รีเซต
TRUE OPINIONS : へようこそ (E yōkoso) J-League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : へようこそ (E yōkoso) J-League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : へようこそ (E yōkoso) J-League 2018 ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"
Supanat
23 กุมภาพันธ์ 2561 ( 19:02 )
814

へようこそ J-League 2018 แปลเป็นไทยไม่ยากเย็นนั่นคือ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ เจ-ลีก 2018
ลีกลูกหนังอันเป็นที่ยอมรับว่าแข็งแกร่งและมาตรฐานสูงที่สุดบนแผ่นดินเอเชีย เราพิสูจน์ได้จากผลงานของพวกเขาบนเวทีชิงแชมป์สโมสรเอเชีย นักเตะที่โดดเด่นจากที่นี่ ล้วนได้รับโอกาสน้อยใหญ่ในเวทียุโรปเช่นกัน ส่งผลให้ทีมชาติญี่ปุ่นครองความยิ่งใหญ่และไปไกลจนเป็นขาประจำในฟุตบอลโลก

สุดสัปดาห์นี้ เจลีก ที่พักลีกไปร่วม 3 เดือนกลับมาลงสนามกันอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นเย็นนี้ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ เปิดหัวด้วยเกมระหว่าง Segan Tosu vs. Vissel Gobe รับรองได้ เจลีก ปีนี้น่าสนใจมากกว่า 25 ฤดูกาลที่พวกเขาก่อตั้งกันมา อย่างน้อยก็สำหรับแฟนบอลไทยด้วยเหตุผลที่เราต่างรู้ดีว่าปีนี้คนไทยมีโอกาสใกล้ชิดลีกที่ดีที่สุดในเอเชียมากกว่าแค่การรับชม ความรู้สึกไม่ต่างจากการติดตามการ์ตูน กัปตัน ซึบาสะ มานานนมจน ในที่สุด อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ เขียนให้ โอโซร่า ซึบาสะ มาพบกับทีมชาติไทยในภาคเยาวชนโลก เอาละเว้ย! อย่างน้อยบ้านเกิดของเราก็มีส่วนร่วมกับตำนานการ์ตูนแล้ว

ขบวนการ 5 นักเตะแดนสยาม
เราจะได้เชียร์ตัวแทนจากประเทศไทยที่มีโอกาสลงสนามในฐานะผู้เล่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากอุ่นเครื่องกันไปแล้วกับ ชนาธิป สรงกระสิน ในครึ่งฤดูกาลหลังจากปี 2017 ปีนี้ลุ้นสนุกกว่าเดิมเพราะเด็กไทยมีโอกาสค้าแข้งยังแดนซากุระมากถึง 5 ราย

ทั้งเจ้าเก่าเด็กไทยคนแรกบนเวที เจลีก อย่าง ชนาธิป สรงกระสิน กับปีที่ 2 ในสีเสื้อ คอนซาโดเล ซัปโปโร กองหน้าที่ดีที่สุดของไทยในนาทีนี้ ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าที่ดีที่สุดเล่นของไทย ณ นาทีนี้ ให้สโมสร ซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิมา แบ็คซ้ายระดับเอเชีย ธีราทร บุญมาทัน ย้ายไปร่วมทีม วิสเซล โกเบ แบ็คขวาดารุ่ง จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ สังกัด เอฟซี โตเกียว เช่นกันกับ เชาวัฒน์ วีรชาติ กับ เซเรโซ โอซาก้า ทว่าต้องพยายามหนักกว่าใครเพื่อเพราะต้องไปไต่มาจากทีมเล็กก่อน

ความใกล้ชิดของไทยญี่ปุ่น
ถือว่าปีนี้เป็นปีเปิดตลาดของนักเตะไทยในเวทีลีกแถวหน้าเอเชีย หากไปได้ดีเอาเพียงมาตรฐานที่ ชนาธิป สร้างไว้ปีที่แล้วนั่นคือลงสนามในฐานะตัวจริงเป็นประจำ เชื่อแน่ว่าฐานเสียง และการยอมรับในนักเตะไทยจะแน่นขึ้นอีกเยอะ เช่นกันกับเรตติ้งที่พุ่งขึ้นเป็นธรรมชาติ

หากมีเวลาอยากให้ลองสังเกตโปรแกรมแข่งขันของทีมที่มีนักเตะไทยครับ เพราะทาง เจลีก เองนำเอาโปรแกรมแข่งขัย ไทย ลีก เขาไปเป็นหนึ่งในตัวแปรการจัดโปรแกรมลงสนามของทีมเหล่านั้นเพื่อจะให้ไม่ทับซ้อนกับการถ่ายทอดสดในไทย อย่างน้อยก็ให้มีสักทีมที่สามารถถ่ายทอดได้โดยไม่ทับกัน

ประกอบกับกฏเรื่องตัวต่างชาติของ เจลีก ก็อ้าแขนรับนักเตะไทยอยู่แล้ว
โดย เจลีก อนุญาติให้แต่ละทีมลงทะเบียนตัวต่างชาติได้ 5 คน แต่ละเกมส่งได้ 4 คนเป็น 3 ตัวต่างชาติที่อยู่นอกชาติสมาชิก Asian Football Confederation (AFC) โดยมี บราซิล เกาหลีใต้ เป็นชาติพิมพ์นิยมของ เจลีก

ทั้งนี้พวกเขาจะมีสิทธิพิเศษสำหรับชาติที่เป็นพันธมิตรของ เจลีก อันประกอบไปด้วย ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซียและ กาตาร์ หาก ขบวนการ 5 นักเตะแดนสยามสามารถเปิดตลาดได้ละก็คลื่นลูกที่สาม ลูกที่สี่ ก็มีโอกาสตามมา

แล้วนอกจากเหตุผลหลักนักเตะไทยในลีกญี่ปุ่นแล้ว เจ ลีก 2018 มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอะไรให้ได้ติมตามกันบ้าง

Money Talk
ช่วงที่มีข่าวนักฟุตบอลไทยกำลังจะไป ญี่ปุ่น หนึ่งในประเด็นที่พูดถกกันนั่นคือหากนักเตะระดับหัวกะทิของไทยลีกไป เจลีก จริงค่าเหนื่อยจะออกมาเท่าไหร่ เพราะตามข่าวแต่ละคนที่ติดธงเป็นตัวหลักค่าเหนื่อยระดับเดือนละครึ่งล้านขึ้นไปกันทั้งนั้น ทางญี่ปุ่นจะยอมจ่ายหรือไม่ซึ่งข้อมูลก็ยังไม่เปิดเผยมากนัก เอาเป็นว่าเราไปแง้มดูค่าเหนื่อยคร่าวของผู้เล่น เจ ลีก กันเลยครับ (ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่จ่ายจริงในฤดูกาลที่ผ่านมา)

จากการเก็บค่าเฉลี่ยของทั้งลีกแล้วนำมาแจกแจงตามตำแหน่งรายได้ค่าจ้างต่อปีของนักเตะ เจลีก จะออกมาตามนี้ครับ
FW 30,660,000 เยน คิดเป็นเงินไทย 8,834,559 บาท
MF 22,840,000 เยน คิดเป็นเงินไทย 6,587,939 บาท
DF 20,860,000 เยน คิดเป็นเงินไทย 6,016,855 บาท
GK 18,820,000 เยน คิดเป็นเงินไทย 5,428,420 บาท

อยากทราบว่าตกเดือนละเท่าไหร่ก็หารกันไปด้วย 12 จากนั้นหากยังรู้เป็นสัปดาห์ก็หาร 4 เข้าไปอีกรอบ

จะเห็นว่าเงินของ เจ ลีก ก็ยังหนากว่าบ้านเราอยู่พอสมควร เพราะกองหน้าค่าเหนื่อยเดือนละ 7 แสนนิดๆในบ้านเรา ต้องมีดีกรีมากมายและต้องเป็นตัวเปลี่ยนโอกาสของทีมได้ เว้นแต่จะเป็นต่างชาติซึ่งหลายคนเงินเดือนทะลุล้านบาทไปแล้ว

พอได้ค่าเฉลี่ยแล้วแต่ละตำแหน่งไปแล้วเช็คกันต่อสักนิดว่าทีมใดคือเจ้าบุญทุ่มจ่ายแหลกในปีที่ผ่านมา 5 อันดับแรกออกมาดังนี้ครับ
1. Urawa Reds 1,149,800,000 เยน 331,647,438 บาท
2. Cerezo Osaka 1,001,100,000 เยน 288,756,523 บาท
3. Vissel Kobe 972,000,000 เยน 280363035 บาท
4. FC Tokyo 965,800,000 เยน 278,574,617 บาท
5. Gamba Osaka 931,400,000 เยน 268,690,700 บาท
ขณะที่ทีมจ่ายค่าเหนื่อยน้อยที่สุดใน เจลีก ปีที่แล้วนั่นก็คือ
Ventforet Kofu 334,400,000 เยน 96,467,865 บาท

น่าเสียดาย เหมือนกันเพราะ โคฟู เองสู้ตายจนเกือบรอดแต่ตกชั้นด้วยคะแนนหางโซนปลอดภัยแค่แต้มเดียว

เมื่อนำเงินค่าจ้างมาเทียบจากการประเมินงบทำทีมของไทยลีกจากการรายงานของสื่อกีฬารายยักษ์ของบ้านเราช่วงก่อนเปิดฤดูกาลก็ไม่ได้ต่างกันนัก ทีมลุ้นแชมป์อยู่ในหลักแตะ 300 ล้านบาท ขณะที่ใครมีไม่ถึง 100 ล้านบาทก็เข้าใจได้เลยว่าศักยภาพผู้เล่นไม่สูงนัก

ขณะที่ 3 ผู้เล่นค่าเหนื่อยแพงที่สุดของลีกตกเป็นของ
1. LEANDRO da Silva (32 ปี/FW/ทีมโกเบ) 46,156,873 บาท
2. Yasuhito ENDO (37ปี /MF/ทีมกัมบะโอซาก้า) 43,272,068 บาท
3. Hiroshi KIYOTAKE (27ปี/MF/ทีมกัมบะโอซาก้า) 34,617,655 บาท

ต่อกันด้วยทีมที่ทุ่มจ่าค่าจ้างโค้ชแพงที่สุด
Gamba Osaka จ่าย Kenta Hasegawa วัย 51 ปี 100,000,000 เยน หรือ 28,834,763 บาท
Vissel Kobe จ่าย Nelsinho Baptista วัย 66 ปี 100,000,000 เยน หรือ 28,834,763 บาท
Urawa Reds จ่าย Mihailo Petrovic วัย 59 ปี 85,000,000 เยน หรือ 24,509,54 บาท

เรียกได้ว่าทั้งนักเตะและโค้ชค่าเหนื่อยแพง ล้วนมีคนฟุตบอลญุ่ปุ่นแท้ๆ ติดโผอยู่ด้วยช่างน่าชื่นใจจริงๆ เช่นกันหากเราไปเปิดสถิติย้อนหลังเรื่องดาวซัลโวหรือจอมแอสซิสต์ ชื่อของนักเตะซามูไร จะติดโผเสมอ ซึ่งสอดคล้องในเรื่องค่าเหนื่อยที่ทีมยอมจ่าย

เห็นแบบนี้แล้วน้องนักเตะหรือเหล่าสตาฟโค้ชคนฟุตบอลไทยเรา ตั้งเป้าเลยครับ แล้วมุ่งมั่นทุ่มเท มันคุ้มแน่นอนแค่ค่าเหนื่อยก็เป็นรูปธรรมไม่นับโอกาสในอนาคตที่มองไม่เห็นแต่เชื่อได้เช่นกันว่าอยู่เมืองไทยหากคุณคิดว่าเหนื่อยเต็ม 10 แล้วจะไปญี่ปุ่นและอยู่ให้ได้คุณมีเหนื่อยระดับ 100 แน่นอน

วินัย หน้าที่ จิตวิญญาณที่ดีของนักกีฬา

จากการติดตามวัฒนธรรมศิลปะบันเทิงญี่ปุ่นมาตั้งแต่เยาว์ทั้งความบันเทิงวัยเด็ก จนบันเทิงเฉพาะผู้ใหญ่และ เจลีก สิ่งที่น่าชื่นชมและส่วนตัวก็พูดออกไมค์อยู่หลายว่าเรื่องน่าเอาเยี่ยงมาทำตามอย่าง ที่สุดอาจไม่ใช่ทักษะที่งดงาม แฟชั่นการแต่งตัวที่ชวนมองหรือสภาพร่างกายอันเป็นที่ยอมรับ

ถ้าต้องเลือกข้อดีจากเกมฟุตบอลญี่ปุ่นเพื่อให้น้องเยาวชนหรือนักกีฬาได้สังเกตทำตาม สิ่งแรกขอชี้ไปที่ทัศนะคติ พวกเขาตระหนักรู้อยู่เสมอเมื่อลงสนามเป้าหมายคืออะไร ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ อะไรคือสิ่งต้องห้ามหากอยากประสบความสำเร็จ

ภาพที่ออกมานักเตะญี่ปุ่นร้อยละ 90 ขึ้นไปทำตามนั้น เล่นตามแผนตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการหยุดเกมคู่แข่งนอกพื้นที่อันตรายไม่ฝืนเล่นยากโยนยาวหากไม่ได้รับคำสั่ง

จนหลายครั้งรู้สึกขัดตาว่าทำไมไม่มีใครกล้าเล่นอะไรแปลกใหม่ไปจากแผนการ คำนี้ผมจะได้ยิน โค้ชอุ้ม ปิยะกุล แก้วน้ำค้าง คอมเมนเตเตอร์ประจำการถ่ายทอดสดทาง ทรู4ยู พูดบ่อยว่า ที่เล่นออกมาแบบนี้เป็นเรื่องของวินัยนักฟุตบอลที่สั่งสมกันมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาสามารถเล่นอย่างอดทนจนจบเกมได้สบายไม่มีใครพลาดท่าเพราะใจร้อนหรือสภาพร่างกายอยู่ไม่ครบ 90 นาที ทว่าทุกเหรียญมี 2 ด้าน วินัยจัดแบบนี้บางทีก็พลาดโอกาสไปเพราะไม่เสี่ยงหรือตัวสร้างสรรค์เกมแบบเหนือความคาดหมายนั่นเอง

เช่นกันกับสิ่งที่เหลือในสนามอย่างการควบคุมอารมณ์ สารภาพเลยครับว่าตลอดการพากย์ฟุตบอล เจลีก ครั้งเดียวที่ผมเห็นผู้เล่น ญี่ปุ่น มีอารมณ์ฉุนเฉียวใส่กันจนเกือบวางมวยมีครั้งเดียว แถมไม่ได้มาจากจังหวะปะทะกัน แต่เป็นจังหวะที่ เจ โบธรอยด์ (ออกเสียงว่า โบด-รอย ตามคำให้การของเจ้าตัว) โดนกองหลังญี่ปุ่นไล่อัด เขาหันไปทำสัญญาณมือชู 2 นิ้วกับหนึ่งกำปั้นสื่อถึงสกอร์ที่ทีมนำ 2-0 ซึ่งเขายิงทั้งหมด แล้วก็ทำหน้านิ่งๆใส่ เท่านั้นแหละผู้เล่นฝั่งตรงกรูเข้าใส่เอาเรื่องเหมือนทนไม่ได้ที่ถูกหยามศักดิ์ศรี

นอกนั้นต่อเข้าบอลกันหนักปางตาย เหยียบกัน แถมกันจนหัวแตก ภาพฮึดฮัดไม่มีให้เห็นทุกอย่างส่งต่อไปที่กรรมการและจบด้วยการน้อมรับคำตัดสิน ไม่เห็นด้วยก็จับเอวส่ายหน้าพูดกันไม่ต้องออกแอ็คชั่นมากแล้วก็เล่นต่อ ฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นแบบนี้จริงๆถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกชื่นชม และน่าเอาเป็นเยี่ยงจริงๆ

ทั้งนี้ขอให้สนุกกับการติดตามฟุตบอล เจลีก และผลงานนักเตะไทยกันอย่างเต็มที่ครับผม

“ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์”

ดูกีฬาสดออนไลน์ผ่านเว็บที่นี่ และติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้