รีเซต
ไขข้อข้องใจ : ทำไมทีมชาติไทยจึงไม่ใช้วิธีโอนสัญชาตินักกีฬา ? | Main Stand

ไขข้อข้องใจ : ทำไมทีมชาติไทยจึงไม่ใช้วิธีโอนสัญชาตินักกีฬา ? | Main Stand

ไขข้อข้องใจ : ทำไมทีมชาติไทยจึงไม่ใช้วิธีโอนสัญชาตินักกีฬา ? | Main Stand
เมนสแตนด์
22 มิถุนายน 2564 ( 16:00 )
1.1K

เส้นทางของทัพนักเตะทีมชาติไทย ในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก จะจบลงไปแล้วด้วยความผิดหวัง 

 


แน่นอนว่าแฟนบอลทั้งพันธุ์แท้ และพันธุ์ทาง ร่วมกันเคาะแป้นพิมพ์วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหา และพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ตัวโค้ช ผู้เล่น แนวทางการทีม 

ไม่เว้นแม้แต่ "การโอนสัญชาติ" ที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีหลายประเทศรวมถึงละแวกเพื่อนบ้าน ที่นำวิธีนี้มาใช้ เพื่อเป็นทางลัดในการประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถกเถียงกันต่อว่าวิธีนี้ดีหรือไม่ดี ตลอดจนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องพึงรู้ไว้เป็นอันดับแรกก็คือ การจะโอนสัญชาติในราชอาณาจักรไทยได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด… 

 

กลยุทธ์แข้งโอนสัญชาติ ประตูลัดสู่ความสำเร็จ

การใช้นักเตะโอนสัญชาติไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการฟุตบอล และสามารถพบเห็นได้ในหลาย ๆ ชาติ โดยในฟุตบอลโลก 2018 มีถึง 22 ชาติ ที่มีนักเตะที่ไม่ได้เกิดในประเทศตัวเองอยู่ในทีม ซึ่งการโอนสัญชาตินั้นแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ ตัวนักเตะมีเชื้อสายของประทศนั้น ๆ อยู่แล้วจากรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ฯลฯ แต่ไปเติบโตที่ประเทศอื่น ตลอดจนการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือย้ายมาค้าแข้งในประเทศนั้น ๆ เป็นเวลานาน 


Photo : colgadosporelfutbol.com

ขณะที่ในเอเชียญี่ปุ่นในยุค 90’s ดูจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่ชัดเจนที่สุดที่เริ่มมีสตาร์โอนสัญชาติอยู่ในทีม ไม่ว่าจะเป็น วากเนอร์ โลเปส, รุย รามอส หรือ อเล็กซ์ ซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นเชื้อสายบราซิลโดยกำเนิด ที่ย้ายถิ่นฐานมาปักหลักในแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี และลงเล่นฟุตบอลในญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับกึ่งอาชีพอยู่เป็น 10 ปี ก่อนจะได้สัญชาติ

ทว่าในปัจจุบันการโอนสัญชาติในเอเชียได้ยกระดับจากกรณีข้างต้นจนกลายเป็น "กลยุทธ์" ที่หลายประเทศเลือกใช้อย่างจริงจัง โดยหวังที่จะเป็นประตูลัดสู่ความสำเร็จ แม้นักเตะคนนั้นจะไม่ได้มีเชื้อสายหรือมีความผูกพันกับชาตินั้น ๆ ตั้งแต่เด็กเลยก็ตาม เนื่องจากนักเตะเหล่านั้นส่วนใหญ่มีสรีระร่างกายรวมถึงฝีเท้าที่ดีกว่าผู้เล่นท้องถิ่น

จีนคือชาติที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเลือกใช้วิธีนี้เพื่อความหวังที่จะไปฟุตบอลโลก 2022 หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จมาเกือบ 2 ทศวรรษ จากการได้ไปเล่นฟุตบอลโลกหนสุดท้ายตั้งแต่ปี 2002 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและเริ่มวางกลยุทธ์มาตั้งแต่ปี 2015 ตั้งแต่การเสนอแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อสนับสนุนการแปลงสัญชาติของนักกีฬา พร้อมได้สมาคมฟุตบอลจีน (CFA) ช่วยผลักดันด้วยการเลือก 3 สโมสรใหญ่ในลีกอย่าง ปักกิ่งกัวะอัน, กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และซานตง ลู่เหนิง รองรับแข้งเหล่านั้นเพื่อนำร่องโครงการแปลงสัญชาติ 

ก่อนจะได้ผลผลิตอย่างเอเคลสัน, อลัน คาร์วัลโญ และแฟร์นันดินโญ 3 นักเตะบราซิเลียนซึ่งได้รับสัญชาติจีนผ่านถิ่นที่อยู่ แม้จะไม่มีเชื้อสายจีนเลยแม้แต่นิดเดียวก็ตาม โดยทั้งหมดใช้เวลาเพียง 4-6 ปีเท่านั้นในการเปลี่ยนสัญชาตินับตั้งแต่ย้ายมาค้าแข้งในไชนีส ซูเปอร์ลีก ไม่ต่างกับ กาตาร์, ฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตลอดจนทีมในอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือติมอร์ เลสเต ที่เลือกใช้กลุยุทธ์นี้ควบคู่กับการสร้างนักเตะท้องถิ่นไปพร้อมกัน  

แต่ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาอันสั้นแบบนี้

กฎหมายไทยที่ไม่อำนวย ดูเหมือนง่ายแต่ยากกว่าที่คิด

การจะเปลี่ยนสัญชาติได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือต้องได้รับความยินยอมจากประเทศนั้น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีกฎหมายและหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ เลยตราบใดที่เรื่องนี้ยังไม่ใช่ "วาระแห่งชาติ" ที่รัฐบาลออกโรงสนับสนุนอย่างจริงจัง

ปัจจุบันด้วยกฏหมายของประเทศไทยในการโอนสัญชาติ ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 10 มีขั้นตอนและการจำแนกบุคคลแต่ละประเภทระบุไว้อย่างละเอียดว่าผู้ใดสามารถขอสัญชาติไทยได้บ้าง เช่น โดยการเกิด, สืบสายโลหิต, หลักดินแดน (เกิดในประเทศไทย) หรือภายหลังการเกิด,  โดยการสมรส, การแปลงสัญชาตินั้นยิ่งใครไม่ได้มีเชื้อสาย ไม่มีต้นตระกูล หรือไม่ได้เกิดในเมืองไทย โอกาสที่จะได้สัญชาติไทยยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ 

กรณีขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับคนต่างด้าวทั่วไปที่ไม่ได้มีสายโลหิตหรือหลักดินแดนในประเทศไทย ในมาตรา 10 ระบุหลักเกณฑ์คร่าว ๆ เบื้องต้น ดังนี้ 

- ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
- มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5 ปี
- มีหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
- กรณีไม่มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท/เดือน
- มีหลักฐานการเสียภาษีมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
- มีความรู้ภาษาไทย สามารถพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจ
- มีความประพฤติดี โดยต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด และพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ซึ่งรายละเอียดข้างต้นเป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการยื่นขอสัญชาติเท่านั้น เมื่อยื่นแล้วยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ไล่ตั้งแต่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอแปลงสัญชาติ, เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยมี กระทรวงมหาดไทย, กองบัญชาการตำรวจสันติบาล, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาตามลำดับ

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ "การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของรัฐมนตรี" หากมีการเห็นสมควรขั้นต่อไปต้องส่งเรื่องไปที่ สำนักงานราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วจึงส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ

จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การยื่นขอสัญชาติไทยนั้นดูเหมือนจะไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการให้สิทธิคนชาติอื่นมาใช้สัญชาติไทยได้นั้น ย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาเบียดเบียนหรือแบ่งผลประโยชน์จากคนไทยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงาน การได้ประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย รวมถึงงบประมาณและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยได้...

 

กรณีศึกษานักกีฬาไทย ที่สะท้อนถึงวงการฟุตบอลในอนาคต

ในวงการกีฬาไทยปัญหาการขอสัญชาติไทยมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งที่สมหวังและผิดหวัง เช่น อาซึคิ อิวาตานิ นักกีฬาคาราเต้หญิงประเภทท่ารำบุคคล ที่แม้จะลืมตาดูโลกและใช้ชีวิตที่ประเทศไทยมาตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยการที่เธอมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่น จึงทำให้ไม่ได้รับสัญชาติไทยและหมดโอกาสในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ โดยเธอเดินเรื่องขอสัญชาติไทยมาแล้วมากกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอายุที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ขอสัญชาติแทนแล้วพ่วงเธอไปด้วย

ขณะที่ "โค้ชเซี่ย" เซี่ย จื่อ หัว ผู้ฝึกสอนแบดมินตันชาวจีนของสโมสรบ้านทองหยอด ผู้สร้าง "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ ให้กลายเป็นนักหวดลูกขนไก่หญิงมือ 1 ของโลก ถือเป็น 1 ในกรณีศึกษาที่สามารถขอสัญชาติไทยได้สำเร็จ โดย "โค้ชเซี่ย" เข้าหลักเกณฑ์ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยครบทุกข้อ โดยอาศัยอยู่เมืองไทยในฐานะผู้ฝึกสอนมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ก่อนจะยื่นเรื่องขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยได้ถิ่นฐานที่อยู่ในปี พ.ศ. 2558 จากนั้นก็ขอสัญชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2559 และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ได้รับการอนุญาตให้แปลงสัญชาติ เมื่อ พ.ศ. 2560 เบ็ดเสร็จใช้เวลาดำเนินการราว 4 ปี ไม่นับรวมช่วงเวลาที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยก่อนหน้านั้น

ซึ่งนอกจากหลักเกณฑ์จะครบข้อกำหนดแล้ว ส่วนหนึ่งที่ส่งให้การพิจารณาขอสัญชาติของ "โค้ชเซี่ย" เป็นไปอย่างลุล่วง ก็คือการได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย จากการเป็นผู้ฝึกสอนและปลุกปั้นน้องเมย์จนประสบความสำเร็จในระดับโลก คล้ายคลึงกับกรณีของ "โค้ชเช" ชเว ยอง ซอก เฮดโค้ชเทควันโดไทย ที่มีความต้องการจะขอสัญชาติไทยเช่นกัน โดยมีผลงานพาทีมชาติไทยกระชากเหรียญทองมาทุกรายการในเวทีโลกตั้งแต่ปี 2002 พ่วงการพิจารณา

ต่างกันที่ก่อนหน้านี้ "โค้ชเช" มีความต้องการจะโอนสัญชาติจริง แต่ยังไม่ยังไม่ประสบความสำเร็จและคาราคาซังมากว่า 10 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าตัวมีจำนวนปีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่พร้อมที่จะสละสัญชาติเกาหลีใต้ เนื่องจากต้องเดินทางไปกลับระหว่างประเทศเพื่อดูแลคุณย่าที่ป่วย ซึ่งตอนนี้เจ้าตัวหมดภาระในส่วนนี้แล้ว และได้ตัดสินใจสละสัญชาติบ้านเกิด พร้อมขอสัญชาติไทยเพื่อใช้ชีวิตในเมืองไทยในช่วงที่เหลือ ซึ่งก็ยังต้องจับตาดูว่าจะสมหวังเมื่อไหร่

สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาถึงกรณีของนักฟุตบอลได้เช่นกัน หากมีความต้องการที่จะโอนสัญชาติมาเล่นให้ทีมชาติไทยจริง  ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเป็นเวลาอย่างต่ำถึง 5 ปี เพื่อการลงหลักปักฐานในเมืองไทย โดยจะไม่สามารถย้ายไปเล่นยังต่างแดนได้เลยในช่วงเวลาดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ว่าเรื่อง "ความต่อเนื่อง" ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ริคาร์โด กูลาร์ต สตาร์บราซิลชื่อดัง ที่โอนสัญชาติไปเล่นให้ทีมชาติจีน แต่ถูกฟีฟ่าระงับไม่ให้ลงเล่นเนื่องจากตรวจพบว่าในช่วงปี 2018-19 เจ้าตัวได้ย้ายไปเล่นให้พัลไมรัสในบ้านเกิดด้วยสัญญายืมตัว เป็นเวลา 183 วัน อันขัดต่อกฎการแปลงสัญชาติของฟีฟ่าที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่นักฟุตบอลเองอาจจะต้องเสียโอกาสบางอย่างไป หากตัดสินใจสละสัญชาติเดิมแล้วเลือกสัญชาติไทย ซึ่งสุดท้ายแล้วจึงต้องย้อนกลับไปถามที่ตัวนักเตะเองว่า จะมีสักกี่รายที่กล้าพอจะยอมรับความเสี่ยงในจุดนี้

 

คุ้มจริงหรือที่จะเลือกสัญชาติไทย?

มุมมองแฟนบอลอาจคิดได้ว่า อยากเห็นนักเตะคนนั้นคนนี้โอนสัญชาติมาเล่นให้กับทีมชาติไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ นักเตะเหล่านั้นสนใจที่จะเลือกโอนสัญชาติมาเล่นให้เราจริงหรือ 


Photo : www.foxsportsasia.com | Football Association Singapore

ตามหลักเกณฑ์การขอสัญชาติไทย ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงเอกสารที่ยื่นต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ตนถือสัญชาติ อันเป็นการแสดงเจตนาของผู้ประสงค์จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ที่จะสละสัญชาติเดิมเมื่อได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว

นั่นหมายถึง การที่เจ้าตัวพร้อมแล้วที่จะสละโอกาสรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้จากการเป็นพลเมืองของประเทศตัวเองไป แล้วเปลี่ยนมารับสวัสดิการของประเทศไทยอย่างเต็มตัว

ประชาชนคนไทยเองหลายคนยังมองว่าสวัสดิการหรือการคุ้มครองต่าง ๆ ที่ได้รับจากภาครัฐ ยังไม่ดีพอ ยิ่งเมื่อเทียบกับชาติชั้นนำอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา พยาบาล สาธารณสุข การดูแลเด็ก ผู้ป่วย คนชรา บริการสาธารณะ ตลอดจนเงินจากสวัสดิการต่าง ๆ ที่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ยังไม่รวมถึงอิทธิพลจากการถือพาสปอร์ต และการขอวีซ่ายามเดินทางไปประเทศอื่น ๆ

เหนือสิ่งอื่นใด การลงเล่นให้ทีมชาติไทยนั้นไม่ได้มีเงินค่าจ้างค่าตอบแทนแต่อย่างใด มีแต่เพียงความภาคภูมิใจที่ได้ประดับธงไตรรงค์บนหน้าอกลงรับใช้ชาติเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างจากจีนและชาติอื่น ๆ ที่นำเรื่องนี้มาเป็น "วาระแห่งชาติ" และมีผลประโยชน์อย่างงามตอบแทนให้กับนักฟุตบอลที่โอนสัญชาติมาเล่นให้



Photo : facebook.com/changsuek/

"มีรางวัลที่ชัดเจนสำหรับผู้เล่น ได้เงินมากขึ้น และมีโอกาสได้เล่นในทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับจีน ซึ่งพวกเขาจะไม่สามารถทำได้หากยังคงอยู่กับประเทศเดิม ผู้เล่นที่เลือกเปลี่ยนสัญชาติจึงมีความคิดที่ชัดเจนว่าผลตอบแทนเหล่านั้นมีค่ามากกว่าผลเสียของการเปลี่ยนมาใช้พาสปอร์ตจีน" มาร์ค ดรีเวอร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ China Sports Insider เผยผ่านสื่อ The Star

แล้วประเทศไทย มีอะไรที่ดึงดูดนักเตะเหล่านั้น? เมื่อเป็นเช่นนี้ก่อนจะถกกันต่อว่าการโอนสัญชาตินั้นดีจริงหรือไม่ คำถามที่น่าสนใจมากกว่าคือ จะมีนักฟุตบอลสักกี่รายที่จะกล้าเสี่ยงทิ้งสัญชาติของตัวเองมาเลือกเล่นให้ทีมชาติไทย 

 

แหล่งอ้างอิง : 

www.info.go.th
https://www.bora.dopa.go.th/nationclinic/NewHTML/Section10.htm
https://www.sixthtone.com/news/1007602/can-naturalized-athletes-save-chinas-sporting-dreams%3F
https://www.thestar.com.my/news/regional/2019/07/08/can-china-win-the-soccer-world-cup-with-a-handful-of-naturalised-players-probably-not

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี