รีเซต
TRUE OPINIONS : ไชนีส ซูเปอร์ลีก มีดีแค่ “เงิน” จริงหรือ ? ... by "อ.เอี่ยม"

TRUE OPINIONS : ไชนีส ซูเปอร์ลีก มีดีแค่ “เงิน” จริงหรือ ? ... by "อ.เอี่ยม"

TRUE OPINIONS : ไชนีส ซูเปอร์ลีก มีดีแค่ “เงิน” จริงหรือ ? ... by "อ.เอี่ยม"
kentnitipong
20 มีนาคม 2561 ( 15:43 )
712

อ.เอี่ยม : เปิดฤดูกาล 2018 อย่างเป็นทางการไปแล้วสำหรับ ไชนีส ซูเปอร์ลีก 2018 พร้อมความตื่นเต้น ยิงประตูกันกระจุยกระจายเหมือนเดิมตามแบบฉบับฟุตบอลจีน แต่นอกเหนือจากเกมที่น่าตื่นเต้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเหลือเกินว่าแฟนบอลทั่วโลกต่างจับตาลีกฟุตบอลอาชีพของจีนก็คือ “นักเตะต่างชาติ” ครับ

 

 

ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีหลังมานี้ ลีกจีนเป็นหนึ่งในลีกของทวีปเอเชียที่แฟนบอลหลายคนให้ความสนใจว่าจะมีนักเตะระดับ “ซูเปอร์สตาร์” รายใดที่จะเข้ามาสร้างสีสันให้กับฟุตบอลจีน ที่ผ่านมาเราถึงเห็นนักเตะซูเปอร์สตาร์หลายคนตบเท้าเข้ามาค้าแข้งในจีนพอสมควร เช่น ออสการ์ (ซั่งไห่ เอสไอพีจี), เอเซเกล ลาเวซซี่ และ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ (เหอเป่ย ไชน่า ฟอร์จูน), รามิเรส (เจียงซู ซูหนิง), เปาลินโญ่ (กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์), โจนาธาน วิเอร่า (เป่ยจิง กั๋วอัน), อั๊กเซล วิตเซล (เทียนจิน ฉวนเจี้ยน), ไม่เว้นแม้กระทั่ง คาร์ลอส เตเบซ (ซั่งไห่ เซินฮัว) ที่โกยแนบกลับบ้านเกิดที่อาร์เจนติน่าไปแล้วอีกคน

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนที่ตลาดซื้อ-ขายนักเตะหน้าหนาวของจีนกำลังจะปิดตัวลงพร้อมกับความเงียบเหงาด้วยมูลค่าการใช้จ่ายของทุกสโมสรที่ลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับตลาดหน้าหนาวในช่วงปี 2017 อันเป็นผลพวงมาจากกฎการคิดภาษี 100% ของสมาคมฟุตบอลจีน ในวันนั้นเอง ต้าเหลียน หยี่ฟาง น้องใหม่ในศึกไชนีส ซูเปอร์ลีก ฤดูกาลนี้ ก็สร้างเซอไพรส์ด้วยการคว้าตัว 3 ดาวเตะต่างชาติทั้ง โฆเซ่ ฟอนเต้ (เวสต์แฮม ยูไนเต็ด) พร้อมด้วย 2 คู่หูจาก แอตเลติโก มาดริด อย่าง นิโกล่าส์ ไกตัน และ ยานนิค การ์ราสโก ที่รายหลังนั้นผมไปสืบทราบว่าค่าตัวของเจ้าตัวนั้นทะลุไปราว 60 ล้านยูโร เลยทีเดียวเมื่อคิดค่าตัวรวมกฎภาษี 100%

คำถามที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงสงสัย คือ ทำไม “ซูเปอร์สตาร์” เหล่านี้เลือกที่จะเดินทางข้ามน้ำข้ามทวีปมาที่จีน

 

 

และแน่นอนว่าแฟนบอลหลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหตุผลหนึ่งเดียว คือ “เงิน”
ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงิน” คือส่วนสำคัญในการตัดสินใจของซูเปอร์สตาร์เหล่านั้น ซึ่งหากใครที่ติดตาม ไชนีส ซูเปอร์ลีก อยู่บ้างก็น่าจะพอทราบว่าค่าจ้างของนักเตะเหล่านี้แม้กระทั่งนักเตะสัญชาติจีนเองนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากจนยากจะปฏิเสธ เห็นได้ชัดก็กรณีของ คาร์ลอส เตเบซ ที่ใช้เวลาในจีนส่วนใหญ่ผลาญเงินหมดไปกับการท่องเที่ยวใน ซั่งไห่ ดิสนี่ย์แลนด์ มากกว่าในสนามฟุตบอลเสียอีก

ในขณะที่ โจนาธาน วิเอร่า อดีตแนวรุกตัวหลักของ ลาส พัลมาส และติดทีมชาติสเปนชุดใหญ่มาแล้ว เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายซบ เป่ยจิง กั๋วอัน ในฤดูกาลนี้ว่า “เป่ยจิง กั๋วอัน ยื่นข้อเสนอก้อนโตมาให้ผม มันเยอะมากขนาดที่ว่าผมใช้เลี้ยงดูรุ่นหลานผมได้เลย” ไม่ต้องสืบครับว่าเจ้าตัวมาจีนเพราะอะไร

แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ… ถ้าผมลองตั้งคำถามใหม่ว่าถ้าพวกเขาบางคนไม่ได้มาที่จีนเพราะเงินอย่างเดียวล่ะ ?

“เปาลินโญ่” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคำตอบของคำถามนี้…

 

 

หลังจากเจ้าตัวทำผลงานกรำศึกฟุตบอลโลก 2014 และทำผลงานได้น่าพอใจ แต่หลังจากนั้นฟอร์มการเล่นของเขากับต้นสังกัดอย่าง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ดันตกลงไปอย่างน่าใจหายชนิดที่ว่ากู่ไม่กลับสักที ในช่วงเวลาที่เลวร้ายนั้นก็เป็น กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ยักษ์ใหญ่จากจีนที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา และแน่นอนว่าวินาทีที่เจ้าตัวตัดสินใจย้ายมาค้าแข้งในจีนนั้น สื่อแทบทุกสำนักพร้อมใจกันโจมตี เปาลินโญ่ ทันทีว่าเส้นทางการค้าแข้งของเขานั้นได้จบลงแล้ว

แต่สุดท้าย เปาลินโญ่ พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าการที่เขาพา กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ตลอด 3 ฤดูกาลที่เจ้าตัวอยู่ที่จีนนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เขามาเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ และฟื้นฟูฟอร์มการเล่นให้กลับไปยังจุดเดิม

และสุดท้ายแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็มาถึงเมื่อ บาร์เซโลน่า ตัดสินใจยื่นข้อเสนอกว่า 40 ล้านยูโร เพื่อซื้อตัวเขากลับไปค้าแข้งในยุโรปอีกครั้ง และครานี้ไม่ได้ไปตัวเปล่า เจ้าตัวยังทำผลงานสำหรับฤดูกาลแรกในสเปนได้ดีด้วยการได้รับโอกาสลงสนามถึง 40 นัด ยิง 8 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ เป็นเครื่องยืนยันว่าเขายังไหวสำหรับเกมยุโรป

อีกสิ่งหนึ่งที่ “จีน” มีไม่น้อยหน้าใครนอกจาก “เงิน” นั่นก็คือ “ความคลั่งไคล้” ในเกมฟุตบอลครับ จริงอยู่ว่าวันนี้อาจจะไม่มากเท่าปิงปอง หรือบาสเกตบอล แต่รับรองได้ว่าแฟนบอลจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มแฟนบอลที่รักฟุตบอลไม่แพ้ใครเช่นกัน และกระแสฟุตบอลในจีนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆวัดได้จากจำนวนผู้ชมเกมทั้งใน และนอกสนามที่มากขึ้นทุกปี

เรื่องนี้ การ์ราสโก้, ไกตัน, ฟอนเต้ 3 ซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่ ของ ต้าเหลียน หยี่ฟาง น่าจะทราบดี เพราะขนาดว่าเกมแรกของพวกเขาที่ออกไปแพ้เละเทะถึง 8 ประตู ให้กับ ซั่งไห่ เอสไอพีจี ที่มหานครซั่งไห่ แต่เมื่อเดินทางกลับมาถึงสนามบินนานาชาติต้าเหลียน กลับมีกลุ่มแฟนบอลต้าเหลียนจำนวนมากที่รอให้การต้อนรับพวกเขา และบรรดานักเตะคนอื่นในทีม ที่สนามบิน ทุกคนต่างพร้อมใจกันเรียกชื่อนักเตะพร้อมส่งเสียงเชียร์ และตะโกนให้พวกเขาสู้ต่อ

บรรยากาศเหล่านี้หาได้ไม่ง่ายในเกมฟุตบอลที่ต้องการแต่ชัยชนะแบบในปัจจุบัน

นอกจากนั้น สมาคมฟุตบอลจีน ยังออกข้อบังคับในการควบคุมการใช้จ่ายของสโมสรฟุตบอลอาชีพเพื่อป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่แตก แต่ถ้าทีมใดไม่มีหนี้เกินกำหนด และพร้อมจะจ่ายเงินก้อนใหญ่ตามกฎภาษี 100% ก็ตามสบายไม่ว่ากัน และก็อย่างที่เห็นว่าหลายทีมก็ทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์เหมือนเดิม ถึงแม้จะลดลงไปบ้างแต่เรื่องฟองสบู่แตกที่หลายสื่อในยุโรปชอบนำเสนอนี่ขอยืนยันว่า ณ วันนี้ยังห่างไกลครับสำหรับฟุตบอลจีน

แท้จริงแล้วเป้าหมายของ สมาคมฟุตบอลจีน คือ พวกเขาไม่ต้องการให้ ไชนีส ซูเปอร์ลีก เป็นลีกของนักเตะต่างชาติที่หมดวัยแล้วเข้ามากอบโกยเงินเพียงอย่างเดียว อารมณ์แบบว่าเดินทอดน่องแล้วรับเงินตอนสิ้นเดือนนั่นแหละครับ แต่พวกเขากำลังทำทุกทางเพื่อใช้งาน “ซูเปอร์สตาร์” ต่างชาติเหล่านี้ในการสอนความเป็น “มืออาชีพ” และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะสัญชาติจีนโดยเฉพาะเยาวชนของตนเองเพื่อให้เติบโตมาในความเป็นมืออาชีพ และอยู่ในวัฒนธรรมฟุตบอลอย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ย้ำอีกทีครับ ผมไม่ปฏิเสธว่า “เงิน” คือส่วนสำคัญในเรื่องนี้ แต่ผมอยากจะให้ผู้อ่านได้คิดในอีกแง่มุมหนึ่งว่า หากมีข้อเสนอให้เราทำงานแบบเดิมแต่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ได้เจอวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ และมีโอกาสกลายเป็น “ไอดอล” หรือ “ต้นแบบ” ในการเล่นฟุตบอลของเด็กอีกหลายสิบล้านชีวิต ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือจะต้องย้ายที่ทำงานใหม่

ถ้าข้อเสนอนี้เกิดกับตัวพวกเราเองบ้างล่ะ ผมคิดว่าหลายท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว…

 

“อ.เอี่ยม”

 

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้