รีเซต
เกาหลีใต้กับฟุตบอลโลก 2002 : ชัยชนะที่โลกเกลียด แต่ปลุกชาติสู่มหาอำนาจลูกหนังเอเชีย

เกาหลีใต้กับฟุตบอลโลก 2002 : ชัยชนะที่โลกเกลียด แต่ปลุกชาติสู่มหาอำนาจลูกหนังเอเชีย

เกาหลีใต้กับฟุตบอลโลก 2002 : ชัยชนะที่โลกเกลียด แต่ปลุกชาติสู่มหาอำนาจลูกหนังเอเชีย
เมนสแตนด์
21 สิงหาคม 2563 ( 18:00 )
13.6K
3

ฟุตบอลโลก 2002 คือ ครั้งแรกที่ประเทศจากทวีปเอเชีย เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน โดยการร่วมมือระหว่าง ญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ อันเป็นหนแรกที่มีผู้จัดเป็นสองชาติร่วม ในประวัติศาสตร์ทัวร์นาเมนต์นี้ 


 

ฟุตบอลโลก 2002 จบลง พร้อมกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ เกาหลีใต้ ที่คว้าอันดับที่ 4 นับเป็นผลงานของชาติจากเอเชีย ที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกจนถึงปัจจุบัน

แต่แทนที่ชาวเอเชีย จะชื่นชมผลงานของเกาหลีใต้ อันเป็นหน้าเป็นตาของทวีป พวกเขากลับได้รับคำต่อว่า จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยข้อครหา กับชัยชนะที่ดูไม่ใสสะอาด ที่เกิดขึ้น ในเวิล์ดคัพฉบับเอเชีย 

รอยด่างนั้น สร้างภาพลักษณ์ให้กับ เกาหลีใต้ ดูเป็น คนขี้โกง ในภาพจำของคนหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี, สเปน หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย 

แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องฉาว แต่อีกด้าน วงการฟุตบอลเกาหลีใต้ ได้รับประโยชน์มหาศาล จากความสำเร็จในฟุตบอลโลกครั้งนั้น และเปลี่ยนให้ เกาหลีใต้ กลายเป็นสุดยอดทีมฟุตบอล ของทวีปเอเชีย จนถึงปัจจุบัน

Main Stand จะพาไปย้อนดู ถึงเรื่องราวของทีมชาติเกาหลีใต้ ในฟุตบอลโลก 2002 และสิ่งที่ตามมา ที่ปลุกให้พวกเขา กลายเป็นชาติมหาอำนาจ ของวงการลูกหนังเอเชีย

 

เกาหลีใต้กับฟุตบอลสุดฉาวในปี 2002

เกาหลีใต้ เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ ด้วยการเอาชนะโปแลนด์ 2-0 เกมถัดมา เสมอสหรัฐอเมริกา 1-1 … โอกาสผ่านรอบแบ่งกลุ่มเข้าสู่รอบสอง มีความเป็นไปได้ หากนัดสุดท้าย ทัพเสือร้ายแห่งเอเชีย ไม่แพ้ต่อ ทีมชาติโปรตุเกส ที่นำทัพโดยนักเตะชื่อดัง อย่าง หลุยส์ ฟิโก, เปาโล ซูซา, นูโน โกเมส


Photo : www.rediff.com

ในเกมที่ชี้ชะตา การผ่านเข้ารอบของทั้งสองทีม เพียง 22 นาที เจา ปินโต แข้งทีมชาติโปรตุเกส ถูกไล่ออกจากสนาม หลังได้รับใบเหลืองสองใบติดต่อกัน จากการทำฟาวล์อย่างหนัก ตามมาด้วยในนาที 66 เบโต คืออีกหนึ่งผู้เล่นโปรตุเกสที่โดนไล่ออก จากการตัดเกมหนักใส่แข้งเกาหลีใต้

การเหลือผู้เล่น 9 คน ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้ประตูชัยในนาทีที่ 70 จากพัค จีซอง ส่ง เกาหลีใต้ เข้าสู่รอบสอง ในฐานะแชมป์กลุ่ม และเขี่ยโปรตุเกสตกรอบ แบบสร้างความตกใจให้แฟนบอลทั่วโลก


Photo : kickandpush.wordpress.com

อันที่จริงในเกมนัดนั้น ยังไม่ค่อยมีใครตั้งข้อสงสัยว่า มีการตัดสินที่ลำเอียงเข้าข้างเจ้าภาพหรือเปล่า เพราะรูปเกม 90 นาที เกาหลีใต้ เล่นดีกว่า โปรตุเกส จริง ส่วนจังหวะทำฟาวล์ของผู้เล่นโปรตุเกส ก็อยู่ในดุลพินิจที่ผู้ตัดสินแจกใบแดงได้จริง เพราะว่าสกัดเข้าไปที่บริเวณหัวเข่า 

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมาชัดเจน ในรอบสอง ระหว่าง เกาหลีใต้ กับอิตาลี … แฟนบอลทั่วโลก ยกเว้นชาวเกาหลีใต้ ล้วนเชื่อว่ายอดทีมจากแดนยุโรป จะเก็บชัยชนะอย่างง่ายดาย และยุติเส้นทางของเจ้าภาพร่วมไว้เพียงเท่านี้ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม

เริ่มเกมได้ไม่นาน แฟนบอลเริ่มเห็นความผิดของการแข่งขัน หลายครั้งที่อิตาลีควรได้ฟาวล์ จากการเล่นตุกติกเล็กน้อยของผู้เล่นเกาหลีใต้ แต่กรรมการชาวเอกวาดอร์ อย่างไบรอน โมเรโน กลับปล่อยผ่าน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 


Photo : www.fifa.com

นาทีที่ 18 ของการแข่งขัน คริสเตียน วิเอรี โหม่งประตูให้อิตาลีออกนำไปก่อน หลังจากนั้นทุกอย่างเริ่มแย่ลง … นักเตะอิตาลีเสียฟาวล์บ่อยครั้ง ด้วยจังหวะที่ไม่น่าเป็นการฟาวล์ รวมถึงอเลสซานโดร เดล ปิเอโร ถูกนักเตะเกาหลีใต้ ฟาดท่อนแขนใส่ใบหน้า จนมีแผลแตก แต่กลับไม่ได้กระทั่งจังหวะฟาวล์

เมื่อกรรมการไม่ยอมเป่าฟาวล์ให้นักเตะอิตาลี สนามฟุตบอลจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสนามมวย แข้งจากแดนยุโรปถูกนักเตะเกาหลีใต้ไล่เตะ ไล่ทำฟาวล์เป็นว่าเล่น หลายจังหวะที่ควรเป็นใบแดง นักเตะเกาหลีใต้ได้แค่ใบเหลือง บางจังหวะที่ควรเป็นใบเหลือง แข้งเกาหลีได้รับแค่การเตือน

นักเตะอิตาลีเริ่มหงุดหงิด และเสียสมาธิจากการตัดสินของกรรมการ สุดท้ายพวกเขาจึงพลาดในช่วงท้ายเกม ถูกซอล กีฮยอน ยิงประตูตีเสมอ ในนาทีที่ 86 ทำให้เกมการแข่งขันต้องไปต่อเวลาพิเศษ

ฟุตบอลโลก 2002 คือยุคที่เกมฟุตบอลยังใช้กฎโกลเดนโกล หรือทีมไหนทำประตูได้ก่อนในช่วงต่อเวลา เป็นฝ่ายชนะทันที ดังนั้นโอกาสการเข้ารอบของเกาหลีใต้ จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก หากพวกเขาทำประตูได้ก่อน และกรรมการจอมฉาวอย่าง โมเรโนพร้อมที่จะจัดให้


Photo : www.fourfourtwo.com

นาทีที่ 103 ฟรานเชสโก ต็อตติ ถูกแข้งเกาหลีใต้ขัดขาล้มในกรอบเขตโทษ แต่แทนที่ทีมชาติอิตาลีจะได้จุดโทษ ต็อตติกลับถูกไล่ออกด้วข้อหาพุ่งล้ม … โจวานนี ตราปัตโตนี ผู้จัดการทีมของอิตาลี โมโหจนถึงขั้นเดินไปคุยกับฝ่ายจัดการแข่งขัน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สุดท้าย อัน จองฮวาน กลายเป็นฮีโร่ของประเทศเกาหลีใต้ โหม่งประตูชัย ในนาทีที่ 117 พาเกาหลีใต้ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนอิตาลีตกรอบแบบชอกช้ำ พร้อมกับการสาปแช่งเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่พวกเขาเกลียดมาจนถึงปัจจุบัน

เกาหลีใต้ ผ่านเข้ารอบไปเจอกับสเปน ที่กำลังมาแรงอย่างมาก ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น พวกเขามีนักเตะชูโรงอย่าง ราอูล กอนซาเลซ, เฟร์นานโด เอียร์โร, อิเกร์ การ์ซิยาส และ เฟร์นานโด มอร์ริเอนเตส ที่ร่วมกันคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก กับทีมเรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2002 

แต่ความยอดเยี่ยมของทัพกระทิงดุ เป็นอันต้องจอด เมื่อเจอกับเกาหลีใต้ … ในเกมนัดนี้ เป็นอีกครั้งที่เกาหลีใต้ เสียฟาวล์ให้คู่แข่งยากเหลือเกิน เพราะกรรมการไม่ยอมเป่าฟาวล์ ยามนักเตะสเปนโดนดึงเสื้อ หรือเตะสะกิดขา ขณะครอบครองบอล

สเปนส่งบอลเข้าประตูไปก่อน จากลูกโหม่งของ รูเบน บาราฆา แต่กรรมการกลับเป่าให้เป็นลูกฟาวล์ ทั้งที่หากไปย้อนดูไฮไลต์ของประตูลูกนี้สักร้อยครั้ง ยังไม่สามารถบอกได้เลยว่า จุดไหนคือการทำฟาวล์ที่เกิดขึ้น

แข้งสเปนไม่หวั่นไหว กับการตัดสินของกรรมการ เพราะไม่กี่นาทีถัดมา เฟร์นานโด มอร์ริเอนเตส ส่งบอลเข้าไปตุงตะข่ายอีกครั้ง แต่รอบนี้กรรมการกลับตัดสินว่า ลูกบอลได้ออกเส้นหลังไปแล้ว ก่อนส่งมาให้มอร์เอนเตส 

ทั้งที่หากดูภาพช้า ลูกบอลออกจากสนามไปไม่ถึงครึ่งใบด้วยซ้ำ (กฎของกีฬาฟุตบอล ลูกบอลจะถือว่าออกจากสนาม ต่อเมื่อออกทั้งใบเท่านั้น)


Photo : playo.co

แข้งสเปนเริ่มเสียสมาธิจากการแข่งขัน สุดท้ายทั้งสองทีมต้องไปตัดสินที่การยิงจุดโทษ ก่อนที่เกาหลีใต้ จะชนะในการดวลจุดโทษไป 5 ต่อ 3

นักเตะเกาหลีใต้ ดีใจแทบบ้า กับการสร้างประวัติศาสตร์ เป็นชาติเอเชียชาติแรก ที่เข้าสู่รอบรองชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลโลก ตรงกันข้ามกับแข้งแดนกระทิง ที่ทั้งโมโหเป็นฟืนเป็นไฟ และร้องไห้แบบไม่อายใคร เพราะพวกเขาควรผ่านเข้ารอบ 4 ทีม ไม่ใช่เกาหลีใต้


Photo : roar.media

หลังจากนั้นอีก 2 เกม ที่พบกับเยอรมัน ในรอบรองชนะเลิศ และเกมนัดชิงที่ 3 กับตุรกี ไม่เกิดประเด็นปัญหา การตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมของกรรมการเกิดขึ้นอีก และทั้งสองนัดเกาหลีใต้ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ด้วยเหตุนี้ แฟนลูกหนังทั่วโลกจึงปักใจว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทัพพยัคฆ์ร้ายแห่งเอเชีย ในฟุตบอลโลก 2002 มาจากการช่วยเหลือของกรรมการ มีลับลมคมใน ไม่โปร่งใสอยู่เบื้องหลัง หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่า “เกาหลีใต้โกงจนได้ความสำเร็จครั้งนี้”

 

ชัยชนะที่พัฒนาเกาหลีใต้

แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่ ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในฟุตบอลโลก 2002 อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่ากลับปัดเรื่องราวทั้งหมด บอกว่าเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคล ไม่มีอะไรเบื้องหลัง จึงทำให้เกาหลีใต้ กลายเป็นที่ระบายอารมณ์ รองรับความเกลียดชังกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น


Photo : www.the-afc.com

แต่ไม่ว่าใครจะมองว่า เรื่องราวของเกาหลีใต้ในฟุตบอลโลก มีความดำมืดมากแค่ไหน … สำหรับคนเกาหลีใต้ นี่คือความสำเร็จอย่างถึงที่สุด กับการแข่งขันกีฬาฟุตบอล และส่งผลให้เกาหลีใต้ กลายเป็นมหาอำนาจของวงการลูกหนังเอเชียจนถึงปัจจุบัน 

ย้อนไปช่วงปลายยุค 90’s เกาหลีใต้มีแผนการใหญ่ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก รัฐบาลพยายามหาวิธีมากมาย ในการโปรโมตประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเทคโนโลยี, การท่องเที่ยว, เพลง, ศิลปะการบันเทิง รวมถึงกีฬา 

เกาหลีใต้เคยประสบความสำเร็จ กับการสร้างภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม ในฐานะชาติพัฒนา ให้กับชาวโลกได้เห็นมาแล้ว จากโอลิมปิก เกมส์ 1988 


Photo : abcnews.go.com

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเกาหลีใต้ต้องการใช้กีฬา แสดงอำนาจบนเวทีโลกอีกครั้ง และไม่มีกีฬาไหนเหมาะสมไปกว่า ฟุตบอล

ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เข้าร่วมฟุตบอลโลกมาหลายครั้ง แต่พวกเขาไม่เคยไปได้ไกลกว่ารอบแรก รัฐบาลเกาหลีใต้ ต้องการให้ทีมฟุตบอลประจำชาติ ประสบความสำเร็จให้ไวที่สุด เพื่อปลุกกระแสฟุตบอลในประเทศ และรัฐบาลเห็นว่า วิธีที่ง่าย ได้ผลไวที่สุด คือการเป็นเจ้าภาพ

ฟีฟ่า เลือกให้เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพร่วมกับ ญี่ปุ่น เพราะต้องการให้ฟุตบอลโลก ขยายตลาด สร้างความเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชียมากขึ้น บวกกับเกาหลีใต้ มีความพร้อมอย่างมากในการจัดการแข่งขัน ทุ่มงบประมาณแบบไม่จำกัด โดยสนามที่ใช้แข่งขัน ในเกาหลีใต้ทั้ง 8 สนาม ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยเสร็จสิ้นพร้อมกัน ในปี 2001

แม้ว่าสุดท้าย การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ของเกาหลีใต้ จะสร้างภาพลักษณ์ด้านลบ มากกว่าด้านบวก ในสายตานานาชาติ แต่ไม่ใช่กับภายในประเทศ เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก กับการจุดไฟความรักในกีฬาฟุตบอล ให้คนในชาติ


Photo : brussels.korean-culture.org

กระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์ เริ่มต้นตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เริ่ม เมื่อถึงเวลาแข่งจริง ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากตีตั๋วเข้าไปชมในสนาม ทั้งที่ไม่เคยดูฟุตบอลมาก่อน ยิ่งเกาหลีใต้ทำผลงานได้ดีมากเท่าไหร่ กระแสยิ่งแรงมากเท่านั้น 

เมื่อถึงเวลาที่ทัพพยัคฆ์ร้ายแห่งเอเชีย ลงทำการแข่งขัน ชาวเกาหลีใต้พร้อมใจกันออกจากบ้าน ไปร่วมเชียร์ฟุตบอลในพื้นที่สาธารณะ หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์, ผู้คนทั้งประเทศคุยแต่เรื่องฟุตบอล 

บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลในเกาหลีใต้ ณ เวลานั้น เต็มไปด้วยแพชชั่น ไม่เคยมีการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งไหน ที่จะดึงให้ประชาชนในชาติ หันมาอินกับฟุตบอล ได้มากกว่าที่เกาหลีใต้ ในปี 2002 ไม่ว่าจะไปที่ไหน ในเกาหลีใต้ ต้องเจอแบนเนอร์เชียร์ทีมชาติเกาหลีใต้, แม้แต่เจ้าภาพร่วมอย่าง ญี่ปุ่น ยังเทียบไม่ติด

ไม่ใช่แค่ในชาติจะหันมาสนใจฟุตบอล … นักเตะเกาหลีใต้ในชุดบอลโลก 2002 กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก จากสโมสรฟุตบอลในยุโรป (ถึงจะโดนด่าเป็นพวกขี้โกงก็ตาม) 

แม้ว่า อัน จองฮวาน จะโดนเปรูจา ต้นสังกัดในอิตาลี ยกเลิกสัญญายืมตัว จากสโมสรเปรูจา ในอิตาลี โทษฐาน โหม่งประตูเขี่ยทัพอัซซูรีตกรอบ แต่นักเตะคนอื่น ๆ ได้เปิดประตูไปค้าแข้งที่ยุโรป 

ไม่ว่าจะเป็น คิม นัมอิล และซง จงกุก กับเฟร์เยนูร์ด, อี ยองพโย และพัค จีซอง กับพีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน, ฮยอน ยองมิน กับเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, อี อึลยง กับแทรปซอนสปอร์, อี จุนซู กับเรอัล โซเซียดัด, ชา ดูรี กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน 


Photo : www.the-afc.com

ทั้งหมดคือนักเตะที่พาเหรด ย้ายไปค้าแข้งที่ยุโรป หลังฟุตบอลโลก 2002 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นใบเบิกทาง ให้นักเตะเกาหลีใต้ มีพื้นที่ค้าแข้งในฟุตบอลยุโรป และพัฒนาฝีเท้า จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลระดับแถวหน้า อย่างสมบูรณ์แบบในปัจจุบัน

ขณะที่ฟุตบอลในประเทศ ได้รับอานิสสงค์อย่างมาก จากฟุตบอลโลก 2002 ยอดคนดูลีกสูงสุดของเกาหลีใต้ อย่างเคลีก เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น … โดยในปี 2002 เคลีกมีผู้ชมค่าเฉลี่ยในสนาม สูงถึง 14,651 คน และมีค่าเฉลี่ยผู้ชมถ่ายทอดทางโทรทัศน์ต่อเกม สูงถึง 2 ล้านคน 

เมื่อฟุตบอลเกาหลีใต้ กลายเป็นที่เปิดรับทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลให้ทั้งรัฐบาล และกลุ่มทุนในเกาหลีใต้ หันมาสนใจที่จะลงทุน และพัฒนาฟุตบอล อย่างเป็นจริงเป็นจัง มีการพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ ดึงบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ

ทำให้เกาหลีใต้ สามารถผลิตนักเตะคุณภาพดี ส่งออกไปเล่นในยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในระดับสโมสร ทีมจากเกาหลีใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ ในการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีป 

หลังจากฟุตบอลโลก 2002 จบลง สโมสรจากเกาหลีใต้ คว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ได้ถึง 5 สมัย และเป็นรองแชมป์อีก 2 ครั้ง ไม่มีประเทศไหนคว้าแชมป์ และเข้าชิงชนะเลิศ ได้บ่อยเท่าเกาหลีใต้อีกแล้ว


Photo : www.arabianbusiness.com

ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของเกาหลีใต้ ในปี 2002 ช่วยให้เยาวชนของประเทศจำนวนมาก เกิดความฝันอยากเป็นนักฟุตบอล มีเด็กจำนวนมากที่เข้าสู่กระบวนการสร้างนักฟุตบอลอาชีพ ของประเทศเกาหลีใต้ หลังจากนั้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เกาหลีใต้ ได้นักเตะที่มีพรสวรรค์จำนวนมาก เป็นทรัพยากรของประเทศ

“พัค จีซง คือไอดอลของผม เขาเป็นนักเตะที่เก่งที่สุด สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ผมมีความทรงจำที่ดีมากมายกับฟุตบอลโลก 2002 ผมดูผ่านทีวี ผมจำตอนที่เราชนะยิงจุดโทษสเปนได้ คนรอบตัวผม คลั่งกันแทบบ้า” 

“ผมเลือกความทรงจำที่ดี ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น ไม่ได้หรอก เพราะทุกอย่างมันสุดยอดไปหมด คนทั้งประเทศใส่เสื้อสีแดง ผมก็ใส่ แต่สำหรับผม การชนะอิตาลี และสเปน คือสิ่งที่ผมภูมิใจมาก ไม่ง่ายเลยที่จะชนะทีมเหล่านี้ แน่นอนว่าเราได้เปรียบที่เป็นเจ้าภาพ แต่คุณกล้าบอกเหรอว่า พวกเราไม่ได้เล่นดี” ซน ฮึงมิน ยอดนักเตะชาวเกาหลีใต้ กล่าวถึงความทรงจำ และอิทธิพลของฟุตบอลโลก 2002 ต่อตัวเขา


Photo : www.the-afc.com

สุดท้าย ไม่ว่าคนทั่วโลกจะมองความสำเร็จ ของทีมชาติเกาหลีใต้ ในฟุตบอลโลก 2002 อย่างไร … ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือความสำเร็จครั้งนั้น ส่งผลให้เกาหลีใต้ กลายเป็นชาติแถวหน้าของวงการลูกหนังจนถึงทุกวันนี้ แม้จะดูไม่ใสสะอาดก็ตาม

แต่หากไม่มีชัยชนะ เหนืออิตาลี และสเปน ในวันนั้น … วันนี้เกาหลีใต้ อาจไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบสอง แบบใสสะอาด ในฟุตบอลโลก 2010, ไม่มี พัค จีซอง ที่เล่นให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ ซน ฮึงมิน กับ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส, ไม่มีความยิ่งใหญ่ของสโมสรเกาหลีใต้ ในฟุตบอลระดับทวีป, ไม่ได้ก้าวเป็นทีมฟุตบอลแุถวหน้าของเอเชีย แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.fifa.com/worldcup/news/son-i-m-enjoying-every-moment
https://www.taegukwarriors.com/korean-football-reform-k-league-attendance/
https://www.vice.com/en_uk/article/ywgx4y/how-the-2002-world-cup-became-the-most-controversial-tournament-in-recent-memory
https://www.youtube.com/watch?v=70YBjA0bLFM
https://www.youtube.com/watch?v=fQ_uuwnYba8
https://bleacherreport.com/articles/1816979-world-cup-revisited-2002-korea-and-japan

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ไอ้ต้าวความรัก!! "ลี ดา-ยอง" มือเซ็ตเน็ตไอดอลจากแดนกิมจิ (ภาพ+คลิป)

>> โซโล่เดี่ยว 90 หลา!! "ซน" คว้าลูกยิงยอดเยี่ยมพรีเมียร์ลีกประจำซีซั่น (ชมคลิป)

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station

– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่

– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้