รีเซต
สวัสดีบอลโลก 2018 : "โมร็อกโก" 20 ปีที่ห่างหายไปในเวทีเวิลด์คัพของ "สิงโตแอตลาส" ... by "บก.เก้น"

สวัสดีบอลโลก 2018 : "โมร็อกโก" 20 ปีที่ห่างหายไปในเวทีเวิลด์คัพของ "สิงโตแอตลาส" ... by "บก.เก้น"

สวัสดีบอลโลก 2018 : "โมร็อกโก" 20 ปีที่ห่างหายไปในเวทีเวิลด์คัพของ "สิงโตแอตลาส" ... by "บก.เก้น"
armcasanova
10 มิถุนายน 2561 ( 17:32 )
1.1K

 

โมร็อกโก
(โซนแอฟริกา : อันดับ 41 ของโลก)
(FIFA Ranking Update : 7 June 2018)

 

 

PROFILE

ลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย : 4 ครั้ง

แชมป์ : 0 สมัย

กว่า 20 ปีที่ “สิงโตแอตลาส” ต้องห่างหายไปจากเวทีฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ฟุตบอลโลก วันนี้ โมร็อกโก ภายใต้การนำของ แอร์กเว่ เรอนาร์ กุนซือเลือดเฟร้นช์ที่สร้างชื่อบนแผ่นดินกาฬทวีปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่นำทีมชาติแซมเบีย คว้าแชมป์แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในปี 2012 ก่อนจะมาหยิบโทรฟี่เดิมกับ ไอวอรี่ โคสต์ ในปี 2015

นักเตะส่วนใหญ่ของ โมร็อกโก ชุดนี้ล้วนแต่ค้าแข้งอยู่ในต่างประเทศ โดยมีสตาร์ชูโรงอย่าง ฮาคิม ซิเย็ค แนวรุกจาก อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม, นอร์ดิน อัมราบัต รวมถึงแนวรับกัปตันทีมที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักกันดีอย่าง เมห์ดี้ เบนาเตีย คอยยืนเป็นปราการด่านสุดท้าย

มุสตาฟา ฮัดจิ, อับเดลจาลิล ฮัดด้า กับ นอร์เร็ดดิน เนย์เบ็ต อาจจะเคยสร้างชื่อให้กับ โมร็อกโก ในศึกฟร้องซ์ 98 มาแล้ว ฉะนั้นไม่แน่ว่าฟอร์มอันร้อนแรงในรอบคัดเลือกจากการคว่ำทั้ง ไอวอรี่ โคสต์, กาบอง และมาลี บางทีนี่อาจจะเป็นม้ามืดตัวจริงใน รัสเซีย 2018

….

รายชื่อ 23 นักเตะ โมร็อกโก
ชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย

ผู้รักษาประตู : มูเนียร์ โมฮาเมดี้ (นูมันเซีย), ยาสซีน บูนู (กิโรน่า), อาเหม็ด เรด้า ทักนาอูตี้ (อิตติฮัด แทงเจอร์)

กองหลัง : เมห์ดี้ เบนาเตีย (ยูเวนตุส), โรเมียง ไซส์ (วูล์ฟแฮมป์ตัน), มานูเอล ดา คอสต้า (บาซัคเซฮีร์), นาบิล ดิราร์ (เฟเนร์บาห์เช่), อัชราฟ ฮาคิมี่ (เรอัล มาดริด), ฮัมซ่า เมนดริล (ลีลล์)

กองกลาง : ฮาคิม ซิเย็ค (อาแจ็กซ์), คาริม เอล อาห์มาดี้ (เฟเยนูร์ด), ยูเนส เบลฮานด้า (การาตาซาราย), เฟย์คาล ฟาเยอร์ (เกตาเฟ่), เอ็มบาร์ค บูสซูฟา (อัล จาซีร่า), ยูสเชฟ อัต เบนนาสเซอร์ (ก็อง), นอร์ดิน อัมราบัต (เลกาเนส), อามีน ฮาริต (ชาลเก้), เมห์ดี้ กาเซล่า (สตรองดาร์ด ลีแอช), โซฟิยาน อัมราบัต (เฟเยนูร์ด)

กองหน้า: คาลิด บูตาอิบ (มาลัตยาสปอร์), อาซิซ บูฮัดดูซ์ (ซังต์ เพาลี), อายูบ เอล คาบี้ (เรนาสซอง เบอร์กาเน่), ยุสเซฟ เอ็น-เนสรี่ (มาลาก้า)

….

รู้จัดเฮดโค้ช : แอร์กเว่ เรอนาร์

 

 

“มิสเตอร์ ซัคเซส” คงไม่ได้เป็นฉายาที่เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ลูกหนังแซมเบีย และไอวอรี่ โคสต์ นั้นล้วนแต่มาจากมันสมอง และแทคติกของ แอร์กเว่ เรอนาร์

กุนซือเลือดเฟร้นช์วัย 49 ปีรายนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจอมพเนจร เวียดนาม, แองโกล่า, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, แซมเบีย และแอลจีเรีย คือลิสต์ประเทศที่เจ้าตัวเคยไปคลุกคลีในฐานะเฮดโค้ชในระดับสโมสร กระทั่งเป็นทีมชาติโมร็อกโกที่มองเห็นพลังแฝงอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการปลุเร้านักเตะด้วยหลักจิตวิทยา นั่จึงทำให้ เรอนาร์ ผงาดขึ้นมาทำทีม “สิงโตแห่งแอตลาส” ด้วยภารกิจใหญ่นั่นคือ ฟุตบอลโลก 2018

กุมภาพันธ์ 2016 เรอนาร์ เดินทางมาพร้อมกับความั่นใจเต็มเปี่ยม… โมร็อกโก ในยุคของกุนซือรายนี้ทำสถิติไม่แพ้ใครเลยตลอดปี 2016 (ชนะ 6 เสมอ 4) เรอนาร์ พาทีมขยับขึ้นมาเกือบๆ 20 อันดับ หลังจบปี 2016 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น โมร็อกโก เคยจมดิ่งหนักสุดไปถึงอันดับที่ 81 ของโลก

“สิงโตแห่งแอตลาส” ยุคใหม่ ค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยนักเตะพลังหนุ่มล้นทีม โมร็อกโก ชุดนี้ลงเล่นด้วยแทคติกที่รัดกุม ความเคี่ยวในเกมรับกลายเป็นจุดแข็งที่เหล่าบรรดาคู่แข่งพากันขยาด แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถไปถึงดวงดาวในรายการแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2017 ที่ กาบอง หลังร่วงตกรอบควอเตอร์ไฟน่อลด้วยน้ำมือของรองแชมป์ในครั้งนั้นอย่าง อียิปต์ แต่ เรอนาร์ ก็ได้รับคำชมเป็นอย่างมากถึงการให้โอกาสนักเตะดาวรุ่ง

โมร็อกโก ลุยต่อในเส้นทางควอลิฟายด์สู่เวิลด์คัพ 2018… ไอวอรี่ โคสต์, มาลี และกาบอง คือคู่แข่งที่พร้อมจะดับฝันพวกเขาได้ทุกเมื่อ แต่เหลือเชื่อว่า ตลอด 6 นัดในรอบคัดเลือกโซนแอฟริกา โมร็อกโก ของ เรอนาร์ สามารถสร้างสถิติเป็นทีมที่ไม่แพ้ใครเลยในรอบคัดเลือกรอบที่สาม (เทียบเท่า เซเนกัล) แถมยังทำสถิติยิงประตูได้มากที่สุด (11 ประตู) ผลต่างประตูได้เสียดีที่สุด (บวก 11 ประตู) และที่สำคัญ “สิงโตแห่งแอตลาส” ไม่เสียประตูเลยแม้แต่เม็ดเดียว ที่คือผลงานอันสุดยอดของเฮดโค้ชจากแดนน้ำหอมรายนี้ที่ฝากไว้ให้แฟนบอลแอฟริกันได้เห็น

ที่สำคัญ เรอนาร์ ได้ปลุกความมั่นใจในตัวนักเตะจากรอบคัดเลือกครั้งนั้น จนส่งผลให้ฟอร์มของ โมร็อกโก ในช่วงการเตรียมทีมไปลุยฟุตบอลโลก 2018 นั้นพีคขึ้นมาทันตาเห็น ชัยชนะเหนือเซอร์เบีย, อุซเบกิสถาน, สโลวะเกีย และเอสโตเนีย น่าจะพอบ่งบอกอะไรได้บ้างว่า ยอดทีมจากอฟริกาเหนือทีมนี้เองก็หวังสร้างเซอร์ไพรส์ลึกๆ อยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ การเรียกนักเตะที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี ไปลุย รัสเซีย มากถึง 7 คนด้วยกัน ย่อมเป็นเครื่องยืนยันเช่นกันว่า เรอนาร์ เชื่อมั่นในตัวนักเตะที่ฝีเท้า ความสด และความกระหาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้ โมร็อกโก กลับมาเป็นทีมระดับหัวแถวในทวีปอีกครั้ง ซึ่งบทพิสูจน์ทั้งหมดนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่เกมนัดแรกของพวกเขากับ “นักรบแห่งเปอร์เซีย” อย่าง อิหร่าน ที่ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก

….

สตาร์เด่น : เมห์ดี้ เบนาเตีย

 

 

นับตั้งแต่หมดยุคของ นอร์เร็ดดิน เนย์เบ็ต ทีมชาติโมร็อกโก ก็ยังไม่สามารถควานหาตัวตายตัวแทนในตำแหน่งที่สำคัญอย่าง เซนเตอร์ฮาล์ฟ ได้เลย กระทั่งการจุติของแข้งรายนี้ในปี 2008

เบนาเตีย สร้างชื่อ และแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวกับ อูดิเนเซ่ และโรม่า ด้วยส่วนสูง 6 ฟุต 2 นิ้ว ทำให้เจ้าตัวสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในเกมรุก และการเล่นลูกตั้งเตะได้ด้วย ทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง บาเยิร์น มิวนิค ไม่ลังเลที่จะควักเงินเกือบๆ 30 ล้านยูโร ประเคนให้กับ “หมาป่าแห่งกรุงโรม” เพิ่งดึง เบนาเตีย มายืนในแนวรับ

แต่ชีวิตใน เยอรมัน นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด เบนาเตีย มีปัญหาอาการบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง แถมยังต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของ “ซูเปอร์แมน” โลธ่าร์ มัทเธอุส อดีตแข้งระดับตำนานของทีม ทำให้สุดท้าย ปราการหลังรายนี้ต้องจากถิ่น อลิอันซ์ อารีน่า ไปพร้อมกับโทรฟี่บุนเดสลีกา สองสมัย

เบนาเตีย เริ่มต้นใหม่กับเหล้าขวดเก่าอย่างเวที กัลโช่ เซเรีย อา อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็น ยูเวนตุส ยักษ์ใหญ่ในแดนมักกะโรนีที่หยิบยื่นโอกาสให้ เบนาเตีย ได้ลงเล่นค่อนข้างสม่ำเสมอจนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทัพ “เบียงโคเนรี่” กวาดทั้ง สคูเด็ตโต้ และโคปปา อิตาลีได้สองฤดูกาลติดต่อกัน จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในเซนเตอร์ฮาล์ฟที่ดีที่สุดใน อิตาลี อีกครั้ง ดั่งเช่นสมัยที่ค้าแข้งกับ โรม่า

ฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้ เบนาเตีย จะเดินนำหน้าลูกทีมลงสู่สนามในฐานะกัปตันทีม ด้วยประสบการณ์ในสีเสื้อทีมชาติกว่าสิบปี บวกกับการได้เผชิญกับเหล่าแข้งระดับพระกาฬมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ถึงเวลาแล้วที่กัปตันทีมวัย 31 ปีรายนี้จะได้พิสูจน์ให้แฟนบอลทั้งโลกเห็นว่า การเป็นหนึ่งในกองหลังที่ดีที่สุดในกัลโช่ เซเรีย อา นั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่มาด้วยความสามารถล้วนๆ ต่างหาก ที่สำคัญ นี่ยังเป็นเวทีที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของวงการลูกหนังโมร็อกโกให้กลับคืนมาอีกครั้งหลังจากต้องห่างหายไปจาก ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย นานกว่า 20 ปี

….

“บก.เก้น”

 

โปรแกรมการแข่งขัน พร้อมช่องถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2018

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้