รีเซต
TRUE OPINIONS : "Trustless" ฟุตบอลไทย "ใครเชื่อใคร" ได้บ้าง ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : "Trustless" ฟุตบอลไทย "ใครเชื่อใคร" ได้บ้าง ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"

TRUE OPINIONS : "Trustless" ฟุตบอลไทย "ใครเชื่อใคร" ได้บ้าง ... by "ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์"
kentnitipong
4 เมษายน 2561 ( 15:47 )
732

ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์ : รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็น Dead Week สำหรับเฮดโค้ชอย่างแท้จริงหากนับตั้งแต่นัดกลางสัปดาห์ เบ็ดเสร็จจบเกมวันอาทิตย์ นายใหญ่ไทยลีก ตกงานกัน 3 คนรวด พฤหัสบดี, ศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่ โจเซฟ เฟร์เร ส่งผลให้เปิดสถิติของ บางกอกกล๊าส เรื่องการจ้างงานโค้ชมันสุดเหลือเชื่อ

 

 

“เชื่อหรือไม่ ทีมนี้ปลดเปลี่ยนโค้ชทุกปีตั้งแต่ 2009 รวม 16 ครั้ง 12 โค้ช โดยมี สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ และอนุรักษ์ ศรีเกิด รับเผือกร้อนคนละ 3 ครั้ง ทว่าปีนี้ อำนาจ แก้วเขียว รับหน้าเสื่อไปก่อน”

ผ่านไปไม่ 24 ชั่วโมงดี ทีมดังแถวหลักสี่อย่าง โปลิศ เทโร ยุติการทำงานของ สกอตต์ คูเปอร์ เป็นที่เรียบร้อย นายใหญ่ที่เข้ามาเสียบแทนนั่นก็คือ รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค อดีตผู้เล่นผู้นำในสนามนั่นเอง ก่อนที่เกมวันเสาร์ระหว่าง แอร์ฟอร์ซ รับการมาเยือนของทีมไล่โค้ช พีที ประจวบ จะจบลงเป็นทีมเยือนชนะยัดเยียดความปราชัยนัดที่ 7 ให้ แอร์ฟอร์ซ สุดท้ายไม่มีทางเลือกให้ “เสือเตี้ย” สะสม พบประเสิร์ฐ เขาแสดงความรับผิดชอบขอยุติบทบาทคุมทีม โยนเผือกร้อนกลับไปที่ผู้บริหารสโมสร

เท่ากับว่าตอนนี้กุนซือไทยลีกที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมีดังต่อไปนี้

ดราโก้ มามิช (ชัยนาท ฮอร์นบิล)
คริสเตียน ซีเก้ (ราชบุรี มิตรผล เอฟซี)
ธชตวัน ศรีปาน (เอสซีจี เมืองทองฯ)
เรเน่ เดอซาเยียร์ (ราชบุรี มิตรผล เอฟซี)
โจเซฟ เฟร์เร “โคโค่”(บางกอกกล๊าส เอฟซี)
สกอตต์ คูเปอร์  (โปลิศ เทโร)
สะสม พบประเสริฐ (แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี)
วิริยะ เผ่าพันธุ์ (ราชนาวี )

แถมอีกหนึ่งราย โกรัน บาร์ยัคทาเรวิช ก็แยกย้าย ชลบุรี ไปอีกคน ทรงดีแต่ไม่มีแต้มสุดท้ายรอไม่ไหวนะครับ 8 เกมจบ คนที่มาแทนที่ขัดตาทัพก็คือ จักรพันธ์ ปั่นปี รับงาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ชลบุรี เปลี่ยนม้ากลางศึกเปลี่ยนโค้ชระหว่างฤดูกาล

….

…..

บอลเปลี่ยนโค้ช

 

 

ทั้งนี้เรื่องที่น่าแปลกใจตามมาเสมอนั่นคือภาวะ “บอลเปลี่ยนโค้ช” จากทีมที่เล่นไม่ชวนดู วิ่งบ้างเดินบ้าง ประสิทธิภาพในเกมรุกขาดเกิน เกมรับก็พลาดง่ายเสียจนคู่แข่งตกใจ แค่เปลี่ยนหัวเรือใหญ่เท่านั้น บางครั้งก็เปลี่ยนแบบขัตตาทัพด้วยการเอาผู้ช่วยไม่ก็โค้ชที่อยู่กับทีมมานานนั่นแหละขึ้นมาสั่งการรับผิดชอบ

เพียงเท่านั้น ผลงานเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหนังมือจากทรงบอลที่จ่ายเสียติดขัดเล่นกันแบบโดนบังคับจินตนาการตีบตัน พลันเป็นโดดเด่นคิดเร็วทำเร็วราวโด๊ปผักโขมป๊อปอายก่อนลงสนามวิ่งเร็วกว่าชาวบ้านเสียอย่างนั้น สปิริตกลับมาดีเลิศสมเป็นทีมที่ควรค่าแก่ชัยชนะ

อะไรคือสิ่งที่ซ้อนอยู่ในปรากฏการโลกลูกหนังกับคำว่า “บอลเปลี่ยนโค้ช” จากประสบการณที่เคยผ่านพบ บวกเหล่าบรรดาโค้ชที่เคยเจรจา

โดยมากมักเป็นเรื่องภายในทีม เป็นปัญหาของ “คนกับคน”” นั่นแหละ เทียบแล้วเป็นปัญหาหลักมากกว่าเรื่องของแทคติกที่ไม่ได้ผลจนเป็นเหตุให้ผลงานในสนามออกมาแย่

คิดตามย้อนภาพตามก็น่าจะจริงถือเป็นส่วนน้อยที่เราเห็นผลงานของทีมที่สุดท้ายต้องเปลี่ยนโค้ชแต่นักวิ่งกันถวายหัว ทำเต็มที่เพื่อผลการแข่งขัน เล่นเพื่อ Save The Boss เท่าที่ผ่านตาในระยะหลัง นึกออกที่ เอฟเวอร์ตัน กับ โรนัลด์ คูมัน รวมทั้ง แอร์ฟอร์ซ กับ เสือเตี้ย นี่แหละที่เข้าข่ายเต็มสู้สุดกำลังแต่มันไม่ไหวจริงๆ อย่างนี้คนเป็นโค้ชหรือผู้เล่นก็จากกันด้วยดีไม่มีติดค้างเพราะเต็มฝีมือด้วยกันแต่มันไม่คลิ๊ก ไม่เวิร์กในช่วงเวลานั้นๆ

ฟางเส้นสุดท้ายหล่นใส่หนักเกินรับไหว สุดท้ายก็แยกย้ายสวนทางกับประเภทเล่นดูไม่ได้แต่เปลี่ยนโค้ชผ่านสามคืนกลับเล่นเป็นพระเอก

คงมองอย่างอื่นลำบาก สื่อบ้านเรามักใช้คำว่า “เตะไล่โค้ช” โหดกว่านั้นก็  “บอลมีงาน” ซึ่งส่วนตัวผมไม่ชอบคำพวกนี้เลย ผ่านหูผ่านตาแล้วสร้างความสงสัยทำไมต้องเหยียดหยามกันขนาดนี้ หรือสิ่งที่พูดกันจนติดปากมันคือเรื่องจริง

 

 

โอเค… เปลี่ยนคนนำการพูดจาประสานความเข้าใจ และทำตามความต้องการของกัน และกันอาจจะง่ายขึ้นได้ใจกันทำให้เล่นกันได้เต็มที่ลงตัวขึ้นคงเป็นเรื่องนั้นเพราะระยะเวลาสั้นๆให้เอาแท็กติกวิธีการมาเสกใส่ให้ออกผลคงเป็นเรื่องยากเหลือกำลัง ดังนั้นจิตวิทยาน่าจะเป็นเหตุหลัก อยู่กันมานานคุยง่ายพี่คุยกับน้อง กลายเป็นนักเตะเล่นให้โค้ชคนนี้แย่แต่เปลี่ยนโค้ชก็เก่งขึ้นในพริบตาจนบางทีก็งงว่ามาตรฐานจริงๆ อยู่ไหน

เหล่าขัดตาทัพทำผลงานได้ดีทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น สันติ ไชยเผือก, อำนาจ แก้วเขียว, สมชาย ไม้วิลัย และ “เดอะ อ้น” รังสรรค์

นี่คือหลักฐานอีกชิ้นที่ย้ำว่างานโค้ชไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีองค์ความรู้มากมายก็อาจไปไม่ได้รอดหากคุณไม่มีรัฐศาสตร์การปกครองภายในที่ซื้อใจพี่น้องร่วมงานได้โอกาสสำเร็จอย่างยั่งยืนก็ยาก บางครั้งองค์ความรู้มี ซื้อใจได้ กระนั้นก็ไม่ได้การันตีว่าผลลัพธ์ต้องออกมาดีเสมอไป

ส่วนภาวะ “บอลไล่โค้ช” บวก “บอลเปลี่ยนโค้ช” จะมีต่อไปไหม มองว่าหนีไม่พ้นหรอกครับตราบใดที่ฟุตบอลยังใช้มนุษย์เตะ และมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้ทำตามหน้าที่ได้ตลอดเวลา

….

…..

Bye Bye VAR

 

 

ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายังถือเป็นการส่งท้าย VAR กันไปในที หมดแล้วกับช่วงโปรโมชั่นทดลองใช้ นับคร่าวๆ ก็ราว 2 เดือนแล้ว เหมือนที่เคยเขียนไป 2-3 ครั้งก่อนหน้าว่าผมเห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ VAR เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงในการนำมาใช้ประกอบคำตัดสินจากกรรมการที่ 1 ผู้เป็นใหญ่ในสนาม

การเรียกใช้แต่ละครั้งในบ้านเราผลที่ออกมาเข้าเป้า และเป็นที่น่าพอใจ หลายครั้งเคลียร์สถานการณ์ได้ดี มีบ้างที่จำเลยอาจไม่พอใจคำตัดสิน ผู้เสียหายไม่พอใจกับคำตอบที่ได้รับ กระนั้นก็กล้อมแกล้มกันไป

ว่าแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา ถามว่า VAR  เหมาะกับบ้านเราไหม ถ้าจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจัดว่าเหมาะควรทีเดียวอย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วหลายกรณีคลี่คลายได้

ที่เหลือคงต้องมาดูคนนำเทคโนโลยีไปใช้ว่าทำได้ดีถูกต้อง สื่อสารออกมาให้นักกีฬา และผู้ชมได้เข้าใจมากน้อยแค่ไหน ใช้เพื่อยกระดับคำตัดสินของตนเอง มีความแม่นยำเรื่องกติกา และดุลยพินิจ นี่คือดาบอาญาสิทธิ์ที่มากศักยภาพ ทว่าในความเป็นจริงยังต้องยอมรับในเรื่องบุคลากร

เพราะ VAR – AAR ใช้ผู้ตัดสินเยอะมาก คิดง่ายๆ ใช้เพิ่มเกมละ 2 คน เพื่อดูจอ และดูเหตุการณ์หลังประตู ผู้ที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีศักดิ์เป็นผู้ตัดสินไม่ใช่ผู้ช่วย ยิ่งลีกเราเกมไหนใช้ VAR – AAR ก็ระดมทีมงานมากประสบการณ์หน้าคุ้นๆ ไปช่วยกันตัดสิน จนหลายสนามเป็นโอกาสของผู้ตัดสินหน้าใหม่ได้พิสูจน์ตัวเอง

ว่าไปก็เป็นเรื่องดี กรรมการก็ไม่ต่างจากนักเตะล้วนต้องการเกมจริงทั้งนั้น เมื่อโอกาสมาถึงก็อยู่ที่ว่าพวกเขาทำได้สอบผ่านหรือไม่ สนามไนควมคุมได้ดี ก็ลัดชั้นเลเวลอัพ สนามไหนพลาดหนักโอกาสซ้ำชั้นก็เยอะ

….

…..

Trustless บอลไทย

 

 

สุดท้ายเรื่องของการตัดสิน ไม่ว่าจะใช้อะไรมันจะจบหรือไม่อยู่ที่การยอมรับทั้งสิ้น เพราะต่อให้การตัดสินอ้างอิงหลักอะไรก็แล้วแต่ มีเหตุมีผล หนักแน่นไปด้วยประจักษ์พยาน หรือเทคโนโลยีมายืนยัน ลองตั้งธงปักไว้ยังไงต้องเป็นตามฉันคิดยังไงก็ไม่จบ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นที่ “เขาพลอง” มันเป็นเรื่องการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกันทั้งนั้น

เหตุการณ์ผ่านมานานพอดูคงไม่ต้องเล่าย้อนกันมากนัก สรุปคร่าวๆ

VAR เรียกใช้พิจารณาการฟาล์วในกรอบเขตโทษเพราะมีผลถึงใบแดง ทั้งนี้ หากพิจารณาว่าฝ่ายรับเตะเพียงฝ่ายเดียวแน่นอนว่าเป็นใบแดงจุดโทษจากการพิจารณา VAR และสัญญาณที่ให้มาเป็นการฟาล์วของทีมรุกก่อน โทษใบเหลือง แต่ผู้ถูกกระทำถูกใบแดงเพราะทำร้ายร่างกายด้วยการเตะนอกเกม ดังนั้นเป็นฝ่ายรุกที่เสียฟาวล์ แต่ฝ่ายรับตอบโต้นอกเกมรุนแรงเข้าขั้นทำร้าย… จุดโทษไม่เกิด

นั่นคือความแม่นยำในการพิจารณาที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี VAR ซึ่งทีมงานผู้ตัดสินใช้เวลารับมือสถานการณ์ร่วม 10 นาที มันอาจจะขัดใจบ้างในอารมณ์ตอนนั้นประกอบกับเป็นเหตุการณ์ท้ายเกมมีผลต่อแต้มในมือเจ้าบ้าน และไม่มีการสื่อสารไปทั่วถึงเหตุความวุ่นวายเลยตามมา มองแล้วเหตุคงมาจากความไม่เชื่อในกัน และกัน

หากยังเป็นเช่นนี้ไม่ มีทางเลยที่เทคโนโลยีไหนจะมาช่วยได้

กับความเห็นหลังเกมคู่นี้ที่แตกออกหลายประเด็นทั้ง หากให้แฟนได้เห็น หรือมีฝ่ายอื่นที่มากไปกว่ากรรมการในสนามได้มีส่วนร่วมจะดีขึ้น เช่นกันกับคลิปที่ออกไล่หลัง ที่พยายามหยิบโยงเรื่องราวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวซัดกันมาก่อนจะเข้ากรอบเขตโทษ ผู้เริ่มก่อนคือฝ่ายรับ หากผู้ตัดสินได้ย้อนกลับไปดูอาจจะมองสถานการณ์ต่างไป

เรื่องนี้ถือเป็นบททดสอบสำคัญของเหล่าท่านเปาบ้านเราจริงๆ ว่าจะเอาตัวรอด ผ่านบททดสอบนี้อย่างไร

บททดสอบที่ว่าใครๆ ก็ไม่ค่อยเชื่อคุณ ยังไงสู้เขานะครับ “ผู้ตัดสินไทย”

….

“ต็อกตั้ม พรรษิษฐ์”

 

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้