โยคะเป็นกีฬาที่เป็นที่รู้จัก และนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว คำว่าโยคะมาจากคำว่า “Yuj” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า การเชื่อมโยง หรือความเป็นหนึ่งเดียวกัน โยคะจึงหมายถึงวิธีการปฏิบัติแบบโบราณที่ผสมผสานส่วนของร่างกายและจิตใจ ประโยชน์หลัก ๆ ของโยคะก็คือการปรับปรุงความยืดหยุ่นและสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย นอกจากนี้การเล่นโยคะยังต้องคำนึงถึงการหายใจ ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการออกกำลังกายประเภทนี้ โยคะจึงไม่ได้มีผลแค่กับร่างกายของเรา แต่ยังมีผลต่อจิตใจอีกด้วยเช่นกันค่ะ ท่าโยคะแต่ละท่าถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียดไปในตัว คนส่วนใหญ่พูดถึงประโยชน์ของกีฬาชนิดนี้ว่ามีมากมายและหลายหลาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนคำกล่าวที่หลายคนกล่าวอ้าง จึงมีนักวิจัยพยายามทำการทดสอบ ว่าการเล่นโยคะจะมีผลต่อผู้ทดสอบในด้านไหนบ้าง เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงนั้น ๆ เราลองไปดูงานวิจัยเหล่านี้กันเลยค่ะ ภาพโดย mohamed Hassan จาก Pixabay 1. บรรเทาความวิตกกังวลและความซึมเศร้า จากงานวิจัยที่ชื่อ "Effects of yoga on depression and anxiety of women." ของ Javnbakht M1, Hejazi Kenari R และ Ghasemi M. งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการจะประเมินอิทธิพลของโยคะในการบรรเทาอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าในผู้ป่วยหญิงค่ะ โดยนักวิจัยได้แบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่หนึ่งจะถูกส่งไปเข้าร่วมคลาสโยคะสองครั้งต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 จะไม่ได้รับการเข้าร่วมคลาสโยคะ ผลออกมาคือค่าเฉลี่ยอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลของกลุ่มแรกลดลง ส่วนค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 2 ไม่ลดลงและยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกด้วย งานวิจัยนี้ทำให้เราเห็นเลยนะคะว่าโยคะอาจถูกใช้เป็นทางเลือกสำหรับการรักษาหรือสามารถที่จะเป็นการบำบัดเสริมทางการแพทย์ในการรักษาโรควิตกกังวลได้ค่ะ แต่ไม่ใช่กับผู้ป่วยอย่างเดียวนะคะ คนปรกติอย่างเราหากได้ลองฝึกโยคะก็น่าจะช่วยลดอาการความเครียดความกังวลต่าง ๆ ที่เรามีด้วยก็ได้ค่ะ ภาพโดย GMB Monkey จาก Unsplash 2. เพิ่มความแข็งแรงให้กับสุขภาพหัวใจ หัวใจของคนเราเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อร่างกายของเรา เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ดังนั้นถ้าเรามีหัวใจที่แข็งแรงแรงก็จะหมายถึงการมีสุขภาพองค์รวมที่ดีของเราเอง มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าโยคะน่าจะช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจของเรา รวมถึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขึ้นได้ค่ะ ลองสักหนึ่งงานวิจัยนะคะ กับงานวิจัยที่ชื่อว่า "Effect of yoga on the cardiovascular system in subjects above 40 years." ของ Bharshankar, Deshpande, Kaore, และGosavi งานวิจัยนี้จะศึกษาผลของการฝึกโยคะต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีค่ะ เปรียบเทียบโดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ไม่ออกกำลังกายทุกชนิด และ กลุ่มที่ 2 เล่นโยคะมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ผลสรุปคือกลุ่มที่ 2 มีความดันโลหิตและอัตราชีพจรต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นโยคะค่ะ สำหรับความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจค่ะ เช่นโรคหัวใจวาย รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าเราสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาเหล่านี้ได้ และโยคะก็คือหนึ่งในการออกกำลังกายที่ช่วยได้นะคะ ภาพโดย Fezbot2000 จาก Unsplash 3. ช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง อาการปวดเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยโรคต่าง ๆ สร้างความรำคาญใจให้กับคนจำนวนมากอยู่เสมอ มีผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งบอกว่าโยคะอาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดอาการเจ็บปวดเหล่านี้ได้ค่ะ อย่างงานวิจัยที่ชื่อ “Iyengar yoga for treating symptoms of osteoarthritis of the knees: a pilot study.” ของKolasinski และคณะ ที่ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้โยคะรักษาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยผู้ป่วยจะต้องเข้าร่วมคลาสโยคะแบบไอเยนก้าทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 90 นาที เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเปรียบเทียบอาการปวดข้อเข่าช่วงก่อนและหลังฝึกโยคะ ผลการทดสอบพบว่าอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง มีอาการปวดข้อเข่าน้อยลงหลังจบคลาสโยคะอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการฝึกโยคะอาจเป็นทางเลือกในการช่วยลดความเจ็บปวดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นถ้าหากคนปรกติอย่างเรา ๆ ที่ไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่ได้รับการฝึกโยคะ ก็น่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยในอนาคตได้นะคะ ภาพโดย kike vega จาก Unsplash 4.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอน การนอนส่งผลต่อร่างกายเป็นอย่างมาก หากการนอนของคุณนั้นมีคุณภาพจะส่งผลให้ร่างกายของคุณซ่อมแซมตัวเองได้อย่างเต็มที่ ตื่นเช้ามาจะรู้สึกสดใส มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับวันใหม่ ส่วนคนที่นอนไม่พอนั้นมักจะตื่นมาอย่างไม่เต็มอิ่ม นั่นเป็นเพราะร่างกายของคุณไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ นอกจากนี้ คุณภาพการนอนที่ไม่ดียังส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคซึมเศร้า และความดันโลหิตสูงอีกด้วยค่ะ งานวิจัยหัวข้อ “Effects of Hatha yoga and Omkar meditation on cardiorespiratory performance, psychologic profile, and melatonin secretion” ของ Harinath และคณะ เป็นการศึกษาผลของการทำหฐโยคะ และ Omkar ต่อสมรรถภาพของระบบทางเดินหายใจ สมรรถภาพหัวใจ และการหลั่งเมลาโทนิน โดยใช้ผู้ทดสอบ 30 คนเป็นผู้ชายสุขภาพแข็งแรง อายุ 25-30 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ฝึกโยคะและกลุ่มที่ไม่ฝึกโยคะ ระยะเวลาทดสอบ 3 เดือน โดยจะมีการวัด อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, อัตราการหายใจ และการทำงานของปอดก่อนและหลังของการฝึกโยคะ มีการดึงตัวอย่างเลือดออกมาเป็นระยะ ๆ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของโยคะต่อระดับเมลาโทนิน ผลสรุปว่าการฝึกโยคะเป็นเวลา 3 เดือนส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและระบบทางเดินหายใจดีขึ้น และพบว่าสารเมลาโทนินก็เพิ่มขึ้นด้วย ตัวเมลาโทนินนี้มีผลต่อการนอนหลับของคนเราค่ะ โดยเมลาโทนินจะควบคุมการนอนหลับ ช่วยให้เราผ่อนคลาย ทำให้อุณหภูมิร่างกายเราลดลง ถ้าร่างกายเรามีการสร้างเมลานินน้อยลง เราจะมีปัญหาในการนอนค่ะ ดังนั้นเมื่อโยคะช่วยเพิ่มเมลานินได้ โยคะจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนของเราด้วยนั่นเอง ภาพโดย Avrielle Suleiman จาก Unsplash 5. ช่วยส่งเสริมนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพ สุขนิสัยการกินที่ดี คือการกินแบบมีสติ หรือ Mindful eating แนวคิดการกินแบบนี้หมายความว่าคุณจะต้องพิจารณาสิ่งที่คุณกำลังจะกิน ทั้งรูปลักษณะ เนื้อสัมผัส กลิ่น รสชาติ รวมไปถึงที่มาและประโยชน์ของอาหารเหล่านั้นด้วย การกินแบบมีสติส่งเสริมไปถึงพฤติกรรมการเลือกอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงสุขภาพร่างกายของเราด้วย แล้วโยคะสัมพันธ์กับนิสัยการกินที่ดีอย่างไร ต้องบอกว่าเพราะแก่นของโยคะอีกหนึ่งอย่างคือการพิจารณาลมหายใจ นั่นทำให้คุณมีสมาธิมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันรวมถึงกิจกรรมการกิน มีงานวิจัยที่ทำการทดสอบในเรื่องนี้ งานวิจัยนี้มีชื่อว่า "Randomized Controlled Clinical Trial of Yoga in the Treatment of Eating Disorders" โดย Tiffany Rain Carei และคณะ งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ของการฝึกโยคะกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคการกินที่ผิดปรกติ โดยกลุ่มตัวอย่างคือเด็กผู้หญิง 50 คนและเด็กชาย 4 คนอายุ 11–21 จะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม มีกลุ่มทีได้รับการฝึกโยคะ และกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกโยคะ หลังจากนั้นจะมีการวิเคราะห์ร่วมกับแพทย์และนักโภชนาการทุกสัปดาห์ ผลการศึกษาเป็นไปตามที่คาดการณ์คือเด็ก ๆ ที่ได้รับการฝึกโยคะ ได้รับคะแนนในเรื่องของพฤติกรรมการกินดีขึ้น ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกโยคะ และหลังจากที่หยุดการทดลอง เด็ก ๆ ที่ได้รับการฝึกโยคะกลับได้รับคะแนนพฤติกรรมการกินลดลงมา ชี้ให้เห็นว่าโยคะมีผลต่อพฤติกรรมการกินนั่นเองค่ะ ภาพโดย Welcome to all and thank you for your visit ! ツ จาก Pixabay จากข้อมูลทั้งหมด เราพอจะเห็นภาพอย่างคร่าว ๆ ว่าเพราะอะไรและทำไมผู้คนจึงได้หันมาเล่นโยคะกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากผลประโยชน์ที่เราได้รับทางร่างกายโดยตรงแล้วนั้น เรายังได้รับประโยชน์ทางอ้อมคือได้รับการพัฒนาจิตใจไปพร้อมกันด้วย โยคะจึงไม่ใช่แค่การออกกำลังกายชนิดหนึ่ง แต่คือวิถีปฏิบัติที่ผสมผสานทั้งกายและใจ หวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจคำว่าโยคะมากขึ้น และอยากลองหันมาหัดเล่นกีฬาชนิดนี้กันนะคะ *ภาพหน้าปกโดย Kaylee Garrett จาก Unsplash