รีเซต
ทำความรู้จัก "บ็อคเซีย (Boccia)" กีฬาน่ารู้ของฮีโร่ พาราลิมปิก ทีมชาติไทย

ทำความรู้จัก "บ็อคเซีย (Boccia)" กีฬาน่ารู้ของฮีโร่ พาราลิมปิก ทีมชาติไทย

ทำความรู้จัก "บ็อคเซีย (Boccia)" กีฬาน่ารู้ของฮีโร่ พาราลิมปิก ทีมชาติไทย
kajohnjohnyos
14 กันยายน 2559 ( 12:34 )
13.3K

 

“บ็อคเซีย” (Boccia) เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมาตลอดสองครั้งที่ผ่านมา ของทีมชาติไทย ในศึกมหกรรมกีฬาคนพิการแห่งมวลมนุษยชาติ “พาราลิมปิก เกมส์” แม้จะเป็นกีฬาที่คนไทยไม่ได้รับการคุ้นหูเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม กลับเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่นักกีฬาคนพิการของไทยประสบความสำเร็จมากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งล่าสุดของศึกพาราลิมปิก เกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่กำลังแข่งขันกันอยู่ ณ ขณะนี้ ทัพนักกีฬาบ็อคเซีย ทีมชาติไทย ก็เพิ่งคว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ จากประเภททีมผสม BC1-2 ซึ่งประกอบด้วย วรวุฒิ แสงอำภา, พัทธยา เทศทอง, สุบิน ทิพย์มะณี และ วัชรพล วงษา หลังสามารถเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่น ในรอบชิงชนะเลิศไปได้

ทาง Sport.truelife.com จึงขอนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับกีฬา บ็อคเซีย ที่กำลังเป็นกล่าวขวัญกันในขณะนี้ว่า มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีวิธีการเล่นอย่างไรกันแน่

 

 

ประวัติ และความเป็นมา

มีความเชื่อกันว่า กีฬาบ็อคเซีย มีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ก่อนจะมีการเผยแพร่ไปยังสหราชอาณาจักร ในปี 1978 และมีการดัดแปลงรูปแบบการเล่น เพื่อให้เหมาะสมกับผู้พิการทางสมอง และพิการทางกายอย่างรุนแรง ทั้งนี้ มีความเห็นพ้องต้องกันไปในทิศทางที่เชื่อว่ากีฬาดังกล่าว ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อ ให้ผู้พิการ ได้มีส่วนร่วมกับการออกกำลังกาย ได้ผ่อนคลายทั้งจิตใจ และกล้ามเนื้อ รวมทั้ง ยังเป็นการฝึกฝนในการใช้สมอง วางแผนกลยุทธ์ และได้ฝึกใช้ทักษะควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอีกด้วย

โดยบ็อคเซีย ได้ถูกบรรจุเป็นกีฬาที่เข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬา “พาราลิมปิก เกมส์” ตั้งแต่ปี 1984 จนกระทั่งแพร่ไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ไม่มีปรากฏแน่ชัดว่า บ็อคเซีย ได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด

 

 

ลักษณะการเล่น

ลักษณะการเล่นคล้ายกีฬาเปตอง คือ แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายพยายามโยน กลิ้ง ขว้าง เตะ หรือปล่อยลูกบอลสีแดงหรือสีน้ำเงินไปตามราง (ตามลักษณะความพิการ) เพื่อให้ลูกเข้าไปใกล้ลูกเป้าหมายสีขาว ให้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด บนพื้นสนามเรียบ โดยฝ่ายใด ที่มีบอลมีใกล้มากกว่า เป็นฝ่ายชนะ

ประเภทการแข่งขัน

สำหรับประเภทการแข่งขันนั้น จะไม่มีการแบ่งแยกชายหญิง แต่จะแบ่งกลุ่มการเล่นตามความพิการ ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

1. ประเภทบุคคล BC1
2. ประเภทบุคคล BC2
3. ประเภทบุคคล BC3
4. ประเภทบุคคล BC4
5. ประเภทคู่ BC3 คู่ละ 2 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1 คน
6. ประเภทคู่ BC4 คู่ละ 2 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1 คน
7. ประเภททีม (BC1+BC2) ทีมละ 3 คน ขณะแข่งขันจะต้องมีนักกีฬาประเภท BC1 อย่างน้อย 1 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1-2 คน

ลักษณะการแบ่งกลุ่มตามความพิการในการแบ่งกลุ่มการเล่นตามประเภทความพิการนั้น ได้มีการอธิบายไว้ดังนี้

1. ประเภท BC1
เป็นการเล่นสำหรับผู้พิการทางสมอง ผู้เล่นสามารถมีผู้ช่วยเหลือ 1 คน ซึ่งนั่งอยู่ทางด้านหลังเขตโยนประมาณ 2 เมตร ในที่กำหนดให้ ซึ่งสามารถมาด้านหน้าและช่วยเหลือนักกีฬาตามที่ผู้เล่นร้องขอ เช่น ปรับหรือจัดเก้าอี้ของผู้เล่นให้มั่นคงส่งบอลให้ผู้เล่น หรือคลึงบอลตามที่นักกีฬาร้องขอและได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน

2. ประเภท BC2
เป็นการเล่นสำหรับผู้เล่นซึ่งพิการทางสมอง ซึ่งผู้เล่นไม่มีสิทธิมีผู้ช่วยเหลือในการเล่น

3. ประเภท BC3
เป็นการเล่นสำหรับผู้เล่นที่แขนขาทั้งสี่เคลื่อนไหวลำบาก และผู้เล่นไม่สามารถเข็นรถได้เอง ซึ่งต้องมีการช่วยเหลือด้วยรถเข็นไฟฟ้า โดยผู้เล่นจะไม่สามารถจับหรือปล่อยได้ สามารถเคลื่อนไหวแขนได้
แต่มีข้อจำกัดในการผลักดันบอลเข้าสู่สนาม ดังนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับอนุญาตให้มีผู้ช่วยเหลือได้ แต่ผู้ช่วยเหลือจะต้องอยู่ในเขตโยน ของผู้เล่น และหันหลังให้สนาม ห้ามมองการเล่น

4. ประเภท BC4
เป็นการเล่นสำหรับผู้ที่แขนขาทั้งสี่เคลื่อนไหวได้ลำบาก ร่วมกับการควบคุมการเคลื่อนไหวลำตัวได้ยาก โดยผู้เล่นมีความสามารถพอที่จะแกว่งแขน เพื่อโยนลูกบอคเซียสู่เข้าสนาม ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากในการจับและปล่อยบอล แต่ผู้เล่นจะไม่ได้รับสิทธิ์ใช้ผู้ช่วยเหลือได้

 

 

 

ขนาด และรูปแบบของสนาม

กีฬาบ็อคเซีย กำหนดความกว้างของสนามที่ 6 เมตร ยาว 12.5 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนท้ายสนามแบ่งเป็น 6 ช่อง สำหรับผู้แข่งขันใส่หมายเลขที่ช่อง 1-6 จากซ้ายไปขวา มีเขตรูปตัว (V) เป็นเขตห้ามลูกเป้าหมายอยู่บริเวณดังกล่าว และจะมีเส้นกากบาท (+) อยู่กึ่งกลางสนามสำหรับวางลูกเป้าหมาย

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น และการแข่งขันได้มีการกำหนด อุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการแข่งขัน ดังนี้

1. ลูกบอลสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว ทำด้วยหนังแท้หรือหนังเทียมเย็บ ขนาดเส้นรอบวงขนาด 270 + 8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 275 + 12 กรัม ขนาดใกล้เคียงลูกเปตอง (ลูกสีแดง และสีน้ำเงิน สำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมีฝ่ายละ 6 ลูก บอลขาว มีจำนวน 1 ลูก เรียกว่า ลูกเป้าหมาย)
2. ป้ายบอกสัญญาณสีแดง และสีน้ำเงิน ใช้สำหรับแจ้งให้ฝ่ายที่จะต้องส่งบอลเข้าสู่สนาม เริ่มการแข่งขันต่อไป
3. สายวัด สำหรับวัดระยะห่างลูกบอลสี จากลูกเป้าหมาย
4. กล่องหรือถาดสำหรับใส่บอลเสีย (บอลที่ออกนอกสนาม หรือเล่นผิดกติกา)


วิธีการแข่งขัน

เริ่มด้วยการเสี่ยงเหรียญ เมื่อฝ่ายใดชนะจะได้รับสิทธิ์ในการเลือกว่าจะเป็นฝ่ายโยนบอลเข้าสนามก่อนหรือหลัง ฝ่ายโยนบอลก่อนจะได้บอลสีแดง และประเภทบุคคล จะถูกกำหนดให้อยู่ในช่องหมายเลข 3 ขณะที่ช่องหมายเลข 2 และ 4 เป็นของประเภทคู่ และช่องหมายเลข 1, 3 และ 5 สำหรับประเภททีม ตามลำดับ ซึ่งผู้ได้รับสิทธิ์ในการโยนลูกเป้าหมาย (สีขาว) เข้าสนามก่อน จะต้องโยนให้ลูกเป้าหมายอยู่ในสนามเหนือเส้น V จากนั้นจึงโยนลูกสีแดง (ก่อนโยนลูกทุกครั้งจะต้องได้รับสัญญาณจากผู้ตัดสินก่อนทุกครั้ง)ต่อมา ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับสัญญาณให้โยนลูก ก่อนที่ผู้ตัดสินจะเป็นผู้ให้สัญญาณป้าย โดยพิจารณาว่าสีใดอยู่ห่างจากลูกเป้าหมายมากกว่ากัน โดยจะมีการโยนลูก จนกว่าจะครบฝ่ายละ 6 ลูก หรือหมดเวลาตามกำหนด เรียกว่าจบ 1 จบ จากนั้น จึงนับคะแนนในจบนั้น และเริ่มการแข่งขันจบใหม่ เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน จะมีการนับคะแนนรวม ฝ่ายใดได้คะแนนมากกว่า ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ

 

เวลาที่ใช้ในการการแข่งขัน สำหรับเวลาที่ใช้ในการแข่งขันนั้น จะขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มผู้แข่งขันในแต่ละประเภท ดังนี้

1.ประเภทบุคคล BC1, BC2 และ BC4 ใช้เวลา 5 นาที/คน/จบ แข่งขันจำนวน 4 จบ
2. ประเภทบุคคล BC3 ใช้เวลา 6 นาที/คน/จบ แข่งขันจำนวน 4 จบ
3. ประเภทคู่ (BC3) ใช้เวลา 8 นาที/คู่/จบ แข่งขันจำนวน 4 จบ
4. ประเภททีม (BC1 และ BC2) ใช้เวลา 6 นาที/ทีม/จบ แข่งขันจำนวน 6 จบ

กติกาสำคัญในการแข่งขัน

  • ขณะโยนลูกบอลเข้าสนาม ห้ามร่างกาย (หรืออุปกรณ์ช่วย) ของผู้แข่งขัน สัมผัสเส้นสนาม
  • ขณะโยนลูกบอล สะโพกของผู้แข่งขันจะต้องสัมผัสเก้าอี้
  • ห้ามรบกวนคู่ต่อสู้ไม่ว่ากรณีใด ๆ (ยกเว้นอาการธรรมชาติ)
  • ผู้ช่วยนักกีฬาประเภท BC3 ห้ามหันหน้าเข้าสนามจนกว่าจะแข่งขันจบนั้นจะแล้วเสร็จ
  • ในระหว่างการแข่งขันห้ามกระทำการใด ๆ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
  • มีการลงโทษฝ่ายละเมิดกติกา โดยให้ฝ่ายตรงข้ามโยนบอลพิเศษ (คราวละ 2 ลูก)
  • มีการแข่งขันพิเศษ (ไท – เบรก) กรณีคะแนนเท่ากัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
bocciatechnics.com
parasport.org.uk

ขอขอบคุณภาพจาก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes)

 

ยอดนิยมในตอนนี้