ปณิธานจาก "คุณวิชัย" เสาหลักที่เปลี่ยนให้ "เลสเตอร์" ชนะ ได้ทุกทีมในโลก | Main Stand
หลังจบภารกิจช็อคโลกด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2015-16 ไม่มีใครกล้าปฏิเสธความยอดเยี่ยมของ เลสเตอร์ ซิตี้ และสิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่า คือปรากฏการณ์กองเชียร์เฉพาะกิจ เพราะหลังจากได้แชมป์ครั้งนั้น แฟนบอล หรือคนที่แอบปันใจเชียร์เลสเตอร์ก็เพิ่มขึ้นไม่น้อย
หลายคนอาจจะมาเพราะความสำเร็จ ... แต่เชื่อเหลือเกินว่ามีอีกหลายคนที่มาเพราะชื่นชอบ และชื่นชมแนวทางการสร้างทีมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด การจัดการของกลุ่มผู้บริหารที่แม้แต่แฟนท้องถิ่นยังเปิดใจยอมรับด้วยความเคารพ
ขณะที่ใครหลายคนบอกว่าแชมป์ครั้งนั้นเปรียบดั่งเทพนิยาย บ้างก็บอกว่ามันเป็นไปได้ยากที่เลสเตอร์จะกลับมาชูถ้วยแชมป์รายการใดรายการหนึ่งได้ในเร็ววัน เพราะสิ่งที่สร้างยากยิ่งกว่าการสร้างปรากฏการณ์ คือ มาตรฐานที่มั่นคงและยั่งยืน ... แต่เวลาผ่านมา 5 ปี เลสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การบริหารงานของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ผู้บริหารหนุ่ม ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า "จิ้งจอกสยาม" มีมาตรฐานที่แข็งแกร่งแค่ไหน
และทั้งหมดทั้งมวล ... มันเกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญนับตั้งแต่วันแรกที่กลุ่ม คิง เพาเวอร์ เดินเข้ามา ด้วยหลักแนวคิดของผู้ชนะตัวจริง
ชนะด้วยหลักการ
"หากคิดเป็นธุรกิจตั้งแต่วันแรกก็คงทำไม่สำเร็จแน่นอน" นี่คือประโยคคลาสสิกที่คุณวิชัยมักจะพูดถึงเสมอ หากมีใครถามถึงเคล็ดลับการบริหารสโมสรฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จแบบที่เขาทำ
หลังจากจบฤดูกาล 2015-16 เลสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในทุก ๆ หน้ากระดาษของพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ประเด็นต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนอกจากความชื่นชมความสำเร็จนั้น ก็ยังมีคำปรามาสฝากไว้ด้วย
มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า พวกเขาแค่โชคดีและมีปาฏิหาริย์ช่วย ความสำเร็จแบบนี้หรือแม้กระทั่งการชูถ้วยแชมป์รายการใด ๆ ก็ตาม คงไม่เกิดขึ้นซ้ำง่าย ๆ เพราะพวกเขาเคยเห็นทีมลักษณะนี้มาก็ไม่น้อย ทีมที่กล้าท้าทายกำแพงของบิ๊กทีม แต่ตอนจบไม่ได้สวยงามนัก
ทีมอย่าง ลีดส์ ยูไนเต็ด ในยุค 2000s ที่พยายามอย่างมากในการเปลี่ยนสถานะจากทีมระดับกลางขึ้นไปแย่งแชมป์กับเหล่ายักษ์ใหญ่ พวกเขาตกหลุมพรางของทุนนิยม เริ่มทุ่มเงินซื้อนักเตะมากมายโดยไม่สัมพันธ์กับรายรับ หวังเพียงการคว้าแชมป์เพื่อยกระดับทีมในทางลัด ... ผลก็คือเมื่อถึงจุดที่พยายามแล้วทำไม่ได้ ลีดส์ ก็ประสบปัญหาการเงิน สุดท้ายก็ตกชั้นไปเล่นในลีกรองถึง 16 ปี
หากย้อนกลับไปไม่ไกลนัก แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ในฤดูกาล 1994-95 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเรื่องนี้ พวกเขาคว้าแชมป์ภายใต้บริหารของ แจ็ค วอล์คเกอร์ ผู้บริหารที่เป็นแฟนบอลของทีม และแปลงร่างเป็นเจ้าบุญทุ่มคว้านักเตะอย่าง ทิม ฟลาวเวอร์ส, แกรม เลอโซ, โคลิน เฮนดรี้, เจสัน วิลค็อก, คริส ซัตตัน และ อลัน เชียเรอร์ ... ทว่าเมื่อทำทีมได้แชมป์แล้ว วอล์คเกอร์ ก็ไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนเหมือนที่เคย จนสุดท้ายเขาก็วางมือ และขายทีมต่อให้กับกลุ่มทุนอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำ
ว่าง่าย ๆ ก็คือทั้งสองทีมนี้พยายามจะคว้าความสำเร็จแบบฉาบฉวย จนมองข้ามโครงสร้างที่สำคัญไป สุดท้ายเมื่อเงินขาดมือ ทั้ง ลีดส์ และ แบล็คเบิร์น ก็เจอกับปัญหาไม่ต่างกัน
ทว่า เลสเตอร์ ซิตี้ นั้นแตกต่างจากทั้งสองทีม พวกเขามาถึงตรงนี้ได้อาจจะมีคำว่าโชคดีเจือปนอยู่บ้าง เบื้องหลังความสำเร็จที่ยั่งยืนของ เลสเตอร์ คือ แนวคิดของ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา และ คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ที่เข้ามาซื้อทีมตั้งแต่ 2010 และแผนการของพวกเขาก็ชัดเจนมาตั้งแต่ตอนนั้น นั่นคือการพาสโมสรไปให้ไกลที่สุด ด้วยการบริหารที่ให้ความสำคัญกับทุก ๆ ในภาคส่วน โดยต้องไม่ทำอะไรเกินตัว มีแบบแผน และเป็นความสำเร็จระยะยาว
"ผมตัดสินใจลงทุนในเลสเตอร์ ไม่ใช่แค่เพราะแพชชั่นที่ผมมีต่อฟุตบอล แต่เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของผม ที่อยากพาสโมสรแห่งนี้กลับสู่พรีเมียร์ลีก และผมต้องการทำให้สโมสรแห่งนี้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา"
"การสร้างทีมเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณภาพพัฒนาการของนักเตะ และวิธีบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด" คุณวิชัยว่าไว้ถึงเหตุผลที่เขาเข้ามาเป็นเจ้าทีมฟุตบอลอย่าง เลสเตอร์ เป็นครั้งแรก
จุดเริ่มต้นของชัยชนะของเลสเตอร์ ซิตี้ จึงเริ่มต้นด้วยหลักแนวคิดที่ชัดเจน ...
ชนะด้วยความหนักแน่น
ความสำเร็จที่ยั่งยืน ... พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะในลีกฟุตบอลที่มีพี่บิ๊กเป็นกำแพงคอยแบ่งชนชั้นระหว่าง ทีมหัวตาราง 6 ทีม กับทีมอื่น ๆ อีก 14 ทีม อย่างชัดเจน ทีมบิ๊ก 6 มีเงินในการลงทุนมาก มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า และมีความพร้อมมากกว่าในทุก ๆ ด้าน ว่าง่าย ๆ พวกเขาถือไพ่เหนือกว่าทุกอย่าง และยากทีมทีมเล็ก ๆ ทีมไหนจะสอดแทรกพื้นที่ 1 ถึง 6 ที่ แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซน่อล และ สเปอร์ส ครองอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม คุณวิชัย รวมถึง คุณอัยยวัฒน์ ลูกชายที่เดินตามเข้ามาบริหารทีมตั้งแต่วันแรก เข้าใจถึงข้อจำกัดนั้นเป็นอย่างดี เขาจะไม่เอาเลสเตอร์ พุ่งเข้าชนทีมมหาอำนาจเหล่านั้นแบบตรง ๆ แต่พวกเขาจะไล่ตามหลังอย่างช้า ๆ ด้วยก้าวที่มั่นคง และเต็มไปด้วยกลยุทธ์ ซึ่งสุดท้าย สิ่งนี้แหละจะเป็นตัวพลิกสถานการณ์ให้ เลสเตอร์ ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้
และกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้คือ "มันนี่บอล"
มันนี่บอล คือกลยุทธ์ในการดำเนินงานและเข้าสู่ตลาดซื้อขายอย่างชาญฉลาด รู้จักตัวเองว่าขาดตรงไหน และมีคนที่คอยช่วยวิเคราะห์และประเมินว่ามีนักเตะคนใดที่สามารถเข้ามาแก้ไขรอยรั่วในจุดนั้นได้ พวกเขาจะไม่วิเคราะห์นักเตะด้วยสถิติแบบผิวเผิน อาทิ นักเตะคนนี้ยิงได้กี่ประตู ? แอสซิสต์กี่ลูก ? แต่มันจะลึกไปยิ่งกว่านั้น เจาะไปถึงนิสัยใจคอนักเตะ หรือความเป็นมืออาชีพ และการวางตัวนอกสนามเลยทีเดียว
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด ... และแน่นอนต้องได้มาในราคาที่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น เจมี่ วาร์ดี้, ริยาด มาห์เรซ, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ กับ แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ 4 ขุนพลตัวหลักชุดแชมป์ลีกปี 2015-16 นั้น เลสเตอร์ ได้พวกเขามาร่วมทีมในราคาที่ไม่ถึง 9 ล้านปอนด์เลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามหลักของ มันนี่บอล คือ "โครงสร้างสำคัญที่สุด" นักเตะทั้งหมดที่กล่าวมาแม้จะสำคัญแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าขาดไม่ได้ เพราะหลังจากเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบเทพนิยาย พวกเขาก็พร้อมจะปล่อยผู้เล่นตัวหลักทุกคนในทีม ตราบใดที่นักเตะคนใดพร้อมจะย้ายทีม และแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องได้ผลตอบแทนในราคาที่เหมาะสม และเจรจาต่อรองโดยพวกเขาเป็นคนคุมเกม
เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ริยาด มาห์เรซ, แฮร์รี่ แม็คไกวร์, แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ รวมถึงคนอื่น ๆ อีกมากมาย นักเตะเหล่านี้ เลสเตอร์ อยู่ในเกมการเจรจาอย่างใจเย็นทั้งนั้น ...
เคสของ แม็คไกวร์ นั้นเห็นได้ชัดเจน กองหลังที่กำลังเป็นกำลังสำคัญของเลสเตอร์ และทีมชาติอังกฤษ พวกเขาขอให้นักเตะรออีก 1 ปี เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดและเกิดผลประโยชน์กับนักเตะสูงสุด ซึ่งสุดท้าย เลสเตอร์ ก็ขาย แม็คไกวร์ ได้ 85 ล้านปอนด์ และกลายเป็นเจ้าของสถิติกองหลังแพงที่สุดในโลก ณ เวลานี้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น 12 เดือน แมนฯ ยูไนเต็ด ยื่นซื้อเขาเพียง 60 ล้านปอนด์ เท่านั้น
ขณะที่ ริยาด มาห์เรซ ที่แม้จะออกลูกงอแง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักเตะที่ต้องการย้ายทีม แต่บอร์ดบริหารของเลสเตอร์ ก็เชื่อว่าตัวนักเตะยังพร้อมช่วยทีมต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ซีซั่น และ แมนฯ ซิตี้ ทีมที่ตามเทียวไล้เทียวขื่อก็จะกลับมาซื้อ มาห์เรซ ใหม่อีกครั้งแน่นอน เมื่อตลาดซื้อขายมาถึง ... และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จาก 40 ล้านปอนด์ ในข้อเสนอแรก เลสเตอร์ ได้เงินจากการขาย มาห์เรซ ไปทั้งหมด 55 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลาอันสั้น
ส่วนเงินที่ได้มานั้นถือเป็นกำไรที่ไม่ต้องเก็บเข้ากระเป๋า เลสเตอร์ ซิตี้ นำเงินจาก "มันนี่บอล" เหล่านั้นไปต่อยอดด้วยนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี มีแววพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้ยังเอามาลงทุนกับของใหญ่ อาทิ สนามซ้อมแห่งใหม่ที่ใช้งบประมาณถึง 100 ล้านปอนด์ ซึ่งถ้าเทียบกับงบประมาณแล้ว มีเพียง เรอัล มาดริด เท่านั้นที่มีสนามใหญ่กว่า และใช้งบในการสร้างมากกว่า และหากถามว่า เลสเตอร์ จะสร้างสนามซ้อมให้ใหญ่โตไปเพื่ออะไร ? คำตอบเดียวที่ออกจากปากผู้บริหารก็คือ "สร้างทีมให้ใหญ่คับยุโรป" นั่นเอง
Photo : Leicester City Football Club
ซึ่งศูนย์ฝึกนี้เองจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เลสเตอร์เดินตามแบบแผน "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้ถึงเป้าหมายได้ไวกว่าเดิม ซึ่งแนวคิดนี้ คิง เพาเวอร์ ไม่ได้ใช้แค่กับสโมสรเลสเตอร์ของพวกเขาเท่านั้น พวกเขายังแบ่งปันความสำเร็จของสโมสสรแห่งนี้กลับมาให้วงการฟุตบอลไทย ให้เด็กไทยได้เล่นฟุตบอลกันอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เด็กไทยได้มาเปิดหูเปิดตาว่า ฟุตบอลแบบต้นตำรับ เขาเล่นกันแบบไหน กิน อยู่ และ พักผ่อนกันอย่างไร ผ่านโครงการ Fox Hunt ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากวิชาและการเปิดโลกแล้ว นี่ยังเป็นโครงการที่ปลูกฝังแนวคิด "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้กับเยาวชนที่ได้รับโอกาส ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้นี่เอง ที่จะนำสิ่งที่พวกเขาได้ ไปส่งต่อให้กับน้อง ๆ รุ่นหลัง นั่นคือเหตุผลว่าทำไม คิง เพาเวอร์ ต้องจริงจัง และลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานทุก ๆ อย่าง รวมถึงสนามซ้อม
ชนะใจทุกคน
ไล่มาถึงตรงนี้คงต้องสรุปกันให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่ปรัชญาของ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่สะท้อนออกมาจากคุณวิชัย และคุณอัยยวัฒน์ หรือแม้กระทั่งบอร์ดบริหารของ เลสเตอร์ ซิตี้ คนอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นผู้ชนะอย่างยั่งยืน และทำให้ทีม ๆ นี้ประสบความสำเร็จได้จริง ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ... พวกเขามองถึงการขึ้นพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ยังเป็นทีมกลางตารางในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ และพวกเขาหวังไปฟุตบอลยุโรปทั้ง ๆ ที่ทีมเพิ่งหนีตกชั้นได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด
สิ่งสำคัญ คือ ตั้งเป้าหมายให้ไกลต้องได้รับการสนับสนุนจากแผนการดำเนินงานที่ดีและชัดเจน สำคัญที่สุดคือพวกเขาเชื่อมั่นในแผนการนั้น และเดินหน้าทำมันอย่างมั่นคง
ที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ทุกอย่างถูกวางแผน มาเป็นอย่างดี จนสามารถมั่นใจได้เลยว่า ถ้วยแชมป์ พรีเมียร์ลีก, การได้ไปเล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร รวมถึงมูลค่าของสโมสรที่พุ่งสูงขึ้น 10 เท่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น แต่มาจากผลของการทำงานหนักอย่างเป็นระบบ ซึ่งการที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรต้องร่วมมือและทุ่มเทกันอย่างเต็มกำล้ง
คุณวิชัย พูดเสมอว่าการเป็นนายคนนั้นต้องรู้จักให้ และลูกน้องต้องมาก่อน ทุกคนที่ทำงานให้กับ คิง เพาเวอร์ และ เลสเตอร์ จะได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะคุณวิชัยเชื่อว่า การปฎิบัติกับผู้อื่น และทำให้คน ๆ นั้นมีความสุข อยู่ดีกินดี คน ๆ นั้นก็จะสามารถทำงานตอบแทนคืนกลับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ไม่ใช่แค่พนักงานเท่านั้นที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แม้แต่กับแฟนบอลนั้น เลสเตอร์ ก็ให้ความสำคัญกับแฟนของพวกเขาเป็นอย่างมาก พวกเขามีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายเพื่อแฟนท้องถิ่น อาทิ การเลี้ยงเบียร์, เลี้ยงพิซซ่า, เลี้ยงมันฝรั่ง ให้แฟน ๆ ที่เข้ามาชมในเกมเหย้า
แม้วันนี้คุณวิชัยไม่อยู่แล้ว แต่ปณิธาน และปรัชญาในการสร้างสโมสรแห่งนี้ยังถูกส่งทอดต่อมายังคุณอัยยวัฒน์ ผู้เป็นลูกชาย ตลอดจนบอร์ดบริหารคนอื่น ๆ พวกเขาความสำคัญกับท้องถิ่นและเมืองเลสเตอร์เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินเพื่อให้โรงพยาบาลประจำเมืองปรับปรุงส่วนต่าง ๆ รวมถึงการบริจาคเพื่อซ่อมและบูรณะวิหารเลสเตอร์ ไปจนถึงล่าสุดในการช่วยเหลือผู้คนในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19
ปรัชญาการวางแผนและทำงานในแบบฉบับของ เลสเตอร์ นี้เองที่ทำให้ทุก ๆ อย่างเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานในสนามที่พวกเขาเข้ามามีลุ้นท็อป 4 ตลอด 2 ฤดูกาลหลังสุด
ตัวเลขมูลค่าของทีมที่สูงถึง 450 ล้านปอนด์ และติดอันดับ 18 สโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรป
และที่สำคัญพวกเขากลายเป็นผู้บริหารที่แฟนบอลท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งแฟนทีมฟุตบอลทีมอื่น ๆ ก็ยังยอมรับว่า นี่คือผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม และดีที่สุดในบรรดา 20 ทีมในพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว
Photo : Leicester City Football Club
และที่สำคัญที่สุดสำหรับเราคนไทยคือ ทุกครั้งที่ทีม เลสเตอร์ ก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จ วงการฟุตบอลไทยก็มักจะได้ รับผลพลอยได้ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Fox Hunt หรือแม้กระทั้งโครงการสำหรับเยาวชนระยะสั้นต่าง ๆ ก็ช่วยให้เด็กไทยได้รับประสบการณ์ ในแบบที่หากันไม่ได้ง่าย ๆ พวกเขายังเปิดโอกาสให้กับเด็กไทยเสมอ อย่าง ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร อดีตนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดเยาวชน ซึ่งมีเชื้อสายไทย 100% ก็ถูกดันขึ้นทีม เลสเตอร์ ซิตี้ ชุดใหญ่ พร้อมถูกใส่ชื่อเป็นผู้เล่นสำรองในแมตช์แข่งขันจริงแล้ว
บางครั้งที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ชนะ ก็เหมือนกับคนไทยชนะด้วย ... ที่สุดแล้วแม้เราเองอาจจะไม่ได้อินและยินดีได้แบบสุดเหวี่ยงเท่ากับแฟนบอลท้องถิ่น แต่สิ่งที่ทีมได้รับจะสะท้อนกลับเป็นประโยชน์กับฟุตบอลไทยเสมอ ไม่แน่ว่าหากวันใดที่ความสำเร็จของ เลสเตอร์ มากพอ และพวกเขามีรากฐานที่แข็งแกร่งยิ่งกว่านี้ เราอาจจะได้เห็นช่วงเวลาการเติบโตที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลไทยก็ได้
Photo : Leicester City Football Club
ณ เวลานี้ เลสเตอร์ ซิตี้ กำลังก้าวเดินอยู่บนเส้นทางที่สำคัญมาก ๆ อีกครั้งกับสโมสร พวกเขากำลังจะเดินกลับไปยังศึกฟุตบอลยุโรปจากการชิงท็อป 4 ที่กำลังดุเดือดในพรีเมียร์ลีก ... และที่สำคัญกว่านั้น อีกอึดใจเดียว พวกเขาก็มีโอกาสจะชูถ้วยแชมป์ถ้วยที่ 3 ในยุคเจ้าของทีมชาวไทย เมื่อได้เข้าชิงกับ เชลซี ในนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอล เอฟเอ คัพ ฟุตบอลรายการเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทีมจิ้งจอกสยามไม่เคยได้แชมป์มาก่อน
หากคุณเป็นแฟนบอลของเชลซี มันไม่แปลกอะไรที่คุณจะเชียร์ทีมรัก แต่ถ้าบังเอิญว่าไม่ใช่ เลสเตอร์ ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวนักสำหรับการนั่งดูบอลนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ครั้งนี้ ... นี่คือทีมที่มีเจ้าของเป็นชาวไทย ที่ยืนยันว่าพวกเขาจะพัฒนาสโมสรไปพร้อม ๆ กับวงการฟุตบอลไทย เท่านี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการ "ส่งกำลังใจ" ให้จิ้งจอกสยาม เป็นฝ่ายสมหวังในท้ายที่สุด
และต่อให้มันไม่จบลงตามที่หวัง ... อย่างน้อยคุณก็จะได้เชียร์บอลรองที่สู้ด้วยกลยุทธ์ วัดกันด้วยสมอง ทั้งในและนอกสนาม เทียบมวยกับยักษ์ใหญ่ของลีกด้วยลูกล่อลูกชนที่จะทำให้มันตื่นเต้นเร้าใจสมกับเวลา 90 นาที ที่คุณจะต้องเสียไปในการนั่งชมฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศคู่นี้อย่างแน่นอน
เลสเตอร์ เคยชนะมาทุกอย่าง และทุกคนได้แล้ว .. แล้ววันนี้ทำไมจะชนะเชลซีอีกไม่ได้ ?
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/2177321/2020/11/03/leicester-recruitment-secrets/?redirected=1
https://thesefootballtimes.co/2016/11/11/searching-for-goals-an-interview-with-leicester-city-scout-andy-palmer/
https://www.lcfc.com/teams/staff/performance-recruitment
https://www.socialtalent.com/blog/recruitment/what-recruiters-can-learn-from-leicester-city
https://www.eurosport.com/football/premier-league/2018-2019/vichai-srivaddhanaprabha-the-man-behind-a-modern-fairytale-at-leicester-city_sto6990228/story.shtml
https://www.theguardian.com/football/2018/oct/28/leicester-city-vichai-srivaddhanaprabha-different-sort-of-owner
https://www.reddit.com/r/chelseafc/comments/9sb2pf/leicester_city_chairman_vichai_srivaddhanaprabha/
https://news.sky.com/story/leicester-city-fans-love-vichai-for-his-deeds-not-his-words-11538249
https://www.givemesport.com/1408882-numerous-reasons-why-everyone-at-leicester-loves-owner-vichai-srivaddhanaprabha
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> 33 ปีที่ไม่มีใครไล่ทัน : เปิดเบื้องหลังการเป็น "ราชา 15 เมตร" ของ "เจมี่ วาร์ดี้" | Main Stand
>> สปอนเซอร์หน้าอกทีมฟุตบอล ที่กลายเป็นภาพจำฝังแน่นในใจคุณ | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก