รีเซต
TRUE TALK : เจาะ 5 เหตุผล ทีมชาติไทย ชุดเยาวชน ไปไม่ถึงดวงดาว เกมระดับเอเชีย ... by "จอน"

TRUE TALK : เจาะ 5 เหตุผล ทีมชาติไทย ชุดเยาวชน ไปไม่ถึงดวงดาว เกมระดับเอเชีย ... by "จอน"

TRUE TALK : เจาะ 5 เหตุผล ทีมชาติไทย ชุดเยาวชน ไปไม่ถึงดวงดาว เกมระดับเอเชีย ... by "จอน"
armcasanova
7 พฤศจิกายน 2561 ( 15:48 )
254

หากไม่นับการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศจีน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาแล้ว อีก 3 ทัวร์นาเมนต์ระดับเอเชียในระดับเยาวชนนั้น ผมได้มีโอกาสไปสัมผัส และติดตามน้องๆ ถึงขอบสนามทั้งหมด ทั้ง ศึก ยู-16 ชิงแชมป์เอเชีย 2018 ที่ประเทศมาเลเซีย, ศึกฟุตบอล ยู-19 ชิงแชมป์เอเชีย 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และ ศึกฟุตบอลในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็เช่นเดียวกัน

สำหรับปีปฏิทิน 2018 ของการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชน มีการชิงแชมป์เอเชีย ถึง 3 ช่วงอายุ นั่นคือ 16, 19 และ 23 ปี รวมถึงเป็นปีที่มีการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ด้วย ซึ่งทีมชาติไทย ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้ายครบทุกรุ่น แต่ผลการแข่งขันกลับไม่ประสบความสำเร็จ ไปไม่ถึงดวงดาวที่ฝันเอาไว้เลยสักชุดเดียว

ตกรอบแรก แบบแพ้รวดทุกเกม นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศจีน ภายใต้การคุมทีมของ โซรัน ยานโควิช

ตกรอบแรก แบบไม่น่าตกเลยจริงๆ หากไม่พลาดในเกมที่สองที่เสมอกับ บังคลาเทศ 1-1 นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในการแข่งขัน เอเชี่ยนเกมส์ 2018 ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชโย่ง” วรวุฒิ ศรีมะฆะ

ตกรอบแรก แบบเสียสมาธิในช่วง 5 นาทีสุดท้าย ไม่เช่นนั้น ก็จะผ่านเข้ารอบไปได้ลุยตั๋วฟุตบอลโลก ยู-17 ที่ประเทศเปรู ปีหน้า นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 16 ปี ที่ประเทศมาเลเซีย ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชดาท” ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ

เกือบคว้าตั๋วฟุตบอลโลก ยู-20 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่ก็ทำมันหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายเท่านั้น นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชหระ” อิสระ ศรีทะโร

แน่นอนว่า อนาคตของทีมชาติไทย ยังไงก็ยังคงมีโอกาสไปถึงดวงดาว และต้องลงเล่นเกมฟุตบอลระดับเยาวชน ในภูมิภาคเอเชียไปอีกตลอดกาล ซึ่งเราก็ต้องมาดูในเรื่องของจุดบกพร่องที่เกิดขึ้น และต้องพยายามแก้ไขมันให้ได้ ก่อนศึกชิงแชมป์เอเชีย ทั้งรอบคัดเลือก และรอบสุดท้าย ในครั้งต่อไป ของทุกรุ่นเยาวชน

ซึ่งนี่คือ 5 เหตุผลที่ทำให้ทีมชาติไทย ยังไปไม่ถึงดวงดาวสักทีในระดับเอเชีย ที่ผมมองเห็นได้จากการชมเกมข้างสนาม….

 

สมาธิ

“สมาธิ” เป็นจุดอ่อนอันดับหนึ่งของทีมชาติไทย มาในทุกยุคทุกสมัย แม้จะทำประตูขึ้นนำได้ แต่ก็มักจะมาเสียสมาธิโดนตีเสมอในช่วงท้ายเกม หรือ มาโดนยิงขึ้นนำในช่วงท้ายก็มีให้เห็นเหมือนกัน

5 นาทีสุดท้ายของทีมชุดอายุไม่เกิน 16 ปี ในรอบแรก และ 5 นาทีสุดท้าย ของทีมชุดอายุไม่เกิน 19 ปี ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ค่อนข้างเห็นได้ชัดเลยว่า ทีมชาติไทย ในยามที่มีผลการแข่งขันที่ต้องการแล้ว ยังมีจังหวะสมาธิหลุดให้สถานการณ์พลิกกลับ จากเสมอเป็นแพ้ จากแพ้เป็นเสมอ ได้แม้เวลาจะเหลือเพียงเล็กน้อยก็ตาม

การฝึกให้ทีมทั้งทีมโฟกัสกับเกมให้ครบทุกวินาทีทั้ง 90 นาที เป็นเรื่องยากมากๆ
แต่หากทำได้ ผมว่า ทีมชาติไทย จะได้รับผลการแข่งขันที่ต้องการอีกหลายเกมเลยทีเดียว เพราะฝีเท้ามีอยู่แล้ว

 

เกมรับ

หากไม่นับทีมชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ต้องยอมรับว่า มีปัญหาเรื่องเกมรุกมากกว่าเกมรับนั้น ต้องยอมรับว่า ทีมชุดอายุไม่เกิน 16 ปี และ 19 ปี นั้น มีเกมรุกที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว มีการเข้าทำที่เป็นระบบ บอลเท้าสู่เท้าเล่นได้ดีขึ้น และเซตเกมรุกจากแนวรับได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ปัญหา คือ “เกมรับ” ที่ทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว

ทีมชาติไทย ชุด ยู-16 ยิงได้ 7 ประตูจาก 3 เกม และเสียไป 9 ประตู ซึ่งประตูสุดท้ายที่เสีย ทำให้เราไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ตามหวัง จนน้ำตาของน้องๆ ท่วมสนาม ยูเอ็ม สเตเดี้ยม ที่ประเทศมาเลเซียเลยทีเดียว

ส่วน ทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 19 ปีนั้น ยิงได้ 9 ประตูจาก 4 เกม และเสียไปถึง 14 ลูก เฉลี่ยแล้ว เสียถึงนัดละ 3 ประตูกว่าๆ เลยทีเดียว ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเยอะมาก ไล่ตั้งแต่เสียให้กับ อิรัก 3 ประตู, ญี่ปุ่น 3 ประตู, เกาหลีเหนือ 1 ประตู และ กาตาร์ 7 ประตู

หากรวมกันสองรุ่น ทั้งหมด 7 เกม ทีมชาติไทย ยิงได้ทุกนัด ทั้งที่เจอญี่ปุ่นถึงสองเกมด้วยซ้ำ และยิงได้ไปทั้งหมด 16 ประตู เฉลี่ยมากถึง 2.29 ประตู / นัด

แต่ในส่วนของเกมรับ เมื่อรวมสองรุ่น ทีมชาติไทยเสียไปทั้งหมด 23 ประตู จาก 7 นัด ซึ่งเสียประตูทุกเกม และมีค่าเฉลี่ยในการเสียถึง 3.29 ประตู / นัด

ค่าเฉลี่ยของการเสียประตูมากกว่าค่าเฉลี่ยของการได้ประตูถึง 1 ลูกเต็มๆ….

 

การเตรียมทีม

อันที่จริง ภาพรวมของการเตรียมทีมของทีมชาติไทย ในยุคปัจจุบัน นับว่า มีการเตรียมทีมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการมีเกมอุ่นเครื่องนอกและในประเทศ หรือทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องภายในประเทศให้นักเตะ และโค้ชได้เตรียมทีม

ยู-23 มีทัวร์นาเมนต์ เอ็ม-150 คัพ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปลายปีที่แล้ว
ยู-16 มีการเก็บตัวไกลที่ประเทศสเปน และมีทัวร์นาเมนต์ ยู-17 ที่ประเทศจีนอีกด้วย
ยู-19 มีทัวร์นาเมนต์ GSB Bangkok Cup 2018 ที่ประเทศไทย

ชุดเอเชี่ยนเกมส์ มีทัวร์นาเมนต์สี่เส้าที่ประเทศเมียนมา ก่อนหน้าการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น รวมถึงมีเกมอุ่นเครื่องกับ อินโดนีเซีย เจ้าภาพของเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ถึง 2 นัด ที่ประเทศแข่งขันจริง

…. แต่ทั้งหมดทั้งมวล กลับมีรายละเอียดภายในการแข่งขันอีกหลายอย่างที่ทำให้การเตรียมทีมนั้น ไม่ได้เป็นการเตรียมทีมที่ดีที่สุด หรือพร้อมที่สุด เนื่องจากปัญหาหลายอย่าง เช่น นักเตะบาดเจ็บ, นักเตะมีเกมในลีกกับสโมสร, นักเตะมีเกมในระดับเยาวชนกับโรงเรียน และสโมสร เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ มันจะกลายเป็นปัญหาอีกอย่างแน่นอน ในอนาคตข้างหน้า และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นด้วย

 

สภาพจิตใจ : ความประมาท ความกลัว ความเก๋า ความลน

ขอรวบรวมในเรื่องของสภาพจิตใจ เข้ามาเป็นเรื่องเดียวกันเลย ตรงนี้ แตกต่างจากในเรื่องของสมาธิ เพราะสมาธิ คือการโฟกัสกับเกม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่ต้องมีตลอด 90 นาที

แต่สภาพจิตใจ คือ การต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะทำให้จิตใจของนักกีฬาแปรเปลี่ยนไป

ความประมาท และ ความลน จุดนี้ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างจากเกมที่ ทีมชาติไทย เสมอกับ บังคลาเทศ 1-1 ในการแข่งขันฟุตบอล เอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่สนามปากันสารี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทีมชาติไทย ได้ใจอย่างยิ่ง หลังตีเสมอกับ กาตาร์มาได้ 1-1 ทำให้แค่เพียงชนะ บังคลาเทศ ก็จะการันตีผ่านเข้ารอบน็อกเอาท์ได้แน่นอน ซึ่งใครต่างก็มองว่า มันไม่ใช่เรื่องยากนักของทีมชาติไทย และบังคลาเทศเองก็โดน อุซเบกิสถาน บดมาถึง 3-0 ในเกมแรก

และความประมาทก็ทำให้ทีมชาติไทย ยังเล่นแบบเอื่อยๆ ไม่ขึ้นนำสักที (ผมเองก็ประมาท ผมยอมรับเลยว่า ผมเป็นแฟนบอลทีมชาติไทยคนนึงที่ดูอยู่ข้างสนาม ที่ยังคงมั่นใจเสมอว่า ทีมชาติไทย จะชนะได้แน่นอน แม้ครึ่งแรกยังเสมอกันอยู่ 0-0)

ท้ายที่สุด เมื่อ บังคลาเทศ สามารถขึ้นนำได้ 1-0 ในช่วงต้นครึ่งหลัง จากความประมาท ก็ก่อให้เกิด “ความลนลาน” กับทีมชาติไทย อย่างเห็นได้ชัด เมื่อรูปแบบการเล่นเกมบุก เปลี่ยนไปจากเดิม กลายเป็นโยนมากขึ้น กลายเป็นฟุตบอลไดเร็กต์มากขึ้น และเกิดความผิดพลาดในส่วนบุคคลเยอะมากขึ้น จนสุดท้ายทำให้เกมนั้น ทีมชาติไทย เก็บได้เพียงแค่ 1 แต้มจากผลเสมอ 1-1 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตกรอบแรกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งแรกในรอบ 24 ปี

ในส่วนของความกลัว และความเก๋านั้น ผมขอยกตัวอย่างทีมชุดอายุไม่เกิน 16 และ 19 ปี ซึ่ง ทีมชุด ยู-19 ปี แสดงให้เห็นถึงความกลัวออกมา ในการพบกับ ญี่ปุ่น (แต่ก็ต้องชื่นชมว่า เล่นกับ อิรัก และ เกาหลีเหนือ แบบไม่กลัว) แต่เมื่อเป็นชื่อของ ญี่ปุ่น ที่มีระบบการเล่นสุดยอด เพรสซิ่งดี ต่อบอลกันเนียน ทีมชาติไทย จะเกิดอาการกลัวอย่างชัดเจน

สำหรับความเก๋านั้น ก็ต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ในช่วง 5 นาทีสุดท้ายของทั้งสองรุ่นนั่นแหละ หากเรามีความเก๋าในเกมมากกว่าเดิม ไม่ทำฟาวล์ในระยะอันตราย, ผลาญเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้, เก็บบอลไว้กับตัว, พาบอลไปที่มุมธง เราอาจจะไปได้ไกลกว่าที่ไปถึงในปีนี้แล้วก็ได้

นอกจากฝึกในเรื่องของฝีเท้าแล้ว การฝึกสภาพจิตใจให้กับเด็กเยาวชน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับนักเตะไทย

 

ตัวผู้เล่นที่ดีที่สุด

เป็นคำถามที่ต้องมีความเข้าใจอยู่บนพื้นฐาน เพราะด้วยความเคารพแก่โค้ชทีมชาติไทย ทุกรุ่น และทุกท่าน ที่อาจจะมีระบบ มีแทคติก และมีการใช้งานตัวผู้เล่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่บางครั้ง ก็อดตั้งคำถาม (ในใจ) ไม่ได้เลย จากคนที่ชอบดูฟุตบอลเยาวชน และติดตามฟุตบอลนักเรียนมาโดยตลอดว่า “ทีมชาติไทย ในชุดเยาวชน แต่ละชุดนั้น ได้ใช้ตัวผู้เล่นที่ดีที่สุดของแต่ละช่วงอายุ แล้วหรือยัง??”

 

“จอน”

 

ดูบอลสดฟรี ไม่มีสะดุด ลูกค้าทรูมูฟ เอช รับเน็ต 2GB ดูทรูไอดีฟรี เปิดทรูไอดีทุกวันรับฟรีทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ – 30 พ.ย.61  คลิกเลย

ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ กดเลย

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID

ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้