รีเซต
สวัสดีบอลโลก 2018 : "อิหร่าน" ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ "สเปน - โปรตุเกส" น้ำตาตกใน ... by "บก.เก้น"

สวัสดีบอลโลก 2018 : "อิหร่าน" ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ "สเปน - โปรตุเกส" น้ำตาตกใน ... by "บก.เก้น"

สวัสดีบอลโลก 2018 : "อิหร่าน" ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ "สเปน - โปรตุเกส" น้ำตาตกใน ... by "บก.เก้น"
armcasanova
9 มิถุนายน 2561 ( 16:46 )
1.3K

 

อิหร่าน
(โซนเอเชีย : อันดับ 37 ของโลก)
(FIFA Ranking Update : 7 June 2018)

 

 

PROFILE

ลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย : 4 ครั้ง

แชมป์ : 0 สมัย

 

ทัพ “นักรบแห่งเปอร์เซีย” ผงาดขึ้นมาตีตั๋วผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก 2018 ได้เป็นทีมที่สามของโลก (รวมเจ้าภาพ) หลังจากเก็บไปถึง 22 คะแนนจาก 10 นัด พร้อมกับรักษาสถิติไร้พ่ายในรอบคัดเลือกได้อย่างสุดยอด ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกุนซือชาวโปรตุกีส อย่าง คาร์ลอส เคยรอซ อดีตมือขวาของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 4 ครั้งที่ผ่านมาของ อิหร่าน อาจจะดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ หลังพวกเขาจอดป้ายที่รอบแบ่งกลุ่มเท่านั้น และพ่ายไปถึง 8 จาก 12 เกมด้วยกัน โดยชัยชนะครั้งเดียวของพวกเขาในเวิลด์คัพนั้นต้องย้อนกลับไปถึงปี 1998 ซึ่ง อิหร่าน เอาชนะคู่ปรับทางการเมืองอย่าง สหรัฐอเมริกา ไป 2-1

อิหร่าน ชุดนี้อาจจะไม่มีสตาร์ชูโรงเหมือนดั่งเช่นในอดีตที่พวกเขามี อาลี ดาอี, โคดาดัด อาซิซี่ และคาริม บาเกรี่ แต่สิ่งที่ เคยรอซ ได้เนรมิตให้กับทีมชุดนี้นั่นก็คือ “ทีมเวิร์ค” ที่พร้อมจะเล่นงานทุกทีมที่ประมาทพวกเขาที่ รัสเซีย

….

รายชื่อ 23 นักเตะ อิหร่าน
ชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย

ผู้รักษาประตู : อาลีรีซา เบรานวานด์ (เปอร์เซโปลิส), โมฮัมเหม็ด ราชิด มาซาเฮรี่ (โซบ อาฮาน), อาเมียร์ อเบดซาเดห์ (มาริติโม่)

กองหลัง : รามิน เรเซเอียน (เออสเตนเด้), โมฮัมมัด เรซ่า คันซาเดห์ (ปาดีเดห์), มอร์เตซ่า ปูราลิกานญิ (อัล ซาด), เปจ์มัน มอนตาเซรี่ (เอสเตกัล), มายิด ฮอสเซนี่ (เอสเตกัล), มิลัด โมฮัมมาดี้ (เอฟซี อาคมัต กรอซนี), รูซเบห์ เชสมี่ (เอสเตกัล)

กองกลาง : ซาอีด อีซาโตลาฮี (อัมคาร์ เปิร์ม), มาซูด โชจาอี (เออีเค เอเธนส์) , ซามาน ก็อดดุส (ออสเตอร์ซุนด์), เมห์ดี โตราบี้ (ไซปา อัลบอร์ซ), อัชคาน เดญากาห์ (น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์), อูมิด อิบราฮิมี่ (เอสเตกัล), อิห์ซาน ฮัจซาฟี่ (โอลิมเปียกอส), วาฮิด อามิรี่ (เปอร์เซโปลิส)

กองหน้า : อาลีเรซ่า ญาฮานบัคช์ (อาแซด อัลค์มาร์), คาริม อันซารีฟาร์ด (โอลิมเปียกอส), เมห์ดี ตาเรมี่ (อัล การาฟา), ซาร์ดาร์ อัซมูน (รูบิน คาซาน), เรซ่า กูญันเนญาด (ฮีเรนวีน)

….

รู้จัดเฮดโค้ช : คาร์ลอส เคยรอซ

 

(AP Photo)

 

กว่า 7 ปีที่ เคยรอซ กุมบังเหียนทัพ “นักรบแห่งเปอร์เซีย” พร้อมกับผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน แน่นอน เขาถือเป็นหนึ่งในกุนซือที่มีโปรไฟล์หรูที่สุดเท่าที่วงการลูกหนังอิหร่านเคยมีมา อีกทั้งยังเป็นเฮดโค้ชที่พาทีมชาติอิหร่านเก็บชัยชนะเหนือคู่แข่งได้มากถึง 50 นัด ถือเป็นสถิติที่ยอดเยี่ยมที่ เคยรอซ ทำได้เหนือกว่าใครในพงศาวดารลูกหนังยอดทีมจากเปอร์เซีย

กุนซือชาวโปรตุกีส รายนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงมานับตั้งแต่การปลุกปั้นแข้ง “ฝอยทอง” รุ่นจิ๋วผงาดขึ้นมาครองแชมป์โลกในรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ได้ถึงสองสมัยติดจนทีมชุดนั้นถูกยกให้เป็น “โกลเด้น เจเนเรชั่น” ของ โปรตุเกส

ผลผลิตจากการคุมทีมในครั้งนั้น ที่เจ้าตัวได้ฝากไว้ให้กับวงการลูกหนัง ล้วนแต่เป็นนักเตะระดับท็อปที่แฟนบอลต่างซูฮกในฝีเท้าไล่มาตั้งแต่ เฟอร์นานโด คูโต้ อดีตปราการหลังจอมแกร่ง และกัปตันทีมชาติโปรตุเกส, โคตรเพลย์เมคเกอร์ อย่าง รุย คอสต้า, แนวรับจอมขยันอย่าง อาร์เบล ซาเวียร์,หัวหอกจอมเข้าฮอร์ส เจา ปินโต้ และอดีตเจ้าของสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลกอย่าง หลุยส์ ฟิโก้ แค่นี้คงเพียงพอต่อการการันตีถึงสายตาอันเฉียบแหลมดุจเหยี่ยวจากคาบสมุทรไอบีเรียที่พร้อมจับหินจับดินมาขัดสี และเจียระไนให้กลายเป็นเพชรในบัดดล

แม้ว่าหลังจากนั้น เคยรอซ จะออกไปโบยบินเป็นมือปืนรับจ้างให้กับหลายหลายทีมทั่วโลก รวมถึงสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทีมหนึ่งอย่าง เรอัล มาดริด แต่ทว่าภาพจำสำหรับแฟนบอลส่วนใหญ่นั้นเห็นจะเป็นยุคสมัยที่ เคยรอซ รับบทบาทการเป็นมือขวาให้กับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อยู่พักใหญ่ๆ จนหลายคนมองว่านี่แหละคือทายาทตัวจริงของ เซอร์ อเล็กซ์ ในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด

แต่คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้รับใช้ชาติในฐานะผู้จัดการทีม ในที่สุด เคยรอซ ตัดสินใจจรดปากกาเซ็นสัญญาคุมทีมชาติโปรตุเกสเป็นระยะเวลา 4 ปีด้วยกัน

แต่ทุกอย่างหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะทัพ “บราซิลแห่งยุโรป” ในยุค เคยรอซ มีปัญหาเรื่องฟอร์มการเล่นอย่างหนัก โดยเฉพาะการจบสกอร์ จนทำให้พวกเขาต้องหลุดไปเล่นเพลย์ออฟกับ บอสเนียฯ ท่ามกลางความวิตกอย่างหนักจากแฟนบอลทั้งประเทศที่กลัวว่า โปรตุเกส อาจจะพลาดร่แต่ด้วยประสบการณ์ สุดท้าย เคยรอซ สามารถนำ โปรตุเกส ไปโบกสบัดธงชาติที่ แอฟริกาใต้ ในปี 2010 ได้สำเร็จ ก่อนจะร่วงตกรอบสองด้วยน้ำมือของคู่ปรับตลอดกาลอย่าง สเปน ที่ไปถึงตำแหน่งแชมป์โลกได้ในครั้งนั้น ท่ามกลางความผิดหวังของแฟนบอลแดน “ฝอยทอง” ทั่วโลก เนื่องจากในทัวร์นาเม้นต์นั้น โปรตุเกส ยิงประตูได้เพียงแค่นัดเดียวจากการลงเล่นสี่เกมในแดนกาฬทวีป

เคยรอซ ใช้เวลา 7 เดือนเต็มในการพักผ่อน และสร้างแรงบันดาลใจกับเกมลูกหนังอีกครั้ง และคราวนี้เป็น อิหร่าน ที่ยื่นข้อเสนอมาให้เจ้าตัวพิจารณา ท่ามกลางความตื่นเต้นของแฟนบอลแถบนั้นที่มั่นใจว่า เขาคือคนที่ใช่ ในห้วงเวลาที่ทีมชาติอิหร่านเริ่มหมดมุขในการเดินไปข้างหน้าในฐานะยอดทีมของทวีป

เคยรอซ ตอบตกลง เขาเริ่มนโยบายมองหาแข้งสายเลือดอิหร่านที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศหลายๆ คนอย่าง อัซกาน เดจากาห์, ดาเนี่ยล เดวารี่, ซามาน ก็อดดุส รวมถึง เรซ่า กูญันเนญาด ล้วนแต่อยู่ในสายตา และถูกเจียระไนโดยกุนซือรายนี้ จนทำให้ อิหร่าน กลับมาแข็งแกร่งในแบบที่ควรจะเป็นอย่างที่เราทุกคนเห็นกัน

อิหร่าน ชุดลุยเวิลด์คัพ 2018 นี้คือส่วนผสมของแข้งพลังหนุ่ม กับกลุ่มนักเตะที่มากไปด้วยประสบการณ์ในทีมชาติ แน่นอน อิหร่าน อาจจะตกเป็นรองทีมอื่นๆ ในกลุ่ม หากมองในแง่ของชื่อชั้น แต่อย่าลืมว่า นี่คือชาติที่มีแรกกิ้งดีที่สุดเป็นอันดับสองในโซนเอเชีย (แต้มตามหลัง ออสเตรเลีย แค่ 10 คะแนนเท่านั้น) บางที มันสมองของ เคยรอซ อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเส้นทางต่อไปของอดีตแชมป์โลกอย่าง สเปน หรือกระทั่งชาติบ้านเกิดอย่าง โปรตุเกส หรือถ้า “นักรบแห่งเปอร์เซีย” เกิดฟอร์มพีคสุดๆ ขึ้นมา บางที อาจจะมีทีมจากยุโรปในกลุ่มบีอย่างน้อยหนึ่งทีมที่ต้องเสียน้ำตาให้กับ เคยรอซ และอิหร่าน…

 

….

สตาร์เด่น : ซาร์ดาร์ อัซมูน

 

(AP Photo)

 

การค้าแข้งในรัสเซียมานานกว่า 5 ปีของ ซาร์ดาร์ อัซมูน คือความได้เปรียบที่ทำให้ อิหร่าน แข็งแกร่งขึ้นราวกับมีจรวดหัวรบนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง ว่ากันว่านี่คือทายาทลูกหนังของหอกระดับตำนานของอิหร่านอย่าง อาลี ดาอี ด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปี กับการพังประตูในสีเสื้อทีมชาติถึง 23 ประตู ทำให้หลายๆ คนมองว่า สุดท้าย อัซมูน นี่แหละที่จะเป็นคนทุบสถิติอันอยู่ยงคงกระพันของ ดาอี ที่ไม่เคยมีใครแซงได้นับตั้งแต่ปี 2006

ด้วยส่วนสูงถึง 186 เซนติเมตร บวกกับความแข็งแกร่ง คล่องแคล่ว และเร็ว ทำให้บางครั้งหลายๆ สื่อในเอเชีย มัยจะหยิบ อัซมูน ไปเปรียบเทียบกับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เช่นเดียวกับ อาลี ดาอี ที่สื่ออิหร่านมองว่าถอดแบบมาชนิดไม่ผิดรูป ทั้งความคมกริบในกรอบเขตโทษ สัญชาตญาณในการล่าประตูราวกับหมาป่าล่าลูกแกะ อัซมูน จึงถูกวางเป็นนักเตะตัวความหวังที่จะทำให้ฝันของชาวอิหร่านนั้นสมหวังสักทีนั่นคือ การผ่านเข้าสู่รองสองให้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แม้ผลงานกับ รูบิน คาซาน ในซีซั่นที่ผ่านมาอาจจะดูไม่เปรี้ยงปร้างสักเท่าไหร่ แต่นั่นหาใช่สิ่งที่ อัซมูน นั้นกังวล เพราะค่าเฉลี่ยในการถล่มประตูให้กับทัพ “นักรบแห่งเปอร์เซีย” นั้นมันยอดเยี่ยมเกินกว่าจะมานั่งปวดหัว ผลงานการยิงเฉลี่ย 0.74 ประตูต่อ 1 เกม คือสัญญาณเตือนที่ อัซมูน ส่งไปยังสองทีมแกร่งเพื่อนร่วมกลุ่มทั้ง สเปน และโปรตุเกส ว่าอาจจะต้องน้ำตาตกใน หากยังประมาณเขา และเพื่อนร่วมทีม

ได้แต่หวัง และภาวนาว่า “เมสซี่ อิหร่าน” รายนี้ จะยังคงสถิติการผลิตสกอร์เอาไว้ได้ พร้อมกับพา อิหร่าน ประสบควาสำเร็จใน รัสเซีย 2018 ในฐานะทีมที่เก่งที่สุดในแถบตะวันออกกลาง และความภาคภูมิใจในฐานะชาวเอเชียเหมือนกัน

….

“บก.เก้น”

 

โปรแกรมการแข่งขัน พร้อมช่องถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2018

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/2HtYS2N
ดูสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี คลิก >>http://bit.ly/TrueIDSportsLive

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้