TRUE TALK : "กิ๊ฟฟี่"ศิตา นางฟ้านักวิ่ง "ไม่จำเป็นต้องวิ่งแข่งกับใคร นอกจากตัวเราเอง" ... by "Arm Phukrit"
“กิ๊ฟฟี่”ศิตา ทิพย์กัน เจ้าของธุรกิจส่วนตัว และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ที่มีความหลงใหลในการวิ่ง เธอเริ่มวิ่งไม่ถึง 1 ปี แต่ลงสนามไปแล้วเกือบๆ 50 รายการ พร้อมถ้วยรางวัลมากมาย และผันตัวเองไปเป็น Pacer (นาฬิกาของนักวิ่ง) บวกกับหน้าตาที่สะสวยจนเธอถูกยกให้เป็น นางฟ้านักวิ่ง อีกหนึ่งคนของวงการวิ่ง
สวัสดีครับเพื่อนๆ นักวิ่งทั้งหลาย เมื่อครั้งที่แล้วผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับ “ข้าวโอ๊ต” นางฟ้านักวิ่งสาวสวยกันไปแล้ว สำหรับครั้งนี้ทางทีม TrueID Sports ได้มีโอกาสพูดคุยกับสาวสวยนักวิ่งอีกหนึ่งคน ของวงการวิ่งในเมืองไทยเรามาทำความรู้จักกับเธอกันเลยดีกว่า
“สวัสดีค่ะ ชื่อ ศิตา ทิพย์กัน ชื่อเล่น กิ๊ฟฟี่ ค่ะ ตอนนี้เป็นนักวิ่งอยู่ในทีม Sparrow Runner หรือทีมนกกระจอกค่ะ แล้วก็เป็น Pacer สังกัดลูกโป่ง รันเนอร์ด้วยค่ะ”
หลังจากที่เธอแนะนำตัวกับเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มยิงคำถามใส่เธอ โดยอยากทราบว่า เธอเริ่มวิ่งอย่างจริงจังเมื่อไร? และอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดที่จะมาวิ่ง ?
“เริ่มวิ่งจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (ปี 2018) ตอนแรกเลยเนี่ย กิ๊ฟตัดสินใจมาวิ่งเพราะว่าต้องวิ่งแก้บนที่ลานพ่อขุนรามคำแหง ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 200 รอบ พอวิ่งแก้บนจบ เราก็เริ่มรู้สึกว่า ทำไมการวิ่งระยะยาวๆ ครั้งนี้ทำให้เราสนุก กิ๊ฟเลยตัดสินใจลองหาสมัครลงงานวิ่ง โดยเริ่มจากระยะฟันรัน 5 กิโลเมตรก่อนค่ะ ตอนนั้นจบที่เวลา 1.30 ชั่วโมง”
“หลังจากนั้น กิ๊ฟ รู้สึกถึงความสนุกและคิดว่าเราน่าจะทำเวลาได้ดีกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจลงงานวิ่งมาตลอดทุกๆ สัปดาห์ไม่มีขาดเลย มันก็จะตกเดือนละอย่างน้อย 4 งาน จะเป็นฟันรัน (3-5 KM)สลับกับมินิมาราธอน (10 KM) แล้วก็จะมีงานวิ่งการกุศลอื่นๆ ในวันอื่นๆ ที่ไม่ใช่วันอาทิตย์เราก็จะไปวิ่ง และเราก็มีโอกาสได้รางวัลในงานต่างๆ ประมาณ 6 งาน ก็เลยทำให้ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก”
จากการวิ่งแก้บน จนกลายมาเป็นนักวิ่งที่ได้รับรางวัลในรุ่นๆ ต่างๆ ของงานวิ่งอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยสำหรับนักวิ่งมือใหม่และได้รับรางวัล เธอน่าจะมีเคล็ดลับในการฝึกซ้อมที่ไม่ธรรมดาแน่นอน ผมเลยลองสอบถามเธอดู เธอก็ตอบมาว่า
“เอาจริงๆ กิ๊ฟไม่ได้มีตารางในการฝึกซ้อมแบบตายตัว สัปดาห์หนึ่งกิ๊ฟจะฝึกซ้อมวิ่งประมาณ 2-3 วัน และสำหรับในการใช้ชีวิตประจำวันมักจะเดินมากกว่าการขับรถ จริงๆ มันก็ไม่ใช่วิธีที่ควรซักเท่าไรสำหรับการจะเป็นนักวิ่ง มันต้องใช้เวลาฝึกซ้อมให้มากกว่านี้ แต่ด้วยเวลาของเราทั้งทำงานและเรียน กิ๊ฟก็เลยพยายามที่จะหาเวลาว่างให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะมาวิ่ง บางทีก็ใช้งานวิ่งในแต่ละงานเป็นการฝึกซ้อมไปในตัวด้วยค่ะ (หัวเราะ) “
อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้เธอรักการวิ่งเข้าไปอีกนั่นคือการได้มีส่วนร่วมภายในทีม Sparrow Runner หรือทีมนกกระจอก เป็นทีมที่เป็นแฟนเพลงของวงบอดี้สแลมและมีใจในการรักการวิ่งเหมือนกับพี่ตูน ซึ่งเป็นทีมที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมไปถึงแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ในเรื่องของการวิ่ง จึงทำให้เธอรู้สึกว่าการวิ่งมันไม่ใช่แค่มาวิ่งๆๆๆ แล้วพอจบงานก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
“ตอนนั้นเราสมัครงานๆ หนึ่งแล้วก็ไปเจอกับพี่ท่านหนึ่งที่เขาอยู่ในทีมนกกระจอก ซึ่งก็ได้วิ่งไปพร้อมๆ กัน Pace ใกล้เคียงกันแล้วเหมือนพี่เขาเห็นว่า เราสามารถวิ่งคุม pace ได้ดูเหมือนว่าเราแบบมีการวิ่งที่โอเค หลังจากนั้นพี่เขาก็ทักมาว่า สนใจจะเข้าทีมวิ่งนกกระจอกไหม คือเจตนารมณ์ของทีมคือเราออกมาวิ่งเพราะเรามีความสุข ไม่จำเป็นต้องวิ่งเพื่อมาล่ารางวัล เรามาวิ่งเพื่อตัวเราเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร กิ๊ฟ เลยคิดว่า มันตรงกับเราในตอนนั้นคือตอนแรกเราไม่ชอบวิ่งเลย พอได้มาวิ่งเราก็มีความสุข กิ๊ฟก็เลยตัดสินใจเข้ามาอยู่ในทีมนี้ มันก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งครอบครัว หนึ่งสังคมของเราเลย”
“จุดเด่นของทีมกิ๊ฟชอบในส่วนที่ว่า เราก็ต่างคนต่างวิ่งนะ แต่ว่าเวลาเราเจอกันในสนามเราก็จะส่งเสียงให้กัน หรือแปะมือกันส่งกำลังใจให้กัน มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจวิ่ง มันเป็นเหมือนอีกหนึ่งสังคมอีกหนึ่งครอบครัวของเราไปเลย”
หลังจากนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม เธอก็ได้สร้างความท้าทายให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยการลงสมัครเป็น Pacer สังกัดทีมลูกโป่งรันเนอร์ ครั้งแรกเธอลงสมัครด้วยระยะเวลา 90 นาที ในระยะวิ่ง 10 กิโลเมตร และปัจจุบันเธอขยับเวลาขึ้นไปได้ด้วยการเป็น Pacer ระยะ 10 กิโลเมตรในเวลา 70 นาที
“เริ่มมาเป็น Pacer ได้ก็เพราะว่า เราลงวิ่งมาหลายๆ งานก็จะได้เจอกับเพื่อนๆ พี่ๆ นักวิ่งมากมาย รวมไปถึงพี่ช่างภาพ ก็มีพี่เขามาชวนมาถามเราว่า ปกติวิ่งคุม pace ไหม ลองซ้อมแล้วส่งเวลามาและลองสมัครเป็น Pacer ในงานวิ่งไหม คือพี่เขาให้โอกาสเราตรงนั้น แล้วกิ๊ฟก็เลยคิดว่า มันเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เราพัฒนาและได้ฝึกฝนการวิ่งของเราให้ดีขึ้น กิ๊ฟเลยตอบรับไปค่ะ”
“หลังจากที่เป็น Pacer การฝึกซ้อมของเราก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จะมาซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้างไม่ได้แล้ว และการซ้อมทุกครั้งต้องวิ่งคุม pace ให้ได้ เพราะถือว่า เราเป็นนาฬิกาให้กับนักวิ่งในงานแล้ว เราก็ต้องวิ่งเข้าเส้นชัยให้ตรงเวลาบนลูกโป่งของเรา”
จากงานวิ่งที่เธอเคยลงมาเกือบๆ จะ 50 งานมีหนึ่งงานที่เธอได้เล่าให้กับทีมงาน TrueID Sports ได้ฟัง คือการไปวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร ในงาน ออสโล มาราธอน 2018 ที่ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นงานที่เธอตั้งใจมากเนื่องจากว่า ไปวิ่งที่ต่างแดน และชุดที่เธอสวมใส่คือเสื้อของทีมนกกระจอกที่มีธงชาติไทยติดอยู่ที่อกเสื้อด้วย
“ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเที่ยวเฉยๆ แต่พอลองไปดูก็พบว่า มีงานวิ่ง ออสโล มาราธอน 2018 เราก็สนใจและตัดสินใจลงสมัครประเภทฮาล์ฟมาราธอน เพราะอยากลองไปสัมผัสบรรยากาศการวิ่งที่ต่างประเทศบ้าง วันนั้นเจออากาศ 7 องศา อากาศเย็นมากๆ ค่ะ และการวิ่งมันก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราวาดฝันเอาไว้เลย กิ๊ฟเป็นตะคริวตั้งแต่กิโลเมตรที่ 17 ทั้งสองขา จนทำให้เราแบบรู้สึกท้อไปเลย คิดเลยว่า เราวิ่งไม่จบแน่นอน แต่อีกใจหนึ่งก็พยายามคิดว่า เห้ยเรามาถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่พยายามต่อให้จบ แต่ด้วยสภาพร่างกายตอนนั้นเราไม่ไหวแล้ว จนเกือบจะถอดใจคือแบบ กิ๊ฟเดินร้องไห้แล้ว”
“พอกิ๊ฟตั้งสติได้มองไปเห็นว่า เราใส่เสื้อของทีมมาวิ่ง และมีธงชาติไทยติดไว้ที่เสื้อวิ่งของเราด้วย แล้วก็มีนักวิ่งที่เขาวิ่งผ่านเราไปเขาก็ตะโกนเชียร์เรา Thailand Thailand!! มันก็ทำให้กิ๊ฟฉุดคิดได้ว่า เรามีธงชาติไทยติดมาด้วยนะ “เราจะยอมแพ้เหรอ ขนาดคนอื่นเขายังตะโกนเชียร์เราอยู่เลย” มันเป็นสิ่งที่ทำให้กิ๊ฟมีแรงฮึดสู้ขึ้นมาทันที เราก็เลยพยายามยืดขาเพื่อให้ตะคริวที่ขาคลายตัว หลังจากนั้นก็เริ่มวิ่งสลับกับเดินบ้าง คือกิ๊ฟบอกกับตัวเองเลยว่า ต่อให้คลานเข้าเส้นชัยก็ต้องทำ ไม่ไหวก็ต้องไหว”
“เส้นทางของเราเหลือเพียงแค่ 4 กิโลเมตร มันเป็นเส้นทางที่แบบทั้งมีความสุข ทั้งเจ็บขา บวกกับน้ำตาที่ไหลตลอดทาง พร้อมกับเสียงที่ตะโกนเชียร์เราตลอดทาง และก่อนเข้าเส้นชัย 500 เมตรสุดท้าย กิ๊ฟเห็นคุณแม่ยืนคอยเชียร์เราอยู่มันยิ่งเป็นแรงผลักให้เราวิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ ถึงแม้จะไม่ได้เวลาที่ดีที่สุด แต่มันเป็นการวิ่งที่กิ๊ฟตื้นตันใจมากที่สุดงานหนึ่งเลยค่ะ”
ถือว่าเป็นอะไรที่น่าชื่นชมมากๆ เลยนะครับ สำหรับสาวนักวิ่งคนนี้ เธอเป็นตะคริวที่ขาถึง 2 ข้าง แต่ก็ยังพยายามพาตัวเองวิ่งจบในระยะเวลาประมาณ 2.50 ชั่วโมง ถือว่าเป็นเวลาที่พอใช้ได้เลยทีเดียว สำหรับการไปวิ่งในต่างแดนครั้งแรกของเธอ
หลังจากนั้นผมเริ่มพูดคุยกับเธอต่อ โดยผมถามเธอว่า อะไรเป็นแรงผลักดันและเป็นกำลังใจที่สำคัญในการออกไปวิ่งของเธอ เธอตอบกลับมาให้ผมฟังแบบนี้ครับ
“ตัวเองค่ะ คือกิ๊ฟเริ่มออกมาวิ่งก็เพราะตัวกิ๊ฟเอง นับตั้งแต่การตื่นขึ้นมาจากที่นอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง มันคือการเอาชนะใจตัวเองล้วนๆ เลยค่ะ กิ๊ฟเลยคิดว่าตัวเองของเราเองน่าจะเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเราเองได้ดีที่สุด คือกิ๊ฟต้องเล่าแบบนี้ เมื่อก่อนกิ๊ฟเคยเป็นโรคเครียดจนต้องเข้าพบคุณหมอ ตอนนั้นก็คิดเลยนะว่า ตัวเองไม่มีคุณค่าเหมือนเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมชีวิตเราต้องมาเป็นแบบนี้ ตอนนั้นมองตัวเองในด้านลบมากๆ”
“พอได้ออกมาวิ่งจริงๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกสนุกและมีความสุขกับมัน แล้วก็เริ่มเปลี่ยนความคิดต่างๆ มองตัวเองมากขึ้น วางแผนชีวิตว่า เราควรจะตื่นมาวิ่งตอนไหน เราควรจะฝึกซ้อมตอนไหน และก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง บอกกับตัวเองเสมอว่า เราต้องตื่นขึ้นมาเพื่อทำสิ่งที่เรารักนะ นั่นคือการวิ่ง “
จากคนที่เคยเป็นโรคเครียด สามารถหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อรักษาตัวเองและส่งกำลังใจ ส่งพลังให้กับตนเอง ทำให้ชีวิตมองโลกในด้านบวกมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมนะครับสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง สุดท้ายครับ ผมได้ถามเธอถึงจุดหมายหรือเป้าหมายสำหรับการวิ่งของเธอ เธอกล่าวปิดท้ายกับผมว่า
“เมื่อก่อนยอมรับเลยว่า เรามาวิ่งเนี่ยเราต้องการถ้วยรางวัล เราต้องการสร้างสถิติเวลาที่ดีที่สุดของเราในแต่ละครั้ง แต่ปัจจุบันนี้เราคิดแค่ว่า โอเค ตอนนี้การวิ่งคือสิ่งที่เรารักไปแล้ว เราขอแค่ได้ออกไปทำในสิ่งที่เรารักแค่นั้นก็พอ โดยที่ไม่ต้องสนใจถ้วยรางวัล และชื่อเสียงอะไรเลย แต่ถ้าในสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ มันกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้ สิ่งนี้แหละเราถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว”
การวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระยะ ฟันรัน, มินิมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน, มาราธอน และ อัลตร้ามาราธอน ไม่ว่าจะด้วยระยะไหนมันสามารถช่วยทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงได้ทั้งนั้น และยิ่งโดยเฉพาะ สิ่งที่คุณกำลังทำเป็นสิ่งที่คุณหลงรักมันไปแล้วด้วย ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า สิ่งๆ นั้นคุณจะทำมันออกมาได้ดี และคุณจะมองทุกอย่างเป็นพลังบวกให้กับตัวคุณเองได้เลย
“หลายคนตั้งคำถาม ทำไมต้องวิ่ง ทำไมต้องตื่นมาวิ่ง คำตอบที่ดีที่สุด มันก็อยู่ที่ตัวคุณเองนั่นแหละ ถ้าหากคุณแค่ลองได้ทำมัน”
“Arm Phukrit”