กฎเบ็คแฮม : จุดเริ่มต้นของปัญหาหนีภาษีของนักเตะระดับโลกใน ลา ลีกา สเปน | Main Stand
คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ ลิโอเนล เมสซี่ คือ 2 นักเตะที่ติดอยู่ในลิสต์พ่อค้าแข้งที่มีรายได้มากที่สุดในโลกมานานเกิน 10 ปี พวกเขาทำเงินได้มหาศาลจากฝีเท้าและภาพลักษณ์นอกสนามจนไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเงินรบกวนจิตใจและชีวิตประจำวัน
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 2 นักเตะระดับรวยล้นฟ้ากลับเคยโดนศาลสั่งจำคุกคดีหนีภาษีในประเทศสเปนมาแล้ว เมสซี่ โดนไป 21 เดือน ขณะที่ โรนัลโด้ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลวุ่นวายอยู่หลายปี
ไม่ใช่แค่ 2 คนนี้เท่านั้น ลีกสเปนมักจะมีปัญหาเรื่องภาษีมากมายเสียจนขี้เกียจนับ และเราจะไปดูกันว่ามันมีเหตุผลอะไรที่ลีกนี้จึงมีปัญหากับการจ่ายภาษีแทบตลอด
ติดตามที่ Main Stand
กฎเบ็คแฮม
เราเอ่ยชื่อของนักเตะรุ่นปัจจุบันอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ลิโอเนล เมสซี่, เนย์มาร์ และ อังเคิล ดิ มาเรีย มายืดยาว ทว่าทำไมจึงต้องมาเริ่มเรื่องด้วยนักเตะรุ่นเก่าอย่าง เดวิด เบ็คแฮม ? ... สาเหตุง่าย ๆ เรื่องราวทั้งหมดมันเริ่มจากวันที่ เบ็คแฮม ย้ายจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาอยู่กับ เรอัล มาดริด ในปี 2003
ตั้งแต่ เบ็คแฮม มาถึง กฎการเสียภาษีแบบใหม่สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสเปน และมีรายได้สูงก็เริ่มขึ้น ภายใต้ชื่อของ "กฎเบ็คแฮม"
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2003 ทีมจากสเปน นอกจาก เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า แทบไม่มีสโมสรใดใน ลา ลีกา ที่ใช้งานนักเตะต่างชาติเลย เพราะมีค่าเหนื่อยแพง และหากจะว่ากันตามตรงก็คงต้องบอกว่าไม่คุ้ม เพราะนักเตะท้องถิ่นหลายคนมีความสามารถไม่ต่างกัน อีกทั้งการใช้งานนักเตะต่างชาติที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรก็มีราคาถูกและคุ้มกว่ามาก นอกจากนี้ยังมีโอกาสปั้นขายได้อนาคตอีกด้วย อาทิในรายของ รอย มาคาย จาก เดปอร์ติโว ลา คอรุนญ่า หรือแม้กระทั่ง โรแบร์โต้ อยาล่า ของ บาเลนเซีย ที่ต้นสังกัดซื้อมาในราคาถูก และขายออกไปในราคาแพง
อย่างไรก็ตาม การที่สโมสรในประเทศไม่ใช้เงินซื้อนักเตะต่างชาติดัง ๆ เข้ามา สร้างความเสียหายในแง่ของความนิยมโดยรวมของลีก เรียกได้ว่าหากไม่ใช่ บาร์เซโลน่า กับ เรอัล มาดริด ก็แทบจะไม่มีคนสนใจดูการถ่ายทอดสดเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นทาง ลา ลีกา จึงได้พยายามสนับสนุนการดึงนักเตะต่างชาติฝีเท้าดี ชื่อเสียงดังมาค้าแข้ง ด้วยข้อเสนอล่อใจ นั่นคือการให้นักเตะต่างชาติเหล่านั้นจ่ายภาษีน้อยกว่านักเตะท้องถิ่น
ปกติแล้ว ลา ลีกา จะมีอัตราภาษีจากรายรับของนักฟุตบอลที่มีรายได้สูงอยู่ที่ราว 50% ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหน ถ้าเข้ามาหากินในแดนกระทิงดุนี้ก็ต้องจ่ายเท่ากัน ทว่าหลังจากการดึงดูดนักเตะระดับโลกเข้ามา นักเตะกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการลดหย่อยภาษี โดยจ่ายภาษีเพียง 24% ของรายได้เท่านั้น และคนแรกที่ได้ใช้งานกฎนี้คือ เดวิด เบ็คแฮม จนกลายเป็นที่มาของชื่อ "กฎเบ็คแฮม" นั่นเอง
กฎเบ็คแฮม ทำให้การตัดสินใจย้ายทีมของ เบ็คแฮม มา มาดริด ง่ายขึ้น ในช่วงนั้นเขาได้รับการติดต่อจากทีมในลีกอิตาลี ซึ่งในช่วงต้นยุค 2000s ฟุตบอล อิตาลี ถือเป็นเบอร์ 1 ของยุโรป มีแข้งระดับสตาร์หลายคนลงเล่นที่นั่น ดังนั้นการมาเล่นที่สเปน จะช่วยให้เขาจ่ายภาษีน้อยลง ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ และยากที่จะไม่คว้าไว้
ณ เวลานั้น เบ็คแฮม ในวัย 28 ปี กำลังพีกมาก และมีภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม มีความนิยมนอกสนามระดับที่คนไม่ดูบอลก็ยังรู้จักและคุ้นหน้า เขามีรายได้ต่อปีอยู่ที่ราว ๆ 15 ล้านยูโร ขณะที่อันดับ 2 และ 3 เป็น ซีเนดีน ซีดาน และ โรนัลโด้ นาซาริโอ (14 ล้านยูโร และ 11.7 ล้านยูโร ตามลำดับ)
กฎดังกล่าวได้พานักเตะต่างชาติหลายคนมาที่นี่ บางคนดังบ้าง บางคนไม่ดังบ้าง แต่ที่แน่ ๆ คือ สเปน คือดินแดนที่เหมาะสำหรับการทำงานเก็บเงินสำหรับนักเตะเหล่านี้ ดังนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรที่วิน-วิน ลา ลีกา ได้นักเตะดังเข้ามาหลายคน ขณะที่นักเตะก็จ่ายภาษีน้อยลงกว่าที่เคย
เพียงแต่ว่าอะไรที่มันมากเกินไป ก็ย่อมส่งผลกระทบ การจ่ายภาษีน้อยของกลุ่มนักเตะต่างชาติที่มีรายได้สูง ทำให้นักเตะประเภทนี้ทะลักเข้ามาใน ลา ลีกา มากขึ้น จนกระทั่งถึงปี 2010 ปัญหาก็เกิด ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศสเปนกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และวิธีที่จะเอาเงินเข้าคลังของประเทศได้ง่ายที่สุดคือการเพิ่มภาษีจากบุคคลที่ร่ำรวย กฎเบ็คแฮม จึงถูกยกเลิกในเวลานั้น
นักเตะคนใดที่มีค่าเหนื่อยต่อเดือนเกิน 600,000 ยูโร (ราว 150,000 ต่อสัปดาห์) นักเตะผู้นั้นจะต้องโดนรีดภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นคือ 50% นอกจากนี้ ตามการรายงานของ BBC ยังกล่าวอีกว่า เริ่มมีการคิดอัตราเรียกเก็บภาษีจากนักเตะที่ร่ำรวยแบบซับซ้อนมากกว่าเดิม เรียกได้ว่าพยายามจะรีดเงินอย่างเต็มเมล็ดเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศนั่นเอง
การผ่อนปรนที่มากเกินไปตั้งแต่แรก จนกระทั่งการแก้ปัญหาด้วยยาขมที่หลายคนไม่อยากจะกลืน ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด ... การหนีภาษี กลายเป็นเรื่องฮิตในกลุ่มนักเตะต่างชาติที่มาค้าแข้งในสเปนตั้งแต่วันนั้น
รีดมากไปใครจะจ่าย ?
จาก 23% สู่ 50% นี่คือการปรับอัตราภาษีที่กระทบกับรายได้ของนักเตะระดับโลกหลาย ๆ คนเป็นอย่างมาก และมันเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะนักเตะหลายคนได้เซ็นสัญญากับทีมในระยะยาวไปแล้ว ข้อตกลงทั้งหมดอยู่ในสัญญาแบบมีลายลักษณ์อักษร ทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี่ยงบาลี หรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับสโมสรได้เหมือนกับที่นักเตะในยุคปัจจุบันหลายคนทำ
นั่นคือในการตกลงกับสโมสร ตัวนักเตะจะขอรับค่าเหนื่อยหลังหักภาษี และจะให้สโมสรเป็นฝ่ายต้องแบกภาษีแทน ซึ่งวิธีดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ บาร์เซโลน่า ถังแตกจนทีมไม่เหลือสตาร์ เช่นเดียวกับ เรอัล มาดริด ที่ไม่ได้ลงตลาดหนัก ๆ เหมือนในอดีตอีกแล้ว
ย้อนกลับไปตอนที่มีการปรับภาษีจาก 23% สู่ 50% อีกครั้ง เมื่อแก้ไขเรื่องการจ่ายภาษีกับสโมสรไม่ได้ นักเตะและเอเย่นต์หลายคน เลือกใช้การเลี่ยงบาลีเข้ามาจัดการเรื่องภาษีแทน ณ เวลานั้นไม่ได้มีกฎข้อห้าม จะเรียกว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายก็ว่าได้ นั่นคือพวกเขาจะจัดตั้งตัวแทนในรูปแบบของบริษัท ซึ่งไม่ได้มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศสเปน
โดยประเทศที่นักเตะร่ำรวยส่วนใหญ่เลือกตั้งออฟฟิศของบริษัท มักจะเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบในเรืองของการจ่ายภาษี (จ่ายน้อยกว่าสเปน) เช่น ปานามา, ไอร์แลนด์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งนี่คือวิธีที่ โรนัลโด้, เมสซี่ และ โชเซ่ มูรินโญ่ อดีตกุนซือของ เรอัล มาดริด ใช้ และจากนั้น นักเตะต่างชาติหลาย ๆ คนหรือแม้แต่นักเตะสเปนเองก็เลือกจะใช้วิธีนี้ตาม ๆ กัน เพราะมันทำให้พวกเขาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการจ่ายภาษีความมั่งคั่งแบบที่พวกเขาโดนขูดรีด
โดยรายชื่อที่ถูกเปิดเผยและเคยมีคดีภาษีได้แก่ เนย์มาร์, อังเคิล ดิ มาเรีย หรือแม้กระทั่ง ชาบี อลอนโซ่ นักเตะทีมชาติสเปน ที่เคยไปเล่นในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กับ ลิเวอร์พูล ก่อนย้ายกลับมาเล่นในลีกบ้านเกิดกับ เรอัล มาดริด เมื่อปี 2009
เมื่อมีการหัวหมอมากขึ้น หน่วยงานด้านภาษีของสเปนจึงพยายามสืบสวนและแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้ผลประโยชน์กลับมาอยู่ในประเทศตัวเองให้ได้ และการสืบสวนนำมาซึ่งการแก้ข้อกฎหมายใหม่อีกครั้งว่า พฤติกรรมของกลุ่มนักกีฬาต่างประเทศที่มีรายได้สูงเหล่านี้ คือการกระทำที่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงภาษี และผิดกฎหมายเต็ม ๆ
ดังนั้นเมื่อแก้กฎหมายได้แล้ว ก็ได้เวลาไล่เช็คบิลทุกบัญชีรายรับของนักเตะรายชื่อที่กล่าวมา
ตามล้างตามเช็ด
ลิโอเนล เมสซี่ โดนศาลสั่งจำคุกฐานฉ้อโกงรัฐสเปน เป็นเงินจำนวน 4.1 ล้านยูโร ก่อนที่เขาซึ่งทนเครียดกับเรื่องนี้มานาน ยอมจ่ายเงินชดเชยแทนโทษจำคุก 21 เดือน เป็นเงินทั้งหมด 5 ล้านยูโร (เป็นดอกเบี้ย 9 แสนยูโร)
คริสเตียโน่ โรนัลโด้ โดนคดีเลี่ยงภาษีเป็นเงินทั้งหมด 14.1 ล้านยูโร และเขายอมจบในแบบเดียวกับ เมสซี่ นั่นคือการยอมจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดทั้งต้นทั้งดอกแทนการติดคุก 23 เดือน คิดเป็นเงินทั้งหมด 18.8 ล้านยูโร
เช่นเดียวกับ ดิ มาเรีย, เนย์มาร์ และ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อจบเรื่องนี้แทน พวกเขาทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การต่อสู้บนชั้นศาลถือเป็นเรื่องที่ตึงเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก ซึ่งเป็นเหตุผลให้รายชื่อนักเตะที่กล่าวมาทั้งหมด ปัจจุบันนี้ไม่ได้ค้าแข้งหรือคุมทีมใน ลา ลีกา สเปนแล้ว
ในรายของ โรนัลโด้ ก็เคยมีข่าวว่าเขาเบื่อหน่ายกับเรื่องการไล่บี้ภาษีย้อนหลังของรัฐบาลสเปน จนต้องย้ายไป ยูเวนตุส เช่นเดียวกับ ลิโอเนล เมสซี่ ที่ปล่อยปัญหาต่อสัญญากับ บาร์เซโลน่า จนคารังคาซัง และสุดท้ายเขาก็ย้ายไปอยู่กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ที่เดียวกับที่ อังเคล ดิ มาเรีย ค้าแข้งอยู่ในเวลานี้
มีเพียงนักเตะคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมจบปัญหาด้วยการจ่ายเงิน นั่นคือ ชาบี อลอนโซ เนื่องจากเจ้าตัวยืนกรานขอสู้คดีและพิสูจน์ว่า สำนักงานของบริษัทที่เขาจัดตั้งขึ้นมาไม่ได้อยู่นอกประเทศ หรือเป็นประเทศที่ให้ความได้เปรียบด้านภาษีตามที่ได้กล่าวไป แม้ศาลสเปนพยายามที่จะรื้อคดีเพื่อเอาผิดให้ได้ถึง 3 ครั้ง แต่อลอนโซ ก็พ้นผิดมาได้ทุกครั้ง ถึงกระนั้น ยังไม่แน่ชัดว่า ศาลสเปนจะเปิดศึกยกสี่อีกหรือไม่
เรียกได้ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหากไล่เป็นสเต็ป ๆ จะเริ่มจากการพยายามดึงนักเตะฝีเท้าดีชื่อเสียงดังมาเล่นโดยยอมให้พวกเขาได้ค่าเหนื่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทว่าเมื่อเวลาผ่าน ประเทศต้องการเงิน จึงมีการเรียกภาษีจากกลุ่มนักเตะรวยมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ทุกคนที่รวยพยายามจะหาช่องโหว่เพื่อหลบหลีกการจ่ายภาษีที่พวกเขาคิดว่าไม่เป็นธรรม และสุดท้ายการตามล้างบางก็เกิดขึ้น จนมีการตามไล่เช็ดทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเป็นการปิดตำนานการเลี่ยงภาษีในสเปน ณ เวลานี้เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันนักเตะที่ค่าเหนื่อยมากที่สุดใน ลา ลีกา อย่าง คาริม เบนเซม่า, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ และ แกเรธ เบล ถือเป็นนักเตะต่างชาติทั้งสิ้น และพวกเขาก็ไม่เจอปัญหาแบบที่ เมสซี่, โรนัลโด้ และ ดิ มาเรีย เป็น เนื่องจากได้ผลักภาระการจ่ายภาษีไปให้สโมสรเป็นทีเรียบร้อยแล้ว แม้ตัวพวกเขาจะไม่ลำบาก แต่ก็เห็นชัดว่าต้นสังกัดของพวกเขาต้องกลืนเลือดไปหลายอึกกับการรับภาระนี้เช่นกัน
จากนี้ไปคงจะได้เห็นวิธีการผลักภาระไปให้สโมสรจ่ายภาษีแทนมากขึ้น หรืออีกทางหนึ่ง เพดานเงินเดือนนักเตะใน ลา ลีกา ก็จะน้อยลงเป็นเงาตามด้วย จากปัญหาด้านภาษีที่ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวมีส่วนเสียกันทุกฝ่าย นักเตะได้เงินเดือนน้อยลง สโมสรจ่ายภาษีมากขึ้น และ ลา ลีกา ก็ไม่ดึงดูดนักเตะระดับโลกมากมาย ชัดเจนที่สุดคือเมื่อไม่มี เมสซี่ กับ โรนัลโด้ หลายคนยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า ตอนนี้ใครดังที่สุดใน ลา ลีกา
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะอะไร ทุกปัญหาย่อมมีทางออกแน่นอน จากนี้จะเป็นช่วงเวลาการปรับสมดุลของฟุตบอลสเปน จากที่เคยผูกขาด จ่ายค่าจ้างแพงกว่าที่ควร พวกเขาจะเริ่มทำหลายสิ่งให้อยู่ในรูปในรอยมากขึ้น และเชื่อว่าที่สุดแล้วปัญหาภาษีคือยาขม ที่อาจจะรุนแรงในช่วงแรก แต่ก็อาจจะทำให้ได้ผลในระยะยาว ทีมจะติดหนี้น้อยลง นักเตะจะไม่เรียกร้องอะไรจนมากเกินไป
เพราะข้อสียได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นสโมสรในลา ลีกา คงได้แต่ภาวให้ข้อดีเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น นั่นคือความหวังเดียวของพวกเขา
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-europe-40287173
https://en.wikipedia.org/wiki/Beckham_law
https://iliaconsulting.com/en/form-720-spain/how-expats-can-pay-less-tax-spain-beckham-law/
https://www.football-espana.net/2019/12/19/explained-la-liga-stars-and-tax-issues
https://edition.cnn.com/2003/WORLD/europe/05/06/britain.beckham/index.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนมอง แมนฯ ซิตี้ & เปแอสเช : คนรวยอยากเป็นที่ 1 เขาทำกันแบบไหน? | Main Stand
- ลาปอร์ต้า vs คูมัน : Civil War ที่พังบาร์เซโลน่าไม่แพ้เรื่องเงิน | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก