รีเซต
ไล่กันตั้งแต่ต้นตอ : อาร์เซน่อล ตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? | Main Stand

ไล่กันตั้งแต่ต้นตอ : อาร์เซน่อล ตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? | Main Stand

ไล่กันตั้งแต่ต้นตอ : อาร์เซน่อล ตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? | Main Stand
เมนสแตนด์
9 กันยายน 2564 ( 18:00 )
1.3K

"ถึงคุณจะติดภาพอาร์เซน่อลมาจากยุคใส่เสื้อ O2 (ชุดแชมป์ไร้พ่ายปี 2004) ก็ตามใจ แต่เชื่อผมเถอะ หากเจอกันตอนนี้แม้แต่ทีมอย่าง ไบรท์ตัน ก็ไล่อัด อาร์เซน่อล ไส้แตกได้แน่นอน" 

 


วาทะวิจารณ์ทีม อาร์เซน่อล อันร้อนแรงของ ริโอ เฟอร์ดินานด์ บ่งบอกถึงสภาพความถดถอยของ "แชมป์ไร้พ่าย" หนึ่งเดียวอันยิ่งใหญ่ของ พรีเมียร์ลีก ที่ปัจจุบันกลายเป็นทีมอันดับ 20 ได้เป็นอย่างดี

มองจากดาวอังคารยังรู้ว่า อาร์เซน่อล กำลังมีปัญหาและอ่อนแอลงทุก ๆ วัน แล้วความจริงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ พวกเขาถึงตกต่ำได้ถึงเพียงนี้ ? 

นี่คือการถอดรหัสที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการจัด 11 ตัวจริง หรือการวางแทคติกใด ๆ ที่ซับซ้อนเลยสักนิด แต่เป็นการเอาความจริงและสิ่งที่เห็นจากในสนามของพวกเขามาวิเคราะห์กันดูว่า มันเป็นเพราะอะไร ?

ติดตามได้กับ Main Stand ที่นี่

 

หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก

หากองค์กรจะล้มเหลว ผู้นำย่อมมีส่วนที่จะต้องรับความผิดชอบ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ชื่อของ สแตน โครเอนเก้ เจ้าของสโมสร อาร์เซน่อล จึงกลายเป็นชื่อที่แฟน ๆ ปืนใหญ่สาปส่งกันมานานหลายปีติดต่อกัน 

แยกประเด็นการวิจารณ์ได้หลายเรื่องเหลือเกิน ทั้งความทะเยอทะยาน ความใส่ใจ ความใจป้ำในการลงทุน และความสัมพันธ์ในองค์กร หลายข้อเหลือเกินที่ สแตน โครเอนเก้ สอบตกสำหรับการทำหน้าที่เป็นผู้อยู่บนหอคอยงาช้าง 

เริ่มกันที่ประเด็นที่แฟนอาร์เซน่อลบ่นมากที่สุดคือการไม่ทุ่มเงิน เรื่องนี้มันจริงหรือไม่ ? 

ปี 2007 คือปีแรกที่ สแตน โครเอนเก้ เข้ามามีส่วนในการบริหารทีมสีแดงแห่งนอร์ธลอนดอน ซึ่งก่อนหน้านั้น 1 ปี ต้องไม่ลืมว่า อาร์เซน่อล อยู่ในยุคที่ "เกือบยิ่งใหญ่" พวกเขาเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และหลังจากนั้น เขาก็ค่อย ๆ สะสมหุ้น จนสามารถเทคโอเวอร์สโมสรมาเป็นของตัวเองได้อย่างเต็มตัวในปี 2018 มาถึงปัจจุบัน (ภายใต้ชื่อบริษัท โครเอนเก้ สปอร์ต แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์) เราต่างเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

อาร์เซน่อล กลายร่างจากทีมระดับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาเป็นทีมระดับยูโรป้า ลีก ไปเรียบร้อย อีกทั้งฤดูกาล 2020-21 พวกเขาไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรปแบบหมดลุ้นตั้งแต่หัววัน นี่คือเส้นกราฟที่ดิ่งลงเรื่อย ๆ แน่นอนว่ากับเรื่องนี้ การเสริมทัพและงบประมาณสำหรับสร้างความแข็งแกร่งให้ทีมมีผลแน่นอน 

Goal.com สื่อฟุตบอลอันดับต้น ๆ ของโลก เล่าถึงโมเดลธุรกิจของอาร์เซน่อล ว่ามีความแตกต่างจากทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก จุดที่แตกต่างคือ พวกเขาใช้เงินเสริมทัพตามผลงานของทีม ว่าง่าย ๆ คืองบเสริมทัพของ อาร์เซน่อล มีพื้นฐานมาจากการได้ไปเล่นฟุตบอลแชมเปี้ยนส์ ลีก ดังนั้นทุกครั้งที่ได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก อาร์เซน่อล จะมีงบประมาณที่มาจากเงินรางวัลและส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอยู่ที่ราว ๆ 40-60 ล้านปอนด์ (ค่าเงินสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2007 ถึงปัจจุบัน)   

ดังนั้นเมื่อพลาดจากการได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก 1 ครั้ง จะกระทบต่อการเสริมทัพโดยตรง ยิ่งสโมสรมีนโยบายไม่อัดฉีดงบประมาณที่มาจากเจ้าของสโมสรหรือจากการกู้เงินเพิ่ม ยิ่งส่งผลอย่างมากในยุคที่นักเตะราคาแพงขั้น 100 ล้านปอนด์ อาร์เซน่อล กลับมีงบซื้อตัวผู้เล่นน้อยลง จนมันค่อย ๆ ล้มต่อ ๆ กันเป็นโดมิโน่ 

เมื่อพลาด 1 ครั้ง โอกาสพลาดครั้งที่ 2 ก็ง่ายขึ้นอีก จนถึงตอนนี้ก็ 5 ฤดูกาลต่อเนื่องแล้ว (ตั้งแต่ฤดูกาล 2017-18 ถึง 2021-22) ที่ อาร์เซน่อล ไม่ได้ไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ ลีก ภาพของกลุ่มนักเตะที่ดูไร้ราศีเวิลด์คลาส และมีภาพรวมด้อยกว่าทีมอื่น ๆ ในลีกก็เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

"นับตั้งแต่ฤดูกาล 2016-17 เป็นต้นมา รายได้ของอาร์เซน่อลนั้นลดลงเรื่อย ๆ ผลประกอบการของพวกเขาลดลง 35 ล้านปอนด์ ขณะที่ปี 2017-18 ลดลงอีก 40 ล้านปอนด์ โดยส่วนที่หายไปเป็นผลมาจากการไม่ได้ไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ ลีกโดยตรง"

"พวกเขาพยายามเริ่มทำกำไรจากส่วนที่ขาดหายไป ด้วยการขายนักเตะอย่าง อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน, ธีโอ วัลคอตต์ และ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ทำให้ตัวเลขของปีนั้นดูไม่แย่ลงด้วยการได้กำไรก่อนหักภาษี 70 ล้านปอนด์"

"หลังจากที่ขายจนไม่มีอะไรให้ขาย พวกเขาก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นในฤดูกาล 2018-19 อีกราว ๆ 60-70 ล้านปอนด์เลยทีเดียว" ชาร์ลส์ วัตต์ส นักเขียนของ Goal ในบทความ "ทำไมปัญหาของอาร์เซน่อลจึงยากจะแก้ไข" ว่าไว้เช่นนั้น 

หากเปรียบเทียบกับทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้น ก็มีช่วงเวลาที่ชวนท้อและผลงานย่ำแย่ไม่ต่างกันในช่วง 6-7 ปีหลังสุด แต่ฝั่ง ยูไนเต็ด มีความพยายามที่จะทุ่มเงินเพื่อนำทีมกลับมาอยู่ในพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีกทันทีที่พวกเขาพลาด เพราะรู้ว่าหากพลาดรายการนี้ไปเพียง 1 ครั้ง ผลกระทบของมันจะเหมือนลูกโซ่ที่ส่งผลต่อ ๆ กันไป

การอัดฉีดงบประมาณซื้อตัว คือทางแก้ที่ง่ายที่สุดแล้วในการเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพของนักเตะภายในทีม จะซื้อมาแล้วโป๊ะเชะลงตัวหรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง อย่างไรเสีย เหลือย่อมดีกว่าขาดอยู่แล้ว 

ยูไนเต็ด กับ อาร์เซน่อล มีสถานะที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือการเสื่อมอำนาจและความยิ่งใหญ่หลังจากการวางมือของ 2 โค้ชที่รู้ตื้นลึกหนาบางของสโมสรดีอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ แต่ความแตกต่างอยู่ที่ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่สามารถทำรายได้ต่อปีได้มากกว่า จากการสร้างฐานแฟนของทีมไว้ทั่วทุกมุมโลกจนมีสปอนเซอร์ในทุกระดับถึง 49 บริษัท (ข้อมูลเมื่อเปิดฤดูกาล 2021-22) และกล้ายอมขาดทุน เพื่ออัดฉีดงบประมาณทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อยเพื่อเสริมทัพในบางปีเพื่อกลับมาเอากำไรที่มากขึ้นในปีต่อไป หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ทำให้รายรับที่มีลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่ 

ขณะที่ อาร์เซน่อล เหมือนกับจำยอม การทุ่มเงินซื้อนักเตะเพิ่งมาถูกกระตุ้นเอาในช่วง 2-3 ปีหลังสุด ที่มีนักเตะค่าตัวแพงอย่าง นิโคลัส เปเป้, กาเบรียล มากัลเญส และกลุ่มนักเตะที่เข้ามาในปีนี้อย่าง เบน ไวท์, มาร์ติน โอเดการ์ด และ แอรอน แรมส์เดล ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็ต้องบอกว่า นักเตะที่พวกเขาทุ่มเงินซื้อมายังไม่สามารถกู้สถานะของทีมกลับมาเป็นทีมหัวตารางได้ 

เหตุผลเพราะพวกเขาปล่อยเวลาให้ความตกต่ำเกาะกินสโมสรนานเกินไป อยู่กันแบบตามมีตามเกิด ขณะที่ทีมอื่น ๆ แก้กันแบบจุดต่อจุด ตบซ้าย เคาะขวา ใครเล่นดีเก็บ ใครเล่นแย่ขาย ดังนั้นการไล่ทีมอื่นให้ทันจึงยากเย็นกว่าที่พวกเขาคิด เพราะนับวันความห่างก็เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ  

หนำซ้ำทีมที่เล็กกว่าแต่ยอมทุ่มซื้อนักเตะก็หายใจรดต้นคอ อาร์เซน่อล ขึ้นทุกวัน ทีมอย่าง เวสต์แฮม, แอสตัน วิลล่า, เลสเตอร์ ซิตี้ หรือแม้กระทั่ง วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ทีมเหล่านี้อันตรายต่อสถานะของ อาร์เซน่อล มากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาเลิกกลัว อาร์เซน่อล ไปเรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่มีอะไรยืนยันแต่เราก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาร์เซน่อล ตกจากสถานะทีมใหญ่เป็นที่เรียบร้อย และต้องรีบแก้มันอย่างเร่งด่วนในขณะที่ทุกอย่างยังพอจะกอบกู้ได้ 

"เชื่อผมเถอะแม้แต่ ไบรท์ตัน ก็ยังกำราบ อาร์เซน่อล ชุดนี้ได้สบาย ผมขอย้ำนะแค่ ไบรท์ตัน ก็เป็นปัญหาใหญ่ของ อาร์เซน่อล แล้ว ถึงคุณจะติดภาพอาร์เซน่อลมาจากยุคใส่เสื้อ O2 (ชุดแชมป์ไร้พ่ายปี 2004) ก็ตามใจ แต่เชื่อผมเถอะ หากเจอกันตอนนี้แม้แต่ ไบรท์ตัน ก็ไล่อัดพวกคุณไส้แตกได้แน่นอน" นี่คือสิ่งที่ ริโอ เฟอร์ดินานด์ บอกว่าความถดถอยของ อาร์เซน่อล ในเวลานี้ ทำให้ทีมเล็ก ๆ ไม่กลัวพวกเขาเหมือนกับในอดีตอีกต่อไปแล้ว 

ถ้าไม่โทษกลุ่มชายใส่สูทที่นั่งอยู่ในสำนักงานก็คงจะโทษใครไม่ได้ พวกเขาคือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ โครเอนเก้ เคยได้กำไรในช่วงที่ อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีม โดยคาดว่าเป็นเงินจำนวนมากกว่า 100 ล้านปอนด์ แต่เมื่อ เวนเกอร์ จากไป เขาเลือกที่จะประคับประคอง มากกว่าเอากำไรที่ได้คืนกลับไปให้สโมสรเพื่อทวงคืนสถานะทีมใหญ่ของพวกเขา 

เรื่องมันง่าย ๆ แบบนั้นเอง แพชชั่นคือสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้บริหาร สำหรับ โครเอนเก้ ดูเหมือนว่าสิ่งนี้อาจจะไม่มากพอ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ ลอสแอนเจลิส แรมส์ ในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL และ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ในลีกบาสเกตบอล NBA ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่เช่นกัน 

สำหรับ อาร์เซน่อล เขาสนตัวเลขในบัญชีเป็นอันดับ 1 วัดง่าย ๆ จากเหตุการณ์ที่ อาร์เซน่อล ต้องชิงกับ เชลซี ในถ้วย ยูโรป้า ลีก ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อฤดูกาล 2018-19 โครเอนเก้ ก็ไม่ได้สนใจจะเข้าร่วมชมเกมในสนามเลย เขาให้ จอช ที่เป็นลูกชายรับหน้าเสื่อแทน 

สำหรับแฟนอาร์เซน่อล โครเอนเก้ หมดความหมายในสายตาของพวกเขาไปเรียบร้อย "มีก็เหมือนไม่มี" ... มันคือการดูถูกและแสดงให้เห็นถึงสารตั้งต้นของเรื่องเลวร้ายที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละนิด ทีละนิด จนตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว 

 

วางเงินให้ผิดคน 

เป็นอีกครั้งที่เราต้องใช้คำว่าโดมิโน่ล้ม หลังจากขายทุกคนที่ทำกำไรได้จนเกลี้ยง สโมสรแต่งตั้ง อูไน เอเมรี่ เข้ามาคุมทีมในปี 2018 และ เอเมรี่ ใช้งบประมาณไปทั้งหมด 68 ล้านปอนด์ ในการเสริมทัพด้วยนักเตะอย่าง แบรนด์ เลโน่, มัตเตโอ เกนดูซี่, โซคราติส ปาปาสตาโปปูลอส และ ลูคัส ตอร์เรร่า นั่นเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย และเป็นการเดิมพันที่ดีในการชิงพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก กลับมา แต่อย่างที่ทุกคนรู้กัน นักเตะทั้งหมดไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้สมน้ำสมเนื้อ อาร์เซน่อล จบที่ 5 ของฤดูกาลนั้น และกลายเป็นว่าแม้พยายามจะลองทุ่มซื้อบ้าง ก็ยังคว้าสิ่งที่ต้องการอย่างโควต้าแชมเปี้ยนส์ ลีก กลับมาไม่ได้ 

ทุกอย่างเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ หลังเริ่มฤดูกาล 2019-20 อูไน เอเมรี่ โดนปลด และเป็นการปลดที่มาจากความกดดันจากแฟนบอล แฟนบอลของ อาร์เซน่อล ตัดสินใจไม่เข้าสนามในเกมเหย้าทำให้ทีมขาดรายได้เพิ่มอีก โครเอนเก้ จึงเริ่มขยับและรู้ซึ้งถึงพลังของแฟนบอลขึ้นมาบ้าง พวกเขาจ้าง มิเกล อาร์เตต้า เข้ามาทำหน้าที่แทน ด้วยดีกรีมือขวาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเป็นอดีตนักเตะที่แฟนบอลชื่นชอบ การแต่งตั้งครั้งนี้ทำท่าจะดีในตอนเริ่มต้น เพราะ อาร์เตต้า นำทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้สำเร็จ ... นั่นทำให้ฝ่ายบริหารชอบใจและมองเห็นอนาคต จากนั้นมหกรรมใช้เงินแหลกลาญก็มาถึง 

อาร์เซน่อล แต่งตั้ง เอดู อดีตนักเตะของพวกเขามานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา ว่ากันว่านี่คือดีลสำรองเพราะจริง ๆ แล้วพวกเขาเล็ง มอนชี ไดเรกเตอร์มือทองที่เคยทำให้ เซบียา ประสบความสำเร็จด้วยปรัชญาซื้อถูกขายแพง ซึ่งราคาของการพลาดเป้าหมายอันดับ 1 นั้นร้ายแรงพอดู 

ฝ่ายบริหารพยายามทุ่มแล้ว แต่เงินที่ได้จะบอกว่าไปอยู่ในมือของคนที่จัดสรรไม่ดีคงจะถูกที่สุด พวกเขาจ่ายค่าเหนื่อยมหาศาลให้กับ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง และ เมซุต โอซิล ราวสัปดาห์ละ 350,000 ปอนด์, วิลเลี่ยน อีก 300,000 ปอนด์ เช่นเดียวกับ โทมัส ปาเตย์ ที่ดึงเข้ามาใหม่จาก แอตเลติโก มาดริด 

เพดานค่าเหนื่อยของทีมจึงพุ่งกระฉูด อาร์เซน่อล ต้องจ่ายค่าแรงนักเตะรวม 145 ล้านปอนด์ต่อ 1 ปี และทั้ง 3 คนที่กล่าวมา มีรายได้รวมต่อปีอยู่ที่ 43 ล้านปอนด์ ซึ่งผลงานที่ออกมายังคงแย่มาก อาร์เซน่อล ยังเป็นทีมที่ทำแต้มตกหล่นกับทีมเล็กเป็นประจำ และยิ่งเวลาเล่นกับทีมใหญ่นั้น ออร่าความเป็นบิ๊กทีมของพวกเขาแทบไม่เหลือ พวกเขาเล่นด้วยความหวาดกลัว ไม่สมราคา

นักเตะค่าเหนื่อยแพงเหล่านี้คือปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะขายทิ้งก็ไม่มีใครซื้อ สุดท้ายกลุ่ม 4 นักเตะที่รับค่าเหนื่อยแพงที่สุดของทีม ไม่มีใครทำผลงานได้ตามที่คาดหวังเลย โอบาเมยอง ไม่เป็นคนเดิมอีกเลยหลังได้รับสัญญาฉบับใหม่, ปาเตย์ เผชิญกับอาการบาดเจ็บจนลงเล่นแบบนับเกมได้, โอซิล และ วิลเลี่ยน ขายไม่ออกจนต้องตกลงยกเลิกสัญญากับทีม เพื่อช่วยลดเพดานค่าเหนื่อยของสโมสร ในยุคที่ COVID-19 เข้ามาเป็นอุปสรรคให้งานยากขึ้นกว่าเดิม 

บทเรียนจากการจ่ายค่าเหนื่อยเยอะ ๆ ส่งผลชัดเจนมากหลังจากระบายนักเตะที่กล่าวไปได้ ฤดูกาล 2021-22 จึงเริ่มขึ้นด้วยทิศทางการสร้างทีมแบบใหม่ นั่นคือการซื้อนักเตะเพื่ออนาคตมาใช้งาน ซึ่งพวกเขาก็ใช้เงินไปมากกว่า 150 ล้านปอนด์ กับนักเตะอย่าง อารอน แรมส์เดล เพื่อมาเป็นผู้รักษาประตูมือ 2, กองหลัง 3 คนอย่าง เบน ไวท์, ทาเคฮิโร โทมิยาสึ, นูโน่ ตาวาเรส และกองกลางอีก 2 คนอย่าง ซามบี้ โลก็องก้า และ มาร์ติน โอเดการ์ด 

นักเตะหลายคนไม่ได้ซื้อมาเพื่อเล่นให้ทีมชุดใหญ่ในทันที ซึ่งมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น อาร์เซน่อล ต้องการคนที่ดีพอ และคนที่ขับเคลื่อนทีมได้เหมือนกับที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ตัว บรูโน่ แฟร์นันด์ส มาร่วมทีมเมื่อตลาดฤดูหนาวของซีซั่น 2019-20 ความรู้สึกมันควรเป็นแบบนั้น มากกว่าที่จะซื้อเด็ก ๆ เข้ามา และบอกว่าอนาคตของเรามีเรื่องที่น่าตื่นเต้นรออยู่อย่างที่ เอดู ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Sky Sports 

"นักเตะเหล่านี้ไม่ควรถูกเซ็นเข้ามาอยู่กับทีมในเวลานี้เลย พวกเขาไม่ตอบโจทย์ในการบรรเทาความเลวร้ายที่เกิดขึ้น มีถึง 3 คนที่ไม่พร้อมจะเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ พวกเขามองโลกในแง่ดีและมีความหวัง แต่ปัญหาที่แท้จริงยังคงเล่นงานพวกเขาอยู่ และทำให้พวกเขาตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ" เอมี่ ลอว์เรนซ์ นักเขียนของ The Athletic ว่าไว้ในบทความเรื่องการวิเคราะห์การเสริมทัพของแต่ละทีมในซีซั่นนี้ 

"นี่คือตลาดที่ย่ำแย่และแปลกประหลาดที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในทีม ๆ นี้ขึ้นมาเลย อย่าเข้าใจฉันผิด การผลักดันนักเตะดาวรุ่งถือเป็นแนวทางที่กล้าหาญมาก ๆ แต่นี่คือโลกฟุตบอลใบใหญ่และพรีเมียร์ลีกก็พร้อมจะโหดร้ายกับทุก ๆ คนที่อ่อนแอเสมอ"

"กลุ่ม KSE (เจ้าของสโมสร) ได้เลือกคนที่พวกเขามอบหมายให้ดูแลช่วงเวลาสำคัญในการสร้างทีมอาร์เซน่อล นั่นคือ อาร์เตต้า และ เอดู พวกเขาให้เงินกับชายสองคนที่ไม่มีประสบการณ์ในแง่ของการสรรหานักเตะในพรีเมียร์ลีกเลย ... เราอาจจะยังตัดสินพวกเขาไม่ได้ในตอนนี้ แต่อีกไม่นานนัก ทั้งหมดจะสะท้อนผ่านการแข่งขันเอง ว่าการใช้จ่ายของอาร์เซน่อลในช่วงที่ผ่านมานี้ เหมาะสมสำหรับสิ่งที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่หรือไม่"  

ในเวลาที่ทีมต้องการนักเตะที่พร้อมเป็นหัวเรือใหญ่พาให้ทุกคนพร้อมสู้ตายในสนาม ยิ่งในสภาวะที่ไม่มีใครกลัว อาร์เซน่อล แล้ว พวกเขายิ่งต้องหานักเตะที่หัวใจใหญ่กว่าตับให้ได้ แต่สุดท้ายพวกเขากลับเลือกอนาคตที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ และสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนผ่านวิธีการเล่นของพวกเขาในสนาม 

 

ความกลัวฆ่าทุกอย่าง 

สถานการณ์ที่ย่ำแย่ คือสิ่งที่วัดหัวใจของคนเราได้ดีที่สุดว่าแข็งแกร่งขนาดไหน และสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเลยกับทีม อาร์เซน่อล ชุดนี้ พวกเขาพลาดตั้งแต่ผู้บริหาร ระบบการสร้างทีม การตลาดและการสรรหานักเตะ ไปจนถึงการวางใจในกลุ่มคนที่ยังมีประสบการณ์น้อยเกินไปที่จะรับมือกับความกดดันแบบนี้ ทั้งหมดนี้สะท้อนมาสู่นักเตะทั้ง 11 คนในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี 

หากคุณไม่ได้มองโลกในแง่ดีมากเกินไปและได้ชมเกมของ อาร์เซน่อล ในช่วงปลายฤดูกาล 2020-21 ต่อเนื่องจนมาถึงต้นฤดูกาล 2021-22 ที่พวกเขาเป็นบ๊วยของลีก คุณจะเห็นความแปลกประหลาดเกิดขึ้น ชื่อชั้นนักเตะของพวกเขาถือว่าไม่แย่จนขนาดว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนเกินไป พวกเขาเป็นนักเตะอาชีพ อยู่กับฟุตบอลทุกวัน แต่ทำไมพวกเขาเหล่านี้ถึงทำในสิ่งที่ผิดพลาดอยู่แทบจะทุกสัปดาห์

ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะไปวิเคราะห์เรื่องแผนการเล่น แนวทางการจัด 11 ตัวจริง หรือแม้กระทั่งบอกว่าการพ่ายแพ้แต่ละเกมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร แต่สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้คือ นักเตะ อาร์เซน่อล เล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐานทุก ๆ เกม มันเป็นแบบนี้มานาน เจอทีมใหญ่ก็สู้ไม่ได้ เจอทีมเล็กก็ยิ่งเล่นยิ่งถดถอย ยิ่งเจาะไปแต่ละในตำแหน่งผลงานก็ยิ่งชัดเจน กองหน้าขาดความมั่นใจ กองกลางไม่กล้าได้กล้าเสีย กองหลังลนลาน และผู้รักษาประตูเล่นพลาดง่าย ๆ จนนำไปสู่การเสียประตู เราได้เห็นทั้งหมดนี้ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา คำถามคือหากมองข้ามเรื่องแทคติกไป อะไรทำให้พวกเขาผิดฟอร์มได้ขนาดนั้น ? 

เรื่องนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจมาก ๆ ที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ Daily Cannon ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกลุ่มแฟนเดนตายของทีม อาร์เซน่อล พวกเขาบอกว่านักเตะของ อาร์เซน่อล ไม่เป็นตัวของตัวเอง และมีการเปรียบเทียบโดยเอางานเขียนเชิงวิชาการของ มัลคอล์ม แกลดเวล (Malcolm Gladwell) ภายใต้หัวข้อ "ศิลปะแห่งความล้มเหลว" (The Art of Failure) ที่อ้างอิงจากงานวิจัยของ โคลด สตีลล์ (Claude Steele) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด  

บทความของ แกลดเวล ได้ศึกษาความล้มเหลวของนักกีฬาหลายประเภท ที่มีสาเหตุจากความเครียดและความกลัว เขาได้เจาะลึกถึงนักกีฬาระดับท็อปที่อยู่ดี ๆ ก็เล่นผิดฟอร์มในเวลาที่สำคัญมาก ๆ เช่น ยาน่า โนว็อตน่า (Jana Novotna) นักเทนนิสชาวเช็ก ที่สะดุดล้มในเกมสำคัญในการแข่งขันวิมเบิลดัน โอเพ่น เนื่องจากเธอสูญเสียความเป็นตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของ ชัค โนโบลช (Chuck Knoblauch) นักเบสบอลตำแหน่งเบสที่สองของ นิวยอร์ก แยงกี้ส์ ที่มีปัญหาในการขว้างบอลเวลาเล่นต่อหน้าแฟนบอล 4 หมื่นคน 

อย่าเข้าใจผิดว่านี่คือผลพวงจากความกดดันอย่างเดียว เพราะในกีฬาระดับนี้ ความกดดันคือสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องเจอ เพราะการแพ้ชนะแต่ละครั้งมีผลกระทบตามมาเสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นมันมากกว่านั้น ในยามที่ต้องแบกรับสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่สภาพจิตใจจะทนไหว เมื่อนั้นพวกเขาจะก้าวไปอีกขั้น จากการเผชิญกับความกดดัน เปลี่ยนเป็นการเข้าสู่สภาวะความกลัวและวิตกกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น 

มันคืออาการ Panic ที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนเป็นคนละคนกับเวลาที่อยู่ในสนามซ้อม หรือเทียบกับช่วงเวลาดี ๆ ที่พวกเขาเคยทำได้ ... นี่อาจจะเป็นสิ่งที่นักเตะของ อาร์เซน่อล กำลังเผชิญ ทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้ ? 

กลับมาบทความจาก Daily Cannon เขาเสนอแนวคิดที่ว่า มิเกล อาร์เตต้า มีส่วนสำหรับเรื่องนี้ เขาเป็นกุนซือที่ใส่แทคติกทุกอย่างลงไปในตัวนักเตะจนกระทั่งมันมากเกินไป นักเตะของทีมก็จดจำสิ่งที่ถูกฝังเข้ามาในหัวจนสูญเสียสัญชาตญาณของตัวเองไป หากถามว่าสิ่งที่ อาร์เตต้า สอนนั้นดีหรือไม่ ? เราตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่เขาสอนนั้นมันใหม่สำหรับตัวนักเตะของ อาร์เซน่อล ดังนั้น "ทั้งใหม่และเยอะ" จึงกลายเป็นส่วนผสมของผลลัพธ์ในแง่ลบมากกว่าบวก 

เปรียบเทียบกับการที่คุณเริ่มเรียนรู้งานในตำแหน่งใหม่ ไม่มีทางเลยที่คุณจะหยิบจับงานนั้นและเก่งขึ้นมาในทันที หากเปรียบเทียบกับงานเก่าที่คุณทำมาทั้งชีวิต เพราะงานแบบเก่าคุณทำจนเกิดความเชี่ยวชาญหลับตาทำก็นึกภาพออกเพราะสัญชาตญาณจะพาไป แค่คุณเห็นอะไรแปลก ๆ ในเนื้องานสักนิดก็สามารถมองมันได้ทะลุปรุโปร่งแล้วว่ามันคือปัญหาที่ควรแก้ หรือเป็นแค่ปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องเสียเวลาไปสนใจ คุณอ่านสถานการณ์ทุกอย่างออกด้วยความเคยชิน ลื่นไหลในระดับยอดฝีมือ 

ขณะเดียวกัน นักเตะ อาร์เซน่อล กำลังพยายามทำตามที่ อาร์เตต้า ผู้เปรียบเสมือนเป็นเจ้านายสั่งเวลาที่ลงแข่งจริง พวกเขาก็ต้องคอยสะดุ้งโหยงและวิตกกังวลเพิ่มอีก เพราะ อาร์เตต้า จะคอยยืนอยู่ข้างสนามและตะโกนสั่งการตลอด 90 นาที ไม่ว่าจะด้วยภาษากายหรือภาษาพูด หากคุณได้ดูเกมของ อาร์เซน่อล อาร์เตต้า แทบไม่นั่งติดเก้าอี้เลย นั่นแตกต่างกับที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เคยทำ ... เวนเกอร์ ขึ้นชื่อในเรื่องการไว้ใจนักเตะของเขา เขาเลือกที่จะนั่งกับที่ และลุกขึ้นเพียงบางจังหวะเท่านั้น 

ไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใคร เพราะสิ่งที่ดีสุดคือตรงกลางระหว่าง อาร์เตต้า และ เวนเกอร์ นั่นคือ ปล่อยให้นักเตะทำงานของพวกเขาไป อย่าสั่งทุกฝีเก้าทุกวินาทีว่าพวกเขาต้องทำแบบไหน เล่นอย่างไร มันเหมือนกับการที่คุณมีเจ้านายจอมโหดยืนมองคุณที่โต๊ะทำงาน และคอยสะกิดวิจารณ์คุณทุกครั้งที่คุณเริ่มทำอะไรผิดพลาด ... นึกภาพและความรู้สึกออกไหม ? คุณแทบไม่มีทางที่จะทำงานออกมาได้ดีเลยในสภาวะแบบนั้น 

คุณจะกล้ว คุณจะใช้เวลามากขึ้นในการตัดสินใจอะไรสักอย่าง "ฉันจะทำดีไหม แบบนี้จะถือว่าผิดพลาดหรือเปล่า" เมื่อความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นในหัว ความลื่นไหลก็หายไป...

นักฟุตบอลเองก็คงไม่ต่างกัน การถูกสั่งและยัดข้อมูลต่าง ๆ ลงไป อาจจะได้ผลดีในแง่ของแทคติก แต่มันอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของพวกเขาลดลง พวกเขาอาจช้าลง 1 จังหวะสำหรับการคิดอะไรต่าง ๆ จากความกังวลนั้น

และเปรี้ยง! พวกเขาก็พลาด ซึ่งในระดับ พรีเมียร์ลีก หรือเกมระดับสูงต่าง ๆ ช่วงเวลาเสี้ยววินาทีคือช่วงเวลาที่ตัดสินเกมได้ทันที... อาร์เซน่อล แพ้เพราะความผิดพลาดส่วนบุคคลบ่อยจนไม่ต้องยกตัวอย่างก็พอนึกภาพออก  

เรื่องของ อาร์เตต้า ที่กล่าวมานี้อาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้ เพราะไม่เคยมีนักเตะคนไหนออกมาวิจารณ์เขาตรง ๆ แต่หากเราวิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา ก็ทำให้พอเห็นความจริงได้ไม่มากก็น้อย 

กุนซืออย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เป็นเจ้านายเก่าเคยบอกว่า เขาเป็นจอมแทคติก มีบุคลิกภาพที่ดี มีความจริงจังกับงานที่ทำ ... ซึ่งมันตรงกับคาแร็กเตอร์ที่ อาร์เตต้า เป็น เขายิ้มน้อยมาก และดูเคร่งขรึมตลอดเวลา ยิ่งในช่วงที่ตำแหน่งของเขาสั่นคลอน เรายิ่งเห็นได้ชัดว่าเขาไม่เคยนั่งติดเก้าอี้ ในเกมที่ อาร์เซน่อล แพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 0-5 ที่ เอติฮัด สเตเดียม แม้ทีมจะหมดสภาพไปแล้ว แต่ อาร์เตต้า ยังคงยืนหยัดที่ข้างสนามตะโกนสั่งการลูกน้องของเขาไม่หยุด 

และคุณก็เห็นความผิดพลาดหลายอย่างที่สะท้อนความสับสนและวิตกกังวลของนักเตะ อาร์เซน่อล ได้ พวกเขามีโอกาสทำประตูแต่ทำไม่ได้ ประตูที่พวกเขาเสียมาจากความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า กองหลังที่สูงเกือบ 190 เซนติเมตร อย่าง ร็อบ โฮลดิ้ง กะจังหวะโหม่งผิดและขึ้นเล่นกลางอากาศแพ้นักเตะกองกลางที่สูงแค่ 170 เซนติเมตรกว่า ๆ อย่าง อิลคาย กุนโดกัน รวมถึงการเข้าบอลโฉ่งฉ่างของ กรานิต ชาก้า จนโดนใบแดง...

ตอนนี้ความใจสู้นักเตะของ อาร์เซน่อล หายไปหมดจนเกลี้ยงแล้ว หากใครได้ชมเกมนั้นคงเห็นได้จากจังหวะที่ อาร์เตต้า เปลี่ยนเอา อเล็กซองดร์ ลากาแซตต์ ลงสนามแทน โอบาเมยอง ในช่วงราว ๆ นาทีที่ 70 หน้าตาของกองหน้าชาวฝรั่งเศสบอกเป็นภาษากายได้ทันที ต่อให้คุณไม่ได้เรียนวิชาอ่านพฤติกรรมมนุษย์ของ FBI คุณก็รู้ได้ว่า นี่คือสีหน้าและท่าทางของนักเตะที่ไม่อยากจะลงเล่น... 

นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสนาม แม้การวิเคราะห์เรื่องอาการ Panic ของนักเตะปืนใหญ่จะจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะเราเห็นได้ว่าพวกเขาหมดใจ ไม่เป็นตัวเอง และผิดพลาดเหมือนกับเป็นนักเตะสมัครเล่น  

เรื่องทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าโทษใครเพียงคนเดียวไม่ได้เลย ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ฤดูกาล 2021-22 เพิ่งจะเริ่ม มองอีกแง่ อาร์เซน่อล อาจจะต้องโชคร้ายเพราะเจอกับทีมเก่ง ๆ อย่าง เชลซี และ แมนฯ ซิตี้ ขณะที่การเล่นเกมเยือนเจอน้องใหม่อย่าง เบรนท์ฟอร์ด ในนัดเปิดฤดูกาลก็ไม่ใช่งานง่ายอยู่แล้ว  

ดังนั้นช่วงเวลาหลังจากนี้คือช่วงที่ อาร์เตต้า และ เอดู ผู้กุมชะตากรรมของทีมจะต้องทำอะไรสักอย่าง แม้ว่าพวกเขาจะรู้วิธีทำหรือไม่ก็ตาม

ตอนนี้ โครเอนโก้ จ่ายเงินตามที่แฟน ๆ อยากเห็นแล้วในเวลานี้ที่ 153 ล้านปอนด์ มากที่สุดเหนือทุกทีมในพรีเมียร์ลีก และสิ่งที่ อาร์เตต้า กับ เอดู จะต้องแสดงให้เจ้านายของพวกเขาเห็นว่าการอนุมัติเงินมากมายครั้งนี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจจะไม่ได้โอกาสซ้ำสอง

บรรยากาศรอบ ๆ สนามและความรู้สึกหมดหวังจากแฟนบอลทำให้งานของพวกเขากำลังยากขึ้นในทุก ๆ วัน  

ตั้งแต่หัวถึงหาง หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจนตอนนี้ไม่มีใครมองออกจริง ๆ เลยว่า อาร์เซน่อล จะไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ขนาดไหน และพวกเขาควรเริ่มที่อะไรก่อนเป็นอย่างแรก ถึงเวลาต้องคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแล้ว และการตัดสินใจครั้งนี้สำคัญมาก เพราะทีมที่พังมานานหลายปีอย่าง อาร์เซน่อล จะพลาดอีกไม่ได้ เพราะราคาของความผิดพลาดนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

การพลาดอีกครั้ง อาจจะทำให้ไม่สามารถกลับไปอยู่จุดเดิมที่เคยเป็นได้อีกเลย... 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.irishexaminer.com/sport/soccer/arid-40261970.html
https://www.newyorker.com/magazine/2000/08/21/the-art-of-failure
https://www.goal.com/en/news/five-of-arsenals-biggest-problems-and-why-its-so-difficult/19t5ijewfq9kb1rsrc4id9ln92
https://www.skysports.com/football/news/11670/12298559/arsenal-and-mikel-arteta-fail-to-learn-lessons-as-they-exit-europa-league-to-unai-emerys-villarreal
https://theathletic.com/2799809/2021/08/31/arsenal-transfers-focus-on-youth-after-past-failures-but-arteta-and-edu-need-signings-to-gel-quickly/
https://dailycannon.com/2021/04/why-arsenal-are-rubbish/
https://dailycannon.com/2020/11/nicolas-pepe-theo-walcott/
https://dailycannon.com/2021/08/40m-average-arsenals-transfer-dealings-since-edu-and-arteta-arrived/
https://www.newyorker.com/magazine/2000/08/21/the-art-of-failure

ยอดนิยมในตอนนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี