รีเซต
WrestleMania : สังเวียนที่เปลี่ยนโลกมวยปล้ำ ผ่านการเรืองอำนาจของ WWE | Main Stand

WrestleMania : สังเวียนที่เปลี่ยนโลกมวยปล้ำ ผ่านการเรืองอำนาจของ WWE | Main Stand

WrestleMania : สังเวียนที่เปลี่ยนโลกมวยปล้ำ ผ่านการเรืองอำนาจของ WWE | Main Stand
เมนสแตนด์
5 เมษายน 2565 ( 21:00 )
789
1

หากพูดถึงศึกใหญ่มวยปล้ำที่ผู้คนรู้จักมากที่สุด คงหนีไม่พ้น WrestleMania โชว์ใหญ่ประจำปีของสมาคมมวยปล้ำชื่อดังอย่าง WWE 

 


ทุกปี WrestleMania จะอยู่ในความสนใจของผู้คนเสมอไม่ใช่แค่แฟนมวยปล้ำ แต่รวมถึงคนทั่วไป เพราะมักมีเหตุการณ์น่าจดจำเสมอ จนถึงกับทำให้หลายคนติดตามมวยปล้ำ แค่ WrestleMania ตลอดทั้งปี 

ความสำเร็จของ WrestleMania ที่เกิดขึ้นมาตลอด 38 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากมุมมองที่แตกต่างของ WWE ในอดีต จนกลายเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่ทำให้ WWE ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกมวยปล้ำ

ติดตามเรื่องราวของศึกนี้ไปพร้อมกับ Main Stand

 

โลกมวยปล้ำก่อนมี WrestleMania 

ใครก็ตามที่เริ่มดูมวยปล้ำหลังกลางยุค 80s เป็นต้นมาเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการภาพของมวยปล้ำในยุคก่อนหน้านั้น เพราะโครงสร้างของกีฬานี้ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแม้แต่นิดเดียว

ทุกวันนี้เราได้เห็นความทะเยอทะยานของสมาคมมวยปล้ำ ที่พยายามจะขยายฐานแฟนไปทั่วโลก ทั้ง WWE หรือสมาคมคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง AEW (All Elite Wrestling) รวมถึงสมาคมจากญี่ปุ่นที่ขยายฐานไปบุกชิงความนิยมจากฝั่งอเมริกาได้ไม่น้อย ทั้ง NJPW (New Japan Pro Wrestling) หรือแม้กระทั่งสมาคมมวยปล้ำผู้หญิงที่มาแรง อย่าง Stardom 


Photo : Wikipedia

แต่โลกมวยปล้ำในอดีตไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 1948 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยุคของมวยปล้ำอาชีพ สมาคมมวยปล้ำทั่วสหรัฐอเมริกาตัดสินใจมานั่งจับมือกันตั้งองค์กรกลางอย่าง National Wrestling Alliance หรือ NWA ขึ้นมากำกับการดำเนินงานของธุรกิจมวยปล้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างกัน

NWA เข้ามาเป็นหน่วยงานกลางรับรองสมาคมมวยปล้ำในแต่ล่ะพื้นที่ ว่าสมาคมไหนคือสมาคมมวยปล้ำอาชัพที่ได้การยืนยันให้เป็นค่ายหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมาคมมวยปล้ำที่ได้รับรองจาก NWA ก็จะมีสิทธิ์ใช้งานเข็มขัดของ NWA ซึ่งในเวลานั้น แชมป์ของ NWA จะเป็นแชมป์เดียวเท่านั้นที่มีคุณค่า และได้รับการยอมรับจริง ๆ ว่า เป็นแชมป์ของวงการมวยปล้ำที่มีคุณค่า

โมเดลของ NWA ไม่ใช่สิ่งใหม่ในวงการกีฬา แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก WBA หรือ World Boxing Association ของวงการมวยสากล ในการเป็นองค์กรกลางที่ขึ้นมาจัด และกำกับการจัดการแข่งขันมวยสากลให้ไปในทิศทางเดียวกันในสหรัฐอเมริกา เพราะในอดีตแต่ล่ะรัฐของอเมริกาจะมีการจัดการแข่งขันมวยเป็นของตัวเอง จึงต้องมีการสร้าง WBA ขึ้นมา เพื่อให้รวมการแข่งขันในแต่ล่ะพื้นที่ ให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน 

กีฬามวยปล้ำก็เช่นเดียวกัน ในอดีตสมาคมมวยปล้ำก็มีพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต่างจากมวยสากล และเพื่อไม่ให้หลายสิบสมาคมมวยปล้ำทั่วสหรัฐฯ ล้ำเส้นเขตดินแดนซึ่งกันและกัน จึงต้องมีการสร้าง NWA ขึ้นมาเพื่อควบคุมการดำเนินการของมวยปล้ำ และปล่อยให้ทุกฝ่ายสร้างความนิยมแข่งกันเองในพื้นที่ของตัวเอง ไม่มีการรุกล้ำไปทำตลาดในสมาคมอื่น และที่สำคัญที่สุด ห้ามขโมยนักมวยปล้ำของดินแดนอื่นมาปล้ำในแดนของตัวเอง ยกเว้นนักมวยปล้ำจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานการปล้ำด้วยตัวเอง 


Photo : wwe.com

มวยปล้ำดำเนินงานในรูปแบบนี้มาตลอด เป็นเวลาเกือบ 40 ปีที่ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันตามธรรมเนียม สร้างฐานความนิยมของตัวเอง แต่ละพื้นที่ก็มีนักมวยปล้ำชื่อดังที่ต่างกันออกไป หรือถ้าใครที่ดังมากหน่อย ก็จะกลายเป็นสมบัติของชาติได้สิทธิพิเศษเดินทางไปปล้ำได้ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจหนุ่มคนหนึ่งกลับเห็นต่างออกไป เขาเห็นโอกาสที่จะทำเงินก้อนโตได้จากมวยปล้ำ แม้จะหมายถึงการแหกกฎ และทำลายทุกอย่างที่มวยปล้ำทำมาตลอดหลายสิบปี 

 

ความทะเยอทะยานของ วินซ์ แม็คแมน (ผู้ลูก) 

ในปี 1953 สมาคมมวยปล้ำที่ชื่อ Capitol Wrestling Corporation หรือ CWC ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดย วินเซนต์ เจมส์ แม็คแมน อดีตโปรโมเตอร์มวยสากลที่เห็นความนิยมอันพุ่งขึ้นสูงของมวยปล้ำ และตัดสินใจหันมาตั้งสมาคมของตัวเอง ณ เมืองที่ไม่เคยหลับไหล อย่าง นิวยอร์ก ซิตี้ 

ด้วยฐานที่มั่นอันแข็งแกร่ง CWC กลายเป็นสมาชิกของ NWA อย่างรวดเร็ว และเป็นลูกรักของหน่วยงานด้วย เพราะการถือครองตลาดในนิวยอร์กคือเครื่องรับประกันว่า มวยปล้ำที่นี่จะอยู่ในสปอตไลท์เสมอ 


Photo : wwe.com

นอกจากนี้ด้วยความที่ CWC เป็นสมาคมมวยปล้ำอยู่ที่นิวยอร์ก ทำให้ NWA นิยมจะขอตัวนักมวยปล้ำของค่ายอื่นมาปล้ำที่ CWC เพื่อโอกาสที่จะให้มวยปล้ำได้ปล้ำในสนามอันทรงเกียรติ อย่าง เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น และถ้าไม่ใช่ CWC ก็จะไม่สามารถจัดโชว์ได้ เพราะนิวยอร์กคือพื้นที่ของค่ายนี้

ภายในระยะเวลาอันสั้น CWC ยึดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นของตัวเองได้หมด พื้นที่ของรัฐสำคัญอย่าง แมสซาชูเซตส์, นิวยอร์ก หรือเพนซิลเวเนีย ต่างมีแฟนมวยปล้ำเป็นแฟนคลับของ CWC

ความโด่งดังของ CWC มาถึงจุดสูงสุด หลังจากในปี 1961 ทาง NWA ตัดสินใจเลือกให้ บัดดี้ โรเจอร์ส (Buddy Rogers) นักมวยปล้ำอันดับหนึ่งของสมาคม กลายเป็นแชมป์โลก NWA คนใหม่ เพื่อตอบสนองความนิยมของสมาคมจากนิวยอร์ก 

อย่างไรก็ตามจุดแตกหักของ CWC กับ NWA มาเกิดขึ้นในปี 1963 หลังจากที่ บัดดี้ โรเจอร์ส ครองแชมป์มาเกือบ 2 ปี และทาง NWA ต้องการให้แชมป์โลกเปลี่ยนมือไปหานักมวยปล้ำคนอื่น แต่ทาง วินซ์ เจมส์ แม็คแมน ไม่ต้องการ อยากให้นักมวยปล้ำคนเก่งของเขาถือแชมป์ต่อไป


Photo : wikipedia

แต่ด้วยอำนาจที่มากกว่าของ NWA สมาคมจากนิวยอร์กจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากให้ บัดดี้ โรเจอร์ส เสียแชมป์ ไปให้กับนักมวยปล้ำระดับตำนานอย่าง ลู เธสซ์ (Lou Thesz) ขณะที่ CWC ลาออกจากการเป็นสมาชิกของ NWA และเปลี่ยนชื่อค่ายใหม่เป็น World Wide Wrestling Federation หรือ WWWF ขอยืนด้วยลำแข่งของตัวเอง ไม่ยุ่งกับ NWA อีกต่อไป

หนึ่งในคนที่เห็นเหตุการณ์มาตลอดคือลูกชายของ วินเซนต์ เจมส์ แม็คแมน นั่นคือ วินเซนต์ เคนเนดี้ แม็คแมน ลูกชายของโปรโมเตอร์ชื่อดัง และทุกสิ่งที่เกิดมันฝังใจผู้ชายคนนี้ ทำให้เขาเกลียดระบบมวยปล้ำท้องถิ่น พร้อมกับมีความคิดที่จะทำมวยปล้ำให้ไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น เพราะเขาเห็นแล้วว่าสมาคมของคุณพ่อ มีศักยภาพไปได้ไกลมากกว่าจะมาจมอยู่แค่ในโซนตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา 

อย่างไรก็ตาม วินซ์ แม็คแมน คนพ่อไม่เคยมีความทะเยอทะยานที่จะทำค่ายของเขาให้ไปไกลกว่าเขตแดนของตัวเอง แม้จะแยกตัวออกจาก NWA และทำ WWWF จนโด่งดัง มีนักมวยปล้ำซูเปอร์สตาร์ที่โด่งดังไปทั่วประเทศอยู่ในค่าย อย่าง บรูโน่ ซามาร์ติโน่ (Bruno Sammartino), บ็อบ แบ็คลันด์ (Bob Backlund), บิลลี่ แกรห์ม (Billy Graham) แต่วินซ์คนพ่อก็ให้ความเคารพระบบมวยปล้ำท้องถิ่นมาก ไม่เคยคิดจะขยายตลาดรุกรานใคร นอกจากสู้กับค่ายสมาชิกของ NWA ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น


Photo : WWE

แต่วินซ์ผู้ลูกไม่เคยคิดแบบนั้น และเขาไม่พอใจสิ่งที่พ่อตัวเองทำ เขาจึงได้ทำการตัดสินใจซื้อสมาคม WWWF จากพ่อของตัวเอง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น World Wrestling Federation หรือ WWF เมื่อปี 1982

หลังจากมีสมาคมมวยปล้ำเป็นของตัวเอง แถมมีชื่อเสียงของค่ายเป็นทุนเดิมหนุนหลัง วินเซนต์ เคนเนดี้ แม็คแมน พร้อมแล้วที่จะปฏิวัติวงการมวยปล้ำใหม่ด้วยมือของเขาเอง 

 

กำเนิด WrestleMania 

"ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เรามีสมาคมมวยปล้ำอยู่ทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่ก็มีผู้ดูแลอยู่ … ผมคิดว่าน่าจะมีสัก 30 ค่ายได้มั้ง ทั่วสหรัฐอเมริกา และถ้าผมไม่ซื้อค่ายจากพ่อ เราจะเป็นได้แค่ 1 ใน 30 สมาคมพวกนั้น เตรียมพบกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนผมไม่อยากจะอยู่ในระบบพวกนั้น" วินซ์ แม็คแมน ให้สัมภาษณ์หลังจากซื้อสมาคมมวยปล้ำของพ่อมาเป็นของตัวเอง


Photo : wwe.com

วินซ์ แม็คแมน เจ้าของ WWF คนใหม่ มีเพียงแค่สองอย่างในความคิดของเขาที่ต้องการจะทำ อย่างแรกคือล้มระบบมวยปล้ำท้องถิ่น สองคือเปลี่ยนให้ค่ายของเขาเป็นสมาคมมวยปล้ำระดับชาติ 

แม็คแมนผู้ลูกเริ่มต้นด้วยการแหกกฎไม่ขโมยนักมวยปล้ำระหว่างแดน เพราะเขาตัดสินใจทุ่มเงินดูดสตาร์นักมวยปล้ำจากที่อื่นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฮัลค์ โฮแกน, ร็อดดี้ ไพเพอร์, ริคกี้ สตรีมโบ๊ต, เกร็ก วาเลนไทน์, อังเดร เดอะ ไจแอนท์, จิมมี่ "ซูเปอร์ฟลาย" สนุกก้า และอีกมากมายนับไม่ถ้วน 

ภายในระยะเวลาอันสั้น WWF กลายเป็นค่ายยอดนิยมที่ใครก็อยากชม เพราะสมาคมนี้เหมือนกับทีมออลสตาร์นักมวยปล้ำที่รวมตัวนักสู้ยอดนิยมมาอยู่ที่สมาคมเดียว ทำให้ WWF สามารถขยายฐานแฟนออกนอกเขตตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ด้วยการมีรายการฉายโชว์ของสมาคมในหลายพื้นที่ของอเมริกา

แม้ว่า WWF จะกลายเป็นสมาคมที่มีชื่อเสียง แต่มันยังห่างไกลกับสิ่งที่วินซ์ต้องการ เพราะเขาอยากให้ WWF เป็นค่ายมวยปล้ำเพียงหนึ่งเดียวที่คนอเมริกาจะรับชม และเขี่ยค่ายพันธมิตรของ NWA ตกกระป๋องไปให้ได้

 
Photo : wwe.com

ในตอนนั้น แฟนมวยปล้ำที่อยู่นอกเขตตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถติดตาม WWF ได้ผ่านทางโทรทัศน์เท่านั้น ซึ่งวินซ์ต้องการจะจัดโชว์มวยปล้ำของไปทั่วประเทศ แต่ ณ เวลานั้น ระบบมวยปล้ำท้องถิ่นยังคงแข็งแกร่ง และเจ้าของ WWF ก็ไม่อยากจะไปเดินเหยียบถิ่นคนอื่นแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ 

นอกจากนี้ แม้ว่า WWF จะดังขึ้นมาก แต่สมาคมกลับแทบไม่ได้กำไรในการทำธุรกิจเลย เพราะการจะเปลี่ยนค่ายมวยปล้ำจากระดับท้องถิ่น ให้ตอบสนองความทะเยอทะยานในระดับชาติ ทำให้ วินซ์ แม็คแมน ต้องกระเป๋าฉีกเสียเงินไปแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น 

วินซ์ต้องหาทางแก้เกมให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วคนที่พังจะกลายเป็นตัวเขาเอง ซึ่งแนวทางที่วินซ์เลือกที่จะลองเสี่ยง คือการจัดโชว์สนามใหญ่ที่มีผู้ชมระดับหลายหมื่นคนให้ได้ 

หากพูดในมุมมองปัจจุบัน การจัดโชว์มวยปล้ำในสนามใหญ่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายค่ายก็สามารถจัดศึกใหญ่ที่มีผู้ชมระดับหลักหมื่นได้ไม่ยากเท่าไหร่นัก แต่ในอดีตโชว์มวยปล้ำส่วนใหญ่มีผู้ชมในระดับหลักร้อย หรือหลักพันเท่านั้น มีไม่กี่โชว์ที่จะขายตั๋วได้ในระดับหลักหมื่น 

แต่ วินซ์ แม็คแมน ต้องยอมเสี่ยงหากอยากจะรอด เขาวางแผนที่จะจัดโชว์ใหญ่ เพื่อเรียกการตั๋วเข้าชมมหาศาล สร้างเงินก้อนโตมาให้ได้ 

WWF ลองจัดโชว์ก่อนถึงสองโชว์ ที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น นั่นคือศึก The Brawl to End It All ในเดือนกรกฎาคมปี 1984 และ The War to Settle the Score ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1985 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้ชมในสนามมากกว่า 2 หมื่นคนทั้งสองโชว์ และทำเรตติ้งทางโทรทัศน์มีผู้ชมร่วม 9 ล้านคนทั้งสองโชว์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับวงการมวยปล้ำ

แต่ทั้งสองโชว์นั้น กลับยังไม่ตอบโจทย์ WWF เพราะถึงจะสร้างความนิยมมหาศาลให้กับค่าย แต่ผลลัพธ์กลับเหมือนเดิม นั่นคือ สมาคมแทบไม่ได้กำไร เนื่องจากทั้งสองโชว์ WWF ต้องจ่ายเงินมหาศาลเผื่อให้ช่องโทรทัศน์ชื่อดัง MTV ยอมถ่ายทอดสดโชว์ที่จัดขึ้น แม้จะแลกมาด้วยยอดผู้ชมมหาศาล แต่คนที่ได้ผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจจริง ๆ กับเป็นช่องโทรทัศน์ ไม่ใช่สมาคมมวยปล้ำ

อย่างไรก็ตาม วินซ์ แม็คแมน ยอมกรีดเลือดตัวเองถึง 2 ครั้ง เผื่อที่จะทำให้เขามั่นใจว่า WWF สามารถจัดโชว์มวยปล้ำในสเกลใหญ่ได้จริง และหลังจากทั้งสองครั้งสำเร็จผล เขาก็มาพร้อมกับไม้ตายสำคัญอย่าง "WrestleMania" ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 1985


Photo : WWE

WrestleMania ถูกวางให้เป็นโชว์ที่ต้องเสียเงินเพื่อดู หรือ Pay-Per-View แรกในประวัติศาสตร์ของ WWF พร้อมกับการจัดโชว์อีกครั้งใน เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ WWF จะได้ทุกสิ่งที่ค่ายต้องการ ทั้งความนิยม และเงินจำนวนมาก เพราะโชว์รอบนี้คนที่อยากดู WrestleMania หมดสิทธิ์ดูฟรีทางโทรทัศน์ ต้องจ่ายเงินซื้อดูอย่างเดียวเท่านั้น

ถึงจะเคยจัดโชว์ที่มีผู้ชมจำนวนมากมาแล้ว แต่ วินซ์ แม็คแมน ยังคงมีความกังวลว่าแฟนมวยปล้ำจะไม่ตอบสนองกับศึกใหญ่ครั้งใหม่ของเขา ทำให้แม็คแมนผู้ลูกตัดสินใจที่จะทำคอนเซปต์ของ WrestleMania ให้ต่างจากทุกสังเวียนที่โลกมวยปล้ำเคยทำมา

จากปกติที่ศึกมวยปล้ำ จะมีแค่นักมวยปล้ำเดินขึ้นมาปล้ำกันตามแมทช์ที่กำหนดไว้จนหมด จบโชว์แฟนมวยปล้ำแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ WrestleMania ไม่เป็นแบบนั้น วินซ์ แม็คแมน ออกแบบให้กลายเป็นเหมือนเทศกาลความสนุกที่มาพร้อมกับมวยปล้ำ มีแสงสีเสียงมากมาย การแสดงโชว์ต่าง ๆ พร้อมกับดึงเซเลบริตี้นอกวางการมวยปล้ำให้เข้ามามีส่วนร่วมกับโชว์นี้ 

หนึ่งในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือการที่ WWF กล้านำ มิสเตอร์ที นักแสดงที่กำลังมาแรงสุด ๆ จากผลงานซีรีส์ A-Team และภาพยนตร์ Rocky เมื่อปี 1982 ขึ้นปล้ำมวยปล้ำอาชีพแท็กทีมคู่กับพระเอกเบอร์หนึ่งของวงการมวยปล้ำในเวลานั้น อย่าง ฮัลค์ โฮแกน เพื่อเจอกับสองอธรรม อย่าง ร็อดดี้ ไพเพอร์ และ พอล ออนดอร์ฟ 

แม้ว่าถ้ามองในความเป็นจริง การเอานักแสดงขึ้นปล้ำจะไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับคุณภาพแมทช์มวยปล้ำ อีกทั้งยังมีปัญหามากมายหลังฉากในเวลานั้น เพราะมิสเตอร์ทีไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับมวยปล้ำเลย ใช้ท่ามวยปล้ำไม่เป็นแม้แต่ท่าเดียว แถมทั้งไพเพอร์ และออนดอร์ฟ สองนักมวยปล้ำที่ต้องเจอกับมิสเตอร์ที ยังไม่ชอบหน้ามิสเตอร์ทีในชีวิตจริงอีกด้วย 

แต่นั่นเป็นเรื่องหลังฉาก เพราะเรื่องหน้าฉากคือแฟนมวยปล้ำในสหรัฐตื่นเต้นจนแทบจะเป็นบ้าคลั่ง ที่จะได้เห็นนักแสดงชื่อดังขึ้นสังเวียนมวยปล้ำร่วมกับ ฮัลค์ โฮแกน และพวกเขาอยากเห็น มิสเตอร์ที บนสังเวียนมวยปล้ำ เพราะอยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากนักแสดงขึ้นสู้บนสังเวียนมวยปล้ำ


Photo : wwe.com

ความกล้าที่จะคิดนอกกรอบทำให้ WrestleMania กลายเป็นกระแสที่ใคร ๆ ก็อยากดู อีกทั้งการได้นักแสดงดังอย่างมิสเตอร์ทีขึ้นปล้ำ ยังทำให้ WrestleMania ได้พื้นที่โปรโมทตามหน้าสื่อต่าง ๆ ในสหรัฐฯ แบบที่มวยปล้ำไม่เคยได้รับโอกาสมาก่อน

สุดท้ายแล้ว WrestleMania ประสบความสำเร็จไปด้วยดี ปัญหาต่าง ๆ สามารถถูกจัดการได้ ทำให้ภาพของโชว์นี้ออกมาอย่างงดงาม และสร้างรายได้ให้กับ WWF ได้ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเปรียบเป็นเงินไทยในปัจจุบันได้ที่ 441 ล้านบาทไทย 

WrestleMania กลายเป็นโชว์ที่สร้างรายได้มากที่สุดตลอดกาลในเวลานั้น และได้รับการยกย่องให้เป็นโชว์มวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกด้วย เนื่องจากเป็นการยกระดับมวยปล้ำสู่การเป็นกีฬาระดับชาติอย่างแท้จริง ผู้คนทั่วสหรัฐอเมริการู้จักชื่อของ WrestleMania และแน่นอนสมาคม WWF


Photo : wwe.com

นี่คือโชว์ที่เปลี่ยนสมาคมมวยปล้ำแห่งนี้ไปตลอดกาล เพราะ ฮัลค์ โฮแกน เปลี่ยนจากนักมวยปล้ำอันดับหนึ่งของค่าย กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของประเทศ ที่โด่งดังไม่แพ้นักร้อง หรือนักแสดงชื่อดัง ซึ่งกลายเป็นหัวหอกที่พา WWF โด่งดังแบบทะลุปรอทในอเมริกา จนกลายเป็นยุคทองของวงการมวยปล้ำที่จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้ว 

ขณะเดียวกัน การนำเสนอภาพของ WrestleMania ทำให้แฟนมวยปล้ำหน้าใหม่จำนวนมาก เข้ามาติดตามมวยปล้ำที่ผสมความบันเทิง และการ์ตูนของ WWF กันแบบงอมแงม 

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผู้คนหันหลังให้กับมวยปล้ำในรูปแบบกีฬาแท้ ๆ ในแนวทางดั้งเดิมกันจนเกือบหมด สมาคมท้องถิ่นในเครือข่ายของ NWA ล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง และระบบมวยปล้ำท้องถิ่นก็ล้มตายไปในไม่กี่ปีหลังจากนั้น 

มีเพียงแค่ Jim Crockett Promotions จากรัฐนอร์ทแคโรไลน่า ที่สามารถยืนหยัดสู้กับ WWF ได้จนพัฒนากลายเป็นคู่แข่งสำคัญอย่าง World Championship Wrestling หรือ WCW ในเวลาต่อมา 


Photo : wwe.com

ความสำเร็จของ WrestleMania ครั้งแรกคือสิ่งที่เปลี่ยนทุกอย่างในวงการมวยปล้ำ นี่คือโชว์ที่ส่งให้ WWF ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการอย่างเต็มตัว ทิ้งคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น จนสุดท้ายนำมาซึ่งการล่มสลายของระบบมวยปล้ำท้องถิ่น และคู่แข่งสำคัญอย่าง NWA

นอกจากนี้ มรดกของ WrestleMania ยังทำให้ WWF หาแนวทางการทำมวยปล้ำของตัวเองได้เจอ ด้วยการยึดแนวทางสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ มาตลอด และยังคงส่งผลดีมาจนถึงในวันที่เปลี่ยนชื่อสมาคมสู่ WWE ยืนหยัดในฐานะเบอร์หนึ่งของวงการมวยปล้ำต่อไป

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ 100 Things WWE Fans Should Know & Do Before They Die
หนังสือ Wrestling Renegades: An In Depth Look at Today's Superstars of Pro Wrestling
https://www.wwe.com/superstars/vincemcmahon  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้