รีเซต
สมาคมกีฬาฟุตบอลคลายข้อสงสัย Thailand’s Way คืออะไร ?

สมาคมกีฬาฟุตบอลคลายข้อสงสัย Thailand’s Way คืออะไร ?

สมาคมกีฬาฟุตบอลคลายข้อสงสัย Thailand’s Way คืออะไร ?
Supanat
20 กุมภาพันธ์ 2561 ( 17:39 )
818

สมาคมกีฬาฟุตบอล เปิดเผยบทความทาง fathailand.org ถึงประวัติความเป็นหมายของ Thailand’s Way หรือรูปแบบการเล่นของทีมชาติไทยนั่นเอง

คำว่า Thailand’s Way ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในหนังสือ “Manual of Best Practices by Coach Heng”

โดยแนวทางการเล่นดังกล่าวได้ถูกจำกัดความไว้ว่า“เป็นการนำรูปแบบการเล่นของที่ต่างๆ อาทิเช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เบลเยี่ยม มาผสมผสานเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย มีหัวใจสำคัญคือความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเล่นที่คิดเร็ว ทำเร็ว มีความดุดัน”

“Thailand’s Way มี 11 ข้อ ซึ่งผมเรียกว่า Elefant Elf เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า ช้าง 11 ตัว ซึ่งเอคโคโนจะเป็นฝ่ายทำหน้าที่ดูแลในการสร้างพื้นฐานให้กับเด็ก ส่วนในระดับ U-15, U-17, U-19, U-21 ก็จะเริ่มมีการนำแนวทางการเล่นแบบ Thailand’s Way มาใช้ให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น หลังจากมีการปรับแต่งกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทีมเยาวชนทุกชุดจะมีแนวทางการเล่นเหมือนกันหมด” โค้ชเฮงกล่าว

ซึ่งแนวทาง Thailand’s Way ได้ถูกปลูกฝังในการอบรมผู้ฝึกสอนทุกระดับ และจากการที่สมาคมฯ เปิดอบรมโค้ชระดับ เอ ไลเซนส์ และ โปร ไลเซนส์ เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ได้โค้ชที่มีทั้งชั่วโมงบินในการคุมทีม และคุณวุฒิตามที่เอเอฟซีกำหนดสำหรับเกณฑ์ผู้ฝึกสอนทีมชาติชุดเยาวชนมากกว่า 20 คนด้วยกัน

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกโค้ชคนใหม่ ได้มีการใช้โค้ชระดับ โปร ไลเซนส์ ซึ่งเป็นระดับไลเซนส์สูงสุด เพื่อรองรับนโยบายสำหรับปี 2019

โดยในส่วนของพื้นฐาน (Basic) การเล่นของแต่ละคนจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. Speed and Technique
มีทักษะขณะเคลื่อนไหว เคลื่อนบอลไปข้างหน้าด้วยความเร็ว ไม่มีการหยุดยืนดู
2. Toward Goal
มีการเล่นที่มุ่งหน้าเข้าหาประตูคู่ต่อสู้
3. Collective Play
มีทีมเวิร์ค รู้จักการเล่นรวมกันเป็นทีม เวลาขึ้นเกมขึ้นไปพร้อมๆกัน
4. Keep Moving
เคลื่อนที่ไปกับบอลตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ใกล้บอลหรือห่างออกมา เพื่อความกระชับของรูปทรง (Shape Compact) และสมดุล (Balance) ของทีม
5. Physical Contact
มีความแข็งแกร่งทางด้านร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบในการเบียดแย่งหรือครอบครองบอล
6. Dual 1 v 1
มีความสามารถในการเอาชนะในสถานการณ์ 1 ต่อ 1 ไม่ว่าเกมรุกหรือเกมรับ
7. Tactical Flexibility
มีความยืดหยุ่นทางแทคติกที่เปลี่ยนไปเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสนามหลากหลายรูปแบบ
8. Regain the Ball Quickly
แย่งบอลได้รวดเร็ว เวลาบอลเสียต้องแย่งคืนกลับมา ไม่ใช่ยืนดู
9. Hungry for Goal
มีความกระหายที่จะทำประตูคู่ต่อสู้ตลอดเวลา
10. Competitive Mentality
มีหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตามหลัง
11. Winning Mentality
มีความเป็นผู้ชนะทั้งในและนอกสนาม ใส่ใจรายละเอียดในการซ้อม เพื่อให้ตนเองสามารถเอาชนะในทุกๆ นาทีที่ลงแข่งขัน

จากพื้นฐานส่วนบุคคลสู่การเล่นเป็นทีม
เมื่อเด็กแต่ละคนได้รับการปูพื้นฐานครบทั้ง 11 ข้อ ก็จะเข้าสู่การเล่นโครงสร้างการเล่นเป็นทีม (Thailand Structure Model) ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างถึงแนวทางการเล่นในแต่ละตำแหน่ง รวมถึงทรงบอลในแต่ละสถานการณ์ อาทิเช่น

Elephant Build-up – การตั้งเกม
Elephant Deep Defense – การถอยลงมารับต่ำ
Elephant High Defense – การกดดันจากแดนบน
Elephant Defense – การเล่นเกมรับในแดนกลาง
Elephant Defensive Transition – การเล่นเกมรับขณะเสียบอล
Elephant Offensive Transition – การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก

ซึ่งทุกๆ จังหวะการเล่นไม่ว่าจะเป็น การผ่านบอลกันอย่างรวดเร็วและมีเป้าหมาย, การเล่นบอลระหว่างแดนกลางกับแดนหลังของคู่ต่อสู้, การเปลี่ยนแกน, การเปลี่ยนจากรับไปรุกในแดนคู่ต่อสู้, การเล่นอยู่ข้างหลังแนวรับคู่ต่อสู้, การขึ้นเกมทางปีก, การตั้งเกมจากข้างหลัง, การวิ่งทะลุจากด้านหลัง, จ่ายทะลุช่อง ทั้งหมดนี้จะถูกผสมผสานเข้าด้วยกันเป็น Thailand Set

โดยรูปแบบการเล่นทั้งส่วนบุคคลและส่วนของทีมจะเป็นพิมพ์เขียวเหมือนกันหมด เหมือนกับเยอรมนีและญี่ปุ่น ที่ตั้งแต่ระดับรากหญ้า, โรงเรียน, สโมสร รวมถึงทีมชาติ ใช้แนวทางอย่างเดียวกัน

“มันคือพื้นฐานสากล ที่เมื่อคุณได้ซึมซับปรัชญาเข้าไปแล้ว คุณจะสามารถเล่นในระบบใดก็ได้หมด ไม่ว่าจะเป็น 4-3-3, 3-5-2, 4-5-1 หรือ 4-4-2 และเวลาที่นักฟุตบอลไปเล่นทีมชาติก็จะไม่มีปัญหาในการปรับตัว เป็นการพัฒนามาตรฐานฟุตบอลไทยทั้งระบบด้วย” วิทยา เลาหกุล กล่าวเสริม

การพัฒนาในแต่ละช่วงอายุ
ตามมาตรฐานสากลแล้ว การเริ่มต้นฝึกฟุตบอลในแต่ละช่วงอายุมีผลแตกต่างกัน หากเริ่มตั้งแต่ 5 ขวบ ก็จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ระดับโลก 7 ขวบก็มีโอกาสพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ ถ้าเกินไปกว่านั้น โอกาสที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเองสู่ระดับสากลก็จะมีน้อยลงไป

โดยช่วงอายุระหว่าง 5-8 ขวบเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ฝึกทักษะความสามารถเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการเดาะบอล, รับ-ส่งบอล, เลี้ยงบอล, การยิงประตู

ขณะที่ช่วงอายุระหว่าง 9-12 ขวบ ก็จะถูกสอนในเรื่องของความเข้าใจในเกม ซึ่งตรงนี้จะถูกเติมด้วยการเคลื่อนที่, การขึ้นเกม และการเข้าทำ เพื่อช่วยเรื่องการตัดสินใจ

ส่วนในช่วงอายุ 13-14 ปี ช่วงอายุนี้จะลงรายละเอียดในวิธีการเล่นเกมรุกและรับมากขึ้น รวมถึงแทคติกที่เริ่มซับซ้อน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสมรรถภาพทางร่ายกายทั้งความเร็ว ความคล่องตัว และสรีระ เพราะจะเป็นช่วงที่กระดูกยืด

ขยับขึ้นมาจะเป็นช่วงอายุระหว่าง 15-18 ปี ที่จะเริ่มเข้าโปรแกรมฝึกซ้อมแบบทีมชุดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมฝึกซ้อมพิเศษเพื่อพัฒนาในด้านร่างกายหลังซ้อม เช่น การวิ่ง สปีด และการยกน้ำหนัก เป็นต้น และถ้าหากผ่านจุดนี้ไปแล้วก็จะได้นักฟุตบอลที่มีความพร้อมทั้งร่างกาย, ทักษะ และจิตใจเมื่ออายุ 19 ปี

“ความฟิต” คือกุญแจสำคัญ
การที่จะสามารถเล่นได้ตามแนวทางของ Thailand’s Way จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความฟิตของนักกีฬา เนื่องจากการเล่นอันดุดัน น่าเกรงขาม จะต้องมีแรงกำลังในการบดคู่แข่งตลอดทั้ง 90 นาที

“ในอนาคต นักฟุตบอลที่จะติดทีมชาติ ต้องมีค่า VO2 Max ไม่น้อยกว่า 60 Ml/Kg/Min. เพราะทักษะที่ใช้ใน Thailand’s Way นั้นเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับความฟิตเกือบทุกอย่าง” โค้ชเฮงอธิบาย

โดยในตำแหน่งฟูลแบ็ค จะต้องวิ่งได้ระยะทางไม่น้อยกว่า 11.22 กม. สปรินท์ได้ระยะทางไม่น้อยกว่า 350 เมตร และไม่น้อยกว่า 54 ครั้ง ส่วนเซ็นเตอร์ฮาล์ฟจะต้องวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 10.32 กม. สปรินท์ ได้ 211 เมตร ไม่น้อยกว่า 33 ครั้ง

ขยับมาที่กองกลางกันบ้าง คนเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางจะต้องวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 11.73 กม. สปรินท์ได้ไม่น้อยกว่า 302 เมตร ไม่น้อยกว่า 49 ครั้ง ส่วนคนที่เป็นปีกจะต้องวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 11.70 กม. สปรินท์ได้ไม่น้อยกว่า 430 เมตร ไม่น้อยกว่า 63 ครั้ง

ขณะที่กองหน้าจะวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 10.72 กม. สปรินท์ได้ไม่น้อยกว่า 351 เมตร และทำได้ไม่น้อยกว่า 51 ครั้ง

เรียกได้ว่าทุกรายละเอียดที่ Thailand’s Way พยายามจะระบุลงไป ก็เพื่อจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในสนามให้มากที่สุดนั่นเอง

ดูกีฬาสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้