TRUE TALK : 4-2-3-1? 4-3-3? รถบัส? แผน ทีมชาติไทย เมื่อ 4 แข้งลีกนอกคัมแบ็ค ... by "จอน"
ยุติเส้นทางลุ้นแชมป์สมัยที่ 6 และแชมป์สมัยที่ 3 ติดต่อกันไปเรียบร้อยหนึ่งสัปดาห์เต็มแล้ว สำหรับทีมชาติไทย ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 หลังตกรอบรองชนะเลิศ โดยพ่ายให้กับ มาเลเซีย ในรูปแบบอะเวย์โกล หลังเสมอกันด้วยสกอร์ 2-2
โอเค เราตกรอบไปแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอาเซียนคัพ 2018 สำหรับทีมชาติไทย ได้จบลงหมดแล้ว จะให้หันหลังกลับไปแก้ไขอะไรก็ไม่ได้แล้ว ก็คงต้องมองกันไปข้างหน้าต่อ
รายการถัดไปของทีมชาติไทย ก็คือ ศึกใหญ่ที่สุดของชาวเอเชีย ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ นั่นคือ ศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย หรือ อาเชียนคัพ 2019 ที่มีการจัดแข่งขัน 4 ปีครั้ง เช่นเดียวกับ ฟุตบอลโลก (เวิลด์คัพ) และ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร) โดยทีมชาติไทย จะได้ปรากฏกายครั้งแรกในรอบ 12 ปี เลยทีเดียว
ทีมชาติไทย ภายใต้การคุมทีมของ มิโลวาน ราเยวัช จะได้ทรัพยากรตัวผู้เล่นที่ครบครันที่สุด เพราะนักเตะตัวหลักจากลีกต่างประเทศทั้ง 4 ราย จะกลับมาช่วยทีม รวมถึงในรายอื่นๆ ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหนักแต่อย่างใด
“ได้โอกาสเลือกใช้งานผู้เล่นที่ดีที่สุด
11 ตัวจริงของทีมชาติไทย ที่ดีที่สุด
เหมาะสมที่สุด
และคาดหวังว่า จะไปได้ไกลที่สุดในศึกเอเชียนคัพครั้งนี้”
แล้วสูตรไหน แผนไหน ระบบไหนหละที่จะเหมาะสมกับทีมชาติไทย
ในยุคที่ถูกล้อว่าเป็น “รถบัสแห่งอาเซียน” หรือ ยุคแห่ง “มิโลวาน ราเยบัส”
Formation 4-2-3-1 และ 4-3-3
เริ่มมีกระแสอยากให้ทีมชาติไทย ใช้งานแนวรับระบบกองหลัง 3 คน ด้วยเหตุผลสองอย่าง อย่างแรก คือ เป็นระบบเดียวกับที่สโมสร “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ใช้งาน และสามารถประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ไทยลีก ซีซั่น 2018 รวมถึงการเล่นกองหลังสามคน แบ็คอีกสองข้าง หมายถึง การมีแนวรับถึง 5 คนในเกมเดียว เพื่อหยุดเกมรุกคู่ต่อสู้ ซึ่งน่าจะทำให้มีความแข็งแกร่งในเกมรับมากขึ้น โดยเฉพาะกับการเล่นกับชาติระดับเอเชีย
แต่เอาจริงๆ บอกเลยว่า “ลืมไปได้เลย สำหรับการเล่นระบบหลังสามคน” เพราะอะไร อย่างแรก คือ มิโลวาน ราเยวัช เป็นโค้ชที่ใช้งานกองหลังสี่คนมาโดยตลอดอยู่แล้ว ฉะนั้น หากจะให้เขาเปลี่ยนแปลงระบบ และแบบแผนการเล่นที่แทบจะเป็นปรัชญาส่วนตัว ในวัยเกิน 60 ปี นั้น มันเป็นไปได้ยากมาก
อีกอย่างคือ ระบบกองหลัง 4 คน ทั้ง 4-2-3-1 และ 4-3-3 ที่ ราเยวัช ใช้งานกับทีมชาติไทยเป็นประจำนั้น ที่ผ่านมา เขายังไม่ได้ใช้กองหลังสี่คน ผ่านทัวร์นาเมนต์แบบออฟฟิเชี่ยลเลยสักรายการ แน่นอน เอเชี่ยนคัพ คือ คำตอบของทุกอย่างที่ ราเยวัช พยายาม และตั้งใจเซตระบบมา เพื่อทัวร์นาเมนต์นี้โดยเฉพาะ (ทัวร์นาเมนต์ คิงส์คัพ และ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ มีค่าเท่ากับเกมอุ่นเครื่องเท่านั้น)
เมื่อได้ระบบแล้ว…
แล้วแผนล่ะ? ไทยแลนด์เวย์? บัสเวย์? สวนกลับฉับพลันดั่งใจนึก?
ระบบ 4-2-3-1 กับ 4-3-3 จะมีความคล้ายคลึงกัน ในจังหวะรับ อาจจะมองภาพเป็น 4-2-3-1 ส่วนในจังหวะรุกนั้น ก็จะเหมือนมีกองหน้าสามคน ช่วยเล่นกันเพื่อสร้างสรรค์โอกาสการทำประตู
“บัสเวย์” ตั้งรับแล้วสวนกลับแบบฉับพลัน ใช้เพียงไม่กี่จังหวะในการตอบโต้ นี่คือ แบบแผนของ มิโลวาน ราเยวัช ใช้งานกับทีมชาติไทย ในศึกชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด ที่ไปไม่ถึงดวงดาวที่หก
ซึ่งผมเชื่อว่า ราเยวัช จะไม่เปลี่ยนวิธีการเล่นแน่นอน นั่นคือ การตั้งรับให้แน่นในโซนของตัวเอง และสวนกลับเพื่อทำประตู เพียงแต่ต้องลงดีเทลรายละเอียดหน่อยในการทำประตู
โอเคว่า ลูกตั้งเตะ การได้ธีราทร บุญมาทัน กลับมา จะทำให้เกิดความหลากหลายในลูกเซตพีชมากขึ้น ทั้งลูกฟรีคิก ลูกเตะมุม และลูกเตะกินเปล่า ตรงนี้ตัดไป ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมการเข้าทำ และจังหวะของเกมในกรอบเขตโทษ
ส่วนที่จะต้องปรับเลย คือ “ความคม” ของการโต้กลับ เพราะแนวรับของทีมอย่าง ยูเออี, บาห์เรน และ อินเดีย จะไม่ยวบยาบเท่ากับ ติมอร์-เลสเต้, อินโดนีเซีย หรือ สิงคโปร์ ที่เราเพิ่งชนะมาอย่างแน่นอน
ความหลากหลายของรูปแบบการเข้าทำก็เป็นอีกโจทย์นึงที่ต้องคิด เพราะในศึกซูซูกิ คัพ จะเห็นได้ว่า ทีเด็ดของการสวนกลับของทีมชาติไทย คือ การวางบอลยาว และการสวิตช์บอลอย่างชาญฉลาดให้เกิดความได้เปรียบจาก สรรวัชญ์ เดชมิตร แต่พอ “เจ้าแคมป์” ถูกประกบติด หรือโดนเพรสซิ่งเร็ว ที่ทำให้จ่ายบอลลำบาก ก็ทำให้ “หอบัญชาการ” ของทีมชาติไทย ไม่ได้ทำงานในรูปแบบที่เคยทำได้
ทว่าในศึกเอเชียนคัพ เราไม่ได้มีแค่ตัววางบอลยาวเท่านั้น แต่ยังมีนักเตะพรสวรรค์สูง เลี้ยงกินตัวได้ และไปกับบอลได้ดีอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ซึ่ง ราเยวัช ก็ต้องมีหน้าที่รีดศักยภาพของเจ้าของตำแหน่งนักเตะทรงคุณค่าประจำสโมสรคอนซาโดเล่ ซัปโปโร ในซีซั่นนี้ออกมาให้มากที่สุด
และความหลากหลายของการเข้าทำนั้น ก็เป็นหนึ่งในเวย์ของ “ไทยแลนด์เวย์” ซะด้วย
การเพิ่มเติมความหลากหลาย เพิ่มเติมความคม ในเกมรุกแล้ว ก็ต้องกลับมามองจุดด้อยของหลังบ้าน จากศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ที่ผ่านมา ทีมชาติไทย ใช้กองกลางสามคนในรูปแบบการยืนแบบ “สมูธ” หนึ่งคนเป็นเกมรับ คอยตัดบอล หนึ่งคนเป็นตัวรุกสลับรับ วิ่งขึ้นลงไม่มีหมด หรือที่เรียกว่า “มิดฟิลด์บ็อกซ์ทูบ็อกซ์” และอีกคนคือ “ครีเอทีฟ มิดฟิลด์” ก็คือ ตัวสร้างสรรค์เกมรุก
ซึ่งในอาเซียนคัพนั้น ทีมชาติไทย มักจะเสียประตูจากช่องโหว่ในแดนกลางที่ปล่อยให้มีพื้นที่ระหว่างกองกลางกับกองหลังมากเกินไป จนโดนโจมตี ทำให้ เอเชี่ยนคัพ ก็เป็นโจทย์นึงของราเยวัชเลยว่า มิดฟิลด์แดนกลางนั้น จะกลับกลายเป็นการยืนแบบสามเหลี่ยมคว่ำไหม หมายถึงมีกองกลางตัวรับ บวกกับ กึ่งรับ ยืนคู่กันไปเลย เช่น การให้ “เจ้านิว” ถอยต่ำลงมาเล็กน้อย หรือ เรียกใช้งานนักเตะที่เล่นเกมรับได้ดีในแดนกลางเข้ามาอย่างเช่น รัตนากร ใหม่คามิ เป็นต้น
สรุปก็คือ ผมยังคิดว่า แนวทางการเล่นในระบบ 4-2-3-1 ของทีมชาติไทยนั้น ยังควรจะใช้งานฟอร์เมชั่นนี้ต่อไป รวมถึงใช้วิธีตั้งรับแล้วสวนกลับด้วย เพียงแต่ต้องเพิ่มความหลากหลายในการเข้าทำ ปีกกึ่งกองหน้าทั้งสองข้างต้องทำงานได้ดีกว่านี้ หมายถึงต้องมีส่วนร่วมกับประตูที่เกิดขึ้น หรือสร้างสรรค์โอกาสการทำประตูได้ด้วยตัวเอง
ส่วนเกมรับ กองกลางจะต้องคอยสกรีนบอลให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะแก้ไขด้วยการเพิ่มตัวรับในแดนกลางอีก 1 ราย เพื่อลดโอกาสที่บอลจะไปถึงเขตอันตรายที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียประตู และลดภาระของกองหลังมากขึ้น
แต่สุดท้ายนี้ นี่เป็นเพียงบทวิเคราะห์ของคนที่ดูฟุตบอล และเชียร์ทีมชาติไทยคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยังคง Respect ทั้งนักเตะ รวมถึงสต๊าฟฟ์โค้ชของทีมชาติไทย ทุกคนอยู่เสมอ และหวังว่า พวกเขาจะสามารถสร้างความสุขได้จากผลการแข่งขันที่ดีในศึกเอเชี่ยนคัพ ให้เป็นของขวัญต้อนรับปี 2019 ที่ยอดเยี่ยม ชุ่มชื่นหัวใจอย่างที่สุดให้กับแฟนบอลชาวไทย อย่างผม อย่างคุณ อย่างท่านได้
ลุยครับ ช้างศึก ของพวกเรา ^^
“จอน”
ดูบอลสดฟรี ไม่มีสะดุด ลูกค้าทรูมูฟ เอช รับเน็ต 2GB ดูทรูไอดีฟรี เปิดทรูไอดีทุกวันรับฟรีทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ – 30 พ.ย.61 คลิกเลย
ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID
ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!
ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports