รีเซต
OK to not be OK : ปัญหาของการรับมือความผิดหวังสู่การเป็นโรคซึมเศร้าของนักกีฬา | Main Stand

OK to not be OK : ปัญหาของการรับมือความผิดหวังสู่การเป็นโรคซึมเศร้าของนักกีฬา | Main Stand

OK to not be OK : ปัญหาของการรับมือความผิดหวังสู่การเป็นโรคซึมเศร้าของนักกีฬา | Main Stand
เมนสแตนด์
7 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:00 )
283

ปัญหาสุขภาพที่กำลังคุกคามนักกีฬาในปัจจุบัน หากไม่นับภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันแล้ว โรคซึมเศร้าถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกควรให้ความสำคัญ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาชื่อดังมากมายประสบกับภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่ในลักษณะนี้

 


Main Stand จะพาคุณไปดูสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาที่ดูแข็งแรงจากรูปร่างภายนอก แต่มีหัวใจที่เปราะบางไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป และเหตุผลสำคัญที่พวกเขาไม่สามารถรับมือกับมันได้ด้วยตัวเอง จนนำมาสู่คำถามที่ว่า สังคมพร้อมจะช่วยเหลือนักกีฬาเหล่านี้แล้วหรือยัง ?

 

นักกีฬาคือมนุษย์คนหนึ่ง

ในสายตาของบุคคลทั่วไป นักกีฬา ดูจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่อยู่ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องด้วยภาพลักษณ์ของนักกีฬาที่ต้องนำเสนอความแข็งแกร่งของการเป็นมนุษย์ ผ่านสมรรถภาพทางร่างกายที่เหนือกว่าบุคคลทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬายังมีบุคลิกของมนุษย์ผู้ไม่ยอมก้มหัวแก่ความพ่ายแพ้ และพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคที่เข้ามาเพื่อก้าวไปคว้าชัยชนะในบั้นปลาย

ภาพจำเหล่านี้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจนทำให้ผู้คนในสังคมหลงลืมไปว่า “นักกีฬาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง” ที่รู้จักกับความผิดหวัง, ความเสียใจ, ความเจ็บปวด และต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีความซับซ้อนแทบทุกวัน มีการสำรวจเมื่อปี 2016 ยืนยันว่า อัตราส่วนของนักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยที่เผชิญกับโรคซึมเศร้า มีตัวเลขที่ใกล้เคียงและไม่แตกต่างจากอัตราส่วนของนักศึกษาทั่วไป

แต่ด้วยภาพลักษณ์ของนักกีฬาอันแข็งแกร่งในสนามแข่งขัน ปัญหาของพวกเขามักถูกมองข้ามโดยคนรอบข้าง หรือบางครั้ง เหล่านักกีฬากลับเลือกจะไม่ส่งเสียงและปกปิดไม่ให้ใครรู้ว่าตนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะนักกีฬาเหล่านั้นจะรู้สึกว่าตนมีตราบาปภายในใจ หากร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

“เพราะว่าคุณคือมนุษย์ที่แข็งแกร่ง คุณจึงต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ นี่คือความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในหมู่นักกีฬา” แมทธิว แซคโค (Matthew Sacco) นักจิตวิทยาด้านกีฬาจากคลินิกคลีฟแลนด์ กล่าว

ความคิดในลักษณะนี้ของนักกีฬาถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตลุกลามในหมู่นักกีฬา เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณไม่พูดถึงหรือขอความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจกับผู้อื่น ปัญหาเหล่านั้นมีแต่จะลุกลามและทำร้ายผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อบวกกับความจริงที่นักกีฬาส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบ รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งจะไม่ยอมรับความผิดพลาดใดที่เกิดขึ้น มันจึงเป็นเรื่องยากที่นักกีฬาจะปล่อยวางความผิดพลาดง่าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน เรื่องนี้นำมาสู่ความเสี่ยงที่ทำให้นักกีฬามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นักกีฬา มักมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

เนื่องจากบรรยากาศของสภาพแวดล้อมการทำงานของนักกีฬา ที่ไม่เพียงจะเต็มไปด้วยความดุดันซึ่งจะช่วงผลักดันการอยากเอาชนะภายในจิตใจ นักกีฬายังถูกสั่งสอนว่าพวกเขาจำเป็นต้องยืนหยัดท่ามกลางความกดดันที่เกิดขึ้นรอบตัวให้ได้ นี่คือเหตุผลที่ส่งผลให้นักกีฬาไม่สามารถยอมรับหรือทำความเข้าใจกับความอ่อนแอที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เลย

“ในขณะที่คุณก้าวเดินไปตามระดับการแข่งขันที่สูงขึ้น มันกลับทำให้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดรุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่านักกีฬาสามารถส่งเสียงถึงปัญหาเหล่านี้ออกมาได้มากขึ้น แต่นั่นก็เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล” ดร.แซคโค กล่าว

นักกีฬาบางคนจึงไม่สามารถสังเกตถึงปัญหาความเครียดที่ก่อขึ้นภายในจิตใจและอาจต้องพึ่งพาความช่วยเหลือที่ยื่นเข้ามาจากโค้ชหรือครอบครัว โดยคนรอบข้างสามารถสังเกตถึงอาการของโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในนักกีฬาได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักกีฬาเหล่านั้น เช่น ปัญหาการนอนไม่หลับ, ความหงุดหงิดที่เพิ่มขึ้น, พลังงานที่ลดลง หรือการกินที่เปลี่ยนไป

สิ่งสำคัญคือนักกีฬาจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ความเครียดไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักกีฬาและไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหากจะยอมรับว่านักกีฬาสักคนกำลังมีปัญหาทางจิตใจ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายหากนักกีฬาจะยอมลดมาตรฐานของตนลงมา หรือพอใจกับผลงานที่เห็นชัดเจนว่า ไม่ได้ดีที่สุด แต่ work-life balance ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกอาชีพในปัจจุบัน นักกีฬาเองก็เช่นเดียวกัน

 

อาการบาดเจ็บ ต้นตอสำคัญของภาวะซึมเศร้า 

อีกหนึ่งต้นตอที่ทำให้นักกีฬาในปัจจุบันเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น คือ “อาการบาดเจ็บ” ปัญหาที่นักกีฬาทุกคนต้องเผชิญหน้าจนเป็นเรื่องปกตินี้ ถือเป็นภัยเงียบที่เข้ามาทำร้ายจิตใจนักกีฬามากที่สุด และมีน้อยคนนักจะสังเกตเห็นเพราะทุกคนเลือกให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย แต่ไม่มีใครสนใจการฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักกีฬาเลย

จากการสำรวจของ New York Times พบว่า นักกีฬามหาวิทยาลัย 51 เปอร์เซ็นต์ มีอาการของโรคซึมเศร้าให้เห็นหลังจากได้รับบาดเจ็บรุนแรง และมีถึง 12 เปอร์เซ็นต์ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าระดับกลางไปถึงขั้นรุนแรง โดยนักกีฬาที่ป่วยหรือมีอาการโรคซึมเศร้าหลังบาดเจ็บจะถูกเรียกว่าอยู่ภายใต้ภาวะ “Post-Injury Depression”

Post-Injury Depression คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับนักกีฬาทุกเพศทุกวัยและมักจะถูกมองข้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาที่ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ และไม่พบอาการของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อาการทางลบที่นักกีฬาแสดงออกมาหลังจากนั้นจะถูกมองว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง หรือเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของนักกีฬาที่กำลังต่อสู้กับอาการบาดเจ็บ

แต่ความจริงแล้วความกังวลหรือความเครียดที่นักกีฬาแสดงออกมาหลังบาดเจ็บ ไม่ใช่เรื่องปกติของมนุษย์เรา แต่เป็นความกดดันที่เกิดขึ้นเนื่องจากนักกีฬาไม่สามารถแสดงผลงานได้ดีเหมือนเดิม จากการสำรวจพบว่า นักกีฬา 85 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจะแสดงผลงานในระดับที่ดีเท่ากับก่อนได้รับอาการบาดเจ็บ 

นี่ยังไม่รวมกับความกลัวที่จะได้รับอาการบาดเจ็บอีกครั้ง มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่นักกีฬาจะต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า ในขณะเดียวกันนักกีฬาเหล่านี้ไม่รู้วิธีการรับมือหรือวิธีการขอความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขความเปราะบางที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

นักกีฬาที่ประสบภาวะ Post-Injury Depression จะมีแนวโน้มไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังมีปัญหาและเลือกไม่แสดงอาการให้เพื่อนร่วมทีม, โค้ช หรือคนรอบข้างรับรู้ โดยนักกีฬาเหล่านี้มีแนวโน้มจะโทษตัวเองเป็นสาเหตุถึงผลงานการเล่นที่ไม่เหมือนเดิมหลังบาดเจ็บ และปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือ เนื่องจากคิดว่าตนเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ทีมล้มเหลว

“มันต้องใช้ความเข้มแข็งและความกล้ามหาศาล สำหรับนักกีฬาชายสักคนที่จะเดินออกมาเพื่อบอกให้ทุกคนรับรู้ว่าพวกเขากำลังเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก” จอห์น โอโกรดนิชซุก (John Ogrodniczuk) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลอมเบีย กล่าวถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่ส่งผลให้นักกีฬาไม่เปิดเผยความอ่อนแอของตัวเอง

“ผมเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งที่จำเป็นต้องขออนุญาตผู้ชายอีกคน หรือให้พวกเขาบอกกับตัวเองว่า มันโอเคที่นายจะเผชิญหน้ากับปัญหาของตัวเอง พวกเขามักจะมีแนวคิดลักษณะนี้ในสังคมของพวกเขาเสมอ นั่นคือ มันโอเคนะที่นายจะทำแบบนั้น ซึ่งมันก็โอเคสำหรับฉันเหมือนกัน”

กว่า เควิน เลิฟ (Kevin Love) นักบาสเกตบอลจากทีมคลีฟแลนด์ แควาเลียส์ และ แบรนดอน บรูคส์ (Brandon Brooks) ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดของฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ จะเปิดเผยให้ผู้คนได้รับรู้ถึงปัญหาทางจิตที่ต้องเผชิญ ทั้ง โรคแพนิคของเลิฟ หรือโรควิตกกังวลของบรู๊คส์ ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะทั้งสองเคยประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์โลกมาแล้วทั้งคู่ และการแสดงออกว่านักกีฬาที่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางจิตใจ พวกเขาไม่มีทางรู้ว่านี่คือการแสดงออกที่โอเคหรือไม่ แม้ว่าความจริงแล้วทั้งสองต้องต่อสู้กับอาการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน

นักกีฬาแต่ละคนต่างมีวิธีการแสดงออกกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นคำแนะนำทางจิตวิทยาที่จะเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาเหล่านี้จึงต้องแตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล และเป็นเรื่องสำคัญที่นักกีฬาจะต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง 

แม้ post-injury depressions จะเป็นอาการชั่วคราวและมีโอกาสหายไปในเวลาไม่นาน แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องโดยเร็ว ภาวะซึมเศร้าแบบนี้จะทำลายสุขภาพจิตของนักกีฬาไปตลอดกาล

 

it is OK to not be OK

ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังอาการบาดเจ็บ ถือเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาเท่านั้น เพราะปัญหาใหญ่ที่กำลังตามมาและนำมาสู่ปัญหาโรคซึมเศร้าที่ร้ายแรงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ “ความเครียดเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อผลงานในสนาม” ซึ่งถือเป็น
ภาวะที่จะเกิดขึ้นกับนักกีฬาเหล่านี้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

พูดง่าย ๆ คือเมื่อใดก็ตามที่นักกีฬาเกิดความเครียดเกินรับไหว ผลงานของพวกเขาในการแข่งขันจะย่ำแย่ลงด้วยเช่นกัน

“ถ้าจะพูดถึงสาเหตุในระดับพื้นฐาน ผมคิดว่ามันคือการเบี่ยงเบนความสนใจ อย่างน้อยที่สุดหากในหัวของคุณเต็มไปด้วยเรื่องอื่นมากมาย มันก็เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปยังเรื่องอื่น” ดร.แซคโค อธิบายเหตุผลง่ายที่สุด เมื่อนักกีฬาฟอร์มตกหลังจากตกอยู่ภายใต้ภาวะความเครียด

สิ่งรบกวนสมาธิเหล่านี้ส่งผลให้นักกีฬาเกิดความกดดันในการแข่งขันมากขึ้น เพราะนักกีฬาจะยิ่งอยากทำผลงานให้ดีมากขึ้น เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาทำผลงานออกมาได้ไม่ดี และยิ่งแย่ไปกว่านั้นนักกีฬาจะเพิ่มความกดดันให้ตัวเองตั้งแต่ยังไม่ลงแข่งขัน หากพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับรายการที่มีเดิมพันสูงหรือมีความสำคัญสูงกว่าปกติ

ซิโมน ไบลส์ นักกีฬายิมนาสติกทีมชาติสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในของนี้ เมื่อเธอเผชิญหน้ากับอาการ "The Twisties" ปรากฏการณ์ลึกลับที่ส่งผลให้นักยิมนาสติกไม่สามารถแสดงท่าที่เคยฝึกซ้อมมาแล้วนับพันครั้งด้วยท่วงท่าแบบเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งเธอปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้ใครรับรู้

ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกเปิดเผยผ่านผลงานอันย่ำแย่ในโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา ซึ่ง ไบลส์ ได้ยอมรับในภายหลังว่าเธอไม่มีความพร้อมที่จะลงแข่งขันตั้งแต่ต้น นี่แสดงให้เห็นถึงความเครียดมากมายที่อยู่ในใจของนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอกำลังเจอปัญหาก่อนการแข่งขันระดับนานาชาติลักษณะนี้

อาการของไบลส์ที่ไม่สามารถแสดงผลงานแบบเดิมได้อีกต่อไป คล้ายคลึงกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยนักเบสบอลหรือนักกอล์ฟ ที่เชื่อว่าต้นกำลังขว้างลูกหรือตีลูกด้วยท่วงท่าที่เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ผลลัพธ์กลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาการในลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า Yips ซึ่งเป็นอีกชื่อของปรากฏการณ์ Twisties ในกีฬาต่าง ๆ

ดังนั้นแล้วการที่นักกีฬาคนหนึ่งจะไม่สามารถทำผลงานอันยอดเยี่ยมแบบเดิมได้ ทั้งที่ฝึกซ้อมและมีการเคลื่อนไหวของร่างกายเหมือนเดิมทุกท่วงท่า ถือเป็นความโชคร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อนักกีฬาไม่เคยรับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้ พวกเขาจะเกิดความเครียดมากขึ้น, กดดันตัวเองมากขึ้น และเมื่อผลงานที่ย่ำแย่กลับมาทิ่มแทง พวกเขาก็จะยิ่งเครียดและกดดันตัวเองมากขึ้นไปอีก

วิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างง่ายที่สุดคือ นักกีฬาจำเป็นต้องหยุดการเล่นกีฬา เพื่อไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้หายไปเสียก่อน แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักกีฬาสักคนจะยอมแพ้และหันหลังให้กับการแข่งขันไปเสียดื้อ ๆ 

แม้กระทั่งในวันที่คนทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจัง นักกีฬาที่เลือกจะวางมือจากการแข่งขันกลับถูกมองว่าเป็น “ไอ้ขี้แพ้” บางครั้งถึงกับไม่เป็นที่ต้องการจากคนรอบข้างหรือสังคมอีกต่อไป

 

นี่คือประสบการณ์จริงที่นักกีฬาชื่อดังอย่าง นาโอมิ โอซากะ หรือ ซิโมน ไบลส์ ได้รับหลังถอนตัวจากการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอซากะ นักเทนนิสสาวชาวญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจถอนตัวจากรายการเฟรนช์ โอเพ่น ปี 2021 แต่หลังจากที่เธอพร้อมจะกลับมาลงแข่งขันเป็นครั้งแรกในศึกซินซินเนติ เวสเทิร์น แอนด์ เซาเทิร์น ในอีกสามเดือนถัดมา เธอกลับถูกนักข่าวยิงคำถามจนร้องไห้อีก

“นักกีฬาถูกบอกว่าพวกเขาควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต แต่ในขณะเดียวกันพวกเขากลับไม่เคยได้รับแรงสนับสนุนจากสังคม มันจึงกลายเป็นข้อความที่ผสมปนเปต่อนักกีฬา เหมือนกับว่าเรากำลังว่ายสวนกระแสน้ำที่บอกนักกีฬาเหล่านี้ว่า ปัญหาทางสุขภาพจิตไม่มีวันสำคัญเท่าปัญหาทางร่างกาย” ดร.แซคโค กล่าว

การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาระหว่างทุกฝ่าย ถือเป็นทางออกเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเหลือนักกีฬาให้หลบเลี่ยงจากโรคซึมเศร้าอย่างยั่งยืน เคราะห์ดีที่ในปัจจุบันมีนักกีฬาชื่อดังมากมายออกมาร้องขอความช่วยเหลือหรือบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของตัวเอง 

นี่ทำให้สังคมเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในหมู่นักกีฬามากขึ้น แต่บุคคลทั่วไปควรจะปรับตัว, ให้กำลังใจ และมอบความช่วยเหลือแก่นักกีฬาเหล่านี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

“พวกเราทุกคนควรนำทางเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พวกเขา ผมคิดว่าพวกเราควรพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะการรักษาที่เราเคยทำจนประสบผลสำเร็จเมื่อครั้งอดีต ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดหรือเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด” ดร.แซคโค แนะนำแนวทางที่วงการกีฬาควรดำเนินต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้เล่นที่ประสบกับภาวะซึมเศร้า

“เราจำเป็นต้องส่งเสียงไปยังพวกเขา ทำให้มั่นใจว่าพวกเขาได้ยินเสียงเหล่านี้ เสียงที่บอกว่าเราจะไม่ปฏิเสธหรือทำเป็นไม่เห็นปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป อย่าไปกลัวที่จะหยิบยกปัญหาของตัวเองออกมาเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะความเสี่ยงของการไม่แสดงออกถึงปัญหาเหล่านี้จะหนักหนากว่านี้อีกมากในระยะยาว”

เป็นเวลานานมากเกินไปแล้วที่ปัญหาสุขภาพจิตของนักกีฬาถูกละเลยหรือทำให้เป็นเรื่องเล็กน้อยด้วยประโยคง่าย ๆ ที่ว่า “คุณต้องผ่านมันไปให้ได้” ซึ่งนอกจากนี่จะเป็นคำแนะนำที่ผิดแล้ว มันยังไม่ช่วยเหลือให้นักกีฬาหายจากโรคซึมเศร้าที่พวกเขาต้องเผชิญได้เลย

 

“it is OK to not be OK" คือประโยคใหม่ที่เหมาะสมกับนักกีฬาในทุกวันนี้มาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิดเลยหากพวกเขาจะพ่ายแพ้ในการแข่งขันเนื่องจากอาการป่วยที่ตัวเองกำลังเผชิญ และการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ได้ทำให้พวกเขาดูอ่อนแอลงแม้แต่นิดเดียว 

สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ สังคมควรให้กำลังใจนักกีฬาเหล่านี้อย่างถึงที่สุด รับฟังและเปิดใจกับปัญหาที่พวกเขาเผชิญหน้า ไม่ตัดสินพวกเขาจากความล้มเหลวบนสนามแข่งขัน

หากเราเลือกจะทำความเข้าใจนักกีฬาที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป แทนที่จะเอาความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างที่เคย ไม่ช้าไม่นานเราจะได้นักกีฬาที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มกลับมาอย่างแน่นอน
 
อ้างอิง
https://www.psycom.net/male-depression-anxiety-athletes/
https://health.clevelandclinic.org/mental-health-in-athletes/
https://www.lrt-sports.com/blog/what-athletes-should-know-about-post-injury-depression/
https://achieveconcierge.com/blog/the-link-between-athletes-and-depression/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะ ตามประสาคนรักกีฬากันได้ที่ TrueID Community คลิกเลย!

ยอดนิยมในตอนนี้