รีเซต
ทำไมประเทศจากทวีปแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งที่ผู้เล่นสรีระดี | Main Stand

ทำไมประเทศจากทวีปแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งที่ผู้เล่นสรีระดี | Main Stand

ทำไมประเทศจากทวีปแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งที่ผู้เล่นสรีระดี | Main Stand
เมนสแตนด์
15 สิงหาคม 2565 ( 13:30 )
388

วอลเลย์บอล ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ สหรัฐอเมริกา, ยุโรป หรือ เอเชีย แต่ทวีปหนึ่งที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในวงการวอลเลย์บอลระดับโลกเลยนั่นคือ ทวีปแอฟริกา 

 


เมื่อพิจารณาจากสรีระร่างกายของมนุษย์ผิวดำที่มีรูปร่างสูงใหญ่ กล้ามเนื้อแข็งแรง และมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วแบบที่เราได้เห็นจากกีฬาทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าเหตุใดสรีระที่พระเจ้าประทานมาราวกับเพื่อเล่นวอลเลย์บอลกลับไม่ประสบความในการแข่งขันกีฬานี้

Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่า ทำไมประเทศจากทวีปแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งที่มีผู้เล่นที่สรีระดี ผ่านเรื่องราวการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ซึ่งสะท้อนว่ายังมีอีกหลายอย่างที่สำคัญกับการคว้าชัยชนะมากกว่าเรื่องของสภาพร่างกายของมนุษย์

 

เริ่มต้นจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง

เหตุผลพื้นฐานที่สุดซึ่งทำให้ประเทศจากแอฟริกาไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอล นั่นคือการเข้าถึงกีฬาชนิดนี้ที่ช้าเกินกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเมื่อมองไปยังความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการเมืองในทวีปแอฟริกาที่ถูกแช่แข็งให้อยู่กับที่นานกว่าใคร

กีฬาวอลเลย์บอลถูกเผยแพร่สู่ทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือราวปี 1914-15 หลังกองทัพสหราชอาณาจักรและกองกำลังจากชาติอื่นของฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทางไปตั้งกองทัพอยู่บริเวณคลองสุเอซ อันเป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะกับการตั้งฐานทัพทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันคู่สงครามของพวกเขาในขณะนั้น

ด้วยเหตุนี้ชาติแรกในทวีปแอฟริกาที่ได้ทำความรู้จักกับวอลเลย์บอลคือ อียิปต์ ซึ่งหากเทียบตามเส้นเวลาแล้ว อียิปต์เรียนรู้กีฬาวอลเลย์บอลในช่วงเวลาใกล้เคียงกับหลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ที่ต่างมีโอกาสรู้จักกีฬาชนิดนี้ เนื่องจากทหารสหรัฐอเมริกาเดินทางมารบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อียิปต์นั้นถือเป็นชนชาติแอฟริกันผิวขาวไม่ได้เป็นชาวแอฟริกันผิวดำที่มีสมรรถภาพทางร่างกายเหนือกว่ามนุษย์ในภูมิภาคอื่นที่เป็นโจทย์สำคัญในบทความนี้แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงซึ่งยืนยันว่าวอลเลย์บอลในแอฟริกาเริ่มเติบโตจากอียิปต์จึงเป็นเครื่องยืนยันที่ยอดเยี่ยมว่าทำไมแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาชนิดดังกล่าว

นั่นเป็นเพราะวอลเลย์บอลไม่เคยถูกเผยแพร่ออกจากอียิปต์ไปยังประเทศอื่นในแอฟริกาเลยเป็นเวลาหลายสิบปีนับจากนั้น โดยในปี 1947 ที่มีการก่อตั้งสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ หรือ FIVB อียิปต์ยังคงเป็นประเทศเดียวในแอฟริกาที่มีสหพันธ์วอลเลย์บอลเป็นของตัวเอง และเป็นประเทศเดียวในแอฟริกาที่ถูกเชิญให้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศที่กรุงปารีส ในเดือนเมษายนปีดังกล่าว


Photo : FIVB

นี่คือภาพชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตและพัฒนาอันเชื่องช้าของวอลเลย์บอลในทวีปแอฟริกา แม้ว่ากีฬาดังกล่าวจะก้าวเท้าเข้าสู่แผ่นดินผืนนี้เป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่นอกจากอียิปต์กลับไม่มีประเทศไหนที่สนใจวอลเลย์บอลอย่างจริงจัง นานหลายสิบปีหลังจากนี้ กีฬาวอลเลย์บอลในทวีปแอฟริกาจึงดำเนินไปแบบสมัครเล่นและปราศจากแนวทางการพัฒนาที่แน่นอน

เห็นได้ชัดจากในปี 1967 ที่ทวีปแอฟริกาเพิ่งมีการแข่งขันวอลเลย์บอลทีมชาติระดับทวีปเป็นครั้งแรก ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 4 ทีม ได้แก่ ตูนิเซีย, กินี, ลิเบีย และ แอลจีเรีย

ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกได้ถูกจัดขึ้นในทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก และเป็นญี่ปุ่น เจ้าภาพคราวนั้นที่คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในปี 1947 ที่มีการจัดตั้งสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวในเอเชียที่ถูกเชิญให้ไปเข้าร่วมงานประวัติศาสตร์ของวงการวอลเลย์บอลที่กรุงปารีส

และเมื่อพิจารณาถึง 4 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์แอฟริกา 1967 มีเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นประเทศของชาวแอฟริกันผิวดำ นั่นคือ กินี ที่เหลือเป็นประเทศจากแอฟริกาตอนเหนือทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของกีฬาวอลเลย์บอลที่ยังไม่กระจายตัวไปทั่วทั้งทวีป

มีการตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่ชาติที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านกีฬาเพื่อพัฒนาประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ หรือ เคนยา ซึ่งถือเป็นประเทศที่ทุ่มงบประมาณในการพัฒนานักกีฬาระดับโอลิมปิกอย่างจริงจัง ยังไม่เคยคิดที่จะก้าวเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกระดับกีฬาวอลเลย์บอล และปล่อยให้การพัฒนาเกมตบลูกยางเป็นไปตามยถากรรม

กว่าที่การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลในทวีปแอฟริกาจะเป็นไปอย่างทั่วถึงจริง ๆ ก็ต้องรอจนถึงปี 1972 เมื่อมีการจัดตั้งสมาพันธ์วอลเลย์บอลแอฟริกาขึ้นมา จนเกิดความนิยมในกีฬาวอลเลย์บอลขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะ เคนยา และ แคเมอรูน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของวงการวอลเลย์บอลหญิงในแอฟริกาได้สำเร็จ

 

เทคนิคและแทคติกต่างหากที่สำคัญ

ความสำเร็จของเคนยาและแคเมอรูนบนเวทีวอลเลย์บอลหญิงของแอฟริกาถือเป็นเครื่องยืนยันถึงเรื่องสรีระร่างกายของชาวแอฟริกันผิวดำที่ได้เปรียบต่อการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล ส่งผลให้ทั้งสองชาติเข้ามายึดครองความยิ่งใหญ่ในเวทีดังกล่าวได้สำเร็จ แต่ในเวทีอื่นที่มีการพัฒนานักกีฬาและเทคนิคใหม่อย่างต่อเนื่อง ข้อได้เปรียบที่ธรรมชาติให้มาก็ไม่ได้มีผลเลยในเวทีเหล่านั้น


 

แอฟริกา คือทวีปที่ให้ความนิยมกับวอลเลย์บอลชายมากกว่าหญิง และในเวทีอันเป็นการแข่งขันหลักนี้ ผู้ครอบครองความยิ่งใหญ่ยังคงเป็นชาติแอฟริกันผิวขาวอย่าง อียิปต์ และ ตูนิเซีย ซึ่งสลับกันคว้าแชมป์วอลเลย์บอลชิงแชมป์แอฟริกาฝ่ายชายมาตั้งแต่ปี 2003

ส่วนในเวทีระดับโลกยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยมีชาติใดในทวีปแอฟริกันที่คว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกทั้งชายหญิง รวมถึงโอลิมปิก เกมส์ ดังนั้นแล้วมาตรฐานของวอลเลย์บอลแอฟริกันถือว่าต่ำกว่าหลายทวีปของโลก ซึ่งเมื่อลงไปในละเอียดกว่านั้น มาตรฐานของประเทศในเขตแอฟริกาซาฮารายังเป็นรองชาติในแถบแอฟริกาเหนืออีกด้วย

ความจริงแล้ว สมาพันธ์วอลเลย์บอลแอฟริกา มีความพยายามจะพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลในภูมิภาคของพวกเขามาเสมอ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรผลลัพธ์ที่ออกมามักผิดที่ผิดทางไปเสียทุกครั้ง ประเทศที่นำมาเป็นตัวอย่างได้ง่ายคือ รวันดา ซึ่งได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์แอฟริกา เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา 

แต่ในรายการเดียวกันนี้เองทีมวอลเลย์บอลหญิงของพวกเขากลับถูกปรับตกรอบเสียดื้อ ๆ เนื่องจากส่งผู้เล่นโอนสัญชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฎลงสนามถึง 4 คน ตัวอย่างตรงนี้คงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ร่างกายที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลของชาวแอฟริกันผิวดำคงจะไม่มีประโยชน์อะไรหากพวกเขายังคงมีการจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพเช่นนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความจริงที่กีฬาวอลเลย์บอลยังคงเป็นอาชีพไม่ได้ในทวีปแอฟริกาด้วยเช่นกัน

นิโคลาส ไบลาชา ศาสตาจารย์ชาวเคนยาจากคณะพลศึกษาและการกีฬา มหาวิทยาลัยไนโรบี เคยวิจัยถึงสาเหตุที่ผู้หญิงชาวแอฟริกันตัดสินใจประกอบอาชีพนักวอลเลย์บอล โดยผลลัพธ์จากการศึกษาชี้ว่า 

นักวอลเลย์บอลหญิงได้เริ่มต้นเส้นทางของตนบนเวทีวอลเลย์บอลค่อนข้างช้ากว่ามาตรฐานทั่วไป โดยมีถึง 78 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกเล่นวอลเลย์บอลเนื่องจากอิทธิพลของครอบครัว และมีอีกถึง 81 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกเล่นวอลเลย์บอลจนเป็นอาชีพเพราะว่านี่เป็นเส้นทางที่พวกเธอจะ "ประสบความสำเร็จ"

งานวิจัยของนิโคลาสยังชี้ให้เห็นถึงความจริงที่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง 64 เปอร์เซ็นต์กำลังมองหาลู่ทางการทำงานในสายอาชีพอื่นต่อไปหลังเลิกเล่น นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า นักวอลเลย์บอลหญิงในแอฟริกาควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอื่นหลังเลิกเล่นมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้นิโคลาสยังให้ความสนใจกับการศึกษาแทคติกและเทคนิคของนักวอลเลย์บอลระดับสูงเพิ่มเติม และเห็นได้ชัดว่า การฝึกฝนเทคนิคและแทคติกของกีฬาวอลเลย์บอลในแอฟริกายังไม่ใช่องค์ความรู้ที่เปิดกว้างมากนัก

เมื่อมองไปยังความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงสหรัฐอเมริกาที่เต็มไปด้วยผู้เล่นเชื้อสายแอฟริกัน แม้ว่าโอกาสของพวกเธอจะไม่ได้เปิดกว้างมากนัก (มีหลายคนในสหรัฐอเมริกามองว่าวอลเลย์บอลเป็นกีฬาของคนผิวขาว) แต่การประสบความสำเร็จของพวกเธอก็อยู่ในระดับสูง

สิ่งนี้ชี้ชัดว่าสิ่งที่ขาดหายไปในทวีปแอฟริกาคือการพัฒนาแทคติกและเทคนิคการเล่น ซึ่งมีอิทธิพลในการคว้าชัยชนะมากกว่าสรีระร่างกายที่พระเจ้าให้มาหลายเท่าตัว และท้ายที่สุดเมื่อนักกีฬาวอลเลย์บอลแอฟริกันไม่ประสบความสำเร็จ การพัฒนาให้เกิดความมั่นคงในฐานะอาชีพจึงไม่เกิดขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็จะวนกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาต่อไป

นี่คือเรื่องราวของวอลเลย์บอลในทวีปแอฟริกาที่สะท้อนให้เห็นว่า ต้นทุนที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้นอาจไม่ใช่ข้อได้เปรียบ หากมนุษย์ไม่เลือกที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้น กีฬาวอลเลย์บอล คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ และนำมาสู่คำตอบที่เข้าใจได้ว่า ทำไมประเทศจากทวีปแอฟริกาจึงไม่โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอลเหมือนกับที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน


 
แหล่งอ้างอิง

https://egyptindependent.com/wwi-egypt-forgotten-sacrifice-colonial-powers/
https://www.fivb.com/en/thefivb/history
https://allafrica.com/stories/202109070886.html
https://www.researchgate.net/publication/272340480_Psycho-social_attributes_of_elite_African_women_volleyball_players
https://www.insidethegames.biz/articles/1113217/rwanda-africa-volleyball-championship
https://www.athleticbusiness.com/operations/programming/news/15155432/volleyball-team-breaks-racial-barriers

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ - ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541