การ "ดริฟท์" หลายคนคงจะรู้จักมันดีผ่านทางภาพยนตร์แนวแข่งรถหรือจากการ์ตูนญี่ปุ่น กับการทำให้รถลื่นไถลออกโดยที่ไม่หลุดโค้ง เป็นการเข้าโค้งที่ใช้ความเร็วสูงพร้อมกับการควบคุมคันเร่งกับพวงมาลัยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จนอาจจะเรียกว่ามันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งการ "ดริฟท์" แบบนี้คงจะมีภาพจำว่าต้องแข่งกันบนภูเขา ถนนสาธารณะแบบผิดกฎหมาย แต่ว่ามันมีการแข่งขันรายการหนึ่ง ที่เป็นการดริฟท์แบบถูกกฎหมายและโด่งดังไปทั่วประเทศญี่ปุ่นกับรายการที่ชื่อ D1 Grand Prix รายการ D1 Grand Prix เป็นศึกการแข่งขันที่เน้นการดริฟท์ของมืออาชีพโดยเฉพาะ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2000 จากผู้หลงไหลการดริฟท์ทั้งสองท่านคือคุณ Daijiro Inada ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Option กับ Tokyo Auto Salon และคุณ Keiichi Tsuchiya ตำนานนักดริฟท์ที่มีฉายาว่า Drift King ซึ่งก่อนหน้านี้การแข่งดริฟท์แรกเริ่มเดิมทียังเป็นการแข่งบนภูเขาที่เรียกว่า Touge (โทเกะ) ครับ ที่มารูปภาพ: MisteryMoe จาก Pixabay ซึ่งการแข่งขันแบบโทเกะมันก็มีความก้ำกึ่งของคำว่าผิดกฎหมายอยู่ครับเพราะเป็นการแข่งรถในถนนสาธารณะ อีกทั้งการขับแบบดริฟท์เองก็เป็นเทคนิคการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ดังนั้นแนวคิดที่ว่าหากนำเทคนิคแบบนี้มาแข่งขัน มีการตัดสินกันโดยเฉพาะมันคงจะน่าสนใจและเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์แน่นอน ต่อมาในช่วงปี 1999 ถึงปี 2000 ทั้งสองท่านก็ได้มีการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแข่งดริฟท์อย่างจริงจัง เลยมีการจัดรายการแข่งขันแบบมืออาชีพโดยใช้ชื่อเดิมว่า All Japan Professional Drift Championship ณ สนาม Ebisu Circuit ในจังหวัด Fukushima ท่ามกลางผู้ชมกว่า 300 คน จนในปี 2001 จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น D1 Grand Prix เพื่อความง่ายในการเรียก ที่มารูปภาพ: WikimediaImages จาก Pixabay จากประวัติข้างต้นฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกกับการจัดแข่งรายการมอเตอร์สปอร์ตอีกรายการ แต่สิ่งที่พิเศษของ D1 Grand Prix ที่ไม่เหมือนรายการแข่งรถอื่น ๆ เลยคือ การตัดสินที่เน้นทักษะการคุมรถ / การบริหารจัดการหน้ายาง / โชว์ที่สมบูรณ์แบบ จะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องชิงชัยกันด้วยการแซง เพียงแค่เข้าโค้งด้วยมุมที่ถูกต้องและโชว์ที่สวยงาม แม้ว่าจะถูกทิ้งท้ายแต่ถ้าไม่หลุดโค้งก็มีสิทธิ์ได้คะแนนสูงกว่ารถคันหน้า ประกอบกับการเคารพการแข่ง Touge ที่เป็นต้นกำเนิด จึงได้มีการนำรูปแบบการแข่งบนภูเขาถ่ายทอดสู่งบนถนนเซอร์กิตด้วยครับ ซึ่ง D1 Grand Prix จะมีการแข่งแบบ Solo หรือที่เรียกว่า Tanso นักแข่งจะทำการดริฟท์ปล่อยให้รถไถลผ่านโค้งต่าง ๆ โดยจะมีเกณฑ์ตัดสินอยู่ที่การเข้าไลน์ให้ถูก ทำมุมตอนเข้าโค้งให้ถูกต้อง ขณะที่รถต้องเร่งความเร็วตลอดเวลา บวกกับความสวยงามการดริฟท์ให้ชิดกำแพงหรือเอเป็กซ์ให้มากที่สุด เมื่อมีแข่งเดี่ยวก็ต้องมีแข่งคู่ครับซึ่งจะเรียกกันว่า Tsuiso เป็นการแข่งไล่กวดกัน ซึ่งการแข่งแบบนี้จะน่าสนใจตรงที่ว่าเราจะได้เห็นรถคันด้านหลังดริฟท์ไล่กวดรถด้านหน้าให้ใกล้ชิดมากที่สุดครับ หากดริฟท์ได้ใกล้และทำความเร็วได้ดีก็จะได้คะแนนไป ขณะที่รถคันหน้าจะต้องเข้าโค้งให้ถูกไลน์และต้องเร่งหนี ต้องควบคุมไม่ให้รถหมุนไปเสียก่อน ฟังดูอาจง่ายแต่ความเป็นจริงเป็นอะไรที่กดดันมาก ๆ ครับ ที่มารูปภาพ: dimitrisvetsikas1969 จาก Pixabay สำหรับสนามแข่งในหนึ่งฤดูกาลก็จะผลัดเปลี่ยนสนามกันไปอย่างเช่น Autopolis, Eibisu Circuit, Tsukuba Circuit, Central Circuit ซึ่งจะมีจำนวนโค้งที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือความโหดของโค้งที่ท้าทายนักแข่งทุกคน ถึง D1 จะเป็นการแข่งรายการหลักของญี่ปุ่น แต่ก็มีนักแข่งต่างชาติเข้าร่วมได้อย่างคุณ "ปอนด์" เดชะพล โตยิ่งเจริญ นักแข่งไทยที่คว้ารองชนะเลิศในปี 2018 เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่คว้าชัยครั้งนี้ ด้วยการแข่งที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ย่อมเป็นที่ถูกใจหลายคนจนมีการนำรายการ D1 ไปแข่งขันต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, มาเลเซีย, นิว ซีแลนด์ รวมถึงประเทศไทยก็เคยมีการจัดแข่ง D1 Grand Prix Thailand Series มาแล้วเมื่อปี 2012 ครับ อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะมีแต่นักแข่งที่สัมผัสความมันส์ในสนาม ทางด้านผู้ชมเองก็สามารถสัมผัสกับประสบการณ์สุดยอดนี้ได้ผ่านทางม้านั่งคนดูที่รองรับมากมาย พร้อมกับการได้เห็นรถยนต์สายซิ่งขับเคลื่อนล้อหลังจากญี่ปุ่นล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็น Nissan 180SX, Toyota 86, Nissan Silvia, Toyota AE86, Mazda RX-7 หรือจะเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อแต่สามารถนำมาดัดแปลงให้ขับหลังก็ทำได้เหมือนกันอย่าง Nissan GT-R ที่มารูปภาพ: J R จาก Pixabay จึงเรียกได้ว่า D1 Grand Prix เป็นรายการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตที่ไม่ธรรมดา มีประวัติที่มาอันน่าสนใจ ใครที่เป็นคอความเร็วหรือเป็นผู้หลงไหลในการดริฟท์ล่ะก็ ต้องหาโอกาสมาดูการแข่ง D1 Grand Prix ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ได้ครับ ที่มารูปภาพปก: Baldur93 จาก Pixabay