รีเซต
Chase Tag : เมื่อการ "วิ่งไล่จับ" ถูกเพิ่มสีสันสู่กีฬาสุดระทึก | Main Stand

Chase Tag : เมื่อการ "วิ่งไล่จับ" ถูกเพิ่มสีสันสู่กีฬาสุดระทึก | Main Stand

Chase Tag : เมื่อการ "วิ่งไล่จับ" ถูกเพิ่มสีสันสู่กีฬาสุดระทึก | Main Stand
เมนสแตนด์
17 กันยายน 2564 ( 13:30 )
385

ใครจะเชื่อว่า ไอเดียของสองพี่น้อง จะเปลี่ยนการละเล่นสุดคลาสสิกอย่าง วิ่งไล่จับ ให้เป็นกีฬาอันสุดมันและท้าทายความสามารถ

 


Chase Tag อาจเป็นกีฬาที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่หากเห็นภาพการแข่งขัน เชื่อว่าแฟนกีฬาจะสนุกกับมันได้ไม่ยาก ที่สำคัญมันมีการเล่นอย่างแพร่หลาย จนถึงขั้นมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกเลยทีเดียว

กีฬานี้มีที่มาอย่างไร และสนุกขนาดไหน ร่วมหาคำตอบกับ Main Stand ได้ที่นี่

 

ปากัวร์ … จุดเริ่มต้น

เมื่อเอ่ยถึงกีฬา Chase Tag หรือ วิ่งไล่จับ หลายคนอาจนึกถึงการวิ่งไล่จับแบบธรรมดา แต่หากเสิร์ชคำว่า Parkour ใน Google หรือ YouTube คุณจะได้พบกับการวิ่งไล่จับแบบโลดโผนโจนทะยาน

สาเหตุก็เพราะ รูปแบบการแข่งขันกีฬานี้ มีการนำกีฬาปากัวร์ (Parkour) หรือที่บ้านเราคุ้นหูในชื่อ ฟรีรันนิ่ง (Free Running) เข้ามาผสมผสานกับกีฬาวิ่งไล่จับด้วย


Photo : facebook.com/worldchasetag

กีฬา Parkour ในโลกตะวันตกนั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ จอร์จส์ เฮแบร์ (Georges Hébert) นายทหารชาวฝรั่งเศส ที่ทำการศึกษากลุ่มชนเผ่าในทวีปแอฟริกา ซึ่งเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระภายในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

องค์ความรู้ดังกล่าวถูกดัดแปลงจนกลายเป็นหลักสูตรฝึกสอนทหาร, เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งโปรแกรมฟิตเนส ซึ่งได้รับความนิยมในวงกว้าง และสามารถนำไปใช้งานได้จริง ตัวอย่างชัด ๆ ก็เช่น หน่วยดับเพลิงของฝรั่งเศส ที่นำทักษะปากัวร์ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว

และจากการฝึกของหน่วยดับเพลิงฝรั่งเศสนี้เอง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปากัวร์กลายเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม เมื่อ ดาวิด เบลล์ (David Belle) ลูกชายอดีตทหารผู้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เห็นวิธีการฝึกของพ่อแล้วเกิดถูกใจ จึงนำมาฝึกฝนต่อยอดด้วยตัวเองต่อ และรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนสร้างทีมปากัวร์ขึ้นมา 

นับตั้งแต่นั้น เบลล์ ได้กลายเป็นหัวหอกผู้ขับเคลื่อนกีฬาปากัวร์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนเขากลายเป็นคนดัง และเป็นผู้นำกีฬาปากัวร์สู่แผ่นฟิล์ม กับภาพยนตร์เรื่อง B13 (2004) หรือ "คู่ขบถ คนอันตราย" ที่เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงนำ ซึ่งยิ่งทำให้กระแสกีฬาปากัวร์โด่งดังขึ้นไปอีก จนมีภาคต่อในชื่อ B13: Ultimatum (2009) หรือ "คู่ขบถ คนอันตราย 2" และถูกฮอลลีวูดนำไปรีเมกในชื่อ Brick Mansions (2014) หรือ "พันธุ์โดด พันธุ์เดือด"


Photo : imdb.com

กระแสนิยมในกีฬาปากัวร์ที่พุ่งทะยานไปทั่วโลก ด้วยภาพที่น่าตื่นเต้น โลดโผนโจนทะยานตะลุยผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ อย่างตื่นตาตื่นใจ ทำให้มันถูกพัฒนาจนเป็นอีกหนึ่งกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ได้รับความนิยม

แต่ใครจะไปคิดว่า การเล่นวิ่งไล่จับที่สวนหลังบ้าน จะนำพากีฬาปากัวร์ ให้กลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ชวนตื่นเต้นที่สุด...

 

สวนหลังบ้านสู่ Chase Tag

มันเริ่มต้นจากกิจกรรมภายในครอบครัวธรรมดา ๆ แต่ด้วยไอเดียบางอย่าง ทำให้มันตกผลึกเป็นกีฬาใหม่

จุดเริ่มต้นของกีฬา Chase Tag ต้องย้อนไปถึงปี 2011 ที่สวนหลังบ้านของตระกูล เดอวู ... ในวันนั้น คริสเตียน (Christian Devaux) กำลังเล่นวิ่งไล่จับกับ ออร์แลนโด ลูกชาย 


Photo :  DaniDevaux.com

ในวันนั้นมีการวางเก้าอี้ไว้ตามจุดต่าง ๆ ของสวนหลังบ้าน เพื่อเป็นอุปสรรคของทั้งผู้หนีและผู้ล่า และไหน ๆ ก็เตรียมมาอย่างจริงจังแล้ว คริสเตียนจึงได้ติดกล้อง GoPro ไว้บนศีรษะ เพื่อบันทึกภาพการเล่นไว้ด้วย

ภาพการเล่นจากวิดีโอ ทำให้ คริสเตียน และ ดาเมี่ยน (Damien Devaux) น้องชาย เกิดไอเดียขึ้นมา พวกเขาจึงได้ทดลองสร้างสนามที่มีเครื่องกีดขวาง ในชื่อ "The Quad" เพื่อให้การวิ่งไล่จับเกิดความสนุกยิ่งขึ้น


Photo : facebook.com/worldchasetag

หลังผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดก็ได้สนามที่มีความท้าทายและเกิดความสมดุล ที่ผู้ไล่และผู้หนีต้องเผชิญกับความยากไม่ต่างกัน

กีฬา Chase Tag จึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

แข่งขันอย่างไร ?

อันที่จริง Chase Tag นั้นเป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้ง่ายมาก เพราะที่ไหนก็สามารถเล่นได้ แต่เพื่อให้เป็นกีฬาที่มีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง นอกจากการตั้งองค์กรควบคุมการแข่งขันในชื่อ World Chase Tag แล้ว กติกาการแข่งขันในเรื่องต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่ต้องมีการกำหนดไว้ด้วย


Photo : facebook.com/worldchasetag

สนามแข่งขันของกีฬา Chase Tag ถูกเรียกว่า "The Quad" มีขนาด 12x12 เมตร พร้อมสิ่งกีดขวางในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่า จะข้ามผ่านด้วยวิธีการใด แต่ก็ต้องระวังไม่ให้หลุดออกจากพื้นที่การเล่น เพราะจะถูกปรับแพ้ทันที

ส่วนกฎการแข่งขัน ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน เพราะคล้ายคลึงกับที่เราเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก โดยจะมีผู้เล่นเพียง 2 คนในสนาม คนหนึ่งคือผู้ไล่ (Chaser) อีกคนคือผู้หนี (Evader) แต่ละรอบจะใช้เวลาเพียง 20 วินาทีเท่านั้น การแพ้ชนะในแต่ละครั้งเกิดขึ้นเมื่อผู้ไล่สามารถแตะผู้หนีได้ก่อนหมดเวลา โดยสามารถใช้ได้แค่มือเท่านั้นในการสัมผัสตัวผู้หนี และตำแหน่งที่สัมผัสจะต้องเป็นร่างกายส่วนบน คือเหนือเข็มขัดถึงส่วนคอ และผู้หนีสามารถหนีได้จนหมดเวลา

การแข่งขันแบ่งเป็น 2 แบบหลัก นั่นคือ แข่งขันแบบทีม และ แข่งขันแบบเดี่ยว โดยแบบทีมนั้น จะใช้ผู้เล่นไม่เกิน 6 คน ทั้งสองทีมต้องส่งตัวแทนทีมละ 1 คน ผู้หลบหลีกต้องสามารถอยู่ในสนามโดยไม่โดนแตะภายใน 20 วินาทีถึงจะได้รับคะแนน แต่ถ้าโดนจับได้ผู้ถูกล่าจะกลายเป็นผู้ล่าแทนในรอบต่อไป หากทีมไหนชนะก่อน 2 เซต จะได้รับชัยชนะไป

ส่วนในการแข่งขันแบบเดี่ยวนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะสลับกันเป็นทั้งผู้ไล่ล่าและหลบหลีกโดยมีเวลาให้ 20 วินาที คนหนีจะมีเวลา 20 วินาทีในการหนี ถ้าสำเร็จจะได้ 1 คะแนน เช่นเดียวกับผู้ไล่ ถ้าจับสำเร็จภายใน 20 วิ ก็จะได้ไป 1 คะแนน ฝ่ายไหนสะสมครบ 10 คะแนนก่อนฝ่ายนั้นชนะ

การแข่งขันมีทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม และมีหลายกติกา โดยกติกาที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ Chase-Off ในการแข่งประเภททีม ที่แต่ละทีมจะมีผู้เข้าแข่งขันทีมละ 5 คน โดยจะมีการกำหนดรอบการแข่งไว้ (ส่วนใหญ่กำหนดที่ 16 รอบ) โดยสมาชิกของทีมที่ชนะในแต่ละรอบ จะได้สิทธิ์อยู่ในเกมต่อในฐานะผู้หนีของเกม ทว่าจะให้แต้มเฉพาะในกรณีที่หนีสำเร็จจนครบกำหนดเท่านั้น ทีมใดได้แต้มมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ


Photo : facebook.com/worldchasetag

นอกจากกติกา Chase-Off แล้ว ยังมีการแข่งในกติกา Team Matchplay ซึ่งแต่ละรอบผู้เข้าแข่งขันจากแต่ละทีมจะสลับกันเป็นผู้ไล่และผู้หนี โดยทีมใดสามารถแตะอีกฝ่ายได้เร็วกว่าในแต่ละรอบจะได้แต้ม หากจบด้วยผลเสมอ คือหนีได้ทั้งคู่หรือทำเวลาเท่ากันทั้งคู่ จะไม่มีทีมใดได้แต้ม จนครบรอบที่กำหนด ใครทำแต้มได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ

ส่วนการแข่งขันประเภทเดี่ยวในกติกา Single Matchplay ผู้เข้าแข่งขันจะสลับกันเป็นผู้ไล่และผู้หนี เช่นเดียวกับกติกา Team Matchplay ที่หากฝ่ายไล่สามารถแตะตัวอีกฝ่ายได้ จะได้ 1 คะแนน และจะมีคะแนนพิเศษในแต่ละรอบ เช่น ใครแตะตัวอีกฝ่ายในแต่ละรอบได้เร็วกว่า จะได้เพิ่มอีก 1 คะแนน ใครได้ 10 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าเสมอ 9-9 จะแข่งต่อจนกว่าผู้ชนะทำแต้มห่าง 2 คะแนน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกติกา Sudden Death Chase Off ที่ผู้เข้าแข่งขันจะสลับกันเป็นผู้ไล่และผู้หนี โดยใครหนีได้นานกว่าจะชนะการแข่งขันไป หากเสมอกัน จะต้องแข่งใหม่จนกว่าจะรู้ผลผู้ชนะ

 

ความมันในพื้นที่สี่เหลี่ยม

แม้สนามแข่งมีเนื้อที่จำกัด และเวลาการแข่งขันนั้นสั้นมาก แต่นี่แหละคือเสน่ห์ของกีฬา Chase Tag

 

เพราะภายใน
Photo :  DaniDevaux.com

พื้นที่เล็ก ๆ นี้ มีสิ่งกีดขวางลักษณะต่าง ๆ มากมาย ผู้เล่นจึงต้องใช้ทักษะในการเคลื่อนไหวชั้นสูง ทั้ง "Juking" เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวแบบกะทันหัน คล้ายกับที่นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล, ฟุตบอล, บาสเกตบอล, รักบี้ ใช้ รวมถึง "Shepherding" ที่ใช้ไล่ต้อนคู่ต่อสู้ให้เคลื่อนไหวไปในจุดที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ไม่ใช่แค่ทักษะของร่างกายเท่านั้น กีฬานี้ยังเป็นการลับสมองอย่างมาก ผู้เล่นต้องคิดและประเมินสถานการณ์ จนเหมือนกับต้องวาดภาพไว้ในหัวล่วงหน้าเลยว่า จะหนีหรือจะไล่อย่างไร จะกระโดดข้าม หรือมุดจุดไหน ถ้าพลาด จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร 

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ทุกสิ่งที่กล่าวมา ต้องทำให้ได้ภายในเวลาเพียง 20 วินาที ของการแข่งขันในแต่ละครั้งเท่านั้น ... สำหรับผู้เล่น 20 วินาทีในสนามจึงอาจยาวนานเหมือนกับเป็น 20 นาทีเลยทีเดียว

เรื่องดังกล่าว สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์ของ ดาเมี่ยน เดอวู หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง World Chase Tag ที่ให้คำแนะนำผู้ที่อยากจะเล่นและแข่งขันกีฬานี้ว่า 


Photo : facebook.com/worldchasetag

"การจะเป็นผู้เล่นกีฬานี้ที่ดี คุณต้องมีทักษะในการรับรู้พื้นที่และหาหนทางในการหลบหลีก รวมถึงทักษะในการรับมือกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ทั้งการอ่านการเคลื่อนไหว และคาดเดาพฤติกรรมของอีกฝ่ายว่าจะทำอะไรต่อไป"

 

อนาคตสู่โอลิมปิก ?

ด้วยธรรมชาติของกีฬาชนิดนี้ที่เป็นกีฬาซึ่งมีพื้นฐานมาจากการละเล่นที่คุ้นเคย แฝงด้วยความเร้าใจ ทำให้ ดาเมี่ยน เดอวู มองว่า Chase Tag คือกีฬาที่อยู่เหนือข้อจำกัดทางวัฒนธรรม เพราะผู้เล่นจะเป็นใคร สัญชาติใดก็ได้

"การไล่ล่าและถูกล่า เป็นหนึ่งในสภาวะธรรมชาติในจิตใจคนเรา ... ที่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มนุษย์ประสบความสำเร็จเพราะความสามารถของเราในการล่าและหลีกเลี่ยงการถูกล่า"


Photo :  DaniDevaux.com

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการแข่งขัน Chase Tag เพิ่มมากขึ้น โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อใหญ่ต่าง ๆ อย่าง BBC, Fox Sports, Fuji TV, ESPN, NHK และ NBC รวมถึงช่องทางออนไลน์ ไม่เพียงเท่านั้น ชาติต่าง ๆ ยังซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบการแข่งขันจากทาง World Chase Tag ไปจัดแข่ง โดยปัจจุบันมีการแข่งขันกีฬานี้ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา และ โคลอมเบีย

แม้จะเป็นกีฬาที่มีข้อจำกัดในการเล่นน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ Chase Tag ยังเป็นกีฬาใหม่ ที่ต้องใช้ความพยายามในการขยายฐานความนิยมอีกไม่น้อย แต่เนื่องจากปัจจุบัน มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ก็เปิดพื้นที่ให้กับกีฬาเอ็กซ์ตรีมอย่าง จักรยาน BMX, สเก็ตบอร์ด และ ปีนผา ไปเรียบร้อยแล้ว ... Chase Tag จึงมีโอกาสไปถึงจุดนั้นได้เช่นกันในอนาคต 


Photo : facebook.com/worldchasetag

แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้น ? ดาเมี่ยน เดอวู ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า

"ผมไม่สามารถยืนยันได้ เรายังไม่อยากคิดถึงเรื่องนั้น ในตอนนี้เราเป็นที่เดียวที่ทำแบบนี้และดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล แต่ใครจะรู้ล่ะ ?"

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.worldchasetag.com/
https://medium.com/the-sweat-experience/damien-devaux-describes-how-world-chase-tag-was-formed-its-culture-and-what-it-takes-to-be-a-wct-e5f56f5d477a

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี