รีเซต
พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
kajohnjohnyos
17 ตุลาคม 2559 ( 12:35 )
6.1K

 

“…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปรารถนา…”

พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504

จากพระราชดำรัสแสดงถึงพระราชปณิธานในการส่งเสริมด้านกีฬาว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท

หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้นยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ทรงเล่นสกีน้ำแข็งบ่อยครั้ง ต่อมายังสนพระราชหฤทัยในกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ ทรงโปรดฮอกกี้น้ำแข็ง และสกีหิมะ ทั้งทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคารพกฎกติกาของการกีฬาที่ทรงเล่น และมักจะทรงเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระราชหฤทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้นต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อมก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้

 

“เรือใบ” เป็นทั้งกีฬาทรงโปรดและยังได้แสดงพระอัจฉริยภาพด้วยการต่อเรือจากฝีพระหัตถ์และทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี 3 ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class), เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เป็นเรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ ชื่อ “เรือราชปะแตน” และลำต่อมาชื่อ “เรือเอจี” โดยทรงต่อตามแบบสากล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแข่งขันแล่นใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ เช่น ในปี 2508 ทรงใช้เรือราชปะแตนแข่งขันกับ ดยุค ออฟ เอดินเบอระ (The Duke of Edinburgh) พระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ โดยใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา – เกาะล้าน ใน 2508 นี้

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต่อเรือใบ ประเภทโอเค ตามแบบสากลลำแรกที่ทรงต่อชื่อ “เรือนวฤกษ์” หลังจากนั้นทรงต่อเรือใบ ประเภทนี้อีกหลายลำ พระราชทานชื่อเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (เป็นชื่อดาวที่สุกใสดวงหนึ่ง) เมื่อ 19 เมษายน 2509 ทรงใช้เรือลำนี้เป็นพระราชพาหนะเสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล หัวหินไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ทรงใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง นับว่าทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างสูง ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลกต้องจารึกไว้เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงคว้าชัยการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้ทรงใช้เรือใบประเภทโอเค ซึ่งทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองและทรงเป็นผู้ชนะเลิศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ต่อมารัฐบาลได้กำหนดวันนี้ของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ


พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เอง เรือใบประเภทม็อธที่ทรงออกแบบและทรงต่อด้วยพระองค์เองในระหว่างปีพุทธศักราช 2509 – 2510 มีอยู่ 3 แบบ ซึ่งได้พระราชทานชื่อดังนี้ “เรือใบแบบมด” ได้มีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

 

– เรือใบมด มีขนาดตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 7 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต เป็นเรือใบขนาดเล็กเหมาะกับคนไทย น้ำหนักเบาสะดวกในการเคลื่อนย้ายเก็บ รักษาง่าย มีคุณสมบัติว่องไว แล่นได้เร็ว และมีราคาถูก ข้อดีต่าง ๆ นี้ทำให้เรือใบมดที่ทรงออกแบบได้มาตรฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดลิขสิทธิ์เป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ

 

– เรือใบซูปเปอร์มด เป็นเรือใบมดที่ทรงปรับปรุงแบบใหม่ ทรงออกแบบตัวเรือยาว 11 ฟุต เท่าเรือมดแต่ความกว้างเพิ่มขึ้น คือกว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว ท้องแบน น้ำหนักประมาณ 34 กิโลกรัม เนื้อที่ใบโตเท่าเดิม การทรงตัวดี ความเร็วมีมากขึ้น ตัวเรือคงทนแข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดี และมีความปลอดภัยสูง เรือใบซูปเปอร์มดนี้ใช้แข่งขันกีฬานานาชาติเป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2510 และใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติทุก ๆ ครั้งที่แข่งในประเทศไทย ครั้งหลังสุดใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ณ ประเทศไทย พุทธศักราช 2528 – เรือใบไมโครมด เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบโดยให้มีขนาดเล็กกว่าเรือมด คือ ตัวเรือยาว 7 ฟุต 9 นิ้ว กว้าง 3 ฟุต 4 นิ้ว เป็นเรือขนาดเล็กมาก เหมาะสำหรับเด็กและคนร่างเล็ก วิธีการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีวิธีการสร้างที่ง่าย ประหยัดและสะดวก ใช้เครื่องมือช่างไม้ธรรมดาๆ ก็สามารถทำได้ วัสดุที่ใช้ล้วนหาได้ในประเทศทั้งสิ้น ขั้นตอนการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระองค์ท่าน มีขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ

 

1. เปลือกเรือทำด้วยไม้ยมหอมหนา 4 มิลลิเมตร จัดทำข้างขวา 1 แผ่น ข้างซ้าย 1 แผ่น รูปแบบและขนาดกำหนดไว้ในแบบแปลนก็จะได้เปลือกเรือตามต้องการ ส่วนนี้ทรงเรียกว่า “ปลาแห้ง”

 

2. ประกอบเปลือกเรือหรือปลาแห้งเข้ากับแผ่นปิดท้ายเรือ ขอบด้านล่างของปลาแห้งผูกติดกันด้วยลวด ตามรูที่เจาะไว้ ปลาแห้งก็จะห่อตัวเป็นรูปตัวเรือ แล้วทากาวหยอดทิ้งไว้กาวจะแห้งและติดแน่นแล้ว ตัดลวดที่ผูกไว้ชั่วคราวออก เสริมผ้าใยแก้วทับแนวให้แข็งขึ้น ไม่ต้องสร้างกงเรือ วิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงคิดค้นเพื่อให้เรือแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา

 

3. ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ไม้กระดูกงู ทวนหัวเรือ อะเส ฝักมะขาม เต้ารองรับ เสา ฝากั้นภายในขอบที่นั่ง แล้วทาสีภายในให้ทั่ว ทา 2 ถึง 3 เที่ยวเพื่อรักษาเนื้อไม้ไม่ให้น้ำดูดซึมได้ ซึ่งจะทำให้เรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

 

4. ปิดแผ่นดาดฟ้าเรือ แล้วขัดแต่งผิวเรือภายนอกให้เรียบ แล้วจึงพ่นสีเรือตามต้องการ เมื่อสีแห้งดีแล้ว จึงเริ่มประกอบอุปกรณ์แล่นใบ เช่น พุกผูกเชือก รอกต่าง ๆ เชือก เสา เพลา ใบ และชุดหางเสือเรือ เป็นอันเสร็จพิธี

 

เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 คือ “เรือโม้ก” (Moke) เป็นเรือที่ทรงทดลองสร้างโดยทรงออกแบบให้มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเค และเรือซุปเปอร์มด คือทรงออกแบบให้มีขนาดของลำเรือใหญ่กว่าเรือซุปเปอร์มด โดยให้มีขนาดใกล้เคียงเรือโอเค และใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอเค หลังจากทรงออกแบบเรือโม้กแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงออกแบบเรือใบอีก เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก


นอกจากนั้นยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, 8 และ 13 ซึ่งเป็นกีฬาระดับนานาชาติไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่นของไทยอีก 11 สมาคม โดยเฉพาะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือสร้างเรือใบมดและเรือซุปเปอร์มดตามแบบของพระองค์จำหน่ายแก่มวลสมาชิกในราคาถูก และทรงตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ชื่อ “สโมสรหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา” ในสวนจิตรลดา และมีสโมสรอื่น ๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์ ได้แก่ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย, สโมสรเรือใบราชวรุณ ที่เมืองพัทยา เป็นต้นปัจจุบัน แม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงเรือใบไม่มากเท่าแต่ก่อนอันเนื่องจากมีพระราชกรณียกิจมาก แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ก็ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้วว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดหรือประมุขชาติใดในโลกที่ทรงเป็นนักกีฬาที่ยอด เยี่ยมและให้ความสำคัญต่อการกีฬา ตลอดจนสนับสนุนการกีฬาเทียบเท่าพระองค์ท่านได้เลย

ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์และได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฏีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกคือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อ 14 ธันวาคม 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ขอพระราชทานพระวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534

 

นอกจากกีฬาแข่งขันแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังสนพระราชหฤทัยในการออกกำลังพระวรกายเพื่อสุขภาพอีกด้วย เช่น วิ่งเหยาะและเดินเร็ว การออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ คือมีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังการทรงออกกำลังพระวรกาย รวมทั้งทรงกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นแก่พระวรกายก่อนเริ่ม และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังพระวรกาย โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรเป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดีและทำให้พระ วรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ได้เสมอ

 

ภาพประกอบจาก https://goo.gl/b18uLs

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www3.navy.mi.th/index.php/royal/detail/content_id/53
http://king.ds.ac.th/index.php/s-t-u-genuis/119-s-t-u-sport
http://school.obec.go.th/bkschool/act49/070949webkings/page1.1.html
http://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=3&id=113
http://www.ku.ac.th/e-magazine/dec52/know/know4.htm
http://www.trueplookpanya.com/new/campaign/king_genius

 


ดูบอลสด โหลดง๊ายง่าย!!

ดาวน์โหลดฟรี แอพ True ID ดูบอลดีๆ 6 ลีก 5 ถ้วย ทั้งพรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือไทยลีก มันส์ได้ครบกับ แพ็คเกจ True Super Soccer

สมัครผ่านแอพ True ID เพียงเดือนละ 29 บาท รับสิทธิดูผ่านคอมพิวเตอร์ฟรี ผ่านเน็ตทรู !! ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน 60

แอพ True ID ดาวน์โหลดฟรี ที่


ยอดนิยมในตอนนี้