ไขข้อข้องใจ : เหตุใดเขตเมืองหลวงจึงมีทีมฟุตบอลจำนวนมากกว่าที่อื่น
เชลซี, อาร์เซนอล, ท็อตแนม ฮอทสเปอร์, ฟูแลม, ควีนส์ปาร์ก เรนเจอร์ส, คริสตัล พาเลซ, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ชาร์ลตัน แอธเลติก, มิลล์วอลล์, บาร์เนต, เบรนท์ฟอร์ด คือรายชื่อของสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในหลายระดับของลีกฟุตบอล บางทีมยิ่งใหญ่มีแฟนบอลระดับโลก บางทีมแทบไร้ตัวตนในความทรงจำของแฟนบอล แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกสโมสรข้างต้นมีคุณสมบัติร่วมกัน นั่นคือมีถิ่นฐานตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน
ทีมฟุตบอลทั้งหมด ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เหมือนกับเมืองหลวง ในหลายประเทศทั่วโลก ที่เมืองอันเป็นศูนย์กลางของประเทศ จะมีสโมสรลูกหนังจำนวนมากตั้งอยู่ แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่ส่วนใหญ่มีเพียงแค่สโมสรฟุตบอลประจำเมืองเท่านั้น
มีองค์ประกอบมากมาย ที่ทำให้เมืองหลวงได้สิทธิพิเศษในการมีจำนวนทีมฟุตบอลมากกว่าเมืองอื่น ไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม, การขยายตัวของเมือง ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงสู่ทุนนิยมของเกมลูกหนัง
เริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ต้องมองไปที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในศตวรรษที่ 18 กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศอังกฤษ
การถือกำเนิดของอุตสาหกรรมโรงงาน เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน จากสังคมชาวนาแปรเปลี่ยนสู่การเป็นแรงงาน อันนำมาซึ่งการอพยพถิ่นฐานของคนในพื้นที่ชนบทให้ละทิ้งบ้านเกิด มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ
Photo : celebritytidings.com | London Stereoscope Company
ศูนย์กลางของการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ ลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ ประชาชนในเขตนี้เพิ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว จากไม่กี่แสนคนในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 สู่จำนวน 1 ล้านคน เมื่อศตวรรษสิ้นสุดลง
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเป็นเท่าตัวในเมืองหลวง ไม่ได้เกิดขึ้นที่ลอนดอน แต่รวมถึงกรุงปารีส ของฝรั่งเศส, กรุงเนเปิลส์ ของราชอาณาจักรซิซิลี (ก่อนรวมประเทศกับอิตาลี), กรุงดับลิน ของไอร์แลนด์, กรุงเวียนนา ของออสเตรีย, กรุงโรม ของอิตาลี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่มีเมืองไหนจะเติบโตเท่ากับ ลอนดอน ที่ไม่ได้มีแค่คนจากเมืองอื่นในอังกฤษอพยพเข้ามาเท่านั้น แต่ยังมีผู้อพยพจากต่างประเทศ เข้าสู่มาสู่เมือง เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง อาทิ ธุรกิจการค้า, การขนส่ง, การผลิต ทำให้เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ กลายเป็นเมืองที่ต้องการแรงงานมากที่สุดของโลก ในศตวรรษที่ 19
ถึงแม้ว่าการอพยพมาอยู่ในเขตเมือง จะดีกว่าใช้ชีวิตในชนบท แต่ไม่ได้ความว่าแรงงานพลัดถิ่นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในทางกลับกันพวกเขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ในโรงงานที่ไม่มีความปลอดภัย และค่าแรงต่ำ คนทำงานเหล่านี้ไม่ได้มีความสุขมากนักในชีวิต ถึงจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นกว่าอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด
ชีวิตของแรงงานที่เกือบจะเหมือนหุ่นยนต์คอยทำหน้าที่ผลิตสินค้าทั้งวันทั้งคืนในโรงงานอุตสาหกรรม หากวงจรเป็นของพวกเขายังเป็นอย่างนี้ต่อไป การเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นมานับร้อยปี อาจจะล้มสลายลงไหนพริบตา ดังนั้นทั้งชนชั้นนายทุน และชนชั้นแรงงาน จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สังคมเมืองใหญ่ สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ฟุตบอล กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ กีฬาชนิดนี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่แรงงานทางตอนเหนือของประเทศ และถูกนำมาเป็นเครื่องมือสร้างความสุขอย่างจงใจ ให้กับพนักงานโรงงานในลอนดอน ใช้เกมลูกหนังเป็นสิ่งพักผ่อนหย่อนใจในช่วงสุดสัปดาห์ที่ว่างจากการทำงาน และหาความสุขให้กับตัวเอง
Photo : islandhistory.wordpress.com
ภายในระยะเวลาอันสั้น ฟุตบอลกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ พวกเขาจับกลุ่มภายในที่ทำงาน สร้างสโมสรของตัวเองขึ้นมา และเขตเมืองหลวงซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าพื้นที่อื่นในประเทศ ย่อมมีทีมฟุตบอลมากกว่าพื้นที่อื่นเช่นกัน
มิลล์วอลล์ เอฟซี กลายเป็นสโมสรฟุตบอลทีมแรกในลอนดอนที่ก่อตั้งโดยพนักงานในโรงงาน เมื่อปี 1885 เพียง 1 ปีหลังจากนั้น แรงงานจากกรมผลิตอาวุธได้รวมตัวกันสร้างทีมลูกหนังของตัวเองในชื่อ รอยัล อาร์เซนอล ซึ่งรู้จักในชื่อ อาร์เซนอล ฟุตบอล คลับ ในเวลาต่อมา จากนั้นในปี 1895 พนักงานโรงงานเหล็กริมแม่น้ำเทมส์ ก่อตั้งทีมของตัวเองบ้าง นั่นคือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน
สังคมที่ไม่เป็นหนึ่ง
การขยายตัวของเมืองหลวงผ่านการเติบโตของอุตสาหกรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดสโมสรฟุตบอล ในแง่ของการพักผ่อนหย่อนใจของแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ได้สร้างสังคมที่มีความหลากหลายของผู้คน จากการมารวมตัวกันของประชากรในหลากหลายพื้นที่
Photo : www.thearsenalhistory.com
สังคมเมืองหลวงกลายเป็นพหุสังคม ต้องรองรับความแตกต่าง ทั้งในแง่ของ วิถีชีวิต, วัฒนธรรม, ศาสนา, การเมือง ไปจนถึงเชื้อชาติ สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกไม่เป็นหนึ่งเดียวของคนในเมืองกรุง เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่มีพื้นเพเดียวกัน และอยากที่จะรู้สึกเชื่อมโยงกัน แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน
คำว่า "คนบ้านเดียวกัน" ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของคนกรุง แตกต่างจากผู้คนในเมืองอื่น ที่ความเป็นคนเมืองเดียวกัน จะเชื่อมโยงพวกเขาเอาไว้ ภายใต้จุดยืนเดียวกัน เมื่อเกิดทีมฟุตบอลประจำเมืองขึ้นมา พวกเขาก็พร้อมสนับสนุนทีมนั้น และสโมสรฟุตบอลได้กลายเป็นความภาคภูมิใจของเมืองอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม เราไม่มีทางได้เห็นทีมตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากเมืองหลวง เพราะพวกเขาไม่มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน กลับไปที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สโมสรฟุตบอลไม่ว่าจะเป็น ฟูแลม, ท็อตแนม ฮอทสเปอร์, เชลซี, ควีนส์ปาร์ก เรนเจอร์ส, คริสตัล พาเลซ, บาร์เน็ต หรือ เบรนท์ฟอร์ด ล้วนก่อตั้งจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ในย่านของตัวเอง เพื่อเป็นสโมสรในชุมชน แทนที่จะเป็นตัวแทนของเมืองหลวง
ยกตัวอย่าง เชลซี เคยปฏิเสธใช้ชื่อทีมว่า ลอนดอน เอฟซี เมื่อตอนก่อตั้งสโมสร เพราะรู้สึกว่าทีมผูกพันกับเขตเชลซี มากกว่ากรุงลอนดอนทั้งเมือง แม้ว่าทีมจะอยู่ในเขตฟูแลม ไม่ใช่เขตเชลซี ก็ตาม (เชลซีไม่ใช่ชื่อตามเขตฟูแลม เพราะไม่อยากซ้ำกับ ฟูแลม เอฟซี)
Photo : www.whoateallthepies.tv
การเกิดขึ้นของทีมฟุตบอลในเมืองหลวง จากความแตกต่างทางสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอังกฤษ แต่รวมถึงในอีกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น
กรุงโรม ประเทศอิตาลี : โรมา (ทีมของชนชั้นแรงงาน สนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสม์), ลาซิโอ (ทีมของชนชั้นกลาง สนับสนุนแนวคิดฟาสซิสม์)
กรุงมาดริด ประเทศสเปน : เรอัล มาดริด (ทีมของคนมาดริดแท้ ๆ และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง), แอตเลติโก มาดริด (ทีมที่ถูกก่อตั้งโดยผู้อพยพจากแคว้นบาสก์), ราโย บาเยกาโน (ทีมของชนชั้นแรงงานซ้ายจัด)
Photo : themadridstory.substack.com
กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส : เบนฟิกา (ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษา), สปอร์ติง ลิสบอน (ก่อตั้งโดยลูกหลานเศรษฐีในเมือง)
กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ : พานาธีไนกอส (ทีมของชนชั้นสูง), โอลิมเปียกอส (ทีมของชนชั้นแรงงาน)
ความแตกต่างของผู้คนในเมืองหลวง ทำให้พวกเขาเลือกตั้งทีมฟุตบอลของตัวเองขึ้นมา แทนที่จะไปรวมกลุ่มกันเป็นหนึ่ง ซึ่งทำให้เวลาต่อมา หลายสโมสรในเมืองหลวงหันหน้ามาเปิดศึกแย่งชิงความเป็นหนึ่งกันเอง และกลายเป็นดาร์บี้แมตช์อมตะ มาจนถึงทุกวันนี้
ศูนย์รวมอำนาจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองหลวงคือศูนย์กลางของวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม ของแต่ละประเทศ ทำให้ดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของรัฐชาติ มีโอกาสเรียนรู้อารยธรรมใหม่ ๆ ได้มากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ รวมถึงฟุตบอลด้วยเช่นกัน
กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา คือหนึ่งในเมืองที่ถือเป็นเมกกะของวงการฟุตบอล เพราะมีสโมสรชั้นนำของทวีปอเมริกาใต้มากมายอยู่ภายในเมือง ไม่ว่าจะเป็น โบคา จูเนียร์ส, ริเวอร์เพลท, ซาน โลเรนโซ, เวเลซ ซาร์สฟิลด์, อาร์เจนติโนส จูเนียร์ หรือ แอตเลติโก ฮูราฆาน
เหตุผลที่กรุงบัวโนสไอโรส มีทีมฟุตบอลอยู่มากมาย เป็นเพราะเมืองแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศอาร์เจนตินา และมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่คอยรับสินค้าจากทวีปยุโรป
ซึ่งเหล่ากะลาสีจากประเทศอังกฤษ ได้นำวัฒนธรรมกีฬาฟุตบอล เข้ามาเผยแพร่ในบัวโนสไอเรสคนแล้วคนเล่า จนสุดท้ายฟุตบอลแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของประชาชนเมืองหลวงประเทศอาร์เจนตินา จนเกิดสโมสรฟุตบอลมากมายทั่วเมือง
ไม่ใช่อิทธิพลจากเศรษฐกินเพียงอย่างเดียว ที่ส่งผลต่อการเติบโตของเกมลูกหนังในเมืองหลวง แต่รวมถึงอำนาจทางการเมือง ด้วยเช่นกัน
ในหลายประเทศ รัฐบาลมีสิทธิ์เด็ดขาดในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ แม้กระทั่งวงการกีฬา ทำให้สโมสรฟุตบอลในหลายพื้นที่ กลายเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวง
โมเดลนี้ ได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงยุคสงครามเย็นจากค่ายโลกคอมมิวนิสต์ ที่ให้หน่วยงานของรัฐบาล สร้างหรือยึดสโมสรฟุตบอลที่มีอยู่แล้ว มาใช้สร้างอำนาจให้กับองค์กร
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศรัสเซีย เนื่องจากทีมฟุตบอลในกรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศ ถูกก่อตั้ง และได้รับการสนับสนุนผ่านระบบการเมือง ตั้งแต่สมัยที่ประเทศยังเป็นสหภาพโซเวียต
ไม่ว่าจะเป็น ซีเอสเคเอ มอสโก (ทีมของกองทัพสหภาพโซเวียต ปัจจุบันเป็นของกระทรวงความมั่นคงของประเทศ), สปาร์ตัก มอสโก (ทีมของกลุ่มสายลับ), ดินาโม มอสโก (ทีมของกระทรวงต่างประเทศ, KGB, และตำรวจลับ), โลโคโมทีฟ มอสโก (ทีมขององค์การรถไฟ), ตอร์เปโด มอสโก (หน่วยงานสร้างยานพาหนะ ถือครองโดยเอกชน ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล)
หลายประเทศยังคงได้รับอิทธิพลฟุตบอล ผ่านอำนาจทางการเมือง ในแบบเดียวกับที่รัสเซียได้รับ อาทิ เซอร์เบีย หรือ ออสเตรีย ที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางของเกมฟุตบอลมายาวนานหลายสิบปี
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือฟุตบอลไทยลีก สมัยที่เป็นลีกกึ่งอาชีพ มีแต่สโมสรฟุตบอลที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นทีมจากองค์กรรัฐ หรือก่อตั้งโดยบริษัทเอกชน ได้แสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของการรวมศูนย์อำนาจในเขตเมืองหลวง และเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างทีมลูกหนังขึ้นมาในกรุงเทพฯ
แตกต่างจากทีมฟุตบอลต่างจังหวัด ซึ่งมีแค่ทีมประจำจังหวัดเท่านั้น เพราะไม่ได้มีองค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน หันไปลงทุนทำทีมฟุตบอลอื่น ๆ นอกเหนือจากทีมประจำเมืองขึ้นมา
โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
ท่ามกลางโลกยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ฟุตบอลได้สร้างความหมายใหม่ให้กับตัวเอง คือการเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจ ที่สร้างผลประโยชน์ทางการเงิน หรือการค้า ในแต่ละรูปแบบที่เจ้าของทีมปรารถนา
แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่สโมสรฟุตบอลในพื้นที่เมืองหลวง ยังคงได้รับการตอบรับ และยืนหยัดอยู่ได้ รวมถึงได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน
ตัวอย่างที่ใกล้ตัว คือฟุตบอลไทยของเรา ที่ยังคงมีหลายสโมสรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองหลวง เป็นตัวขับเคลื่อนฟุตบอลลีกไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าหลายทีมจากยุคก่อน จะล้มหายตายจากไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกฟุตบอล
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
ไม่ว่าจะเป็น สโมสรดั้งเดิม อย่าง การท่าเรือ หรือ โปลิศ เทโร และสโมสรรุ่นใหม่ อย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด, บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ล้วนเป็นทีมฟุตบอลที่มีความเชื่อมโยงกับเมืองหลวง มีแฟนบอลหนาแน่นอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งในเขตกรุงเทพฯ ก็ตาม
หลายประเทศในเอเชีย ได้เน้นการวางตำแหน่งที่ตั้งของสโมสรฟุตบอล ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองหลวง เพราะสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ดีกว่าการสร้างทีมในภูมิภาคอื่น
ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีหลายสโมสรอยู่ในเขตอภิมหานครโตเกียว ไม่ว่าจะเป็น เอฟซี โตเกียว, คาวาซากิ ฟรอนตาเล, อุราวะ เรด ไดมอนด์ส, โยโกฮามา เอฟ มารินอส, คาชิวา เรย์โซล, คาชิมา แอนท์เลอร์ส เป็นต้น
เนื่องจากทีมเหล่านี้ มีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ประจำประเทศ การสร้างสโมสรฟุตบอลจึงต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางธุรกิจ ซึ่งไม่มีพื้นที่ไหนจะตอบโจทย์ได้มากกว่า เขตของโตเกียว ทำให้ทีมฟุตบอลหลายบริษัท เลือกใช้พื้นที่เขตเมืองหลวงเป็นตำแหน่งที่ตั้งของทีม
ขณะเดียวกัน สามารถเห็นได้ถึงการลงทุนของนักธุรกิจกับทีมฟุตบอลในเมืองหลวง เช่น หลายสโมสรในกรุงลอนดอน มีเจ้าของเป็นมหาเศรษฐีต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น เชลซี, อาร์เซนอล, ควีนสปาร์ก เรนเจอร์ส หรือ ฟูแลม
รวมถึงหลายทีมในเมืองหลวง ยังคงได้รับความสนใจที่จะมีนักลงทุนเข้าไปถือครอง แม้จะไม่ได้เป็นทีมใหญ่เบอร์หนึ่งของประเทศ เช่น แอตเลติโก มาดริด, โรมา หรือ แฮร์ธา เบอร์ลิน
แม้ในปัจจุบัน โลกฟุตบอลจะเปลี่ยนไปหลายด้าน ทั้งกลายเป็นธุรกิจ ไม่ได้เป็นกิจกรรมชุมชนอีกต่อไป, แฟนบอลไม่ได้แบ่งแยก แบ่งฝ่ายกัน เหมือนสมัยก่อตั้ง ไม่มีการแบ่งระหว่างทีมคนจน หรือคนรวย ทุกคนสามารถเชียร์ทีมได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่พื่นที่เมืองหลวง ยังคงเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของกีฬาฟุตบอลในทุกประเทศ ที่คอยขับเคลื่อนให้เขตเมืองกรุงมีความเติบโตนำหน้าเมืองอื่น ๆ รวมถึงกีฬาฟุตบอล
หากมองย้อนอดีตตั้งแต่หลายร้อยปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เมืองหลวงจะมีทีมฟุตบอลมากกว่าเมืองอื่น ตราบใดที่ดินแดนแห่งนี้ ยังคงเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญ ผู้คนจากต่างจังอพยพเข้ามาทำงาน จนเมืองมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องราวจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป เหมือนหลายร้อยปีที่ผ่านมา
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ (ฉบับสังเขป)
https://www.oldbaileyonline.org/static/London-lifelate18th.jsp
https://www.statista.com/statistics/1022001/thirty-largest-cities-western-europe-1800/#:~:text=By%201800%2C%20London%20had%20grown,city%20with%20450%20thousand%20people.
https://www.youtube.com/watch?v=L_vlHpDgkyE&ab_channel=COPA90Stories
https://www.youtube.com/watch?v=rIG13KfUSkI
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> เวย์น รูนี่ย์ : ดาวรุ่งมหัศจรรย์โลกลูกหนัง ที่เจอคำวิจารณ์ตั้งแต่เด็กจนบั้นปลายอาชีพ | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้ ใช้ฟรี 7 วัน!!!!