จากมังงะเรื่อง SAYONARA FOOTBALL สู่โลกจริง : “ผู้หญิงเล่นฟุตบอลในทีมชายได้จริงไหม ?” | Main Stand
สำหรับสายมังงะฟุตบอลแล้ว … เรื่องที่อยู่ในใจของคุณผู้อ่านคงหนีไม่พ้น กัปตันสึบาสะ, ชู้ต! (Shoot!), สิงห์สนาม (Area no Kishi) รวมถึง วิวา กัลโช่ (Viva Calcio) และอาจมีเรื่องอื่น ๆ อีก
ทุกเรื่องที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นมังงะที่มีตัวละครชายเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง แต่ไม่ใช่กับ “Sayonara Football” ที่ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง และไม่ใช่ในตำแหน่งผู้จัดการทีมเหมือนกับในมังงะเรื่องอื่น ๆ แต่เป็นนักฟุตบอลที่มีความมุ่งมั่นจะลงแข่งขันฟุตบอลชายให้ได้
ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปและการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น มังงะเรื่องนี้จึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงในการเอาชนะขีดจำกัดของร่างกายเพื่อลงเล่นในทีมชายให้ได้
Main Stand จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับมังงะเรื่องนี้ และเล่าถึงความเปลี่ยนไปของโลกฟุตบอลที่ผู้หญิงได้เริ่มเข้ามาสร้างความท้าทายในโลกฟุตบอลชาย แม้จะต้องฝ่าฟันข้อจำกัดมากมาย
ติดตามได้ที่นี่ Main Stand
เรื่องสะท้อนสังคมญี่ปุ่นจาก Sayonara
Sayonara Football (さよならフットボール) คือผลงานมังงะฟุตบอลที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงปี 2009 – 2010 จำนวน 2 เล่มจบ จากปลายปากกาของนักเขียนที่ชื่อ นาโอชิ อาราคาวะ เจ้าของผลงานมังงะชื่อดังอย่าง Your Lie in April หรือในชื่อไทยว่า เพลงรักสองหัวใจ
Photo : yahoo.co.jp
หลังจากนั้น Farewell, My Dear Cramer หรือ Sayonara Watashi no Cramer (さよなら私のクラマー) มังงะภาคต่อของ Sayonara Football โดยนักเขียนคนเดิมก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงใน Shonen Magazine นิตยสารรายเดือนของสำนักพิมพ์โคดันฉะ ระหว่างปี 2016 – 2020 ทั้งหมด 14 เล่มจบ
มังงะทั้งสองถูกนำมาสร้างเป็นผลงานอนิเมชัน 2 เรื่องอย่าง Sayonara Watashi no Cramer ทีวีอนิเมะ 13 ตอนจบในปี 2021 โดยดัดแปลงมาจากมังงะ Farewell, My Dear Cramer และภาพยนตร์ Sayonara Watashi no Cramer Movie: First Touch ที่ดัดแปลงมาจากมังงะ Sayonara Football และออกฉายในปีเดียวกัน
Sayonara Football เริ่มด้วยเรื่องราวของ โนโซมิ อนดะ นักเรียนหญิงชั้น ม.2 ผู้หลงใหลในกีฬาฟุตบอลและอยากลงเล่นในเกมการแข่งขัน แต่โรงเรียนของเธอกลับไม่มีชมรมฟุตบอลหญิงทำให้เธอจำต้องไปอยู่ในชมรมฟุตบอลชาย และถึงแม้เธอจะมีทักษะในการเลี้ยงบอลที่สูงมากก็ตาม แต่ด้วยความที่ตัวเธอที่เป็นผู้หญิงทำให้เธอไม่สามารถต่อกรกับนักฟุตบอลชายที่มีสมรรถภาพทางร่างกายที่สูงกว่าได้
บวกกับโค้ชที่เห็นว่าการที่เธอลงเล่นฟุตบอลกับผู้ชายจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ จึงตัดสินใจไม่ส่งเธอลงสนามอีก หลังเคยส่งเธอลงสนามไปแล้วครั้งหนึ่งจนเธอได้รับบาดเจ็บหนักจากการเข้าปะทะกับนักฟุตบอลชาย
แต่ด้วยความกระหายของเธอที่อยากจะพิสูจน์ว่า “ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถลงเล่นในทีมฟุตบอลชายได้” ทำให้เธอไม่ยอมแพ้และมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีชื่อติดทีมไปแข่งให้ได้ เธอจะสามารถทำได้หรือไม่เราขอยุติการสปอยล์ไว้แต่เพียงเท่านี้ เพื่อให้ทุกคนได้ไปหาอ่านหาชมกัน
Photo : ramenparados.com
ส่วนผลงานอนิเมชันภาพยนตร์อย่าง Sayonara Watashi no Cramer Movie: First Touch ที่ดัดแปลงมาจากมังงะ Sayonara Football นั้นก็ได้รับคำชมมากมายจากคอการ์ตูนและเหล่านักเตะหญิงทีมชาติญี่ปุ่น
“ตัวหนังได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นจริงในโลกของฟุตบอลหญิง และฉันเองก็มีประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันกับในตัวหนัง” ชิกะ ฮิราโอะ ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นหญิง กล่าวความรู้สึกหลังได้รับชม
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ดูให้ดี การที่ผู้หญิงอย่าง อนดะ ต้องไปอยู่ในชมรมฟุตบอลชายเนื่องจากโรงเรียนของเธอไม่มีชมรมฟุตบอลหญิง และต้องต่อสู้เพื่อจะได้ลงเล่นฟุตบอลกับผู้ชายมาจากปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พวกเขากลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศอันดับท้าย ๆ ในเรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
จากดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศเมื่อปี 2021 ที่สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) จัดขึ้น ได้เรียงอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศน้อยไปหามากที่สุด พวกเขาได้จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 120 จากทั้งหมด 156 ประเทศ จากค่าเฉลี่ยในเรื่องเงินเดือนเมื่อปี 2020 ที่ผู้หญิงได้รับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 251,000 เยน (ราว 66,600 บาท) ในขณะที่ผู้ชายได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 338,000 เยน (ราว 89,600 บาท) ที่มากกว่าผู้หญิงถึง 87,000 เยน (ราว 23,000 บาท) ซึ่งเป็นระยะห่างที่มากขึ้นกว่าในปีก่อน ๆ
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคม “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยทัศนคติของคนญี่ปุ่นในอดีตที่คิดว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงจะต้องทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก จึงทำให้ผู้หญิงในสังคมการทำงานในญี่ปุ่นเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร
“ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ดีจะต้องรู้จักประพฤติตัวและไม่ทำตัวโดดเด่นยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้” โทโมมิ อินาดะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น กล่าวถึงทัศนคติของผู้ชายในอดีตที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในญี่ปุ่นยังส่งผลไปถึงโลกของกีฬาในญี่ปุ่นผ่านตำแหน่ง ๆ หนึ่ง ตามชมรมกีฬาในแต่ละโรงเรียนของญี่ปุ่นอย่าง “ผู้จัดการหญิง” หรือที่เรียกว่า “โจชิมาเนะ (Joshi Mane)”
Photo : www.asahi.com
เพราะการที่บางโรงเรียนไม่ได้มีชมรมกีฬาสำหรับผู้หญิงจึงทำให้ตำแหน่งนี้กลายเป็นตำแหน่งเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้อยู่กับกีฬาที่เธอรัก ซึ่งก็ต้องแลกมากับการแบกรับหน้าที่อันมหาศาล ตั้งแต่การดูแลสภาพความเป็นอยู่ของนักกีฬาภายในทีม พูดคุยให้กำลังใจกับนักกีฬา รวมถึงการจัดเตรียมเครื่องดื่มให้กับนักกีฬาในเวลาซ้อมหรือแข่ง จนทำให้พวกเธอไม่มีเวลาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และส่งผลในด้านลบให้กับร่างกายและจิตใจของพวกเธอ
ตำแหน่งผู้จัดการหญิงในชมรมกีฬาสะท้อนให้เห็นถึงสังคมชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น จากการที่ผู้หญิงที่มีใจรักกีฬาไม่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันให้มีโอกาสที่จะได้เดินทางตามความฝันของตัวเอง เนื่องจากถูกสังคมกีดกันไม่ให้ได้เล่นกีฬาบางชนิดที่สังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นกีฬาของลูกผู้ชาย เช่น เบสบอล หรือ ฟุตบอล ทำให้พวกเธอต้องหันมาเป็นผู้จัดการหญิงเพื่อให้พวกเธอได้มีโอกาสที่จะได้อยู่กับกีฬาที่พวกเธอรัก
สำหรับญี่ปุ่นการที่ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้เล่นฟุตบอลกับผู้ชายอาจจะเป็นเพราะเรื่องของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่สำหรับสากลโลกการที่ผู้หญิงจะเล่นฟุตบอลร่วมกับผู้ชายมันเป็นเรื่องที่ยากเกินไปด้วยข้อจำกัดในด้านสรีรศาสตร์
ลงลึกด้วยเหตุผลทางกายภาพ
ความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดบ่อย ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเล่นกีฬา คือความแตกต่างกันของ “ระดับฮอร์โมนในร่างกาย” โดยผู้หญิงจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าและระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าผู้ชาย
สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในด้านสรีระของผู้ชาย ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายที่ต่ำ มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงที่มาก หรือแม้แต่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย
นอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้วนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา พบว่าผู้ชายมีเส้นใยกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสร้างแต้มต่อในการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี โดยอธิบายว่า
“ผู้หญิงจะมีความแข็งแรงแค่ประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์และ 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายในร่างกายส่วนบนและส่วนล่างตามลำดับ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าความแข็งแกร่งที่มากกว่าของผู้ชายนั้นเกิดจากเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีมากกว่าเป็นหลัก”
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ในเมืองคอร์ตแลนด์ ยังได้ทำการสำรวจกลุ่มนักวิ่งระยะกลางและไกลชายและหญิงจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา ในกีฬาประเภทกรีฑา และพบว่า
“เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการวิ่ง ผู้ชายจะใช้ออกซิเจนน้อยกว่า และเมื่อเปรียบเทียบผู้ชายกับผู้หญิงที่มี VO2max (ปริมาณการใช้ออกซิเจนเมื่อออกกำลังอย่างเต็มกำลังที่สุด) เท่ากัน ผู้ชายจะใช้ได้ประหยัดกว่าอย่างเห็นได้ชัด”
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ผู้ชายจะมีความจุปอดที่มากกว่าในการส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อที่กำลังทำงานหนักแล้ว พวกเขายังมีฮีโมโกลบินในเลือดที่มากกว่าอีกด้วย ซึ่งฮีโมโกลบินเป็นโมเลกุลที่จะช่วยในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ดังนั้นการมีฮีโมโกลบินจำนวนมากจะช่วยให้ผู้ชายมีความทนทานต่อการยืนระยะยาวในสนามได้ดีกว่าผู้หญิง
ทางด้านข้อมูลสถิติเอง ไอรา แฮมเมอร์แมน นักฟิสิกส์ชาวอิสราเอล ได้นำเสนอข้อค้นพบของเขาในงาน Wingate Congress of Exercise & Sports Sciences เมื่อปี 2010 โดยเขากล่าวว่า
“สถิติโลกด้านความเร็วของผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสถิติโลกด้านความเร็วของผู้ชาย ทั้งการแข่งขันกีฬาในระยะทางสั้น กลาง และไกล”
Photo : thecomeback.com
จากการที่แฮมเมอร์แมนได้วิเคราะห์การแข่งขันกีฬาทั้งหมด 82 รายการ เช่น กรีฑา ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน พายเรือ ฯลฯ พบว่าสถิติโลกของผู้หญิงในทุกรายการนั้นช้ากว่าสถิติโลกของผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 10 - 20 เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลดังกล่าวก็ยังคงเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 55 ปี นับตั้งแต่ปี 1950 จนถึง 2005 จากสถิติที่เขาได้ทำการรวบรวมในเวลานั้น
เมื่อดูคำอธิบายจากหลักการทางวิทยาศาสตร์และสถิติ รวมถึงกฎ 90 เปอร์เซ็นต์ของแฮมเมอร์แมนแล้วจึงสรุปได้ว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะสามารถเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ ได้เก่งเท่าผู้ชาย ซึ่งรวมไปถึงฟุตบอลด้วย
หนึ่งในเคสตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่างกันของสมรรถภาพทางร่างกายระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่ส่งผลต่อการเล่นฟุตบอล คือเรื่องราวที่ครั้งหนึ่ง สเตฟานี ลาบเบ อดีตผู้รักษาประตูหญิงทีมชาติแคนาดา เคยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมกับทีมฟุตบอลชายของ คาลการี ฟุตฮิลส์ สโมสรแห่งหนึ่งในแคนาดา เมื่อปี 2018 และทำให้เธอได้พบกับปัญหาบางอย่างเมื่อต้องเล่นฟุตบอลกับผู้ชาย
“ฉันเสียเปรียบทางด้านร่างกายกับผู้ชายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่จังหวะที่ฉันต้องกระโดดรับลูกกลางอากาศไปจนถึงจังหวะที่ต้องเข้าไปปิดมุมการยิงประตูของคู่แข่ง” ลาบเบ กล่าวกับทาง Wired
นอกจากนี้เธอเคยมีความพยายามที่จะลงเล่นกับสโมสรแห่งนี้ในลีกฟุตบอลกึ่งอาชีพชายของแคนาดา (PDL) แต่เธอกลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลว่า PDL เป็นลีกที่กำหนดเรื่องเพศเอาไว้แล้ว ทำให้ลาบเบไม่สามารถลงเล่นให้กับทีมฟุตบอลชายของ คาลการี ฟุตฮิลส์ ได้
แต่ใช่ว่าผลทางวิทยาศาสตร์รวมถึงบริบททางสังคมของญี่ปุ่นจะสามารถใช้ในการตัดสินข้อสงสัยที่ว่า ผู้หญิงไม่สามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้เสมอไป
เพราะก็มีผู้หญิงบางคนที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเธอสามารถเล่นฟุตบอลร่วมกับผู้ชายได้
ผู้หญิงในทีมชายจากโลกจริง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า Sayonara Football คือเรื่องราวของเด็กสาวที่อยากจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถลงเล่นฟุตบอลในทีมฟุตบอลชายได้ และบทพิสูจน์นี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในโลกแห่งความเป็นจริง
เมื่อปี 2020 เอลเลน ฟอคเคมา เด็กสาวจากเนเธอร์แลนด์วัย 19 ปี ผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะลงเล่นฟุตบอลกับเพื่อนผู้ชายที่เธอเล่นด้วยกันมาตั้งแต่ 5 ขวบ แต่ด้วยกฎของฟุตบอลในประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงลงเล่นกับผู้ชายได้ในรูปแบบของทีมเยาวชนผสมจนถึงอายุ 19 ปี ทำให้เธอไม่สามารถลงเล่นร่วมกับเพื่อนของเธอที่อยู่ในทีมชุดใหญ่ได้
ถึงแม้ วีวี โฟอารุต (VV Foarút) สโมสรฟุตบอลในดิวิชั่น 4 ของเนเธอร์แลนด์จะมีทีมสำรองชาย ซึ่งเธอสามารถลงเล่นได้ แต่เธอต้องการที่จะเล่นในทีมชุดใหญ่มากกว่า ดังนั้นทางสโมสรจึงขอให้ทางสมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ (KNVB) ช่วยเปิดทางให้เธอได้ทำตามความฝัน
"สำหรับฉันมันเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่มีแรงกดดันใด ๆ เลย ฉันคิดในใจว่า 'ทำไมจะลงเล่นไม่ได้ล่ะ'" ฟอคเคมา อธิบายความรู้สึกของเธอกับทางสำนักข่าว BBC
ในตอนแรก KNVB ปฏิเสธคำขอ แต่ทาง ฟอคเคมา เองก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้แต่อย่างใด
ออเก้ กริปมา ผู้อำนวยการเทคนิคของสโมสรสมัครเล่นแห่งนี้ กล่าวว่า "ทางบอร์ดบริหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้ชของเธอ โยฮัน โพลสตรา ได้ติดตามพัฒนาการของเธอและเห็นว่าเธอสามารถลงเล่นในฟุตบอลระดับนี้ได้"
"นั่นเป็นเหตุผลที่เรายังคงหาทางที่จะทำให้เธอเข้าร่วมลีกฟุตบอลชายให้ได้"
จนในที่สุดความพยายามของพวกเขาก็เป็นผล หลังการร้องขอเป็นครั้งที่สอง ทาง KNVB ก็ได้อนุมัติให้ ฟอคเคมา ได้ทดลองลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ในฤดูกาล 2020/21 เป็นเวลา 1 ฤดูกาล เพื่อประเมินว่าผู้หญิงจะสามารถลงแข่งขันในเกมฟุตบอลของทีมชุดใหญ่ชายได้หรือไม่
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ฟอคเคมา กลายเป็นที่สนใจสำหรับสื่อต่าง ๆ หลังเธอได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ลงเล่นในเกมการแข่งขันของทีมชุดใหญ่ชายในลีกฟุตบอลเนเธอร์แลนด์
“สำหรับเรามันเป็นเรื่องปกติจริง ๆ เอลเลนเล่นฟุตบอลกับผู้ชายมาตลอด และพวกเราก็รู้จักเธอเป็นอย่างดีอยู่แล้ว” กริปมา กล่าวกับทาง BBC
ฟอคเคมา กล่าวเสริมว่า “ฉันก็แค่อยากเล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ เท่านั้นเอง”
Photo : www.espn.com
เธอได้ลงสนามในฐานะตัวสำรองให้กับทีมชุดใหญ่ชายไป 6 นัด ก่อนที่การมาของโควิด-19 จะทำให้เกมการแข่งขันต้องถูกตัดจบฤดูกาลไปในเดือนพฤศจิกายน
หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2021 KNVB ก็ได้ประกาศอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลงเล่นในทีมชุดใหญ่ชายได้ ฟอคเคมา ได้ช่วยทำให้ความฝันในการเปิดรับนักฟุตบอลหญิงเข้าสู่ทีมฟุตบอลชายนั้นกลายเป็นจริงในเนเธอร์แลนด์ และตอนนี้เธอก็ได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ของเธอตามที่เธอฝันเอาไว้ และหวังว่าคนอื่น ๆ ก็จะสามารถทำได้เช่นกัน
“ฉันหวังว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ จะได้เล่นฟุตบอลอย่างที่พวกเธอต้องการ รวมถึงได้รักษาความสุขและความสนุกในการเล่นฟุตบอลไว้” ฟอคเคมา กล่าว
เรื่องราวของฟอคเคมาได้ทำลายกำแพงที่เรียกว่า “เพศ” ในกีฬาฟุตบอลลงได้สำเร็จด้วยความรักและความมุ่งมั่นในกีฬาฟุตบอลของเธอ แต่อย่างไรก็ตามในขณะที่โลกได้ตัดสินไปแล้วว่า ผู้หญิง กับ ผู้ชาย ไม่สามารถเล่นฟุตบอลด้วยกันได้ แล้วทำไมผู้หญิงบางคนถึงสามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้ ?
ทักษะที่เพิ่มพูนได้
แม้ผู้หญิงจะไม่ได้มีร่างกายที่สามารถเข้าไปปะทะกับผู้ชายได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่สำหรับกีฬาฟุตบอล ความสามัคคีกันระหว่างผู้เล่น 11 คนในสนามยังคงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นแค่สมรรถภาพทางร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ การเล่นกันเป็นทีมก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่นฟุตบอลไม่แพ้กัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่ผู้หญิงจะสามารถนำมันมาชดเชยได้ในเรื่องกายภาพทั้งความเร็วและความแข็งแกร่งที่ด้อยกว่าผู้ชาย
เจนนิเฟอร์ ลาเลอร์ อดีตนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา ได้เปรียบเทียบสไตล์การเล่นระหว่างนักฟุตบอลชายและหญิงในสหรัฐฯ ไว้ว่า ผู้ชายจะเล่นฟุตบอลด้วยความแข็งแกร่ง ความเร็ว และความดุดันกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงจะเล่นฟุตบอลกันเป็นทีมและอาศัยการอ่านเกมมากกว่าผู้ชาย สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะกับผู้ชายได้มากขึ้น
“ฟุตบอลชายและหญิงในอเมริกาแตกต่างกันมาก ผู้ชายมักจะเล่นไปตามสัญชาตญาณโดยไม่ได้อ่านเกมล่วงหน้า ในขณะที่ผู้หญิงมักจะครุ่นคิดถึงการเคลื่อนที่ของพวกเธออยู่ตลอด” ลาเลอร์ กล่าว
นอกจากการเล่นฟุตบอลเป็นทีมแล้ว ลาเลอร์ ได้กล่าวเสริมอีกว่า ทักษะการจ่ายบอลและเลี้ยงบอลก็เป็นอีกหนทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้อย่างสูสีมากขึ้น โดยทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สามารถฝึกให้ชำนาญจนเหนือกว่าผู้ชายได้
อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันที่ฟุตบอลให้ความสำคัญกับเรื่องพละกำลังมากขึ้น จากค่าเฉลี่ยในการวิ่งแต่ละเกมของนักเตะที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด มันจึงทำให้ผู้หญิงที่มีพละกำลังน้อยกว่าเสียเปรียบผู้ชายที่มีพละกำลังมากกว่าเป็นอย่างมาก จากการที่ผู้หญิงไม่สามารถเล่นฟุตบอลด้วยจังหวะที่เร็วเท่าผู้ชายตลอด 90 นาทีได้ เนื่องจากผู้หญิงมีความจุปอดที่ใช้ในการขนส่งออกซิเจนน้อยกว่าผู้ชาย
และสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ผู้ชายสามารถเล่นได้ดีกว่าผู้หญิง
นอกเสียจากว่าผู้หญิงจะต้องมีทักษะในการเลี้ยงบอลและจ่ายบอลที่สูงกว่าผู้ชายมากพอที่จะชดเชยความเสียเปรียบนั้นได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้หญิงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ ในยุคที่ฟุตบอลใช้ความฟิตและพละกำลังเป็นเครื่องมือสำคัญในการไล่ล่าความสำเร็จ
สำหรับ ฟอคเคมา แล้ว เธออาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถทำให้คำพูดของ อนดะ ที่ว่า “ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถลงเล่นในทีมฟุตบอลชายได้” นั้นกลายเป็นจริงได้
แหล่งที่มา :
https://myanimelist.net/manga/26491/Sayonara_Football
https://www.jfa.jp/news/00027160/
https://www.works-i.com/column/jpsed2021/detail007.html
https://metropolisjapan.com/joshi-mane-japan/
https://www.tofugu.com/japan/joshi-mane/
https://bleacherreport.com/articles/2015765-men-vs-women-will-women-one-day-be-better-at-football-than-men
https://www.theatlantic.com/technology/archive/2012/08/we-thought-female-athletes-were-catching-up-to-men-but-theyre-not/260927/
https://www.wired.co.uk/article/why-dont-men-women-play-football-together-stephanie-labbe
https://www.bbc.com/sport/football/57164928
https://www.bbc.com/sport/football/53649795
https://www.english-online.at/news-articles/sports/do-women-and-men-play-soccer-differently.htm
https://sites.duke.edu/wcwp/tournament-guides/world-cup-2015-guide/playing-style-differences/united-states-women-vs-men/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อสงสัย ทำไมฟุตบอลหญิงเอเชียถึงมีทีมระดับท็อปแค่ไม่กี่ทีม | Main Stand
- Butterfly Effect : จัดฟุตบอลโลกทุกสองปี กระทบวงการฟุตบอลหญิงอย่างไร ? | Main Stand
- Manga Matchi the Series : "มาดามแป้ง" มีคาแร็กเตอร์คล้ายใครในบรรดาผู้จัดการหญิงมังงะกีฬาญี่ปุ่น ? | Main Stand
-------------------------------------------------
วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ - ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก