แฟรงก์ แลมพาร์ด : วิกฤติที่ยากที่สุดในชีวิตกับเอฟเวอร์ตัน | Main Stand
ตำนานนักเตะทีมชาติอังกฤษละพรีเมียร์ลีก, ผู้สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยขุมพลังวัยรุ่นวิ่งไม่มีหมดที่ ดาร์บี้ และการส่งนักเตะจากอคาเดมีของ เชลซี ขึ้นชุดใหญ่พร้อมกันเกือบครึ่งทีม … นี่คือสิ่งที่ แฟรงก์ แลมพาร์ด เป็น จนกระทั่งมาเจอกับงานล่าสุดที่ เอฟเวอร์ตัน
งานที่เขาถูกลูกชายตัวเองถามว่า “เอฟเวอร์ตันจะรอดตกชั้นไหม ?” เกิดอะไรขึ้นบนความยากลำบากกับบรรยากาศการทำงานในแบบที่เขาต้องออกแรงอย่างมากในการพิสูจน์ตัวเองครั้งนี้
ความยากของงานที่ เอฟเวอร์ตัน คืออะไร ทำไม แลมพาร์ด ยังก้าวข้ามไมไ่ด้ ?
ติดตามได้ที่ MainStand
กุนซือหนุ่มอนาคตไกล
หลังจากแขวนสตั๊ดจากการไปเล่นที่สหรัฐอเมริกากับ นิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี แฟรงก์ แลมพาร์ด เจ้าของสถิติกองกลางที่ยิงประตูได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกก็ได้ใช้เวลาหลังช่วงเเขวนสตั๊ดลงเรียนหลักสูตรโค้ชฟุตบอลเป็นเวลาทั้งหมด 2 ปี ก่อนที่งานคุมทีมครั้งแรกของเขาจะเริ่มขึ้นกับสโมสร ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ซึ่งถือว่าเป็นงานโชว์ศักยภาพของ แลมพาร์ด เลยก็ว่าได้
ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2017-18 ก่อนที่ ดาร์บี้ จะได้ แลมพาร์ด มาคุมทีมนั้นพวกเขาจบฤดูกาลด้วยอันดับ 6 แม้จะเป็นตัวเลขที่ดี แต่นั่นไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายนัก เพราะในซีซั่นนั้นบอร์ดบริหารของ ดาร์บี้ ตั้งเป้าว่าจะทำให้ทีมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้
แกะเขาเหล็ก ลงทุนไปร่วม 10 ล้านปอนด์ กับนักเตะอย่าง ทอม ลอว์เรนซ์, อังเดร วิสดอม, ทอม ฮัดเดิลสตัน, คาเมรอน เจอโรม และคนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่มีราคาอาจไม่แพงนักแต่ก็มีส่วนของค่าเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะในรายแข้งตัวเก๋าชื่อดังอย่าง เคอร์ติส เดวี่ส์, ฮัดเดิลสตัน และ เจอโรม ที่เป็นนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกนั้น พวกเขาได้ค่าเหนื่อยระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสโมสร ยิ่งเมื่อมาบวกกับสตาร์ที่มีอยู่ในทีมอยู่แล้วอย่าง มาเตจ์ วีดรา, อันเดรียส ไวมันน์ และ เดวิด นูเจนต์ ทำให้สโมสรต้องแบกภาระค่าเหนื่อยสูง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขาดทุนที่ทำให้เกิดผลกระทบในการโดนตัดแต้มจนต้องมาหนีตกชั้นในฤดูกาล 2021-22 นี้
การแบกภาระค่าเหนื่อยเยอะและนักเตะหลายคนเป็นนักเตะสูงวัยอายุ 30+ คือปัญหา เพราะเมื่อไม่ได้เลื่อนชั้นก็เท่ากับว่าสโมสรจะต้องขาดทุนต่อไปอีก 1 ปี ขณะที่นักเตะหลายคนด้อยศักยภาพลงจากเรื่องอายุการใช้งาน ดังนั้นการแต่งตั้ง แลมพาร์ด เข้ามารับงานในฤดูกาล 2018-19 หลัก ๆ โดยพื้นฐานแล้วเกิดขึ้นเพราะการขายโปรเจ็กต์ของ แลมพาร์ด ที่สโมสรชอบมาก นั่นคือการลดอายุเฉลี่ยนักเตะในทีม ดึงตัวนักเตะที่ยังมีอายุน้อย มีความสามารถ มีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง ทัศนคติที่ดี เข้ามาแทนที่
แลมพาร์ด นำเอาดาวรุ่งฝีเท้าดีจากทีมในพรีเมียร์ลีกมาใช้งานทั้ง เมสัน เมาท์, ฟิกาโย โทโมริ จาก เชลซี, เเฮร์รี่ วิลสัน จาก ลิเวอร์พูล นอกจากนี้ยังมีการดันเด็กปั้นของสโมสรขึ้นมาใช้งานอย่าง ลุค โทมัส และ เจย์เดน โบเกิล ที่ทั้งหมดกลายเป็นกำลังสำคัญของดาร์บี้ในซีซั่นนั้น และคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก นักเตะหลายคนจากทีมดาร์บี้ ชุดซีซั่น 2018-19 ได้กลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้นในยุคที่มีแลมพาร์ดเป็นเจ้านาย ขณะที่ทีมก็ทำผลงานได้ใกล้เคียงกับการเลื่อนชั้นสุด ๆ ด้วยการเข้าไปชิงชนะเลิศในรอบเพลย์ออฟ ก่อนจะแพ้ให้กับ ฟูแล่ม ที่มีศักยภาพมากกว่า
"งานกับ ดาร์บี้ เป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เราทำได้ดีจริง ๆ มันเป็นปีแรกที่ยอดเยี่ยมมาก แม้เราจะไปไม่ถึงฝันในการแพ้ในรอบเพลย์ออฟ แต่หากคุณมองย้อนจากจุดเริ่มต้นคุณจะเห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงทีมไปเยอะมาก เราลดอายุเฉลี่ยของนักเตะในทีมลง เปลี่ยนสไตล์การเล่นให้ดุดัน เล่นเกมบุก มันเป็นงานที่ผมภูมิใจกับมันมาก ๆ" แลมพาร์ด เล่าถึงงานคุมทีมครั้งแรกของเขา
แลมพาร์ด อธิบายความสนุกกับงานที่ ดาร์บี้ เพิ่มเติมว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และสิ่งที่เขาเชื่อก็เป็นไปอย่างที่คิดเป็นฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสูงที่ประกอบไปด้วยนักเตะที่มีศักยภาพและความกระตือรือร้น
การปกครองนักเตะดาวรุ่งเป็นสิ่งที่เเลมพาร์ดชอบมาก เขาใช้วิธีที่ตัวเองเคยถูกปฏิบัติในอดีตสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักเตะนั่นคือการเข้าหานักเตะทุกคนในทีม มีความสัมพันธ์ที่ดีนอกสนาม และพยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักเตะของตัวเอง และเหนือสิ่งอื่นใดคือการผลักดันศักยภาพของนักเตะทุกคนให้ออกมาในทุก ๆ การฝึกซ้อม
สไตล์การทำทีมและการเชื่อมั่นในศักยภาพนักเตะอายุน้อยคือเหตุผลที่ทำให้ชื่อของ แลมพาร์ด ถูกจับตามองโดยบอร์ดบริหารของเชลซีทีมเก่าของเขา ช่วงเวลาฤดูกาล 2019-20 นั้นเชลซีมีปัญหาเรื่องการโดนลงโทษให้ไม่สามารถซื้อตัวนักเตะเข้าสู่ทีมได้ ดังนั้นพวกเขาจะต้องเอานักเตะเยาวชนที่อยู่ในทีมขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ให้มากขึ้น ซึ่งงานนี้ไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าแลมพาร์ดอีกเเล้ว
ชายผู้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการเป็นนักเตะของสโมสร เคยผ่านการร่วมงานกับนักเตะดาวรุ่งในทีมมามากมาย สนิทสนมกับบอร์ดบริหารและแฟนบอลเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าสถานการณ์ทุกอย่างประกอบกันทำให้ที่สุดเเล้ว เชลซี จึงจ้างแลมพาร์ดในปี 2019-20 ... เขาทิ้งงานที่สนุกที่สุดมาเพื่องานชิ้นใหญ่ ชิ้นในฝันที่เขารอคอย ก่อนที่เขาจะพบคำตอบบางอย่างที่สโมสรเชลซี
เชลซี งานสอนชีวิต
แลมพาร์ด เริ่มคุมทีม เชลซี ด้วยการโดนตั้งความหวังเอาไว้ไม่มากเท่ากับโค้ชเชลซีคนอื่น ๆ เนื่องจากตามที่ได้กล่าวไว้การโดนแบนการซื้อขายจากกรณีละเมิดกฎการเซ็นสัญญานักเตะต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้พวกเขาลงมาสู้ในตลาดซื้อขายไม่ได้ ดังนั้นหลักการในปีแรกคือการสร้างพื้นฐานโดยให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งแบบที่เขาถนัดเพื่ออนาคตที่รออยู่
"การใช้นักเตะดาวรุ่งผสมผสานกับนักเตะประสบการณ์สูงจะต้องเกิดขึ้นที่นี่แน่นอน ผมรับประกันได้เลยว่าผมจะทำแบบนั้น ผมเห็นนักเตะเยาวชนของสโมสรและรู้จักพวกเขาหลายคน เด็กพวกนี้มีแพชชั่นและความกระหายที่จะลงเล่นให้สโมสรแห่งนี้ พวกเขาหลายคนโตพอจะรับผิดชอบการเป็นนักเตะของเชลซีได้แล้ว" แลมพาร์ด กล่าว
ในปี 2019-20 แลมพาร์ด ใช้นักเตะดาวรุ่งของทีมเยอะมาก นำโดย 2 คนที่เคยทำงานกับเขาที่ ดาร์บี้ อย่าง เมสัน เมาท์ และ ฟิกาโย โทโมริ นอกจากนี้ยังในรายของ รีซ เจมส์, แทมมี่ อับราฮัม, อันเดรียส คริสเตียนเซ่น และ คัลลัม ฮัดสัน โอดอย เชลซีดูเป็นทีมที่ดีมีอนาคต พวกเขาจบในอันดับท็อป 4 และได้รองแชมป์ เอฟเอ คัพ มันป็นการแสดงให้เห็นว่า "ขาดอีกนิดเดียว" ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง
และแล้วฤดูกาลต่อไปก็มาถึง สโมสรหลุดพ้นจากโทษแบนกลับมาใช้เงินช็อปกระจายได้อีกครั้ง นักเตะดาวดังทยอยเข้ามามากมายทั้ง ไค ฮาแวร์ตซ์, ติโม แวร์เนอร์, ฮาคิม ซิเย็ค, เบน ชิลเวลล์, ธิอาโก้ ซิลวา และ เอดูอาร์ เมนดี้ รวมค่าตัวทุกเป็นเงินกว่า 220 ล้านปอนด์ ... จากตรงนี้ที่มันควรจะดี แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นกับแลมพาร์ด เพราะมันเป็นปีที่เขาพาทีมทำผลงานได้ตกต่ำ จนบอร์ดบริหารของเชลซีเริ่มสงสัยในแนวทางของเขา
David Ornstein กูรูฟุตบอลของอังกฤษเขียนบทความลงในเว็บไซต์ The Athletic และเริ่มอธิบายว่าเมื่อทีมใหญ่ขึ้น มีนักเตะชื่อดังมากขึ้น แต่แลมพาร์ดกลับทำงานได้ยากขึ้น นั่นก็เพราะว่านักเตะส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่สโมสรเลือกให้เขา ซึ่งตัวเขาเองในฐานะลูกจ้างก็ต้องก้มหน้าทำงานต่อไป จนกระทั่งมาถึงช่วงฟอร์มไม่ดีแลมพาร์ดก็เริ่มงัดข้อกับบอร์ดบริหาร จากนั้นความเชื่อมั่นที่บอร์ดมีในตัวเขาก็ลดลง และเริ่มคิดว่าแลมพาร์ดควรต้องส่งไม้ต่อให้โค้ชคนอื่นได้เเล้ว
"แหล่งข่าววงในของเชลซีบอกกับผมตั้งแต่เดือนสิงหาคม (ก่อนฤดูกาลเริ่ม) ว่าเมื่อแลมพาร์ดทำทีมได้แย่และมีผลการแข่งขันที่ไม่ดีสัก 4-5 เกมติดต่อกัน เชลซีก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวกุนซือทันที นั่นคือสิ่งที่ผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อ" นักข่าวของสื่อดังกล่าว
มีการเสนอข่าวอีกว่าจริง ๆ เเล้วนักเตะที่แลมพาร์ดอยากจะได้มาร่วมทัพที่สุดคือ ดีแคลน ไรซ์ กองกลางของ เวสต์แฮม ที่เป็นอดีตนักเตะเยาวชนของเชลซี โดยตัวแลมพาร์ดได้เสนอเรื่องนี้ไปยัง มาริน่า กรานอฟสกาย่า ซีอีโอผู้ทำงานเเทน โรมัน อบราโมวิช ถึง 2 ครั้ง ก่อนที่แลมพาร์ดจะไม่พอใจที่เขาไม่ได้ตัว ไรซ์ และเรื่องนี้ทำให้ มารีน่า เองก็มีความสัมพันธ์กับแลมพาร์ดที่แย่ลง
"แลมพาร์ด จะต้องหยุดเรียกร้องการคว้าตัว ไรซ์ ไม่งั้นเขาจะตกงานแน่ กลุ่มผู้บริหารด้านบนบอกว่ามันไม่คุ้มที่จะดึงอดีตนักเตะของตัวเองกลับสู่ทีมอีกครั้งด้วยราคาที่มหาศาล (คาดกันไว้ที่ 80 ล้านปอนด์)" ออนสตีน เล่าถึงข้อมูลที่อ้างอิงจากวงใน
สุดท้ายพอเชลซีเริ่มไม่ชนะติดต่อกันหลายเกม การสรรหากุนซือใหม่ของเชลซีก็เริ่มขึ้นทันทีตั้งแต่แลมพาร์ดยังไม่ลาออก ซึ่งท้ายที่สุดก็อย่างที่เรารู้กัน แลมพาร์ดโดนปลดออกจากตำแหน่งกลางฤดูกาลแล้วเอาคนที่มีประสบการณ์มากกว่าในงานโค้ชอย่าง โทมัส ทูเคิ่ล เข้ามาแทนที่
ที่ เชลซี ปรากฏว่า “งานในฝัน” ของแลมพาร์ดไม่ได้สร้างความสุขให้เขาแบบที่เขาคิด การอยู่ในองค์กรใหญ่ ความคาดหวังสูง และต้องคิดถึงเรื่องอะไรต่าง ๆ มากมายก่อนจะตัดสินใจทำอะไรโดยสิทธิ์ขาดทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่เขา และตัวของแลมพาร์ดเองก็ต้องเรียกว่ายังขาดศาสตร์และศิลป์ในการคุมทีมอยู่พอสมควร สภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดและตัวละครที่หลากหลายภายในสโมสร ทำให้สิ่งต่าง ๆ ยากขึ้น จนที่สุดแล้ว แลมพาร์ด ได้เข้าใจถึงบางสิ่ง นั่นคือเมื่อคุณเป็นเฮดโค้ช หน้าที่ของคุณคือการจัดการเรื่องในสนาม ต้องมองเห็นศักยภาพของนักเตะในทีม เลือกวิธีการเล่นที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองมี นี่คือสิ่งจำเป็นมาก ๆ ที่เขาต้องทำตัวให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ แม้บางเรื่องจะไม่ได้ดั่งใจ แต่เมื่อเป็นมืออาชีพทุกอย่างต้องทำให้ดีที่สุดโดยไร้ข้อแม้
ยากลำบากกับงาน ล่าสุด
การโดนไล่ออกจากตำแหน่งทำให้ แลมพาร์ด ว่างงานอยู่ 1 ปี จนกระทั่งสโมสร เอฟเวอร์ตัน ที่กำลังประสบปัญหาฟอร์มตกในยุคของกุนซือ ราฟาเอล เบนิเตซ จนกระทั่งถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2022 และแลมพาร์ดเป็นคนที่ได้รับงานนี้ต่อ ซึ่งก่อนที่เขาจะได้ตำแหน่งเกิดดราม่าเล็กน้อยเมื่อสโมสรกำลังจะได้โค้ชชาวโปรตุเกสอย่าง วิเตอร์ เปไรร่า อยู่แล้ว แต่กลับมีเสียงแฟนบอลต่อต้านอย่างหนัก จึงต้องเบนเข็มไปยังเป้าที่ 2 และนั่นคือก็คือแลมพาร์ดนั่นเอง การเลือกโค้ชตามใจแฟนบอลเปรียบเสมือนการเดิมพันของทั้งสองฝ่ายทั้งในส่วนของ เอฟเวอร์ตัน และในส่วนของ แลมพาร์ด เองด้วย
ฟุตบอลที่ต้องอยู่ในสภาพที่ต้องหนีตกชั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องการโค้ชที่มีศักยภาพในเรื่องการปลุกเร้านักเตะ สร้างบรรยากาศในทีมให้ดียิ่งกว่าเรื่องของแทคติกด้วยซ้ำ และสิ่งที่แลมพาร์ดแสดงออกมาให้เห็นกับงานที่เชลซีนั้นก็ไมได้บอกว่าเขาเป็นคนที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้ เขาเป็นกุนซือรุ่นใหม่ที่เด่นเรื่องการใช้นักเตะดาวรุ่งขับเคลื่อนทีมพลังหนุ่ม แต่ที่ เอฟเวอร์ตัน งานที่รออยู่นั้นยากกว่างานที่เขาเจอที่ ดาร์บี้ และ เชลซี เยอะเลยทีเดียว
ประการแรกคือเป้าหมายที่ "ต้องรอดให้ได้" เท่านั้น ไม่เหมือนกับตอนที่เขาได้โอกาสให้สร้างทีมที่ดาร์บี้ และเชลซี ที่เขาได้เริ่มนับ 1 ตั้งแต่เริ่มฤดูกาล ขณะที่ข้อที่สองนักเตะของ เอฟเวอร์ตัน ชุดนี้เกิดจากการซื้อตัวของกุนซือหลาย ๆ คนมารวมกัน ไล่มาตั้งแต่ แซม อัลลาร์ไดซ์, โรนัลด์ คูมัน, คาร์โล อันเชล็อตติ และ ราฟาเอล เบนิเตซ ซึ่งนักเตะที่ถูกซื้อด้วยโค้ชแต่ละคนก็จะผ่านวิธีการเลือกและมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามสไตล์การคุมทีมของกุนซือที่ซื้อตัวพวกเขามา ซึ่งที่สุดแล้วปัญหาก็เกิดกับแลมพาร์ด เพราะเขาเป็นคนที่ชอบขับเคลื่อนทีมด้วยความสดที่ต้องใช้พลังงานสูง แต่นักเตะที่ เอฟเวอร์ตัน มีไม่ได้ตอบโจทย์กับแนวทางของเขา
โดยบทความจาก Oliver Kay ระบุว่า นักเตะที่สโมสรตั้งใจให้ทำงานร่วมกับแลมพาร์ดและหวังให้ประสบการณ์ปั้นนักเตะอายุน้อยให้กลายเป็นนักเตะแถวหน้าคือ จอร์แดน พิคฟอร์ด, เบน ก็อดฟรีย์, โดมินิค คัลเวิร์ต เลวิน, ริชาร์ลิสัน และ แอนโทนี่ กอร์ดอน เท่านั้น แน่นอนว่ามันน้อยเกินไป
สโมสรพยายามช่วยแลมพาร์ดหลังจากเขาร้องขอนักเตะที่มีประสบการณ์เข้ามาเติมเต็ม โดยได้ยืมตัว เดเล่ อัลลี มาจาก สเปอร์ส และ ดอนนี่ ฟาน เดอเบ็ค มาจาก เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งนักเตะทั้ง 2 ไม่ได้ลงเล่นให้กับต้นสังกัดหลักของพวกเขามาแล้วหลายเดือน ดังนั้นการจะให้พวกเขามาถึง เอฟเวอร์ตัน แล้วทำผลงานดีในทันทีจึงแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายแล้วตอนนี้ทั้ง ฟาน เดอเบ็ค และ อัลลี ก็กลายเป็นการ "ซื้อนักเตะให้โค้ชใช้" ซึ่งแลมพาร์ดเองก็ยังหาตำแหน่งให้ทั้ง 2 คนไม่ได้เลย กลายเป็นว่าแทนที่จะได้นักเตะเข้ามาเสริมศักยภาพกลับกลายเป็นนักเตะที่ต้องทำให้เขาปวดหัวคิดหาตำแหน่งให้ลงสนามอีก
งานที่ แลมพาร์ด ได้รับในครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดยิ่งกว่าตอนที่เขาคุมเชลซีเสียด้วยซ้ำ เขามีทรัพยากรในมือที่คุณภาพต่ำ และหลายคนมีทัศนคติที่ไม่ดีนักทำให้เขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการจุดไฟ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานแบบนี้เคยมีตัวอย่างสำหรับ เอฟเวอร์ตัน มาเเล้วในสมัยที่พวกเขาดึงเอา เดวิด มอยส์ มาทำงานแทน วอลเตอร์ สมิธ ในปี 2002 สิ่งที่ มอยส์ ทำในตอนนั้นคือการหาทีมที่ใช่ให้เจอ เอานักเตะที่มีมาใช้งานให้ได้ เจียมตัวกับศักยภาพที่มี ซึ่งภายในเวลาไม่นานนัก มอยส์ ก็ทำให้เอฟเวอร์ตันกลายเป็นทีมที่ดุดันและถูกพูดถึงอย่างมากในเวลาต่อมา
เรื่องนี้ แลมพาร์ด เองก็น่าจะรู้ดี เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ แกรี่ เนวิลล์ ในรายการของช่องสกาย สปอร์ต ในช่วงที่เขาว่างงานว่า "ผมอยากจะได้งานที่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในฐานะยอดผู้จัดการทีม" โดยมีการอธิบายต่อว่าเขาอยากได้ทีมที่มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และเป็นทีมที่มีสปิริตของผู้ชนะ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเอฟเวอร์ตันที่ตอนนี้พวกเขามีรากฐานที่ไม่มั่นคง แนวทางที่ไม่ชัดเจน และมีผลงานที่ย่ำแย่จนทำให้ทัศนคติและกำลังใจนักเตะในทีมลดลงไปอีก
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนผ่านมายังผลการแข่งขันและอันดับในตารางของ เอฟเวอร์ตัน ณ เวลานี้ พวกเขาเป็นทีมที่ชื่อชั้นนักเตะดีกว่า เบรนท์ฟอร์ด, ลีดส์, คริสตัล พาเลซ, ไบรท์ตัน และอีกหลาย ๆ ทีม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมที่กล่าวมามีวิธีการเล่นที่ชัดเจนต่างกับเอฟเวอร์ตันที่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าพวกเขามีจุดเด่นที่สุดที่จุดไหนกันแน่
แฟรงก์ แลมพาร์ด กำลังต้องเหนื่อยที่สุดในชีวิตกับงานเฮดโค้ช ที่ ดาร์บี้ เขาได้รับการสนับสนุนแนวทางความคิดการทำทีมและนักเตะระดับเเชมเปี้ยนชิพก็เชื่อฟังพร้อมทำตามที่เขาสั่ง, ที่ เชลซี เขาอาจจะถูกไล่ออกแต่เขาบรรลุเป้าหมายหลักให้กับทีมได้นั่นคือการสร้างขุมกำลังเยาวชนพัฒนาให้เป็นตัวหลักของทีม ... แต่ที่ เอฟเวอร์ตัน เป้าหมายแรกคือ "หนีตกชั้น" ที่กำลังต้องลุ้นหนักในช่วงโปรเเกรมที่เหลือ ซึ่งนี่ยังไม่ใช่สิ่งที่รออยู่สิ่งสุดท้าย เพราะมีการเปิดเผยจาก เดลี่ เมล ว่าการสัมภาษณ์แลมพาร์ดในตอนแรกของบอร์ดบริหารของเอฟเวอร์ตันคือ ทีมอยากจะให้เขาพัฒนาทีมให้ไปถึงขั้นการเป็นแชมป์ฟุตบอลถ้วยสักรายการหนึ่งให้ได้ ซึ่งในตอนนี้พวกเขายังคงห่างไกลจากจุดนั้นอยู่พอสมควร
แหล่งอ้างอิง :
https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/frank-lampard-tough-everton-question-23383789
https://theathletic.com/3100075/2022/01/31/everton-and-frank-lampard-a-gamble-both-parties-need-to-pay-off/
https://theathletic.com/2298337/2021/01/25/lampards-chelsea-sacking-tension-with-marina-unhappy-players-and-secret-job-offers/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-7212929/FULL-TRANSCRIPT-Frank-Lampard-promises-blood-young-talent-interview-Chelsea-boss.html
https://royalbluemersey.sbnation.com/2022/1/31/22910331/everton-new-manager-frank-lampard-confirmed-announcement-first-interview-passion-exciting-aggressive
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10622721/Frank-Lampard-wants-Everton-flops-engage-fans-against-Newcastle-fed-up.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ต้องกลับมาให้ได้! 'แลมพาร์ด' ยังมั่นใจ เอฟเวอร์ตัน มีโอกาสมากพอ ให้หนีรอดตกชั้น
- สุดงง! 'แลมพาร์ด' ชี้แข้งทอฟฟี่ใจไม่สู้ จนพ่ายพาเลซยับ ร่วงศึกเอฟเอคัพ
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก