รีเซต
กันดั้ม X เจลีก : การจับมือกันของสองขั้วยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น

กันดั้ม X เจลีก : การจับมือกันของสองขั้วยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น

กันดั้ม X เจลีก : การจับมือกันของสองขั้วยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น
เมนสแตนด์
16 สิงหาคม 2563 ( 19:00 )
710

กันดัม ถือเป็นหนึ่งในอนิเมะระดับตำนานของญี่ปุ่น เพราะนับตั้งแต่ออกฉายครั้งแรกในปี 1980 มันก็ยังคงมีภาคต่อโลดแล่นทั้งในจอแก้วและจอเงินมาจนถึงปัจจุบัน 

และสิ่งที่อยู่คู่กับอนิเมะเรื่องนี้มาตลอดคือกันพลา (กันดัม พลาสติก โมเดล) หรือของเล่นหุ่นประกอบ ที่จำลองมาจากหุ่นยนต์ในเรื่อง ซึ่งต่อมากลายมาเป็นของเล่นยอดฮิตของเหล่านักสะสม 

และในวาระครบรอบ 40 ปีของกันดัม พวกเขาก็ฉลองความยิ่งใหญ่ด้วยการเปิดตัว กันพลาแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น ที่ไม่ใช่แค่แบบเดียว แต่มาถึง 21 แบบ ที่ล้วนไม่ธรรมดา เพราะลวดลายของหุ่นแต่ละตัวได้รับแรงบันดาลใจจากสโมสรใน เจลีก หรือลีกฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น 

พบกับการครอสโอเวอร์ของสองขั้วยักษ์ใหญ่ที่อยู่ต่างวงการของญี่ปุ่นไปพร้อมกับ Main Stand 

อนิเมะที่โดนตัดจบ 

"เจ้าหนูปรมาณู" หรือ Astro Boy ผลงานจากการสร้างสรรค์ของ มูชิ โปรดักชั่น ของ เท็ตสึกะ โอซามุ นักวาดมังงะระดับตำนาน อาจจะเป็นการ์ตูนเรื่องแรก ๆ ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับ "อนิเมะ" ของญี่ปุ่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กันดั้ม" ก็เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ช่วยขับเคลื่อนวงการอนิเมะญี่ปุ่นในยุคต่อมา


Photo : www.online-station.net

การ์ตูนที่ผลิตโดย Sunrise Studio เรื่องนี้เริ่มออกฉายครั้งแรกในปี 1979 ในชื่อว่า Mobile Suit Gundam หรือชื่อเล่นว่า Gundam 0079 โดยเป็นเรื่องราวของสงครามระหว่าง สหพันธ์โลก กับจักรวรรดิซีออน อาณาเขตที่ประกาศแยกตัวจากโลก 

โดยหนึ่งในอาวุธสำคัญในสงครามก็คือ โมบิลสูท คือหุ่นรบที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ ที่ถูกคิดค้นเพื่อการต่อสู้ในระยะประชิด โดยฝั่งของสหพันธ์โลก มี Gundam RX-78-2 ที่มี อามุโร เรย์ เป็นผู้บังคับ ในขณะที่ฝั่งซีออนมี ชาร์ อัสนาเบิ้ล ที่ใช้ MS-06S Zaku II

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เนื้อเรื่องของกันดั้ม มีเนื้อหาที่ค่อนข้างเคร่งเครียด เพราะนอกจากจะเน้นสงครามและการเมืองแล้ว หุ่นในเรื่องเป็นแนวสมจริง (Real Robot) ต่างจากการ์ตูนหุ่นยนต์ในช่วงนั้นที่เป็นแนวเหนือจริง ซึ่งปล่อยพลังและแปลงร่างได้ (Super Robot) ทำให้มันไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร และถูกตัดจบไปหลังออกอากาศไปได้เพียง 43 ตอน 

แต่หลังจากที่ Gundam 0079 อำลาจอไปในปี 1980 โทชิยูกิ โทมิโนะ ผู้กำกับเรื่องนี้ ได้นำมันมาตัดต่อใหม่ โดยเพิ่มฟุตเทจเข้าไป และออกฉายเป็นภาพยนตร์ 3 ภาคจบในปี 1981 (สองภาคแรก) และ 1982 (ภาค 3) 


Photo : www.imdb.com

ทว่าการกลับมาครั้งนี้ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เมื่อในวันแรกของการฉายภาคแรก มีผู้คนกว่า 15,000 คน ที่เบียดเสียดเข้ามารอชมในรอบปฐมทัศน์จนเกือบเป็นความวุ่นวายขนาดย่อม ก่อนที่ทั้งสามภาคจะทำรายได้รวมกันเป็นเงินถึง 5,400 ล้านเยน ที่ทำให้หนังสือพิมพ์อาซาฮี สื่อดังของญี่ปุ่น ถึงขั้นเรียกว่า "วันที่เป็นจุดเปลี่ยนวงการอนิเมะญี่ปุ่น"

ก่อนที่มันจะช่วยปลุกกระแสกันดั้มให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพราะหลังจากนั้นพวกเขาได้ออกภาคต่อออกมามากมาย และทำให้มันยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการอนิเมะจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งในขณะเดียวกัน มังยังทำให้ธุรกิจหนึ่งเติบโตอย่างคาดไม่ถึง ...

 

ของเล่นหมื่นล้าน 

แทบจะเป็นธรรมเนียมของวงการทีวีญี่ปุ่นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกครั้งที่มีการ์ตูนหรือภาพยนต์แนว Sentai ออนแอร์ จะมีการวางจำหน่ายพลาสติกโมเดล หรือที่เรียกกันว่า "พลาโม" ตามมา 

อันที่จริงพลาโมในช่วงแรก แทบจะไม่ได้เป็นคาแรคเตอร์จากตัวการ์ตูน แต่เป็นเครื่องบิน เรือรบ หรือรถถัง หรือยานพาหนะในสงคราม เนื่องจากตอนที่มันเข้ามาในญี่ปุ่น เป็นช่วงสงครามโลก ทำให้แม้แต่ตอนที่บริษัทญี่ปุ่นผลิตเองเป็นครั้งแรกในปี 1958 ก็ยังยึดแนวทางนี้ (พลาโมชิ้นแรกที่ญี่ปุ่นผลิตเองคือเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์)   

เช่นกันสำหรับการ์ตูนกันดั้ม ที่ใช้แนวทางนี้ เพราะหลังจากที่กันดั้มภาคแรกภายจบในปี 1980 พวกเขาก็ได้วางจำหน่าย พลาสติกโมเดล ที่ผลิตโดยบริษัท Clover บริษัทของเล่นที่เป็นสปอนเซอร์ของอนิเมะกันดั้ม ตามออกมา 


Photo : aditia101726.blogspot.com

อย่างไรก็ดี อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับอนิเมะภาคแรกของกันดั้มนั้นได้รับผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลต่อยอดขายพลาสติกโมเดล ที่น้อยเกินคาด และทำให้ต่อมาในปี 1980 สิทธิ์การผลิตถูกส่งต่อไปให้บันได (Bandai) ที่ก่อนหน้านี้ผลิตสินค้าให้กับอนิเมะชื่อดังอย่าง Thunderbird และซีรีส์ Masked Rider รับช่วงไป 

และมันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบันได เริ่มต้นด้วยการดีไซน์หุ่นของพวกเขาให้ต่างจาก Clover อย่างสิ้นเชิง ด้วยการทำมันออกมาเป็นหุ่นประกอบ ที่คนซื้อต้องเอาไปต่อและทำสีเอง ไม่เหมือนกับหุ่นของ Clover ที่เป็นแนวสำเร็จรูป 

นอกจากนี้พวกเขายังต่อยอด "Mechanic Collection" หรือโมเดลที่เน้นรายละเอียดที่สมจริง หลังประสบความสำเร็จในการผลิตพลาสติกโมเดลจากการ์ตูนเรื่อง "เรือรบอวกาศยามาโตะ" ด้วยการออกแบบกันดั้มในแนวทางนี้ 

ในขณะเดียวกัน บันได ยังได้ปฏิวัติวงการด้วยการคำนวนสเกลของตัวหุ่น เพราะก่อนหน้านี้พลาโมที่สร้างมาจากอนิเมะทั้งหมดล้วนเป็นแบบไม่มีสเกล ซึ่งไม่มีส่วนสูงที่แน่นอน (ขนาดแตกต่างกันไปตามกล่อง) 

แต่บันได ได้นำสเกล 1/144 มาใช้กับหุ่นทุกตัวในช่วงแรก RX-78 GUNDAM เป็นหุ่นตัวแรกของซีรีส์กันดั้มที่ผลิตโดยบันได (ลำดับที่ 4 ของ Mechanic Collection) แต่ถึงอย่างนั้นยอดขายตอนแรกไม่ได้ดีมากนัก จากความนิยมที่ตกต่ำของอนิเมะช่วงแรก 


Photo : www.mojeen-import.com

ทว่าหลังจากกันดั้มฉบับภาพยนตร์ ออกฉายในปี 1981 ที่ปลุกกระแสการ์ตูนเรื่องนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มันยิ่งช่วยส่งเสริมการขายให้กับพลาโมกันดั้มของบันได หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "กันพลา" เช่นกัน และกลายเป็นของเล่นที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตอนนั้น 

ทำให้แม้ว่าจะไม่มีอนิเมะออกฉายในช่วงปี 1983-1984 แต่บันได ยังได้ออกหุ่นยนต์ที่ไม่เคยปรากฎในเรื่องมาก่อนในซีรีส์ MSV (Mobile Suit Variation) บวกกับความโด่งดังของมังงะที่ชื่อว่า พลาโมเคียวชิโร มังงะที่ตีพิมพ์ในปี 1982-1986 ที่เป็นเรื่องราวของนักต่อหุ่น ได้ช่วยเสริมให้ "กันพลา" กลายเป็นสินค้าขายดีของบันได

"ตอนที่กันพลาเข้าสู่ตลาดครั้งแรก เราต้องทำงานหนักจนถึงเที่ยงคืนเพื่อผลิตให้ได้ตามความต้องการ" อาคิฮิโร คุริตะ ที่ทำงานให้กับโรงงานของ Bandai มาตั้งแต่ปี 1980 กล่าวกับ Nikkei  

และในปี 1985 ซึ่งเป็นปีที่ Mobile Suit Zeta Gundam ออนแอร์ บันได ยังได้ริเริ่มธรรมเนียมใหม่ด้วยการวางจำหน่ายหุ่นไม่นานหลังจากที่มันปรากฎในเรื่อง โดยพวกเขาได้เปิดขาย RX-178 GUNDAM Mk-II และ Hi-Zack ในเดือนเมษายนปีดังกล่าว ซึ่งรูปแบบการวางจำหน่ายลักษณะนี้ยังได้ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน  


Photo : www.smileisgundamshop.com

หลังจากนั้น กันพลา ก็ผ่านการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข ทั้งในเรื่องคุณภาพและจุดขยับ และถูกแบ่งออกเป็นหลายเกรดหลายขนาด ทั้ง HG (High Grade) MG (Master Grade) PG (Perfect Grade) ให้นักสะสมได้เลือกซื้อ 

ในขณะเดียวกัน มันก็กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับบันไดได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะในช่วง 10 ให้หลังระหว่างปี 2008-2018 เมื่อสินค้าในไลน์นี้สร้างรายได้ให้กับบริษัทเป็นมูลค่าสูงถึง 790,200 ล้านเยน (ราว 230,000 ล้านบาท) และเป็นสินค้าที่ทำเงินให้กับบันไดมากที่สุด  

"ผมแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าสินค้านี้จะขายมาเป็น 40 ปี" คุริตะที่มี RX-78 เป็นหุ่นในดวงใจกล่าวต่อ 

อย่างไรก็ดี ในปี 2018 กันพลา ได้สูญเสียตำแหน่งผู้นำเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เพราะแม้จะทำรายได้ถึง 68,300 ล้านเยน (ราว 20,000 ล้านบาท) แต่ก็เสียบัลลังก์ให้กับสินค้ากลุ่มดราก้อนบอล ที่มียอดขาย 97,900 ล้านเยน (ราว 28,500 ล้านบาท) 

ทำให้พวกเขาต้องหาพวกเขาพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ในการขยายตลาด ก่อนที่มันจะทำให้เกิดการจับมือครั้งสำคัญขึ้นในปี 2020 

 

กันดั้ม X เจลีก 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากันพลา เป็นสินค้าที่มูลค่าทางการตลาดมาก ด้วยจำนวนยอดขายที่มหาศาล มานานนับ 10 ปี โดยล่าสุด เพิ่งจะขายกันพลาครบ 500 ล้านชิ้นในปี 2019 และมีเงินจำนวนหลายแสนล้านเยนหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้ 

ทำให้มันมักจะร่วมมือกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากมาย ทั้งเอารูปไปใช้หรือดีไซน์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกันดั้ม โดยก่อนหน้านี้มีทั้ง รองเท้าสนีกเกอร์ แว่นตา นาฬิกา หรือแม้กระทั่ง Hello Kitty 

แต่ในปี 2020 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของกันดั้ม พวกเขาได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศความร่วมมือกับเจลีก ผลิตสินค้าออกมาในรูปแบบลิมิเต็ด อิดิชั่น 


Photo : www.jubilo-shop.jp

เริ่มจาก "กันพลา" สินค้าขายดีของพวกเขา ที่เปิดตัวด้วย RX-78-2 J League เวอร์ชั่น ที่มาพร้อมกับตัวหุ่นสีดำ พร้อมกับสติ๊กเกอร์ลายเชือกรองเท้า และตราสโมสรเจลีกทั้ง 56 สโมสรในเจ1 เจ2 และ เจ3 

นอกจากนี้พวกเขายังเปิดตัว Haro หุ่นยนต์ที่เป็นเหมือนมาสค็อตของการ์ตูนเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นเจลีก ที่มีสีขาวคล้ายกับลูกฟุตบอล และมีสติ๊กเกอร์ของเจลีก


Photo : Sotsu Sunrise | web.gekisaka.jp

แต่ที่ได้รับความสนใจที่สุดคงจะเป็น กันพลาเวอร์ชั่นสโมสร ที่นำหุ่นห้ารุ่นคือ 00 Gundam, Strike Gundam, Impulse Gundam, Gundam Exia และ Gundam Barbatos มาแปลงโฉมใหม่ โดยสีและสติ๊กเกอร์ จะแตกต่างกันไปตามสีหลักของสโมสรในเจลีก 1 ฤดูกาล 2019 และ 2020 รวมทั้งหมด 20 ทีม และขายในราคา 3,000 เยนไม่รวมภาษี (ราว 880 บาท)   

โดย ฮอกไกโด คอนซาโดเล ของชนาธิป สรงกระสินธิ์ จะเป็น 00 Gundam ที่มาพร้อมกับโทนแดงดำ ส่วน โยโกฮามา เอฟ มารินอส ของ ธีราทร บุญมาทัน Strike Gundam ในเวอร์ชั่นขาวน้ำเงิน ในขณะที่ทีมของ ธีรศิลป์ แดงดา อย่าง ชิมิสุ เอสพัลส์ เป็น Gundam Exia โทนขาวส้ม 


Photo : www.excite.co.jp


Photo : FBN | web.gekisaka.jp

"ผมคิดว่าพอมาอยู่ด้วยกันมันเท่มาก ๆ เลย แฟนบอลทุกคนสามารถซื้อโมเดลของทีมที่ชอบได้ หรือแม้กระทั่งตอนไปเป็นทีมเยือน ก็สามารถซื้อโมเดลของคู่แข่งได้" ฮิโรชิ นานามิ อดีตเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติญี่ปุ่น และผู้จัดการทีม จูบิโล อิวาตะ กล่าวกับ Soccerking 

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ส่วนของฝั่งบันไดเท่านั้น เมื่อในส่วนของเจลีก พวกเขาได้จับมาสค็อตของแต่ละสโมสร มาแต่งตัวในรูปแบบของกันดั้มสไตล์ และเตรียมวางจำหนายเป็นของที่ระลึก ยกตัวอย่างเช่น มารินอสคุงของ เอฟ มารินอส ที่เป็น RX-78-2 หรือ เรเดีย ของ อุราวะ เรดส์ ที่มาในหุ่น MS-06S Zaku II ของชาร์  


Photo : www.excite.co.jp

"เจลีกมีสโมสรอยู่ทั่วญี่ปุ่น แน่นอนว่าพวกเขาจึงมีแฟนอยู่ในทุกภูมิภาค การจับมือกับเจลีกเป็นโอกาสให้เราได้ทำให้กัมดั้มเป็นที่รู้จักในแต่ละภูมิภาคมากขึ้นในวาระฉลอง 40 ปี" ฮิเดยูกิ นัมบะ ประธานบริษัท Sotsu บริษัทลูกของบันได อธิบาย 

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการจับมือกับสโมสรกีฬา เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2019 บันได ได้ร่วมมือกับสมาคมลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่น (NPB) เปิดตัวกันดั้มเวอร์ชั่นเบสบอล ก่อนที่มันประสบความสำเร็จอย่างงดงามที่ขายดีจนขาดตลาด และกลายเป็นไอเดียในการจับมือกับเจลีกในปีนี้ 

"นับตั้งแต่ตอนนั้น ก็มีคนบอกมาตลอดว่าครั้งต่อไปต้องเป็นเจลีก" ทาเคชิ ทามูระ กรรมการผู้จัดการ ให้เหตุผล

นอกจากนี้พวกเขายังมีโครงการ "กันดั้มเดย์" ที่เตรียมไปจัดกิจกรรมถึงหน้าสนามฟุตบอลทุกสนามของเจ1 ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม แต่น่าเสียดายที่ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 


Photo : web.gekisaka.jp

นี่ถือเป็นการร่วมมือกันที่ชาญฉลาดของสองขั้วอำนาจของญี่ปุ่น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานของลูกค้าอยู่ในน้อย โดยเจลีกก็เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากฤดูกาลล่าสุดมียอดแฟนบอลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาแตะ 20,000 คนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่กันดั้มก็มีแฟนประจำที่คอยอุดหนุนสินค้าของพวกเขาอยู่ทุกปี 

การจับมือในครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าแค่การส่งเสริมการขาย เพราะมันเป็นโอกาสในการสร้าง "ความตระหนักรู้" ในวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย ที่แต่เดิมแทบจะไม่มีจุดเชื่อมโยงกัน

"ผมอยากให้แฟนกันดั้มสนใจฟุตบอล และแฟนฟุตบอลสนใจกันดั้ม กันดั้มมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ผมคิดว่าการร่วมมือกับเจลีกครั้งนี้ จะทำให้ทีมแฮปปี้" นานามิระบุ

มันคือการเปิดพรมแดนทางวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย และทำให้ฟุตบอลหรือกันพลา ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป 

"ผมคิดว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงผู้คน ไปสู่การฉลองครบรอบ 40 ปีของกันพลาในปี 2020" นัมบะทิ้งท้าย 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.soccer-king.jp/news/japan/jl/20200129/1028079.html 
https://asia.nikkei.com/Business/Media-Entertainment/Japan-s-Bandai-Namco-looks-for-life-after-Gundam-anime2
https://marketeeronline.co/archives/112181 
https://asia.nikkei.com/static/vdata/gundam/newsgraphics/bandai-gunpla/ 
https://www.forbes.com/sites/olliebarder/2014/11/17/gundam-tops-bandai-namcos-earnings-report-with-newcomer-youkai-watch-not-far-behind/#4173baa52ade
https://web.gekisaka.jp/news/detail/?296876-296876-fl 
https://positioningmag.com/1191559 
http://www.zimmerit.moe/unlucky-clover-gundam-toys/ 
https://kakuchopurei.com/2020/01/31/support-your-favourite-j-league-teams-with-these-limited-edition-gunpla/ 
https://www.jleague.jp/news/article/16995/
https://www.gundam.info/news/gunpla/01_897.html 
https://gundam-jleague.jp/ 
https://hobby.dengeki.com/news/930506/ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โดนไปครึ่งโหล!! ซัปโปโร ยังโคม่า พ่าย ฟรอนตาเล่ ขาดลอย 1-6 (ชมคลิป)

แชมป์เก่าเศร้าอีกแล้ว! โออิตะ คืนฟอร์ม เฉือน มารินอส 1-0 หยุดสถิติแพ้ 5 นัดรวด (ชมคลิป)

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้