รีเซต
TRUE TALK : สะท้อนความจริง "ไทยแลนด์เวย์" ช้างศึก ยู-16 ไร้แชมป์อาเซียน 3 ปีติด ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"

TRUE TALK : สะท้อนความจริง "ไทยแลนด์เวย์" ช้างศึก ยู-16 ไร้แชมป์อาเซียน 3 ปีติด ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"

TRUE TALK : สะท้อนความจริง "ไทยแลนด์เวย์" ช้างศึก ยู-16 ไร้แชมป์อาเซียน 3 ปีติด ... by "ตรู่ เชียร์ไทย"
kentnitipong
15 สิงหาคม 2561 ( 15:21 )
2.4K

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชุดใหม่ที่เริ่มงานต้นปี 2559 ทำงานอย่างเต็มที่ในการพัฒนานักเตะระดับเยาวชน โดยเฉพาะการนำทีมงานโค้ชจาก “เอคโคโน” เข้ามาวางระบบ จะตอบโจทย์การพัฒนาแบบ “ไทยแลนด์เวย์” หรือไม่ สิ่งสำคัญในการชี้วัดคือผลการแข่งขัน…

 

 

ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ต้องน้ำตาร่วงอีกหนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ดวลกับ อินโดนีเซีย ทีมเจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ จบด้วยผลเสมอกัน 1-1 ก่อนจะดวลจุดโทษตัดสิน “อิเหนา” เฮในถิ่นชนะ 4-3 คว้าแชมป์ในรุ่นนี้เป็นครั้งแรก นั่นก็ทำให้ทีมชาติไทย แพ้จุดโทษในรอบชิงชนะเลิศ 2 ปีติดต่อกัน และเป็นการไร้แชมป์ 3 ปีเข้าไปแล้ว

การแพ้จุดโทษได้รองแชมป์ ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าล้มเหลว

บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับ “ดวง” หรือ “โชคชะตา” ดังเช่นการแพ้จุดโทษในรอบชิงชนะเลิศ 2 หนติดทั้งปี 2017 และ 2018 ในเมื่อเราทำเต็มที่แต่ไม่ได้แชมป์ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องหายอะไร แต่มันถึงเวลาต้องมาทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา มันเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า “ไทยแลนด์เวย์” หรือไม่ อย่าลืมว่ารุ่นนี้เรียกได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในรุ่นที่สูงขึ้นไป รวมทั้งเป้าหมายใหญ่คือการไปสู่ฟุตบอลโลกในปี 2026 หรือ 2030

ภายใต้การบริหารงานของสมาคมฯชุดใหม่ ไร้แชมป์รุ่นเล็กสุดของ “เอเอฟเอฟ” 3 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง ?

 

การบริหารจัดการ

รุ่นนี้ไทยคว้าแชมป์ครั้งสุดท้ายปี 2015 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นยุคของสมาคมฯ ชุดเก่า ส่วนในปี 2016 กัมพูชา เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง สมาคมฯ ชุดใหม่ก็หวังจะป้องกันแชมป์ให้ได้ ในส่วนของนักเตะจากชุดแชมป์ปี 2015 อายุก็ไม่เกิน พร้อมจะลงเล่นอีกรอบในปี 2016 พูดง่ายๆ ว่าใครจะเข้ามาเป็นโค้ชคนใหม่ ก็มีนักเตะแกนหลักจากปี 2015 พร้อมให้ใช้งาน

สิ่งที่เป็นอุปสรรคของสมาคมฯชุดใหม่เข้ามาบริหารงานต้นปี 2559 ก็มีเวลาไม่มากนักในการเตรียมงานต่างๆ การต้องเดินหน้าพัฒนาทั้งระบบไปพร้อมๆ กับการต้องสะสางเรื่องเก่าๆ นับว่าน่าเห็นใจที่ทำให้ช่วงแรกของการบริหารงานเดินหน้าเต็มกำลังไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

“โค้ชยง” พ.ต.ท. ชัยยง ขำเปี่ยม เข้ามาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ จัดการเลือกตัวหลักจากชุดก่อนไม่ว่าจะเป็น สุมณะ สลับเพชร, ธราดล สอนโยหา, กรวิชญ์ ทะสา, จิณณวัตร รัศมี, ณัฐพงษ์ นาคพิทักษ์, สันติภาพ แย้มแสน, อานนท์ ประสงค์พร เข้ามาสู่ทีม ผสมกับนักเตะใหม่ตามสไตล์ของตัวเอง ก่อนจะจบด้วยอันดับที่ 3 นักเตะก็แกนเดิมๆ คู่แข่งก็ชุดเดิมๆ แต่ผลงานตกต่ำลงกว่าเดิม ก็สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาด

“โค้ชยง” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมองไปไกลถึงพาทีมชุดนี้ไปฟุตบอลโลก รุ่นยู-17 แต่ก็ยังล้มเหลวกับทัวร์นาเม้นต์ระดับอาเซียน

นักเตะดูดกัญชา / ขาดความใส่ใจในการดูแลเด็ก

จบจากชิงแชมป์อาเซียน 2016 ก็ต่อเนื่องกับการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย 2016 ในรุ่นยู-16 เพื่อคัดเลือกตัวแทนไปฟุตบอลโลก ยู-17 เราล้มเหลวไม่เป็นท่ากับคำว่า “บอลโลก” ไม่ใช่แค่ผลงานในสนามที่ตกรอบแรกจากการมี 1 คะแนน แต่รวมถึงเรื่องภายในแคมป์ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เผยว่ามีนักเตะดูดกัญชา แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเกิดขึ้นระหว่างการเก็บตัวซ้อมที่ไทย หรือว่าช่วงที่เดินทางไปแข่งชิงแชมป์เอเชียที่ อินเดีย

ก็นั่นสิ ปล่อยให้นักเตะนำกัญชามาได้อย่างไร ??? แสดงให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจในการดูแลนักเตะที่กำลัง “ห้าว” และวัยนี้เป็นวัยที่หลงผิดกันมามาก สมควรที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ย้อนไปในปี 2015 ยุคที่ อ.พยงค์ ขุนเณร พาทีมชาติไทย ยู-16 คว้าแชมป์อาเซียน มีข้อมูลจากผู้ปกครองของนักเตะเอง ลูกของเขาติดเกม สูบบุหรี่ และผู้ปกครองบางคนยอมรับว่าลูกชายที่เป็นทีมชาติพี้กัญชา พอได้ข้อมูลมาแล้วทีมงานทีมชาติไทยชุดนั้น จึงสอดส่องตรวจตราดูแลนักเตะอย่างใกล้ชิด อ.พยงค์ นอนค้างในแคมป์กับนักเตะช่วงเก็บตัวที่ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติหนองจอก และที่โรงแรมบางกอกอินเตอร์เพลส ด้วยตัวเอง เมื่อดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาก็หมดไป

ส่วนนักเตะที่มีข่าวพี้กัญชาในชุดปี 2016 ก็อยู่ในชุดปี 2015 นั่นแหละ แต่ทำไมปี 2015 ไม่เกิดปัญหา แถมได้แชมป์อาเซียนด้วย นี่คือจุดบอดในเรื่องของความใส่ใจกับเยาวชนที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่าลืมว่าถึงจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย แต่ก็คือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีมุมหลงผิดเหมือนกับชาวบ้านทั่วๆ ไป ถ้าเอาใจใส่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่เกิด นี่จึงเป็นประสบการณ์ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้เรียนรู้ว่าในชุดต่อๆ ไปจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ให้ครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย

 

ระบบของ “เอคโคโน” กับโมเดล “ไทยแลนด์เวย์”

วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นวันที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนามกับ บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส โดยทีมงานชุดนี้เข้ามาเป็นโค้ชของทีมชาติชุดต่างๆ ไล่ตั้งแต่ 16 ปี ไปจนถึง 21 ปี ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่โค้ชช้างศึก ยู-16 ต่อจาก “โค้ชยง” นั่นก็คือ ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย เป็นชาวสเปนคนแรกที่เป็นเฮดโค้ชในรุ่นนี้ และเป็นต่างชาติคนที่ 3 สำหรับยู-16

ชิงแชมป์อาเซียน 2017 เริ่มแข่งวันที่ 9 กรกฎาคม ที่จังหวัดชลบุรี ทีมชาติไทย ยู-16 ชุดนี้ ไม่มีผู้เล่นจากชุดแชมป์ปี 2015 และชุดอันดับที่ 3 ในปี 2016 เพราะว่า 2 รุ่นนั้นอายุเกินไปแล้ว แน่นอนว่าการเข้ามาของ “เอคโคโน” และ ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย มีเวลาค่อนข้างจำกัดก่อนแข่งชิงแชมป์อาเซียน 2017 การเตรียมทีมแค่ 2 เดือน สิ่งสำคัญคือข้อมูลของนักเตะอายุ 15-16 ปี ที่จะคัดเข้ามาสู่ทีมชาติไทย

จริงอยู่ที่ “เอคโคโน” เชี่ยวชาญในด้านการวางรูปแบบการฝึกสอน ทว่าในเรื่องของการคุมทีมเองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังต้องพิสูจน์ ซึ่งผลงานของ ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย เริ่มต้นได้น่าตื่นตาตื่นใจเริ่มต้นด้วยการเอาชนะ ออสเตรเลีย 2-1 ก่อนจะคว้าชัยในรอบแบ่งกลุ่ม 5 นัดรวด ก่อนที่ในนัดชิงชนะเลิศจะเสมอ เวียดนาม 0-0 และพลาดท่าช่วงการยิงจุดโทษแพ้ไป 2-4

จบทัวร์นาเม้นต์ก็ยังไม่รู้ใจของ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ว่าถูกใจแค่ไหน แล้วระบบการเล่นของ “เอคโคโน่” มันสอดคล้องกับโมเดลที่เรียกว่า “ไทยแลนด์เวย์” ได้มากน้อยขนาดไหน

“ไทยแลนด์เวย์” เป็นทฤษฎีที่น่าสนใจที่แฟนบอลคงรู้กันแบบคร่าวๆ “โค้ชเฮง” พยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมจับต้องได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการปรับทัพผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยขนานใหญ่อีกครั้ง “เอคโคโน” ถูกลดบทบาทให้ทำงานฝึกสอนเยาวชนในรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ส่วนในรุ่นอายุ 16 ปี ขึ้นมาให้เป็นหน้าที่ของกุนซือชาวไทย “โค้ชเฮง” ได้ให้เหตุผลในการปรับเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับ “ไทยแลนด์เวย์”

“การสอนของ เอคโคโน ที่ผ่านมา หลังจากที่เราวิเคราะห์แล้ว คือความเข้าใจ และการตอบสนองของเด็ก ยังไม่สามารถแสดงออกมาได้ในเกมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่น ยู-16, ยู-19 หรือ ยู-21”

“เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกคือทุกคนก็จะทำตามความคิดของตัวเองมากกว่า เราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นโค้ชไทย เพื่อเป็นการนำเสนอในเรื่องแนวทางการฝึก ที่เป็นระบบของไทยแลนด์ เวย์ จริงๆ เพื่อเป็นโมเดลในการฝึก ผมเชื่อว่าต่อไปนี้ ถ้าโค้ชเข้าใจ และนำไปฝึกซ้อม ระยะยาว เราสามารถที่จะใช้ใครก็ได้”

 

ลดบทบาท “เอคโคโน” หันมาใช้โค้ชไทย

จากการที่ “โค้ชเฮง” ให้เหตุผลถึงการลดบทบาท “เอคโคโน” ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ยังมีหลายฝ่ายแคลงใจว่าจริงๆ แล้วเป็นเพราะต้องการให้ “เอคโคโน” ลงไปปั้นเด็กจริงๆ หรือเป็นเพราะทำงานไม่ถูกใจแล้วยกเลิกสัญญาไม่ได้ เพราะถ้ายกเลิกสัญญาต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาล จึงจำเป็นต้องให้อยู่ครบตามสัญญา

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ตัดสินใจใช้งานโค้ชไทยในรุ่นยู-16 อีกครั้ง คราวนี้เป็น “โค้ชดาท” ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ คุมช้างศึกรุ่นจิ๋ว เคยมีประสบการณ์คลุกคลีกับฟุตบอลนักเรียนทั้งการเป็น เฮดโค้ชของโรงเรียนปทุมคงคา ปี 2009-2011 เคยเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมชาติชุดเยาวชน 2 ชุด และก่อนจะมาทำทีมชาติไทย ยู-16 ก็เป็นโค้ชบางกอกกล๊าส ยู-15

เมื่อปี 2015 ครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทยได้แชมป์อาเซียน ยู-16 อ.พยงค์ ขุนเณร เป็นเฮดโค้ช แม้จะมีประสบการณ์คุมทีมระดับไทยลีกมามากมาย แต่ถ้าไม่มีมือขวาที่รู้ลึกฟุตบอลนักเรียนก็คงลำบาก บอกได้ว่าโชคดีที่มีผู้ช่วยโค้ชอย่าง ธร สรภูมิ โค้ชโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เข้ามาเป็นผู้ช่วย นั่นก็เบาแรง อ.พยงค์ ไปได้เป็นโข เพราะว่านักเตะชุดนั้นแกนหลักมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี “มาสเตอร์ธร” รู้จักสไตล์การเล่น ของลูกศิษย์ตัวเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจที่จะเค้นฟอร์มเก่งของแต่ละคนออกมาจนได้แชมป์

ไม่ใช่แค่ปี 2015 แต่รวมไปถึงทุกๆ ปี จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลนักเรียนมาเป็นทีมงานของทีมชาติไทย เป็นธรรมดาที่โค้ชหรือผู้ช่วยโค้ชจะเรียกนักเตะที่ตัวเองรู้จักสไตล์การเล่นเป็นอย่างดี รู้ว่าจะใช้งานอย่างไรเข้ามาเป็นแกนหลักในทีมชาติ แต่การเรียกนักเตะของตัวเองมาเยอะก็จะถูกครหาว่าเป็นเด็กเส้น เช่นเดียวกับชุดปี 2015 ซึ่งมีนักเตะของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ติดโผไปถึง 9 คน แต่ก็คว้าแชมป์มาได้ คำกล่าวหาก็เงียบหายไปเอง… จะเส้นหรือไม่เส้น ให้ผลงานในนามทีมชาติเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วกัน

ส่วนการทำหน้าที่ของ “โค้ชดาท” ในชิงแชมป์อาเซียน 2018 ก็มีนักเตะจากชุดปี 2017 ตบเท้าเข้ามาหลายคน แม้ว่าจะต้องผิดหวังแพ้จุดโทษในรอบชิง (อีกแล้ว) ต่อทีมชาติอินโดนีเซีย ชาติเจ้าภาพ ถึงจะไม่มีแชมป์ ก็ต้องมาดูว่าสไตล์การทำทีมตอบโจทย์ “ไทยแลนด์เวย์” หรือไม่ ? คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ “โค้ชเฮง”

ระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี มันคงทำให้ “ไทยแลนด์เวย์” เป็นรูปธรรม 100% ไม่ได้ แต่สิ่งที่แฟนบอลไทยอยากรู้คือ แบบไหนที่เรียกว่า ‘ไทยแลนด์เวย์’ แบบไหนมันไม่ใช่ เราจะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน?

ฟุตบอลอาเซียนระดับเยาวชนไม่ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด แล้ว “ไทยแลนด์เวย์” จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อไร ? พัฒนาการของทีมชาติไทย ยู-16 นี่แหละจะเป็นตัวชี้วัดได้ดี เพราะว่ารับช่วงต่อมาจาก “เอคโคโน่” ผู้วางรากฐานให้กับเยาวชนไทย

“ตรู่ เชียร์ไทย”

 

อัพเดท ตลาดซื้อขายนักเตะ พรีเมียร์ลีก 2018/19

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID

ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้