สำรวจความคิดวัย 31 ปี “สรรวัชญ์ เดชมิตร” ผ่านทุกบทเรียนสีขาว-ดำของชีวิต | Main Stand
“ขอบคุณคำถามนี้มาก ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น” ชายวัย 31 ปี ผู้มีทรงผมแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ เอ่ยประโยคนี้ หลังถูกยิงคำถามแรก…
ผู้เขียนกดเครื่องบันทึกเสียง พลางเปิดสมุดโน๊ต บันทึกชุดคำถามที่ตระเตรียมมา สำหรับใช้สนทนากับ “แคมป์-สรรวัชญ์ เดชมิตร” นักฟุตบอลทีมชาติไทย และสโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่นั่งอยู่ห่างออกไประยะ 1 เก้าอี้
ตลอดหลายปีที่ติดตามดูฟุตบอลไทย จนมาทำวิชาชีพสื่อ “สรรวัชญ์” คือ นักกีฬาไทยคนหนึ่งที่ถูกพูดถึงหลากหลายมุม แตกต่างกันออกไป
ในด้านสว่าง ผู้คนให้การยกย่องเขาว่าเป็น นักเตะไทยที่มีเท้าซ้ายสุดฉมัง, วางบอลแม่นยำ, มีวิสัยทัศน์การอ่านเกม และมีช็อตการเล่นเหนือความหมายเสมอ ยามลงสนาม
ส่วนด้านที่มืด สรรวัชญ์ เป็นนักฟุตบอล ที่บางคนมองเชิงลบ ให้ความสนใจชีวิตนอกสนาม หรือรอซ้ำเติมความผิดพลาดในสนามของเขา อยู่เสมอ ด้วยบุคลิกที่เขาแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จนตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายตรงข้าม และพบเจอกับ hate speech กระทั่งการ bully บ่อยครั้ง
นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต : “ผู้ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก” พุทธศาสนสุภาษิตข้อนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า มันคงไม่แฟร์นัก หากจะตัดสินบุรุษนาม สรรวัชญ์ เดชมิตร” จากคำพูดของคนที่รักหรือชัง ในตัวตนและสิ่งที่เขาเป็น
ตอนเด็กเคยมองภาพตัวเองตอนอายุ 30 ไว้อย่างไร พอถึงวันที่วัยเข้าเลข 3 มันเป็นแบบที่คิดไว้ไหม
โห ไม่เคยคิดเลยนะ แน่นอนเด็กไทยที่เล่นฟุตบอลทุกคน อยากติดทีมชาติ แต่ผมไม่ได้มองไกลขนาดนั้น
ไม่ได้ตั้งเป้าว่าอายุ 20-30 จะต้องได้เล่นให้ทีมชาติ เพราะผมไม่เคยติดยุวชน, เยาวชนทีมชาติสักชุด แค่เล่นไปตามจังหวะชีวิต และช่วงเวลานั้น ๆ
แสดงว่า ฟุตบอล เปลี่ยนแปลงทัศนคติคุณ ทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย
ก็เป็นไปได้ ถ้าบนโลกนี้ไม่มีกีฬาฟุตบอล ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะยืนอยู่จุดไหน ผมมองไม่ออกจริงว่าตัวเองเก่งด้านไหนอีก ?
ผมเคยพยายามตั้งใจเรียนวิชาสามัญ แต่ผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง หัวไม่ดีเลย แถมตอนนั้นเกเรด้วย จนช่วงสักอายุประมาณ 18 ปี ผมขอครอบครัวว่า อยากกลับมาสู้กับฟุตบอลอีกครั้ง หลังจากเคยหยุดไปนาน 6-7 เดือน เพราะคิดว่ากีฬานี้น่าจะสร้างอาชีพให้ตัวเองได้
ถึงแม้ตอนนั้นฟุตบอลอาชีพ เงินเดือนอาจไม่เยอะ แต่ผมอยากเอาหัวใจลงไปสู้กับกีฬานี้ เพราะตัวผมมีพื้นฐานฟุตบอลที่เหนื่อยมาตั้งแต่เด็ก ติดตัวมา จากจุดนั้นผม ต่อสู้มาเรื่อย ๆ จนมีวันนี้
บางคนมองว่าคุณมาถึงจุดนี้ได้เพราะเป็นคนที่มีพรสวรรค์ แต่ไม่ได้พูดถึง ความพยายาม หรือพรแสวงของคุณเลย รู้สึกอย่างไรกับมุมมองลักษณะนี้จากคนอื่น
แล้วแต่เขาจะคิด ถ้าให้ผมมานั่งอธิบายคงมีคนส่วนน้อยที่อยากรับฟัง ผมแค่อยากบอกว่า ฟุตบอลมันไม่ได้ซ้อมแค่ 1-2 ปี คุณจะเก่งเลย หรือเกิดมาคุณมีพรสรรค์ ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม
ผมเหนื่อยมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนถึง 18 ปี ผมเรียนวิชาสามัญแค่วันละ 3-4 ชั่วโมง ที่เหลือซ้อมฟุตบอลอย่างเดียว
คุณไม่เคยเห็นว่า ผมเสียน้ำตามาเท่าไหร่กับการเล่นฟุตบอล เพราะผมทุ่มเทกับกีฬานี้มาก และคุณไม่รู้หรอกว่า ผมต้องเหนื่อยแค่ไหน เพื่อผลักดันให้ตัวเองมาถึงจุดนี้
การที่คุณย้ายไปเล่นฟุตบอลในต่างประเทศ ตั้งแต่อายุยังน้อย มีส่วนช่วยให้คุณเติบโตขึ้นแค่ไหน ในฐานะนักฟุตบอลาชีพคนหนึ่ง
มีส่วนเยอะมาก ผมมาถึงจุดนี้ได้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่ง เป็นเพราะได้ไปเรียนรู้การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในลีกสิงคโปร์ (เล่นให้ แทมปิเนส โรเวอร์)
ผมไม่เคยสัมผัสกับลีกอาชีพมาก่อน ไม่เคยออกไปใช้ชีวิตต่างประเทศ ผมมีแค่โน๊ตบุค 1 เครื่องเอาเปิด MSN คุยกับทางบ้าน เดือนแรกผมร้องไห้ เพราะไม่เคยเจออะไรที่จริงจังขนาดนี้
ผมเคยถามพ่อแม่ว่า “ผมมาทำอะไรที่นี่” ท่านก็บอกผมว่า “สู้ไปเถอะลูก” ซึ่งพอมองย้อนกลับไป การเริ่มต้นฟุตบอลอาชีพที่สิงคโปร์ ในช่วงอายุน้อย ทำให้ผมมีจิตใจที่เข้มแข็ง และตัดสินใจไม่ผิดที่มาค้าแข้งที่นี่
ถ้าผมอยู่ประเทศไทยตลอด ไม่เคยออกไปสัมผัสประสบการณ์ภายนอก วันนี้ผมอาจจะอิ่มตัว หรือเบื่อฟุตบอลไปแล้วก็ได้ ดังนั้นนักบอลไทย ถ้าใครมีโอกาส ไปเถอะครับ ชีวิตในต่างประเทศมันสอนอะไรเราเยอะจริง ๆ
คุณย้ายกลับมาเมืองไทยเล่นให้ บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจีพียู ในปัจจุบัน) เป็นทีมแรก ตอนนั้นคนจะพูดถึงคุณสองอย่าง คือ ดาวรุ่งที่เคยเล่นในต่างประเทศ กับคำว่า “เด็กเส้น” พอเจออะไรแบบนี้ตั้งแต่เริ่มต้นค้าแข้งในบ้านเกิด รู้สึกอย่างไร
คำถามนี้ผมโอเคนะ เราเคยได้ยินมาตลอดคำว่า “เด็กเส้น” ผมพอนึกถึงออกว่ามันเป็นอย่างไร สมมติทำงานออฟฟิศ คำว่า เด็กเส้น เท่ากับคุณต้องมีนิสัยประจบสอพลอนาย ใช่ไหมครับ
แต่วันที่ผมเจอกับตัวเอง สำหรับเด็กอายุ 19-20 ผมถามหน่อยว่า มันทำเป็นเหรอ ? ถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น สมัยผมเรียนมัธยม ฯ ผมติด ร., มส. ตั้งหลายตัว หากผมเป็นเด็กเส้นจริง ผมต้องได้เกรดสี่ตลอดใช่ไหม ?
แต่ในเมื่อผมเรียนไม่เก่งจริง ผมไม่สามารถไปบอกอาจารย์ให้ช่วยได้หรอก หรือบอกพ่อว่าช่วยคุยกับครูหน่อย ถ้าคนที่รู้จักตัวตัวของผมจริง ๆ จะรู้ว่าตลอดชีวิต 31 ปี ผมไม่เคยทำอะไรแบบนั้น ผมพยายามโชว์ให้ทุกคนเห็นมากกว่าว่า ผมมีความสามารถจริง ไม่ใช่เด็กเส้น
อย่างพี่เบิร์ธ (สุธี สุขสมกิจ), ลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย), ดัสกร (ทองเหลา), เทิดศักดิ์ (ใจมั่น) รุ่นพี่พวกนี้ เขาผ่านมาหมดแล้ว เขาก็สอนผมว่า “มึงไม่ต้องไปสนใจ สิ่งเดียวที่มึงจะเอาชนะคำพูดเหล่านั้นได้ คือ ส้นตีน ลงไปเล่นในสนามให้เต็มที่สิ” เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันสำหรับตัวผม ที่ได้พวกพี่ ๆ คอยชี้แนะ เป็นต้นแบบให้เห็น
ย้อนกลับไปเหตุการณ์ ในเอเชียนเกมส์ 2010 (นัดไทย พบ เติร์กเมนิสถาน) เกิดขึ้นอะไรในตอนนั้น
ที่ผ่านมามีแต่คนถามผมว่า ทำไมยิงจุดโทษไม่เข้า 2 ลูก, ทำไมโดนใบแดง แต่ไม่เคยมีใครถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น สื่อก็เอาความรู้สึกไปเขียน หรือเอาสิ่งที่คนวิจารณ์มาขยาย มันไม่แฟร์สำหรับผมอยู่แล้ว
แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง ตอนนั้น ไบรอัน ร็อบสัน (ผู้จัดการทีมชาติไทย) บอกกับลูกทีมว่า ถ้าใครมั่นใจให้ไปจัดการลูกจุดโทษซะ
ในทีมชุดนนั้น มีซีเนียร์อย่าง พี่โก้ ดัสกร (ทองเหลา) พี่โอ๊ต ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์ รวมถึงมีพี่มุ้ย (ธีรศิลป์ แดงดา) รวมถึง อุ้ม (ธีราทร บุญมาทัน) เล่นแบ็กซ้ายที่ดังอยู่แล้ว ส่วนผมตอนนั้นชื่อ วิชะยา เดชมิตร คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักผมหรอก เพราะผมเป็นดาวรุ่งเพิ่งขึ้นมา
ทุกคนพูดกันไปว่า หน้าที่นี้ควรต้องเป็นพี่โก้ ใช่ไหม ? แต่พี่โก้เป็นคนพูดเองว่า น้องคนไหนมั่นใจ เอาเลย พี่ไม่ขอยิงดีกว่า พวกเอ็งเต็มที่เลย เหมือนกับตอนนั้นทุกคนมั่นใจในตัวผม ผมก็โอเคยอมรับ มันคงต้องเป็น วิชะยา ยิง
พอสถานการณ์จริง ผมยิงไม่เข้าทั้งสองลูก ณ ตอนนั้น มีกองเชียร์เต็มสนาม แต่ผมกลับไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย มันอื้ออึงไปหมด สมาธิหลุดไปเลย คิดอย่างเดียวว่า กูจะทำอย่างไรให้ทีมชนะ ต้องการยิงประตูให้ได้ แต่กลายเป็นว่าผมไปทำแฮนด์บอล เสียจุดโทษ โดนใบแแดงอีก
สำหรับนักบอลที่เพิ่งอายุ 20 ปี ผมไม่เคยเจออะไรแย่ ๆ แบบนี้มาก่อนในชีวิต มันทำให้ผมอยากเลิกเล่นฟุตบอลเลย แต่ก็ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ๆ อย่างพี่ซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) เขาบอกว่า “พี่เจอมาเยอะ ถ้ามึงจะขึ้นไปอยู่ในระดับท็อปของประเทศนี้ มึงต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้”
การเจอกับประสบการณ์การเล่นฟุตบอลที่แย่ขนาดนั้น ตั้งแต่อายุ 20 ปี ช่วยสอนอะไรคุณในอีก 10 ปีต่อมา
มันดีตรงที่ผมเคยเจอมาแล้ว สมมติปีนี้ผมอายุ 31 ปี ชีวิตการเป็นนักฟุตบอลราบรื่นตลอดเลย ไม่เคยลำบาก ไม่เคยออกไปเล่นต่างประเทศ ตอนนี้อาจไม่มีชื่อ “สรรวัชญ์ เดชมิตร” อยู่ในวงการฟุตบอลไทยก็เป็นได้
เพราะวันหนึ่งที่ผมเจอเรื่องแย่ ๆ โดนแฟนบอลด่า ผมอาจรับมือกับไม่ได้ หรือไม่อยากเล่นฟุตบอลอีก รู้สึกหมดไฟ
แต่พอผมเจอเหตุการณ์นั้น ตั้่งแต่อายุยังน้อย ผมรู้สึกว่า กูต้องสู้ ทำให้ทุกคนได้เห็น ทั้ง แฟนบอล ผู้สื่อข่าว หรือคนที่เคยด่าเรา เปลี่ยนมาเป็นปรบมือให้กับเรา
คิดว่ามีส่วนเหตุการณ์ตอนเอเชียนเกมส์ 2010 เป็นต้นตอที่ทำให้ ผู้คนหันมาจับจ้องคุณมากขึ้น
ผมคิดว่าคนติดตามผม เพราะบุคลิกที่ไม่ชอบประจบประแจง มีอะไรก็พูดตรง ๆ การเป็นคนตรงไปตรงมา มันไม่มีพิษภัยอยู่แล้ว คนที่ชอบเขาก็โอเค ส่วนคนที่ไม่ชอบ เขาก็จะรู้สึกว่า “มึงมั่นใจในตัวเอง ทำไมไม่อยู่ในที่ของมึง แล้วทำให้ผลงานให้ดี”
ผมก็อยากทำแบบนั้นแหละ แต่ผมไม่ใช่นักกีฬาประเภทเดี่ยว อย่าง กอล์ฟ, เทนนิส ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ แบบนั้นค่อยมาด่าผมว่า ดีแต่ปาก
ไม่เหมือนฟุตบอล ที่มี 11 คนในสนาม มีตัวสำรองอีกตั้งเท่าไหร่ การจะประสบความสำเร็จมันต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย ผมไม่ใช่ (คริสเตียโน) โรนัลโด, (ลิโอเนล) เมสซี่นะ
ดูเหมือนผู้คนจะสนใจชีวิตนอกสนาม หรือคอยดูว่าคนจะทำอะไรผิดพลาดอีก คุณรู้สึกแบบนั้นด้วยไหม
ขอบคุณมากที่ถามแบบนี้ ไม่มีคนเคยถามผมอย่างนี้เลยนะ ถ้าผมมองนักฟุตบอลสักคนเป็นต้นแบบ ผมก็ดูเขาแค่ในสนามนะครับ มองแค่นั้น
ดังนั้นผมคิดว่า หน้าที่ของผม คือ แสดงศักยภาพออกมาในสนาม เพราะนี่คือเวทีของผม ที่จะได้โชว์ แค่นี้มันก็เป็นตัวอย่างให้กับเด็กและเยาวชนได้แล้ว
ส่วนเรื่องนอกสนาม มันไม่ใช่หน้าที่ผมที่ต้องไปนั่งโพสต์ว่า ไทม์ไลน์ผมตื่นกี่โมง นอนกี่โมง ผมต้องทำอะไรบ้าง อันนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ที่ต้องแนะนำเด็ก
น้อง ๆ บางคน inbox มาถามอยากเก่งเหมือนพี่แคมป์ต้องทำอย่างไร ? ผมตอบไปเสมอว่า เฮ้ย! อย่ามาเก่งเหมือนผม คุณต้องเก่งกว่าผมสิ คุณต้องเก่งกว่าธีรศิลป์ (แดงดา) ชนาธิป (สรงกระสินธ์) สิ เพื่อให้ฟุตบอลไทยพัฒนาไปมากกว่านี้
ถ้าคุณมาถามว่าผมมีมุมมองในการเล่นฟุตบอลอย่างไร ? อันนั้นผมพอตอบได้ แต่อย่ามาถามว่าทำยังไงถึงจะเก่งเหมือนผม ผมไม่โอเคกับคำถามแบบนี้ คุณต้องเก่งกว่าผมสิ
บุคลิกนอกสนามคนดูเป็นคนตลก เฮฮา เข้ากับคนง่าย แต่ในสนามคุณเหมือนเป็นคนละคน มีความดุดัน แข็งกร้าวในการเล่น ตัวตนจริง ๆ ของคุณเป็นคนอารมณ์แบบไหนกันแน่
ผมเป็นคนอ่อนไหวนะ อินกับเกมเร็ว เข้าใจใช่ไหม ? (หันมาถามผู้เขียน) ยิ่งสกอร์ตามหลัง เพื่อนร่วมทีมก้มหน้า ผมก็จะคอยกระตุ้น คอยด่าว่า “มึงต้องสู้ดิว่ะ บอลยังไม่จบ”
พอเกมจบ ต่อให้แพ้ ผมก็เฮฮาเหมือนเดิม ถ้าเราลงไปเล่นใส่เกิน 100-200 เปอร์เซนต์แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจกับผลการแข่งขัน เพราะทำเต็มที่แล้ว แต่หากลงสนามแบบเหยาะแหยะ เล่นไปยิ้มไป อย่างนั้นน่าถูกด่าเวลาออกนอกสนาม
บางครั้งผมตกเป็นตัวสำรอง ไม่ได้ลงสนามช่วยทีม เข้าห้องแต่งตัว อาบน้ำ ผมยังปลอบใจน้อง ๆ เลย แต่รู้ไหมผมกลับถึงห้องนอน ผมนอนร้องไห้คนเดียวก็มี ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ บางครั้งโทรไปปรึกษาพวกรุ่นพี่เราสนิท โทรไปร้องไห้ให้เขาฟังเหมือนเด็กเลย “พี่ ทำไมเป็นแบบนี้ว่ะ”
เคยถึงขั้นชวนนักบอลบางคนที่รู้จัก ออกมานั่งกินข้าว พออาหารมาเสิร์ฟ กินไม่ลง นั่งร้องไห้ต่อหน้าเขา บางคนที่ไม่สนิทกับเรา เขาไม่เคยเห็นมุมนี้ของผมหรอก
ผมรู้ว่าเวลาบอลแพ้ แฟนบอลเสียใจ รู้สึกแย่ แต่เชื่อเหอะ นักฟุตบอลมันรู้สึกมากกว่าแฟนบอลอยู่แล้วบางทีบอลเตะเสร็จสองทุ่ม แต่กลับมาถึงห้อง ตี 5 ผมยังไม่นอน เพราะมัวนั่งคิด พยายามหาเหตุผลว่าทำไม เราเล่นไม่ดีหรอ อะไรคือจุดบกพร่อง
รุ่งเช้าอีกวัน ตื่นลืมตา ผมจะพยายามทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง แล้วกลับมาเป็นคนเดิมให้เร็วที่สุด มองเกมต่อไป
คุุณมักตกเป็นเป้าโจมตีของเหล่า Hater รวมถึงแฟนบอลฝ่ายตรงข้าม ยามออกไปเยือน คุณรับมือหรือจัดการเรื่องพวกนี้อย่างไร
เมื่อก่อนเวลาใครพิมพ์ว่า “มึงเล่นได้แค่นี้หรอ”, “มึงเล่นไม่เต็มที่” ผมไปตอบสู้กับคนพวกนั้นหมดเลยนะ พยายามอธิบาย เฮ้ย! คุณรู้ได้ไง ผมไม่เต็มที่ แล้วเก็บมาคิดมากคนเดียว “กูแย่ขนาดนั้นเลยเหรอว่ะ ในสายตาคนอื่น”
ผมไม่เคยไม่เต็มที่กับฟุตบอลตั้งแต่เด็ก ผมอยากให้ทีมชนะตลอด ไม่เคยทำเป็นเล่น จนวันหนึ่งผมถึงได้เข้าใจว่า ในโลกโซเชียล สู้ให้ตายยังไง เราก็ไม่มีทางชนะ
ทุกวันนี้ ผมสอนนักบอลรุ่นใหม่ตลอดว่า มึงไม่ต้องไปสนใจโลกโชเซียล ขนาดคนมีอำนาจ ผู้บริหารประเทศ เขายังโดนด่ากระจาย ถ้ามึงไม่ดี กูหรือโค้ชมาโน่ (โพลกิ้ง) จะบอกมึงเอง อย่าให้คนพวกนั้นมาบั่นทอนเรา
กูเคยผ่านมาก่อน ไม่มีสมาธิเล่นเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เพราะตัวเองไปให้ค่ากับคำพูดของคนพวกนี้ แต่เสือกไม่ให้ค่าเพื่อนเรา พี่น้อง คนใกล้ชิด พ่อแม่ ผมกลับไปหงุดหงิดใส่คนที่รักเรา จนความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเกือบพังมาหลายครั้ง กว่าจะได้สติ
แต่บางครั้งเราก็เห็นคุณมี ปฏิกิริยาตอบกลับ Hater ผ่านท่าดีใจยามยิงประตูเข้า
มาโน่ รู้ดีว่าผมเป็นคนโรคจิตอย่างหนึ่ง ถ้าเกมเยือนนัดไหน คนดูเต็มสนาม มีแฟนบอลด่าเยอะ ผมเล่นจะเล่นดี ก่อนเกมก็จะเข้ามาบิ้วด์ว่า “แคมป์ วันนี้แฟนบอลเยอะ คุณต้องชอบแน่ ๆ ผมเชื่อว่าวันนี้คุณจะต้องยิง และพวกเขาจะเงียบปากไปเอง”
บางทีมเคยมีประเด็นใส่ผมยับในโลกโชเซียล ผมคงไม่สามารถไปบอกเขาว่า เฮ้ย! มึงมาต่อยกับกูนอกสนามเปล่า ? เพราะผมไม่ใช่นักเลง ต่อให้เขาเอา ผมก็ไม่สู้เขาหรอก (หัวเราะ) สิ่งที่ผมทำได้คือ ใช้ผลงานอุดปากพวกเขา
เขาจะด่าเรายังไงก็ได้ แต่เราต้องทำผลงานออกมาให้ดี อย่างพวกพี่ลีซอ พี่โก้ เขาเคยผ่านการโดนแฟนทีมตรงข้ามด่ามาก่อน แต่เขาไม่สนใจ ส่วนผมก็แสดงออกผ่านท่าดีใจ ทำท่ากวนประสาทเขาบ้าง มีพิมพ์ดีดบ้าง เป็นแรงกระตุ้นให้ตัวเองพยายามทำผลงานออกมาให้ดี
คุณอาจเป็นนักบอลไทยไม่กี่คน ที่โดนแบนยาวถึง 8 นัด และจากเหตุการณ์นั้น (การท่าเรือ - ทรูแบงค็อก ฤดูกาล 2019) คุณตัดสินใจถอนตัวออกจากทีมชาติไทย ชุดคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 เล่าให้ฟังได้ไหมว่าช่วงเวลานั้น เกิดอะไรขึ้น ?
ก็...ถือเป็นบทเรียนใหญ่ๆ ในชีวิตผม มันทำให้เห็นฟุตบอลไทยยุคนี้ คุณไม่สามารถทำผิดกติกาได้ง่าย ๆ อีกแล้วนะ ไม่เหมือนยุค 10-20 ปีก่อน
ผมยอมรับผลการพิจารณาโทษ และขอให้เป็นผลดีต่อวงการฟุตบอลไทย ที่มีการลงโทษย้อนหลัง ผมยอมรับผิดหมดทุกอย่าง ไม่มีข้อแก้ตัว
ส่วนตัวผมรู้สึกแย่อยู่แล้ว คนรอบข้างรู้หมดว่า ช่วงนั้นผมแย่จริง ๆ พอตัดสินว่าว่าแบน 8 นัด ผมไม่รู้ตัวเองต้องเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าต้องซ้อมไปกี่อีกเดือน แล้วซ้อมกับแข่งมันไม่เหมือนกัน ผมหลุดโฟกัสไปหมด
ถามว่าเราหน้าด้านติดทีมชาติไป ไม่ต้องถอน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ผมจะไม่รู้สึกอะไร ผมจึงคุยกับสโมสรว่า ถ้าผมไป ก็ไม่มีความสุข กับภารกิจทีเรากำลังไปทำเพื่อชาติ ทั้งที่ในใจเราอยากเล่นทีมชาติทุกครั้ง เราอยากโชว์ให้คนไทยเห็น ทำให้แฟนบอลไทยมีความสุข ก็เลยถอนตัวดีกว่า
ช่วงนั้นผมได้ซ้อมกับทีมชุดใหญ่แค่อาทิตย์ละ 1-2 วัน พอเขาซ้อมแท็คติกขึ้นเกม ผมถูกลดลงไปซ้อมกับอคาเดมี เวลาทีมออกไปเยือนต่างจังหวัด ผมไม่ได้ไปกับเขา มันเกิดความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนเกิน วันแข่งมานั่งดูบนอัฒจันทร์ ถามตัวเองมึงมานั่งทำอะไรตรงนี้วะ หน้าที่ของมึงอยู่ในสนาม
ผมนับถอยหลังตลอดกว่า เหลืออีกกี่นัด ผมอยากกลับไปโชว์ให้เห็นแฟนบอลได้เห็นอีกครั้งว่า ผมไม่ได้อยากทำให้พวกคุณมาเสียใจหรือผิดหวังในตัวผม นั่นเป็นเหตุผลที่ผมอยากพ้นโทษแบน กลับมาลงสนามให้เร็วที่สุด ในตอนนั้น
คุณอายุ 31 ปี เป็นผู้เล่นแถวหน้าของลีก และเคยผ่านการให้ 3 สโมสรชั้นนำของไทย แต่คุณยังไม่เคยเป็นแชมป์ไทยลีกเลย มันเป็นสิ่งที่ติดค้างในใจคุณไหมเกี่ยวกับเป้าหมายนี้
ถ้าผมเคยได้แชมป์ไทยลีก ผมอาจจะหมดความกระหายไปแล้ว ผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันนั้น แต่ในชีวิตการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ผมอยากเป็นแชมป์ไทยลีกสักครั้ง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ตัวเอง เพราะผมเคยติดทีมชาติ เคยได้แชมป์ในนามทีมชาติมาแล้ว ก่อนเลิกเล่นก็อยากจบอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ
ในตอนนี้สิ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือ การดูแลรักษาสภาพร่างกาย ผมอายุ 31 ปี แล้ว ไม่ใช่เด็ก 19-20 สุขภาพต้องมาก่อน เพราะร่างกายมันไม่ส่งข้อความเตือนว่า ดีหรือแย่แค่ไหน ก็จำเป็นต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน พักผ่อนให้เพียงพอ จะใช้ชีวิตแบบเด็ก ๆ ไม่ได้แล้ว
ผมยกตัวอย่างพี่เทิด (เทิดศักดิ์ ใจมั่น) ตอนแกอายุ 37-38 ปี แกยังเล่นไทยลีกได้อยู่เลย เพราะแกดูแลตัวเองดีมาก ถ้าผมทำเหมือนพี่เทิด ผมเชื่อว่าอายุ 35-36 ปี ผมก็ยังไหวอยู่ ถึงไม่ได้เล่นไทยลีก เชื่อว่าก็น่าจะยังอยู่ระดับ ไทยลีก 2-3 ได้
สมมตินะครับ ถ้ามีเด็กคนหนึ่งไปสัญญากับปีศาจ “ว่าอยากเป็น สรรวัชญ์ เดชมิตร แต่สิ่งที่เขาต้องแลกคือ การที่เขาต้องพบเจอกับทั้งเรื่องดีและร้ายทุกอย่าง เหมือนกับที่คุณเจอ” คุณยังอยากให้เด็กคนนั้นแลกมัน เพื่อสิ่งนี้ไหม
ผมตอบแบบนี้ละกัน นักฟุตบอลที่เก่งจริง ๆ มีเยอะมาก พวกที่เล่นเดินสาย หลายคนฝีเท้าดีเลย แต่คุณพึงพอใจอะไรง่ายเกินไป หาเงินได้วันละ 500-1,000 บาท พอแล้ว ผมอยากให้พวกเขาเหล่านั้น ต่อยอดมาถึงฟุตบอลอาชีพให้ได้
ส่วนเขาเจอเรื่องดีและร้ายเหมือนผมไหม ? ผมอยากให้เขาเจอเรื่องร้าย ๆ สักเรื่อง ตอนอายุ 17-18 ปี แล้วให้เขาลุกขึ้นสู้ กลับมาให้ได้ เขาอาจะเก่งกว่าผมก็ได้
อย่างตัวผม ผมเจอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาตั้งแต่อายุยังน้อย พอถึงวัยกลางคน ผมเริ่มมองออกหมด อันนี้ดี ไม่ดี อันไหน ชั่วเลว เริ่มจัดแจงตัวเองได้แล้ว ถ้าได้เจอเร็วยิ่งดี เพราะคุณเชื่อผมเหอะ ชีวิตเรามันไม่มีทางจะราบเรียบได้ตลอดหรอก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> ยิงกันกระจุย!! สรุปผล ไฮไลท์การยิงประตูทุกคู่ ศึกไทยลีก 2020 นัดที่ 11
>> ดราม่าอีก!! กาม่า หยัน มาริโอ ไร้ไลเซนส์โค้ช หลังพาทีมพ่ายคาบ้าน
ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่
ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่