รีเซต
รถหรือคน : อะไรสำคัญกว่ากัน ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ? | Main Stand

รถหรือคน : อะไรสำคัญกว่ากัน ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ? | Main Stand

รถหรือคน : อะไรสำคัญกว่ากัน ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ? | Main Stand
เมนสแตนด์
22 มิถุนายน 2565 ( 18:30 )
339

เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน จะคว้าแชมป์โลก 6 สมัยของเขาระหว่างปี 2014-2020 ได้หรือไม่ หากเจ้าตัวไม่ได้เป็นนักขับเบอร์หนึ่งของทีม เมอร์เซเดส และในทางกลับกัน เมอร์เซเดส จะเป็นแชมป์ผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ได้หรือไม่ หากไม่มี แฮมิลตัน อยู่หลังพวงมาลัย ?


 

แม้คำถามข้างต้นจะเป็นสถานการณ์สมมติที่เราอาจไม่มีทางทราบคำตอบจริงได้ ด้วยปัจจัยปลีกย่อยต่าง ๆ ของทั้งนักขับและทีมผู้ผลิต แต่อะไรคือองค์ประกอบที่สำคัญกว่ากันบนสนามแข่งขัน ทีมต้องพึ่งพานักขับคุณภาพ หรือนักแข่งต้องอาศัยรถที่ดีกันแน่ ?

มาลองวิเคราะห์หาคำตอบดังกล่าวไปกับ Main Stand ได้ในบทความนี้

 

จะเอาอะไรไปวัด ?

อุปสรรคด่านแรกในการถอดสมการหาคำตอบของคำถามในหัวข้อของบทความนี้ คือเราจะวัดอย่างไรว่าอะไรสำคัญกว่ากัน มีตัวแปรไหนที่สามารถนำมาประเมินได้อย่างชัดเจนจริง ๆ ไหม ?

เราอาจเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุด คือย้อนกลับไปกางข้อมูลของนักขับแชมป์โลก กับทีมผู้ผลิตที่คว้าแชมป์ในฤดูกาลนั้น ๆ เสียเลย ซึ่งมีการแข่งขันฟอร์มูล่าวันไปแล้ว 64 ฤดูกาล นับตั้งแต่ปี 1958 ที่มีการมอบแชมป์ผู้ผลิตเป็นครั้งแรก และมีเพียงแค่ 10 ครั้งเท่านั้น ที่นักขับผู้คว้าแชมป์โลก ไม่ได้อยู่ในทีมที่คว้าแชมป์ผู้ผลิตของฤดูกาลนั้น ๆ

จากตัวเลขชุดนี้ เราอาจบอกได้ว่า นักขับที่คว้าแชมป์โลกนั้นก็ต้องอยู่ในรถที่แรงและเสถียรพอจะคว้าแชมป์ได้อยู่แล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็อาจแสดงให้เห็นว่าทีมผู้ผลิตเหล่านี้ต้องพึ่งพานักขับคุณภาพดี เพื่อนำรถของพวกเขาเข้าสู่เส้นชัยได้เร็วที่สุด

ทว่าข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงให้เห็นภาพรวมของการแข่งขันทั้งหมด เช่นในปี 2021 แฮมิลตัน จากทีม เมอร์เซเดส พลาดแชมป์นักขับให้กับ มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น ของทีม เรดบูล เรซซิ่ง เพียงเพราะอันดับการแข่งขันในสนามสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ เฟลิปเป้ แมสซ่า ของทีม เฟอร์รารี่ (แชมป์ทีมผู้ผลิตฤดูกาลนั้น) ชวดแชมป์นักขับสมัยแรกให้กับ เซอร์ ลูอิส ไปในสนามสุดท้ายของปี 2008 ที่ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการขับเคี่ยวของนักขับกับทีมในอันดับต้น ๆ ของตารางนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยลึกลงไปอีกพอสมควรเลย

หรือถ้าให้วัดว่านักขับเป็นผู้เข้ามายกระดับทีม แบบตบเขาเข้ามาแล้วกลายเป็นเดอะแบกที่ยกระดับทีมให้แกร่งขึ้นได้ ก็คงไม่มีค่ามาตรวัดอันใดที่แสดงออกมาได้ชัดเจนขนาดนั้น เพราะผลงานในสนามของนักขับเป็นเพียงส่วนเดียวที่ถูกเปิดเผยมาให้สาธารณะมองเห็นได้ และการพัฒนารถจากคำแนะนำของนักแข่ง หรือข้อมูลที่ได้จากวิศวกรในหลังบ้านของทีมผู้ผลิตนั้น ๆ มักไม่ถูกเปิดแชร์ให้ทีมอื่นได้รับทราบอยู่แล้ว จึงทำให้การหาคำตอบของเรื่องนี้ไม่ใช่งานที่ง่ายเสียเลย

แต่ก่อนที่เราจะหลงทางไปกับการงมเข็มในมหาสมุทรไปมากกว่านี้ ต้องย้อนมาทำความเข้าใจกับพื้นฐานของการแข่ง F1 เสียก่อน เพราะแม้ว่าในระหว่างถ่ายทอดสด คุณจะเห็นแค่นักขับแต่ละคนบังคับรถของตน แต่เบื้องหลังนอกเฟรมกล้องดังกล่าว นี่คือกีฬาประเภททีมอย่างถ่องแท้เลยทีเดียว

 

กีฬาประเภททีม ?

มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น แชมป์โลกคนล่าสุด ได้เคยเปิดเผยว่า “ผมเป็นคนที่นั่งอยู่ในรถ ดังนั้นผมต้องทำทุกอย่าง ขับรถ อะไรพวกนี้ด้วยตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีทีมที่คอยสนับสนุนในเรื่องกลยุทธ์การเข้าพิท คอยเช็คค่าเครื่องยนต์ให้คุณตลอดการแข่งขัน”

“ดังนั้นมันคือกีฬาประเภททีม ที่มีส่วนผสมของการเป็นนักกีฬาเดี่ยวอยู่เล็กน้อย ผมเลยคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่นอยู่ คือไม่ใช่ว่าเราต้องมานั่งแซงคู่แข่ง แล้วเข้าพิทลงไปเปลี่ยนยางด้วยตัวเองทั้งหมด ผมแค่นั่งอยู่ในรถเท่านั้นเลย”

ด้วยความที่ผู้ผลิตทั้ง 10 ทีม จะได้ส่วนแบ่งของรายได้กับเงินรางวัลในอัตราที่แตกต่างกัน ตามอันดับในตารางคะแนนสะสมประเภททีม จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องมองหานักขับฝีมือดีที่สุดเข้ามาร่วมทีม เช่นกันกับการจ้างวิศวกร ช่าง และทีมงานอีกมากมายเพื่อมาพัฒนาประสิทธิภาพรถแข่งของพวกเขาให้ออกมาดีที่สุด ในแบบที่แทบจะต้องแงะหาช่องโหว่ระหว่างกฎการแข่งขัน เพื่อแลกกับการทำให้รถเร็วขึ้นมาแค่หลักมิลลิวินาทีเลยทีเดียว

หากนักขับไม่มีทีมพิทเปลี่ยนยางที่ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดี รวมถึงทีมกลยุทธ์ที่วางแผนได้อย่างถูกต้อง การแวะไปหยุดรถในพิทเลนเพียงครั้งเดียว ก็อาจหมายถึงถ้วยแชมป์ที่หลุดลอยไปตลอดกาล หรือการออกแบบตัวรถที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยมาตั้งแต่ต้นฤดูกาล ที่สามารถส่งผลกระทบให้คะแนนของนักขับไปไม่ถึงศักยภาพทางฝีมือของพวกเขาได้ ซึ่งเมื่อฟังดูเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นถึงความสำคัญของทีมผู้ผลิตเจ้าต่าง ๆ ที่ทุ่มทรัพยากรของตนเองไปกับรถแข่ง เพื่อให้นักขับเป็นคนลงสนามไปรับหน้าที่บังคับพวงมาลัยต่อ

แต่ถึงบอกว่านี่คือกีฬาประเภททีม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละผู้ผลิตจะมี “นักขับคนโปรด” ที่เป็นเบอร์หนึ่งของทีมอยู่เสมอ เช่นในฤดูกาล 2022 เฟอร์รารี่ มี ชาร์ลส์ เลอแคลร์, เรดบูล มี เวอร์สแตพเพ่น, และ เมอร์เซเดส มี แฮมิลตัน ซึ่งมักได้รับการให้ความสำคัญจากทีมในการพัฒนารถแข่ง วางกลยุทธ์ เพื่อเอื้อกับการขับขี่ของนักขับที่สามารถทำแต้มกับทีมมากที่สุดให้ได้


เช่นกันกับตำแหน่งนักขับเบอร์สอง ที่ทำหน้าที่เป็นพระรองของนักขับเบอร์หนึ่งอย่างเต็มตัว อย่างที่ วัลต์เตรี่ บอตตาส เคยทำในสมัยขับกับทีม เมอร์เซเดส และ เซอร์จิโอ เปเรซ กำลังรับบทบาทอยู่ในทีม เรดบูล พวกเขาไม่ได้ถูกเลือกมาเพื่อให้เป็นคนที่จบอันดับสูงสุดในตารางแข่งขันอยู่แล้ว และมักพบกับ “Team Order” หรือคำสั่งจากทีมให้ไม่ต่อสู้กับนักแข่งเบอร์หนึ่งอยู่บ่อยครั้ง

ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่ว่าแต่ละทีมสามารถไปเลือกใครก็ได้มารับตำแหน่งเบอร์สองนี้ เพราะถ้านักขับผู้เป็นพระรองของคุณทำผลงานได้ห่างชั้นจากตัวหลักอยู่มากโข หรือไม่สามารถรับแรงกดดันจากการกระโดดขึ้นมาสู่ทีมที่ใหญ่ขึ้นได้ ก็อาจหมายถึงแต้มจำนวนมากที่หลุดลอยไป เพราะแต้มทีมผู้ผลิตนั้นนับจากนักขับทั้งสองคน ไม่ใช่เก็บแค่ของคนที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดอยู่เพียงคนเดียว

ตอนนี้เราได้เห็นแล้ว ว่าบริบทของการเทียบระหว่างนักขับกับรถแข่ง ไม่ได้อยู่ที่แค่ตัวรถแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ากลับรวมถึงองค์ประกอบของทีมงาน ทรัพยากร และองค์ความรู้โดยรวมที่รายล้อมทั้งคู่ไว้อยู่ด้วย แต่อะไรกันล่ะที่มีความสำคัญมากกว่ากันจริง ๆ ?

 

แยกกันไม่ได้ ?

จำแผนผังห่วงโซ่อาหารในบทเรียนวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ ที่ว่าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปในห่วงโซ่อาหารนั้น ๆ ก็อาจทำให้ระบบนิเวศดังกล่าวขาดสมดุลไปเลย

แน่นอนว่านักขับทั้ง 20 คนที่อยู่ในสนามของฤดูกาลนี้ ย่อมมีระดับความสามารถแตกต่างกัน บางคนอาจเก่งกับการอยู่ทีมใหญ่ วิ่งอยู่แถวหน้าของสนาม กับบางรายอาจถนัดการแซงจากกลางตารางขึ้นไปมากกว่า แต่พวกเขาทั้งหมดถือว่าเป็นยอดมนุษย์คนหนึ่งในวงการ ที่ต้องมีความพร้อมทั้งกายภาพในการรับมือกับแรงต่าง ๆ ระหว่างขับ ความกดดันทั้งหลาย พร้อมต้องมีสมาธิอย่างสูงอยู่ตลอดเวลา เช่นกันกับผ่านการฝึกซ้อมจนแทบจะจดจำตำแหน่งของโค้งต่าง ๆ ในสนามลงไปในกล้ามเนื้อได้แล้ว

ในเวลาเดียวกัน ทีมผู้ผลิตก็ต้องพัฒนารถของตนออกมาให้ดีที่สุดเหมือนกัน ตำแหน่งปีกต้องทำมุมเท่าไหร่ รถต้องลู่ลมเพียงไหน ยอมสูญความเร็วทางโค้งเพื่อได้ความเร็วทางตรงได้ไหม จะยอมรับโทษปรับตำแหน่งออกสตาร์ทเพื่อได้เครื่องยนต์ตัวใหม่ที่แรงกว่าหรือไม่ เรียกเข้าพิทตอนไหน ปล่อยรถออกไปวิ่งเมื่อไหร่ที่จะทำเวลาได้ดีที่สุด คือทั้งสององค์ประกอบต้องทำงานแบบควบคู่กันได้ เพื่อไม่ให้สูญเสียสมดุลของฝั่งใดฝั่งหนึ่งไปเลย

แม้เราจะหาข้อสรุปแบบที่แท้จริงว่าอะไรสำคัญกว่าไม่ได้ แต่ถ้าลองวิเคราะห์ดูจากเคสตัวอย่างในสนามล่ะ มันจะพอเป็นไปได้ไหม ?

แมคลาเรน เคยดึงตัว เฟร์นานโด อลอนโซ่ แชมป์โลกสองสมัยมาร่วมทีมระหว่างฤดูกาล 2015-2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาไปจับมือใช้เครื่องยนต์ของ ฮอนด้า ในช่วงเวลาที่เครื่องของค่ายจากประเทศญี่ปุ่นนั้นอยูในช่วงตั้งไข่ ไม่มีความเสถียรใด ๆ เลย จนเจ้าตัวต้องออกจากการแข่งขันอยู่หลายครั้ง และไม่เคยขึ้นไปจบในตำแหน่งโพเดียมได้แม้แต่หนเดียวเลย

แต่พอเจ้าตัวกลับมาสู่การแข่งขันอีกครั้งกับทีม อัลปีน นักขับชาว สแปนิช รายนี้ก็มีส่วนช่วยให้ เอสเตบัน โอคอน คว้าแชมป์สนามแรกของตนเอง ด้วยการขับบังคู่แข่งอย่าง ลูอิส แฮมิลตัน ได้หลายรอบการแข่งขัน พร้อมกับพาตัวเองขึ้นไปคว้าอันดับสามที่ กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ ซึ่งถือเป็นโพเดียมแรกตั้งแต่ปี 2014 เลยทีเดียว

กรณีข้างต้นอาจฉายภาพให้แต้มต่อกับตัวของนักขับ แต่เคสของทีม เมอร์เซเดส อาจยกระดับความซับซ้อนของประเด็นดังกล่าวขึ้นไปได้อีก เพราะหากย้อนไปในช่วงปี 2014-2021 พวกเขาคือทีมที่ถือครองความยิ่งใหญ่ใน F1 จากการพัฒนาเครื่องยนต์เทอร์โบไฮบริดได้แบบตีโจทย์แตกที่สุด จนคว้าแชมป์ผู้ผลิตมาได้ต่อเนื่องถึง 8 ปีติดต่อกัน

ทว่าในฤดูกาล 2022 รถของ เมอร์เซเดส เผชิญกับปัญหาอาการ “Porposing” หรือการกระดอนอย่างหนัก ควบคู่กับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ที่ยังไม่ถึงขั้นสองทีมหัวตารางอย่าง เฟอร์รารี่ และ เรดบูล จนทำให้ผลงานของ เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน ที่เคยครองตำแหน่งหัวตารางตลอดช่วงเวลา 8 ปีก่อนหน้านี้ (แชมป์ 6 ครั้ง และอันดับสองแบบแพ้คะแนนสนามสุดท้ายอีก 2 ครั้ง) ถูกพลิกให้หล่นลงไปอยู่อันดับตอนกลางของตารางแทน

ในเวลาเดียวกัน จอร์จ รัสเซลล์ ที่เพิ่งย้ายมาร่วมทีมในฤดูกาลนี้ ก็ยังคงรักษาสถิติวิ่งเข้าเส้นชัยไม่ตำกว่าอันดับ 5 มาได้ถึงแปดสนามติดต่อกันแล้ว ซึ่งทำให้ย่อมมีข้อเปรียบเทียบว่าทำไมอดีตแชมป์โลก 7 สมัย ถึงอยู่ดี ๆ ฟอร์มแผ่วไปจนตามหลังเด็กใหม่ของทีมได้ และนี่ก็อาจเป็นแต้มต่อให้กับความสำคัญของนักขับ ว่าการได้นักแข่งที่ใช่ เข้ามาร่วมทีมในเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้ว การนิยามว่าอะไรสำคัญสุด อาจอยู่กับว่าคุณเลือกมองจากมุมไหนก็ได้ เพราะอย่างที่ระบุไว้ในข้างต้นว่าการแข่งฟอร์มูล่าวันของแต่ละทีมผู้ผลิต ก็เหมือนกับห่วงโซ่อาหารที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน และไม่อาจขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไปได้เลย

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.quora.com/What-is-more-important-in-Formula-1-the-car-or-the-driver
https://www.youtube.com/watch?v=v2hyJ_XVmv0
https://www.youtube.com/watch?v=OMN0oB0Waqw
https://www.reddit.com/r/formula1/comments/mcplii/value_of_car_vs_driver/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้