกิดจากการที่หัวเข่าถูกบิดจากแรงกระทำที่มาชนหรือจากการหมุนตัวก็ได้ครับ คนที่ได้รับบาดเจ็บส่วนหนึ่งจะบอกอาการว่าในจังหวะอุบัติเหตุนั้นตัวเขาเองได้ยินเสียง “ป็อก” ในหัวเข่า จากนั้นก็จะมีความรู้สึกโหวงๆ ในเข่า เหมือนเข่าแกว่งๆ บางคนอาจมีอาการงอหัวเข่าไม่สุดร่วมด้วยเนื่องจากเส้นเอ็นที่ขาดนี้ไปขวางอยู่ในข้อหัวเข่า

ในกรณีที่เอ็นฉีกบางส่วนแต่ไม่ได้ขาดทั้งหมดนั้น อาการที่แสดงออกมาอาจไม่มากเท่าอาการของการที่มีเส้นเอ็นขาดทั้งหมดก็ได้ครับ แต่หากฝืนเล่นต่ออาจทำให้เส้นเอ็นมีการฉีกเพิ่มขึ้นได้ครับ

ดังนั้นการประเมินอาการขณะที่ได้รับบาดเจ็บจึงมีความสำคัญ ผมจึงมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอๆ ว่า “ไม่ใช่ใครก็ได้จะนั่งข้างสนาม” เพราะนักฟุตบอลแต่ละคนมีมูลค่าหลายล้านบาท เราจึงควรดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด นี่เป็นเหตุผลที่เป็นข้อบังคับในระดับนานาชาติให้มีแพทย์ประจำทีม และแพทย์ประจำสนาม ย้ำว่าต้องเป็นแพทย์นะครับ เพราะแพทย์นั้นนอกจากจะเรียนเกี่ยวกับการรักษาอาการบาดเจ็บรุนแรงแบบต่างๆ แล้ว ยังมีการตรวจคนไข้เป็นประจำจึงมีความชำนาญ และทักษะที่ดี น่าเชื่อถือได้อยู่แล้วครับ

นอกเหนือจากการประเมินอาการที่ถูกต้องแม่นยำแล้ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นยังมีความสำคัญมากที่จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบา และยังป้องกันการบาดเจ็บแทรกซ้อนเพิ่มเติมได้ด้วยครับ ไม่ใช่ว่าคิดจะยกขึ้นเปลออกจากสนามก็หิ้วกันไปเรื่อยเปื่อยหรือจะเลือกให้เดินออกจากสนามมาเองก็ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้ และประสบการณ์ทั้งสิ้นครับ

เมื่อถึงขั้นตอนการวินิจฉัยและการรักษานั้นส่วนใหญ่แพทย์ก็มักจะต้องดูรายละเอียดของการบาดเจ็บจากการทำ MRI ก่อนครับแล้วจึงนำผลที่ได้มาวางแผนการรักษาต่อไป

 

 

ความสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการรักษาจะประสบความสำเร็จหรือไม่คือการกายภาพบำบัดครับ ต่อให้หากผ่าตัดด้วยหมอฝีมือดีที่สุด แต่หากไม่ได้มีการกายภาพบำบัดที่ดีแล้วโอกาสจะหายสนิทก็น้อยไปด้วยครับ ในปัจจุบันมีการทำการศึกษาวิจัยที่เน้นเพื่อให้นักกีฬาสามารถรักษาหายดีแล้วกลับมาลงสนามได้เร็วที่สุดครับ

และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การรักษาคือการป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งมีความรู้ทางการแพทย์ที่รู้กันมานานแล้วว่าการป้องกันการบาดเจ็บของหัวเข่านั้นต้องมีการสร้างกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงเพียงพอที่จะพยุงหัวเข่าไว้ได้

ในปัจจุบันมีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยว่าการป้องกันการบาดเจ็บที่หัวเข่านั้นต้องมีการฝึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่เรียกว่า Neuromuscular training exercise ซึ่งเป็นการฝึกเคลื่อนไหวที่มีการขยับเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว เป็นการฝึกการประสานงานระหว่างระบบประสาทรับความรู้สึก ระบบประสาทสั่งงาน และการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นให้ทำงานสอดประสานกันอย่างราบรื่น

ทีนี้หลังจากอ่านบทความซึ่งผมพยายามใช้คำง่ายมาอธิบายเนื้อหาเบื้องต้นเกี่ยวกับเอ็นไขว้หน้านี้จบ ผมหวังว่าคงได้ทำให้รู้จักเจ้าเอ็นไขว้หน้ากันมากขึ้นบ้างนะครับ เพื่อที่จะได้ติดตามข่าวการบาดเจ็บของนักฟุตบอลที่เราชื่นชอบอย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ

 

“พี่หมอเอก”

 

ดูบอลสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้