รีเซต
EXCLUSIVE : รู้ลึก รู้จริง รู้ก่อนใคร : ที่สุดข่าววงในฟุตบอลไทยยุคนี้ "แมน โกสินทร์" ... by "บก.เก้น"

EXCLUSIVE : รู้ลึก รู้จริง รู้ก่อนใคร : ที่สุดข่าววงในฟุตบอลไทยยุคนี้ "แมน โกสินทร์" ... by "บก.เก้น"

EXCLUSIVE : รู้ลึก รู้จริง รู้ก่อนใคร : ที่สุดข่าววงในฟุตบอลไทยยุคนี้ "แมน โกสินทร์" ... by "บก.เก้น"
kentnitipong
28 พฤศจิกายน 2561 ( 18:39 )
545

ขึ้นชื่อว่าการเป็นสื่อออนไลน์ การนำเสนอข่าวที่กระชับ ฉับไว และครบถ้วน คือปรัชญาที่เหล่าพี่น้องสื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างท่องขึ้นไว้ในใจอยู่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงลิ่วโดยเฉพาะวงการกีฬา สื่อแต่ละสำนักต่างพยายามทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวในลักษณะที่เรียกว่า “ข่าววงใน” จริงๆ

 

เรื่อง : “บก.เก้น”
ภาพ : พลวัฒน์ จันทร์ดำ

แต่จะมีสักกี่คนที่ถูกจับตามอง และได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งสุดยอดแหล่งข่าวที่คอยป้อนความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะข่าวในแวดวงตลาดซื้อขายนักเตะบ้านเราให้แฟนบอลได้รับทราบจนกลายเป็น Talk of the town จนบางทีเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าชายผู้นี้เขามีวิธีการทำงานอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มักจะถูกต้อง และรู้ก่อนใครอยู่เสมอ…

“แมน” โกสินทร์ อัตตโนรักษ์
ผู้ประกาศข่าวกีฬา ช่อง MONO 29, นักจัดรายการวิทยุ และคอลัมนิสต์ฟุตบอลชื่อดัง

 

บทบาทจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ตลอด 16 ปีบนเส้นทางสื่อมวลชนด้านกีฬา “แมน โกสินทร์” คนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนไล่มาตั้งแต่การทำงานในสายฟุตบอลต่างประเทศมาครบทศวรรษ ทั้งแปลข่าว บรรยายฟุตบอล และกีฬาผ่านทางจอโทรทัศน์ ก่อนจะผันตัวเองมาสัมผัสกับความท้าทายครั้งใหญ่ด้วยการรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการฟุตบอลไทยที่ ฮอตสกอร์… และนั่น คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวได้เปิดโลกลูกหนังบ้านเรา พร้อมกับการสั่งสมเพาะบ่มประสบการณ์จนได้ที่ ก่อนจะรับบทบาทการเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทางช่อง Mono 29 พร้อมกับการจัดรายการวิทยุให้แฟนบอลไทยได้ติดตามงอมแงม พร้อมทั้งการเปิดเพจลูกหนังที่หลายๆ คนต้องกด See First ให้อย่าง “วันแมนโชว์ by แมน โกสินทร์ อัตตโนรักษ์” เรียกได้ว่าสามารถติดตามผลงานของ “แมน โกสินทร์” ได้ครบทุกช่องทางเลยทีเดียว

“ทำงานเพราะความสนใจ และรักมันจริงๆ” คือถ้อยคำยืนยันที่ชายผู้นี้ได้เอ่ยไว้ก่อนที่เราจะเริ่มลงมือคุยกัน…

“การรับหน้าที่ บก.ฟุตบอลไทย ที่ ฮอตสกอร์ เป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้พี่ได้โฟกัสกับบอลไทยแบบจริงจัง บวกกับพื้นฐานความบ้าบอล ความอยากรู้อยากเห็น คือเราไม่ได้ทำงานเพราะรู้สึกว่ามันเป็นงาน แต่เราทำเพราะเราสนใจมันจริงๆ บ่อยครั้งที่พี่มักจะโทรศัพท์ไปหาแหล่งข่าวเพื่อไปพูดคุยโดยที่ไม่ได้เอามาเขียนเป็นข่าว เพราะเราอยากรู้มุมมองจากคนเหล่านี้จริงๆ อย่างสมมุติว่าวันนี้มีทีมชาติไทยลงเตะ พี่ก็จะคิดละว่า วันนี้จะโทรหาใครดี ก็จะโทรไปคุยกับคนในวงการอย่างโค้ชเฮง (วิทยา), พี่โย่ง (วรวุฒิ), พี่ตุ๊ก (ปิยะพงษ์) คือเราไม่ได้ไปแสดงตัวว่าเราอยากจะไปตีสนิทเพื่อหาผลประโยชน์อะไร แต่เราคุยเพราะเราอยากจะรู้มุมมองของบุคคลเหล่านี้จริงๆ เหมือนพี่น้องคุยกัน กำแพงที่เคยมีมันก็ค่อยๆ หายจนกลายเป็นความสนิทสนมบนพื้นฐานของการเคารพกัน”

จากความอยากรู้ บวกกับแพสชั่นในการทำงาน สองสิ่งเหล่านี้ถูกหล่อหลอมจนตกผลึกสู่การเป็นการทำข่าวแบบ Exclusive ในแบบที่ไม่เหมือนใคร ซึ่ง “แมน โกสินทร์” ได้เผยต่อว่า “มันคือความเชื่อใจซึ่งกันและกัน” ระหว่างแหล่งข่าว กับตัวเขาเอง นั่นคือหัวใจสำคัญที่ต้องใช้ “เวลา” ในการสร้าง

“เราไม่ได้คุยกับใครเพื่อเพียงหวังเอาไปเขียนข่าวเพียงอย่างเดียว มันเหมือนกับการแลกเปลี่ยน เป็นการระบายกันซะมากกว่า อย่างกรณีโค้ชโย่ง มีหลายๆ ครั้งที่โค้ชโย่งต้องเผชิญกับการโจมตีต่างๆ นาๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหลายคำพูดมากมายที่โค้ชนั้นไม่ได้พูด แต่ก็โดนสื่ออื่นๆ สร้างขึ้นมาเพื่อเล่นงาน เราเองก็ได้เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ได้นำเสนอถ้อยคำ และความคิดของโค้ชโย่ง พี่ไม่ได้เขียนข่าวเพื่อไปแก้ตัวให้ใครนะ แต่พี่มองว่าเราเขียนไปเพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความบาลานซ์ให้กับวงการฟุตบอลบ้านเราบ้าง แต่สุดท้ายแฟนบอลจะคิดแบบไหน นั่นคือสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละคน”

 

วิธีการเสาะหาข่าววงใน สไตล์ “แมน โกสินทร์”

“พี่เองทำงานในสายฟุตบอลไทยมาสักพักใหญ่ๆ เราก็พอจะมีคอนเนคชั่นกับทั้งผู้บริหาร สต๊าฟโค้ช ตัวนักเตะ รวมถึงเอเย่นต์ โดยเฉพาะเอเย่นต์นี่จะมีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นเลย พี่เองยอมรับว่าได้ข้อมูลจากตรงนี้เยอะ เพราะ เอเย่นต์ แต่ละคนต่างก็อยากจะเสนอว่านักเตะของเค้ากำลังจะไปสโมสรไหน รวมถึงแฟนบอลหลายๆ คนที่ต้องยอมรับว่ามีความใกล้ชิดกับตัวนักเตะมากกว่าพี่ซะอีก แหล่งข่าวเหล่านี้ก็จะมาเล่าสู่กันฟังให้พี่ พอถึงสเต็ปนี้พี่เองก็ต้องกรองด้วยการไปพูดคุยกับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่าอันนี้จริงมั๊ย”

“จุดนี้เป็นรอยต่อที่สำคัญของการหาข่าวแต่ละครั้ง มันเหมือนกับการใช้ใจซื้อใจ เราต้องทำให้เค้าเห็นว่าเราจะไม่ทำให้สโมสร หรือตัวนักเตะเสียหาย คือเอาจริงๆ เลย พี่ๆ ผู้บริหารสโมสรหลายๆ คนจะไม่รับโทรศัพท์ของสื่อเลย เพราะเขาเคยโดนเอาชื่อไปแอบอ้าง พี่เองก็โชคดีที่ได้รับความไว้วางใจจากแหล่งข่าวนั้นๆ ก็เลยมีโอกาสได้นำเสนอข่าวให้กับแฟนบอลได้ติดตามกัน”

“คำว่า “วงใน” บางที คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นการละลาบละล้วงสโมสร แต่ว่าวิธีการจริงๆ แล้วเราไม่ได้ไปทำอะไรแบบนั้น พี่มองว่ามันจะต้องเป็นการนำเสนอในแบบที่ต้องไม่ฟันธง หรือไม่ระบุตรงๆ ว่าเป็นนักเตะคนนั้นคนนี้ พี่พยายามทำให้มันออกมาในรูปแบบของปลายเปิด ความสนุกของการเสพข่าวมันอยู่ตรงนี้แหละ หลายๆ คนก็จะมีฟีลลิ่งไปกับสิ่งที่เรานำเสนอว่า เอ… มันจะเกี่ยวกับทีมเรารึเปล่า นักเตะคนนี้จะย้ายมาทีมเราจริงๆ เหรอ ตรงนี้คือเสน่ห์ของการนำเสนอ คือจริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่านักเตะคนนั้นคือใคร ชื่ออะไร แต่เราก็ต้องเคารพแหล่งข่าวของเราด้วยเพราะว่าตัวนักเตะยังมีสัญญากับทีมเดิมอยู่”

“ไทม์มิ่ง ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เพราะพี่มองว่า ในช่วงที่ฟุตบอลไทยปิดฤดูกาล คงไม่มีข่าวไหนที่น่าสนใจไปกว่าข่าวในตลาดซื้อขายนักเตะอีกแล้ว สิ่งที่เรานำเสนอมันไปตรงกับความสนใจของแฟนบอลพอดี เราก็เลยคิดว่านี่เป็นจุดขายที่น่าจะหยิบมาสร้างสีสันให้กับฟุตบอลบ้านเรา”

“ความสัมพันธ์กับสโมสรที่หลากหลายก็สำคัญไม่แพ้กัน คือนักข่าวบางคนอาจจะสนิทกับสโมสรนี้ทีม – สองทีม แต่อย่างเราคือเราไม่ได้เลือกฝั่ง เราพยายามจะเป็นกลาง และนำเสนอแง่มุมของทุกๆ ทีม สโมสรก็มองว่า แมน ไม่มีขั้วนะ มันกลายเป็นความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ข่าวที่เราเสาะหามามันจึงมีความหลากหลายที่อ่านแล้วไม่เบื่อ”

กระแสต่อว่า กับ “ข่าวที่ไม่จริง” / เต้าข่าวเอง ?

แน่นอนว่าในวันที่คนเราอยู่ภายใต้แสงสปอตไลท์ที่ฉายส่องลงมา นอกเหนือกับคำชม และเสียงยกย่องแล้ว คนๆ นั้นย่อมต้องมีการถูกจับตามองในลักษณะที่คล้ายๆ กับการจับผิด โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสารในวงการฟุตบอลอย่างข่าวการโยกย้ายตัวผู้เล่นในไทยลีกที่มีความผันผวน และพลิกไปมาตลอดเวลา การนำเสนอสิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนการเดินบนเส้นด้ายที่พร้อมจะขาดอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ “แมน โกสินทร์” ยังยืนยันว่า

“สำหรับพี่ มันเคยมีเคสที่ถูกกล่าวหาว่าพี่เต้าข่าวเลยนะ เป็นอะไรที่เจ็บปวดมาก เรื่องนั้นเราสามารถระบุออกมาได้เลยเพราะมันเกิดขึ้นจริง มันคือเรื่องเกี่ยวกับทีมโคราช (นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี) ตอนแรกจะมี ธรรมนูญ สาลี ที่เคยเล่นอยู่ในเกาหลีใต้ ก่อนจะตัดสินใจกลับมาไทยเพราะมีอาการบาดเจ็บ ตอนนั้นผมรู้จักกับพี่ตั้ม (ธรากร เขยนอก) แกเป็นเอเย่นต์ที่นำ เนลสัน โบนีญ่า เข้ามาเล่นในบ้านเรา คือแกก็คือเครื่อข่ายเพื่อนฝูงที่อยู่ต่างประเทศ ก็เลยแนะนำให้ทั้งน้องแทน (ธรรมนูญ สาลี) และพี่ตั้มได้รู้จักกัน”

“พี่ตั้ม ก็บอกกับผมว่าจะพาแทนไปทดสอบฝีเท้าที่ญี่ปุ่น แต่เผอิญว่าช่วงนั้นเป็นช่วงฟุตบอลโลกพอดี ทางญี่ปุ่นก็เงียบหายไปพักหนึ่ง ก่อนจะมีความคืบหน้าตามมาทีหลังว่าเค้าสนใจจะดึงนักเตะไทยไปเพิ่ม คล้ายๆ กับว่าอยากให้แทนมีบัดดี้สักคนสองคน ผมเลยไปพูดคุยกับทางผู้ใหญ่ของโคราชว่ามีเด็กสองคนที่น่าจะลองส่งไปนะ คือ กิตติกร ปังขุนทด และมฆวัน เกิดอนันต์ ที่เคยเล่นในโปรตุเกสกับ บราก้า เปรียบตอนนั้นเหมือนเราเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมระหว่างพี่ตั้ม กับผู้ใหญ่โคราชท่านนี้ให้ทั้งสองไปคุยกันเอง ก็หมดหน้าที่เรา เราก็ทำหน้าที่สื่อต่อคือตัดสินใจเขียนข่าวนี้ขึ้นมาว่าจะมีนักเตะไทยกลุ่มนี้ไปทดสอบฝีเท้าที่ ญี่ปุ่น”

“พอขึ้นข่าวไปปุ๊ป ก็เกิดคำถาม และข้อสงสัยจากแฟนบอลโคราชที่เข้าไปถามในเพจหลักของสโมสรว่า นักเตะสองคนนี้จะไป ญี่ปุ่น จริงเหรอ ทางเพจสโมสรก็ออกมาตอบโต้ว่าไม่รู้เรื่อง และขึ้นโพสต์เลยว่าข่าวของเรานั้นเกิดจากการมโน เป็นการเต้าข่าว”

“พอเจอแบบนี้เราก็เสียความรู้สึกนะ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียจากตรงนี้เลย อันนี้กล้ายืนยัน เราคิดในมุมแค่ว่าเราเป็นแฟนบอลไทยที่อยากเห็นนักเตะไทยออกไปค้าแข้งในต่างประเทศเยอะๆ กลายเป็นว่าความหวังดีของเรากลับถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ”

“แต่ความจริงก็คือความจริงครับ เพราะคนที่อยู่ในวงจรเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างพี่ตั้ม (เอเย่นต์) หรือแม้แต่ครอบครัวของน้องแทน (ธรรมนูญ สาลี) ก็ออกมาโพสต์ยืนยันว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ปัญหาในขั้นสุดท้ายมันไม่ใช่เป็นของเรา มันเกิดจากฝั่ง ญี่ปุ่น ที่ไม่ประสานต่อต่างหาก เราก็สบายใจที่ได้พิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริง เราไม่ได้เต้าข่าว นั่นก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราแกร่งขึ้น ก็ไม่ได้รู้สึกกดดันนะหากจะต้องทำข่าวลักษณะนี้อีก (หัวเราะ)”

“ข่าวลือ” สโมสรในไทยไม่ชอบ แต่สโมสรนอกเพียบ

ต้องยอมรับว่าในโลกของสื่อมวลชนสายฟุตบอลบ้านเรา ก็ต้องเผชิญข้อจำกัด หรือเงื่อนไขหลายๆ อย่างที่อาจจะทำให้แต่ละคนทำงานได้ยากขึ้น เนื่องจากสโมสรส่วนใหญ่ล้วนแต่ไม่ต้องการให้นักเตะของตนตกเป็นข่าวตามหน้าสื่อ ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวจริง หรือข่าวลือก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ที่เรามักจะเห็นข่าวลือในตลาดซื้อขายนักเตะปลิวว่อนเต็มไปหมดจนกลายเป็นสีสันสำคัญที่คอยขับเคลื่อนให้ฟุตบอลต่างประเทศนั้นดูน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา จากประเด็นนี้ “แมน โกสินทร์” ก็มีมุมมองที่น่าสนใจเช่นกัน…

“พี่มองว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างในวัฒนธรรมฟุตบอล จุดสำคัญที่ทีมในไทยอ่อนไหว หรือเซ้นซิทีฟก็คือ ค่าเหนื่อย และสัญญา พี่ยกภาพให้เห็นชัดๆ บอลปิดฤดูกาลในเดือนตุลาคม แต่ตัวนักเตะเองมีสัญญาถึงเดือนพฤศจิกายน ถ้ามีข่าวว่านักเตะคนนี้อาจจะย้ายไปอยู่ทีมอื่น บางสโมสรก็จะไม่จ่ายเงินเดือนก้อนสุดท้ายให้ด้วยซ้ำ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแต่ไม่ค่อยมีใครกล้าหรือหยิบมาพูด บางทีก็รู้สึกว่าวัฒนธรรมฟุตบอลไทยยังมีอะไรที่ต้องปรับอีกเยอะ โดยเฉพาะสัญญาระหว่างนักเตะ กับสโมสรที่ไม่ได้ออกมาในรูปแบบของลูกจ้าง-นายจ้าง แต่มันยังเป็นรูปแบบของบุญคุณกันมากเกินไป”

“พอวกกลับมาที่การทำงานของสื่อฟุตบอลบ้านเรา หลายๆ ข่าวที่เรานำเสนอไปมันจึงมีอิมแพ็ค มีผลกระทบเยอะเลยทีเดียว นี่คงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้สโมสรไม่อยากให้นักเตะของตัวเองไปอยู่ตามหน้าสื่อ โดยที่ลืมมองถึงภาพกว้างไปว่า ข่าวพวกนี้มันคือสีสันที่สามารถสร้างกระแสผลักดันฟุตบอลไทยไปได้เหมือนๆ กัน”

“ก็อปข่าว” ปัญหาโลกแตกที่คนสื่อต้องเผชิญ

“ต้องเริ่มแบบนี้ก่อนว่า ทุกวันนี้ข่าวฟุตบอลไทยมันจะมีอยู่สองแบบคือ ข่าวจากมีเดียสโมสร กับข่าว Exclusive ที่แต่ละคนต้องไปหากันเอง สองอย่างนี้มันต้องควบคู่กันไป แต่ก็อยากให้เทน้ำหนักไปที่การทำข่าว Exclusive มากกว่า มันตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพ และความหลากหลาย ไม่งั้นทุกๆ คนก็คงได้อ่านข่าวเดียวกันเหมือนกัน เพียงแค่เปลี่ยนพาดหัว มีแต่ข่าวภาพลักษณ์ดีๆ สวยๆ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องออกไปในโทนนั้นเสมอไป”

“Copy & Paste มันผิดอยู่แล้ว การแชร์จากต้นฉบับ และให้เครดิตคือเหมาะที่สุด ด้วยความที่เราทำ Content ที่มันแตกต่างออกไป แน่นอนเวลาเราไปเห็นงานของตัวเองโดน Copy มันรู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เอาตรงๆ แค่ให้เครดิตที่มาเราก็แฮปปี้แล้ว เพราะเราเองก็ไม่ได้เป็นคนขี้หวงอะไรขนาดนั้น (หัวเราะ) แต่ที่ไม่โอเคเลยคือเค้าเอาข่าวของเราไปทำเป็น Commercial ไปขายให้ที่ขึ้น เช่นบนไลน์ แถมยังลงท้ายว่าเป็นลิขสิทธิ์ของเขาอีก”

“มันเป็นพื้นฐานของความเป็นคนเลยนะ คือคุณไม่จำเป็นต้องเรียนสื่อเลย คุณก็ต้องรู้ว่า การไปเอาของๆ คนอื่นโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นเรื่องที่ผิด คนเราต้องมีศักดิ์ศรี และผมมองว่าคนที่ก็อปข่าวนั้นไม่มีศักดิ์ศรีเอาซะเลย Copy & Paste ใครก็ทำได้ คุณไม่จำเป็นต้องเรียน ต้องเพาะบ่มประสบการณ์มาเป็นสิบปีหรอก จรรยาบรรณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ”

“งานคุณภาพ” หรือ “Text” กำลังจะตายในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นออนไลน์ ?

ในโลกที่กำลังแปรผันเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ทุกอย่างล้วนแต่เร็ว และโยกเข้าสู่โลกออนไลน์กันหมด จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าสุดท้าย งานสัมภาษณ์ยาวๆ สกู๊ปแน่นๆ หรือบทความดีๆ ที่ผู้อ่านต้องใช้เวลาจดจ่ออยู่กับมันนั้นกำังจะเลือนหายไป ตรงนี้ “แมน โกสินทร์” ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “ขึ้นอยู่กับการนำเสนอ” มากกว่า แถมยังมั่นใจว่า “งานดีๆ ไม่มีวันตาย”

“พี่ว่างานดีๆ ไม่มีวันหายไปจากโลกหรอก เพียงแต่อาจจะโยกย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่ออนไลน์แค่นั้น เพราะตราบใดที่คนเรายังต้องเสพสื่อ ก็ยังมีความต้องการอ่าน Content ที่มีคุณภาพเหมือนเดิม คือชีวิตมันไม่ได้รีบเร่งอะไรขนาดนั้น มันอยู่ที่ไอเดีย อยู่ที่การเล่าเรื่องมากกว่าว่างานเรามีจุดขาย มีคาแรกเตอร์มั๊ยเพื่อดึงดูดความสนใจจากคนเสพให้ได้มากที่สุด”

ผ่านมาถึงปี 2018 ฟุตบอลไทยยังขาดอะไร ?

“นี่คือสิ่งที่คิดมาสักพักแล้ว คือ บ้านเรายังขาดเรื่องเพดานค่าเหนื่อย คือมันสูงเกินไป เฟ้อเกินไป ยิ่งฤดูกาลหน้าที่ทุกๆ ทีมสามารถลงรายชื่อนักเตะอาเซียนได้แบบไม่จำกัด แนวทางแบบนี้มันไปเอื้อต่อทีมที่มีกำลังจ่ายสูง หรือเยอะมากเกินไป นักเตะไทยจะมีงานทำน้อยลง อันนี้คือการคาดการณ์ และพูดในมุมที่เหตุการณ์นี้มันยังไม่เกิดขึ้นนะ เพราะซีซั่นใหม่ยังไม่เริ่ม แต่มันก็เป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะผลกระทบมันมีแล้ว อย่างที่รู้มาคือ นักเตะไทยส่วนใหญ่โดนลดเงินกันหมด อย่าว่าแต่เยอะขึ้นเลย เท่าเดิมยังยาก นักเตะไทยเกรดบี เกรดซี ที่ไม่ใช่ระดับทีมชาติแทบจะยกไปเล่นกันใน T2, T3 กัน เพราะความแตกต่างของแต่ละทีมที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้มาจากนักเตะไทยแล้ว แต่มาจากคุณภาพของนักเตะต่างชาติเต็มๆ ปี 2018 นักเตะไทยอาจจะยังแบกทีมได้ แต่ปีหน้าพี่ว่าไม่ใช่แล้ว”

“พอเราโฟกัสที่แข้งต่างชาติมากขึ้น ทีนี้เพดานค่าเหนื่อยมันก็จะยิ่งคุมไม่ได้ เชื่อมั๊ยว่าค่าเหนื่อยนักเตะทีมชาติฟิลิปปินส์แพงกว่าค่าเหนื่อยนักเตะทีมชาติไทยอีก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมาตรฐานนักเตะไทยไม่ได้เป็นรองเลยแม้แต่น้อย ต่อไปเพดานนี้ก็จะยิ่งคุมลำบาก กลับมาแก้อีกทีก็คงยาก ทีมเล็กๆ ก็จะไม่มีที่ยืนอีก”

“แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือ การพัฒนานักเตะเยาวชน ทุกวันนี้ที่รู้กันเห็นกันอยู่ก็คือ นักเตะเยาวชนส่วนใหญ่ต้องลงไปเล่นใน T3, T4 ซึ่งคุณภาพเทียบกับไทยลีกไม่ได้เลย จำนวนแมตช์ที่ได้ลงเล่นอาจจะสูงก็จริง แต่พวกเขาไม่ได้เจอกับเกมที่มีคุณภาพสูง ลองกวาดตามองนักเตะดาวรุ่งในไทยลีกสิว่ามีสักกี่คนที่ได้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือทีมชุดเล่นเอเชี่ยนเกมส์ที่ผ่านมา นักเตะค่อนทีมแทบไม่ได้ลงเล่นในลีก ความฟิตหายหมด พอไม่ได้ลง การตัดสินใจในช็อตสำคัญๆ หรือแมตช์ที่เต็มไปด้วยความกดดันก็ออกมาไม่ดี อย่างนัดที่เจอกับ บังคลาเทศ สังเกตว่าทำไมเราถึงเจาะไม่เข้าทั้งๆ ที่บุกแทบตาย เจอ กาตาร์ บุกแทบตายกว่าจะจบได้ มันโยงลากยาวไปถึงรุ่นที่ต่ำกว่านี้อย่าง U16, U19 เห็นได้ชัดว่าเกมรับของเราไม่มีสมาธิ นั่นเป็นเพราะดาวรุ่งของเราไม่ได้สัมผัสเกมที่มีคุณภาพมากพอ”

“แต่ที่ต้องชมคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พวกเขากล้าที่จะดันนักเตะดาวรุ่งขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ในจังหวะ และช่วงเวลาที่เหมาะสม บวกกับนักเตะต่างชาติในทีมก็ส่งเสริม ช่วยพัฒนาแข้งเหล่านี้ ลองดู ดิโอโก้ ไม่มีหวงบอลหากต้องจ่ายให้กับดาวรุ่งเหล่านี้ ชลบุรี ก็พัฒนานักเตะดาวรุ่งขึ้นมาเยอะเช่นกัน”

“ระบบลีกของฟุตบอลไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การพัฒนานักเตะดาวรุ่งนั้นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ อย่างกฎการใช้ผู้เล่นในศึก T3 ฤดูกาลหน้าคือ คุณต้องส่งนักเตะที่อายุไม่เกิน 21 ปีลงสนามสามคน นั่นหมายความว่าเด็กอายุ 21 ปีที่เลื่อนชั้นจาก T4 ขึ้นมา T3 จะเล่นไม่ได้แล้ว เพราะอายุเกินแล้ว แล้วเค้าจะทำยังไง ความต่อเนื่องตรงนี้มันยังไม่มี อนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะต้องไปหานักเตะดาวรุ่งใน T4 แทน”

ไทยลีก 2019 ในสายตาของ “แมน โกสินทร์”

“การปรับลดทีมเหลือ 16 ทีมอาจจะดีก็ได้นะ เพราะมันเหมือนกับเป็นการคัดกรองไปในตัวว่าคุณต้องมีคุณภาพจริงๆ ถ้ามองกว้างๆ ในเอเชียจะพอเห็นภาพว่า ไม่ค่อยมีชาติไหนที่วางระบบลีกตัวเองไว้ที่ 18-20 ทีม มีไม่เยอะครับ ก็อาจจะส่งผลดีต่อทีมชาติก็ได้ครับ เพราะปีหน้าทีมชาติไทยก็มีโปรแกรมลงเล่นหลายรายการอยู่ แต่ในมุมผลกระทบต่อสโมสรจากแมตช์ที่ลดลงก็เข้าใจได้นะ เพราะถ้าแมตช์หายไป 4 เกม นั่นหมายถึงค่าเสียโอกาสจากรายได้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรผ่าน ค่าของที่ระลึก แถมยังต้องจ้างนักเตะเป็นอีก อันนี้คือผลกระทบที่เห็นภาพอยู่เหมือนกัน มันก็มีทั้งแง่ดี แง่ร้ายที่เราต้องคอยดูผลลัพธ์หลังผ่านฤดูกาล 2019 ไป”

“ส่วนโควต้าอาเซียนที่เราจะได้เห็นกันแบบเต็มรูปแบบในปี 2019 พี่มองว่าในแง่การตลาด คงเป็นเรื่องยากที่จะมีชาติในอาเซียนมาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก หรือถ้ามีโอกาสก็ต้องเป็นชาติที่มีประชากรของเขาอยู่ในบ้านเราเยอะอย่าง เมียนมา, กัมพูชา หรือลาว แต่ถ้าจะไปหวังให้ เวียดนาม, อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย มาซื้อลิขสิทธิ์บ้านเราอันนี้คิดภาพไม่ออกจริงๆ เพราะยังไงชาติเหล่านี้ไม่มีทางมาอินกับไทยลีกอยู่แล้ว พวกเขามีฐานแฟนบอลในลีกของตัวเองเยอะมากๆ ปริมาณไม่ใช่คำตอบเสมอไป ลองเปรียบเทียบเคสของ ชนาธิป ในเจลีก เราไม่เห็นจำเป็นต้องส่งคนไทยไปเล่นเป็นสิบ – ยี่สิบคนเลยในเมื่อคนๆ เดียวมีคุณภาพ คนไทยก็ดู ลอง ชนาธิป ไม่ได้เล่นสิ  ผมว่าคนไทยก็ไม่ดูหรอก สิ่งสำคัญก็คือไปแล้วได้เล่นจริงๆ และสามารถที่จะสร้างมูลค่าได้ คล้ายๆ กับ อ่อง ธู คนเดียวก็ทำตลาดกับชาวเมียนมาได้”

“แมน โกสินทร์” กับฉายา Mr.Exclusive

“พี่ว่าคงไม่มีนักข่าวคนไหนจะโทรไปพูดคุยกับแหล่งข่าวเป็นชั่วโมง สองชั่วโมงนะ (หัวเราะ) คืออย่างที่บอกแหละว่าพี่เริ่มจากความอยากที่จะรู้ สนใจจริงๆ เราคงไม่สามารถจะไปเคลมตัวเองได้ว่าเราคือ Mr.Exclusive ตัวจริง คำๆ นี้ มันเกิดขึ้นจากคนที่เสพงานเรา ติดตามการนำเสนอของเรามากกว่า แต่ถ้าถามพี่จริงๆ พี่ว่าตัวเองยังไม่ขนาดนั้นหรอกครับ ยังมีพี่ๆ น้องๆ อีกหลายคนที่ Exclusive กว่าเรามากๆ คือที่ทำไปทุกวันนี้ได้ได้สนใจเลยนะว่าจะต้องเป็น Mr.Exclusive อย่างที่หลายๆ คนเรียกรึเปล่า เราแค่ขอทำงานให้ตัวเราสนุก ให้คนอ่านสนุกก่อน แค่นั้นพี่ก็มีความสุขแล้ว”

“พี่เริ่มต้นจากการเขียนคอลัมน์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตัวเองนี่แหละ ตอนนั้นยังไม่ได้มีใคร ไม่มีเว็บไหนมาจ้างเลย พอเราเริ่มเขียน ก็เริ่มมีฟีดแบคจากคนอ่านพูดถึงว่า งานเขียนของเรามันแตกต่าง มันลึกกว่าที่เขาเคยอ่านจากที่อื่น เหมือนกันได้นั่งพูดคุยกับโค้ชเอง บางทีก็เป็นเรื่องของคำถามที่เรากล้าถาม ซึ่งมันก็ไปตรงใจกับผู้อ่านอีกนั่นแหละ อย่างเรื่องของคุณพ่อชนาธิป คุณพ่อธีรศิลป์ หรือเรื่อง ธีราทร จะไปเจลีก แต่ที่ทำให้ทุกคนยอมรับเราก็คงจะเป็นคอลัมน์ “ถามตอบบอลไทย” ตรงนั้นจะเป็นจุดที่ทำให้คนมาติดตามงานฟุตบอลไทยเราเยอะเลย กลายเป็นคาแรกเตอร์ติดตัวเราไป”

และทั้งหมดนี้คือบทสรุปที่สะท้อนถึงวิธีการทำงาน และมุมมองต่อวงการลูกหนังบ้านเราของชายที่ได้รับสมญานามเป็น Mr.Exclusive แห่งไทยลีกอย่าง “แมน โกสินทร์” ตลอดการพูดคุยกันร่วมชั่วโมง เชื่อได้ว่าหลายๆ คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แฟนบอลไทย หรือคนที่คิดอยากจะก้าวขาเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนฟุตบอลไทยว่า บางครั้ง การทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้กับสิ่งที่เรารักอย่าง “ฟุตบอล” ก็อาจจะออกดอกออกผล และทำให้เป็นที่ยอมรับในวงการด้วยฝีไม้ลายมือ และคุณภาพของงานอย่างแท้จริง…

“บก.เก้น”

ดูบอลสดฟรี ไม่มีสะดุด ลูกค้าทรูมูฟ เอช รับเน็ต 2GB ดูทรูไอดีฟรี เปิดทรูไอดีทุกวันรับฟรีทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ – 31 ม.ค.61  คลิกเลย

ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ กดเลย

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID

ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี