รีเซต
TRUE OPINIONS : 1 เดือนเต็มกับ VAR ฟุตบอลไทยได้อะไร ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : 1 เดือนเต็มกับ VAR ฟุตบอลไทยได้อะไร ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : 1 เดือนเต็มกับ VAR ฟุตบอลไทยได้อะไร ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"
kentnitipong
20 มีนาคม 2561 ( 19:02 )
614

ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์ : 20 มีนาคม 2561 เดือนแรกของฟุตบอลไทยผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วกับฤดูกาลหฤโหดเรื่องการตกชั้น ส่งผลให้เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นชนิดนับนิ้วแทบไม่ทันทั้งกุนซือที่เด้งกันไปแล้ว 4 รายจาก 3 ทีม ฟอร์มทีมยักษ์มากมายที่นัดกันสะดุดจนอยู่ในโซนอันตรายต่ำกว่ามาตรฐาน

 

 

ไหนจะทีมเล็กที่ผลงานเล็กจนน่าตกใจ ผ่านช่วงเบรกแรก ทีมที่ยังไม่ชนะใครยังมีให้เห็นแถมมีกันทีมละ 1 บ้าง 2 ต้มบ้างอาการน่าเป็นห่วงเมื่อมองเป้าหมายทะลวง 40 แต้มเพื่อรอดตกชั้น 5 ทีม

ในช่วงเวลาเดียวกันเท่ากับว่าฟุตบอลไทยได้รู้จักและใช้บริการ Video Assistance Referee หรือ VAR เริ่มใช้ครั้งแรก 19 กุมภาพันธ์ ประเดิมโดย ศิวกร ภูอุดม ใช้ครั้งแรกดูภาพยืนยันว่า ดิโอโก้ หลุยส์ ซานโต้ จาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เล่นนอกเกมเป็นใบแดงโดยตรงหรือไม่ ซึ่งผลคือ “ไล่ออก” นอกสนามในเกม ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ หรือที่แฟนบอลคุ้นเคยในชื่อของ ถ้วยพระราชทาน ก … ทบทวนกันสักนิดครับ ว่า VAR จะออกโรงในกรณีใดได้บ้าง

….

…..

ตามที่ระบุกันไว้ VAR จะใช้ได้ใน 4 สถานการณ์เท่านั้น

  1. เป็นประตูหรือไม่ ฟาวล์ก่อนป่าว ล้ำหน้าก่อนไหม Goals
  2. เป็นจุดโทษหรือไม่ นอกในเขต Penalties
  3. ใบแดงโดยตรงหรือไม่ Straight red cards
  4. เหตุการณ์ผิดพลาดประหลาดๆ ใบแดงผิดคนไหม Mistaken identity

สิทธิขาดทั้งหมดอยู่ที่ผู้ตัดสินใหญ่ผู้ถือนกหวีด ว่าจะใช้บริการหรือไม่ทั้งตัดสินใจด้วยตนเอง จะหยุดการเล่นพร้อมวาดมือเป็น 4 เหลี่ยม หากมาจากคำแนะนำของผู้ตัดสินที่เฝ้า VAR เขาจะหยุดการเล่นชี้ไปที่เครื่องมือสื่อสารที่หู แล้วทำมือเป็นสี่เหลี่ยมแล้วไปดูภาพช้า ซึ่งตามกฏจะไม่เปิดโอกาสให้ใครไปยืนส่องภาพช้าด้วยเด็ดขาด โดยมีจังหวะที่ไม่สามารถเรียกใช้ได้ดังนี้

….

…..

ตัดสินใบเหลืองที่ 2 (Second yellow cards)

ในกรณีไม่มั่นใจ ผู้ตัดสินจะมาบอกไม่ชัวร์ไปดูภาพช้า แบบนี้ไม่ได้ ขอดูก่อนไม่ได้ กรรมการท่านนั้นต้องตัดสินมาก่อนแล้วใช้ VAR มาตัดสินประกอบหากเป็นไปตามเขาตัดสินก็สนับสนุน ไม่ VAR ก็ชี้ว่าคำตัดสินผิดได้

นั่นคือวิธีการใช้คร่าวๆ ซึ่งทั้งหมดให้อำนาจเต็มแก่กรรมการในสนามคอขาดบาดตายยืนยันว่าตัดสินแล้วไม่ต้องการตัวช่วยใครก็บังคับอะไรไม่ได้ ด้วยปรัชญาในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และเป็นผู้ช่วย ก็ไม่ต่างจากไลน์แมนนั่นแหละ ต่อให้ยกยังไง หากผู้ตัดสินเขายืนยันว่าโอเคแล้ว ต่อให้ไลน์แมนไม่เห็นด้วยจะประท้วงขว้างธงทิ้งวิ่งไปสั่งกรรมการให้หยุดเปลี่ยนคำตัดสินก็ไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นหากกรรมการตัดสินชัดเจนแม่นยำ มีบุคลิกเด็ดเดี่ยว สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแก่นักเตะได้ชัดเจน VAR จะแปรค่าเป็นอาวุธลับเพิ่มบารมีให้เขาดูน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม นั่นเพราะเขาจะเลือกใช้เฉพาะจังหวะที่เขาค่อนข้างมั่นใจ ส่วนที่มั่นใจอยู่แล้วก็ตัดสินไปเลยไม่มีลังเล
บางคนร้ายกว่านั้น รู้ทั้งรู้เห็นเต็มสองตาว่าเป่าถูกแน่แต่ก็ใช้ VAR เพื่อเป็นการเคลียร์รอบด้านไปในตัวว่าเขาตัดสินถูกต้อง แน่นอนถ้าควบคุมเกมได้ขนาดนี้การตัดสินจะไม่เกิดปัญหา VAR ให้ทั้งความถูกต้อง และส่งเสริมบารมี

ทว่าในรอบเดือนของการใช้ผู้ช่วยรายนี้มีอยู่หลายครั้งที่ VAR ถูกนำมาใช้โดยไม่เป็นบวกกับผู้ตัดสินมากนัก จนกลายเป็นว่าแทบทุกครั้งที่มีโอกาสนักเตะจะท้าทายผู้ตัดสินหากสิ่งที่ได้ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ชัดเจนมากคือเกม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปเยือนพัทยา

 

 

ความป่วนเกิดจากจังหวะ VAR แรก ผู้ตัดสินไม่ได้เป่าเป็นจุดโทษแก่ พัทยา แม้ตำแหน่งที่ยืนจะห่างเหตุการณ์ไม่เกิน 5 เมตรก็ตามที

ทว่าจากคำแนะนำในหูฟังเขาหยุดคิด และวิ่งไปดู VAR กลับมาให้จุดโทษพร้อมภาพอธิบายที่ชัดเจนว่า เอกชัย สำเร ดึงจากด้านหลังในจังหวะทำประตูจริงๆ ดูแล้วทุกอย่างน่าจะเคลียร์ กรรมการแมนๆ แม้จะไม่ให้ในทีแรกแต่ก็ไปดูคำทักจากผู้ช่วย

ในโลกแห่งความจริงมันไม่เป็นแบบนั้นเลยตั้งแต่นาทีนั้น ผู้เล่นทั้ง 2 ทีมพยายามไปกับบอลเพื่อเข้ากรอบเขตโทษกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปกติย่อมมีการปะทะตามมาแทบทุกครั้งที่ผู้ตัดสินไม่ให้ VAR คือสิ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะพวกเขารู้ว่ามีโอกาสลุ้น เพราะจากจังหวะแรกก็พอประเมินได้ว่ากรรมการก็คงไม่มั่นใจเหมือนกัน

ชัดขึ้นไปอีกกับ VAR ครั้งที่ 2 เมื่อ ทรู แบงค็อก ได้จุดโทษ ซึ่งกรรมการก็เป่าชัดเจนดูเขามั่นใจทันใดนั้นการประท้วงเกิดขึ้นเช่นกันกับกองเชียร์เจ้าบ้านที่พร้อมใจกันเรียก VAR กดดันให้ผู้ตัดสินไปดู ความสับสนเกิดขึ้นอีกเพราะมีการปะทะกันของนักเตะทั้ง 2 ทีมนอกซีน จนทีแรกที่เห็นในการบรรยายส่วนตัวยังนึกว่า กรรมการใช้ VAR ในเรื่องนักเตะปะทะกันเพราะเข้าข่ายว่าการฟาวล์นั้นจนถึงขั้นใบแดงหรือไม่ แต่ก็งงๆ เพราะไปดู VAR เสร็จเขากลับมายืนยันว่าเป็นจุดโทษ แน่นอนว่าเกมที่เหลือสถานการณ์ในสนามไม่เรียบร้อยจนสกอร์มาห่างนั่นแหละเรื่องจึงจบ

 

 

ทั้งหมดคือภาพรวมๆ ของ VAR ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ถามว่าดีไหม ผมยังยืนยันเหมือนต้นฤดูกาลว่ามันดีแน่นอนสุดแท้แต่การนำไปใช้ หากคุณมั่นใจอยู่แล้วว่าตัดสินถูกแล้ว ก็งัดอุปกรณ์นี้มาหนุนเข้าไปอีกว่าเห็นไหมตัดสินถูกแล้วเป็นการเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือ

หากแต่คุณไม่มั่นใจว่าที่เป่าไปถูกไหมเรียก VAR มาดูก็ชัดเจนว่าเป่าไปผิด ทีนี้อยู่ที่ว่าจิตแข็งขนาดไหนมีศิลปะอย่างไรให้ตัวเอง และทีมงานยังน่าเชื่อและคุมเกมได้เป็นปกติ

หนักที่สุดคงเป็นมุมมองที่สะท้อนออกมา สุดท้ายผู้ชมก็ยังไม่เชื่อในศักยภาพของผู้ตัดสินอยู่ดีมันเป็นเรื่องปกติเพราะมันเกี่ยวโยงกันหมดทั้งผลงานในเกมนั้น และเรื่องที่ผ่านๆ มาว่าใครฝากรอยแผลอะไรไว้บ้าง

สิ่งที่ขัดกับปรัชญากีฬาสร้างโลกไปสิ้นเชิงนั่นคือในโลกของฟุตบอลอาชีพ เรากำลังปฏิเสธยอมรับเรื่องผิดพลาดไปแล้ว นี่ขนาดกรณียิงเข้าแล้วมาตัดสินให้หรือไม่ให้ประตูยังไม่เกิดขึ้นจนเป็น Talk of the Town หากมีแล้วละก็ไม่อยากนึกภาพ ขอปิดท้ายในรอบสัปดาห์กับเรื่องรับได้ยากเกิดขึ้นในสนามบุญยะจินดา

ศูนย์หน้าต่างชาติเจ้าถิ่น รอเล่นลูกกลางอากาศเขาหันมองคู่แข่งไม่มองบอล เล็งแล้วล็อคเป้าหมายพร้อมชักศอกใส่หน้ากองหลังเกาหลีใต้คนนั้นอย่างแม่นยำพร้อมท่าทีไม่ได้ยี่หระอะไรนักภาพต่อมากรรมการผู้รับผิดชอบในเกมวิ่งตรงมายังจุดเกิดเหตุพร้อมทั้งแจกใบเหลือง ขณะที่แข้งกิมจิลงไปนอนนิ่งพร้อมลุกขึ้นมาจมูกเบี้ยวไปนิดหน่อย

ในฐานะผู้บรรยายซึ่งไม่มีอะไรส่วนตัวกับคู่กรณีทั้ง 2 ผู้เล่น และกรรมการ ไม่ว่าจะไมตรีจิตรหรือความเกลียดชังเพราะเดินสวนกันกับ 3 ท่าน ก็ไม่รู้จักมากพอจะหยุดทักทาย ทว่าสิ่งที่ต้องบอกไปนั่นคือการหยุดมองเป้าเพื่อเข้าไปตีศอกเป็นเรื่องเลวร้ายรับไม่ได้กับเกมกีฬา เว้นแต่ว่ามันเป็นกีฬาต่อสู้ มันเกินเลยกว่าคำว่าแทคติกเล่นนอกเกมให้เล็ดรอดสายตากรรมการเพื่อความได้เปรียบ

“แต่เป็นการทำร้ายกัน”

ที่สำคัญเป็นภาพที่ถูกสื่อสารทันทีออกไปทั่วประเทศท่ามกลางสายตาของเด็กเยาวชนที่ติดตามการถ่ายทอดสด เป็นภาพที่ต้องมีผู้ใหญ่ ผู้ปกครองหรือผู้ฝึกสอนชี้นำว่าอย่าได้ทำตามหากคุณจะเป็นนักกีฬา เรื่องแบบนี้เขาไม่ทำกัน

ประเด็นต่อมาช่วยอธิบายพวกเขาทีว่าการตีศอกใส่ใบหน้าคู่แข่งโทษสถานเดียวเดียวของพฤติกรรมนี้คือไล่ออกพร้อมบทลงโทษภายหลัง ไม่ใช่ใบเหลืองห้ามปรามให้ผ่านไปแล้วเล่นต่อ มันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชายใส่ชุดกีฬาทำร้ายคนในสนามแล้วได้โอกาสอยู่ต่อแต่ในเกมเย็นวันอาทิตย์เรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว

ลองนึกภาพดูว่าหากเรื่องนี้ไม่ได้เกิดตอนทีมเยือนขึ้นนำแล้วเกมผ่านมาค่อนท้าย หากทันทีที่กรรมการท่านนั้นแจกใบเหลืองเสร็จแล้วทีมไม่เปลี่ยนตัวออกการเข้าบอลครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไรเมื่อบรรทัดฐานขีดวางไว้แล้วว่า ตีอกก็รับได้ ทำร้ายก็รับได้ อย่างน้อยก็ให้ทำได้ 2 ครั้ง 2 เหลืองจึงจะเป็นหนึ่งแดง

เชื่อหมดใจว่าเรื่องนี้ต้องมีบทลงโทษตามมาด้วยกฏข้อบังคับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางสมาคม ต้นสังกัด หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะหากเงียบๆ ไปเท่ากับฟุตบอลไทยยอมรับแล้วว่าการทำร้ายกันลักษณะมองเป้าเข้าตีศอกเป็นเรื่องรับได้โดยมีโทษคือ 1 ใบเหลืองลุกขึ้นมาเล่นต่อ หากคุณเป็นกีฬามูลค่าพันล้านอย่าง NBA (หลายคนคงมองบนว่าบ้ารึเปล่าบอลไทยเรื่องแค่นี้เล็กๆ เพ้อเจ้อ) โทษที่จะตามมาคือค่าปรับราคาแพงเพราะเป็นการทำลายภาพลักษณ์อันดีที่ทางลีกสร้างมาหลายสิบปีนั่นเอง

….

…..

เปิดใจผู้ตัดสินไทยกับเพื่อนใหม่ VAR

ช่วงท้ายนี้ ผมยิงคำถามไปยังคุณครูด้านกติกาของเหล่าผู้บรรยายทรูวิชั่นส์ วิทยากรที่มาอบรบเราก่อนเริ่มการแข่งขันไทยลีก อย่างผู้ตัดสินระดับ FIFA ศิวกร ภูอุดม เปาคนแรกที่ใช้ VAR ในประเทศไทย ว่าเขามีมุมมองอย่างไรบ้างกับการใช้ผู้ช่วยใหม่รายนี้

TT : ในฐานะคนที่ใช้มันบ่อยที่สุดในบ้านเรา รู้สึกอย่างไรบ้างกับ VAR อุ่นใจขึ้นไหม แจกแจงข้อดีข้อเสียในมุมคนใช้ และผลที่ได้จากเกมจริงที ?

เปาโค้ช : ถามว่าอุ่นใจมั๊ย สำหรับ ผู้ตัดสิน ใช่ครับ เพราะเหตุการณ์ที่ขาวเป็นดำ หรือดำเป็นขาว เหตุการณ์ที่เปลี่ยนผลการแข่งขัน จะไม่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอลแน่นอน

แต่ถามว่ามีข้อเสียไหมมันมาคู่กันอยู่แล้วยกตัวอย่างถ้ามีการใช้มีการ over rules (เปลี่ยนคำตัดสิน) คำตัดสินของทีมงาน จะทำให้ลดความน่าเชื่อถือ

การมี VAR เป็นการเปิดโอกาสในการกดดันผู้ตัดสินมองอีกมุมอาจไม่ใช่ข้อเสียอย่างชัดเจนแต่ทำให้การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินได้รับแรงกดดันจากทีม ถ้าหากผู้ตัดสินไม่เข้มแข็งพอรวมทั้งภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของผู้ตัดสินลดลง

TT : กับกระแสที่นักกีฬาพาตัวเองไปล้มในเขตโทษบ่อยขึ้นเพื่อวัดกับ VAR รวมทั้งแฟนบอลตะโกนเรียก VAR เวลามีเหตุก่ำกึ่งจุดโทษเกิดขึ้นแทนที่จะตะโกนอย่างอื่นตัวผู้ตัดสินมองเรื่องนี้เป็นยังไง ?

เปาโค้ช : กรณีกระแส VAR ที่ผู้เล่นพยายามพาตัวเเข้าไปล้มในเขตโทษผมมองว่าโอกาสจะได้จุดโทษจากพาตัวไปล้มในเขตโทษน่าจะยากกว่าการไม่มี VAR เพราะผู้ตัดสิน ไม่สามารถรีวิวเหตุการณ์ได้ครับ ส่วนจะได้หรือไม่ได้จุดโทษ ก็อยู่ที่ดุลพินิจผู้ตัดสินกับภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น

 

“ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์”

 

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้