ทุกภาพถ่ายโดยผู้เขียน ย้อนกลับไปเมื่อยุค 90 เด็กแถบชนบทของภาคอีสานมักจะสวม “รองเท้าแตะ” หรือ “เกิบ” ไปโรงเรียน เพราะความคล่องตัวและใช้เป็นอุปกรณ์ในการเล่นช่วงพักเที่ยงได้ โดยกีฬายอดฮิตที่นิยมเล่นกันคือ “เจิดเกิบ” หรือปารองเท้านั่นเอง กติกา แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายจำนวนเท่า ๆ กัน ทีมที่ปกป้องรองเท้าจะมีรองเท้า 1 ข้างไว้เป็นอาวุธทีมที่ได้เล่นต้องปารองเท้าที่ตั้งไว้ให้ล้ม หากปาคนครบทุกคนแต่รองเท้าไม่ล้มให้เปลี่ยนฝ่ายตรงข้ามมาเล่นแทน เมื่อปารองเท้าล้มแล้ว ทีมที่เล่นต้องวางไปเหยียบรองเท้าที่ล้มแล้วนับจำนวน 1-100 ส่วนฝ่ายปกป้องรองเท้าต้อง “เจิดเกิบ” หรือปารองเท้าใส่ฝ่ายตรงข้าม เพื่อขัดขวางไม่ให้นับเลขได้ถึงเป้าหมาย ทีมที่เล่นต้องหลบหลีกรองเท้า และวิ่งเข้ามานับเลขต่อไปเรื่อย ๆ หากมีจำนวนผู้เล่นมาก อาจกำหนดจำนวนไว้มากกว่า 100 หากทีมผู้เล่นสามารถนับเลขต่อกันได้จนถึงเป้าหมายถือเป็นทีมชนะ และจะได้เริ่มเล่นใหม่ หากทีมปกป้องรองเท้าสามารถเจิดเกิบโดนทีมเล่นจนครบถือเป็นผู้ชนะ และจะได้เป็นทีมผู้เล่นในตาต่อไป ทีมที่แพ้ต้องถูกทำโทษด้วยการเต้นไก่ย่างถูกเผา วิดพื้น กระโดดกบ ซึ่งแต่ละครั้งจะถูกกำหนดไว้ก่อนเริ่มเล่นเกมใหม่เสมอ เจิดเกิบ กีฬาเด็ก ๆ ที่ให้มากกว่าความสนุก สิ่งนี้จะสอนให้เด็กรู้จักการวางแผนเพื่อจะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เพราะถ้าพ่ายแพ้ทุกคนจะถูกทำโทษอย่างเท่าเทียม กีฬาชนิดนี้ไม่อาจอาศัยผู้เล่นเพียง 1-2 คนเพื่อจบเกมได้ ยิ่งผู้เล่นมีจำนวนมาก อีกฝ่ายยิ่งต้องกระตือรือร้นและวางแผนรับมือไว้อย่างดี เด็ก ๆ ต่างได้โชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงเด็กชายสามารถเล่นด้วยกันได้อย่างเท่าเทียม เด็กชายจะได้เปรียบที่พละกำลัง วิ่งอย่างไรก็ไม่เหนื่อย ส่วนเด็กหญิงนั้นขึ้นชื่อเรื่องความคล่องตัว พลิ้วหลบได้อย่างสวยงาม เจิดเกิบกับจิตวิทยา ผู้เล่นทุกคนล้วนต้องวางแผนเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกปาด้วยรองเท้า ในขณะเดียวกันก็ต้องเสี่ยงวิ่งฝ่าวงล้อมเข้าไปเพื่อนับเลข เจิดเกิบนี้จึงเป็นกีฬาบ้าน ๆ ที่ทำให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิด การตัดสินใจ สามารถประเมินความคุ้มค่าและความเสี่ยงได้ในคราเดียว หากจะมีสักกีฬาที่สามารถแข่งขันกันได้ทั้งชายและหญิง เจิดเกิบนี่แหละเป็นกีฬาที่ยุติธรรมที่สุด อีกทั้งเป็นกีฬาที่เด็ก ๆ สามารถเล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่ต้องเสียเงินซื้อ เล่นแล้ว อย่าลืมช่วยเพื่อตามหาร้องเท้าด้วยนะ