ผมเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่งในช่วงครั้งแรกก็เพื่อสุขภาพวิ่งเรื่อย ๆ แต่ละครั้งขอแค่ได้ระยะ 3-4 กม. ก็พอใจแล้ว แต่เมื่อวิ่งในสวนสาธารณะบ่อย ๆ เข้าก็เริ่มอยากวิ่งตามงานวิ่งบ้าง ระยะแรกที่ผมสิ่งคือระยะ Fun Run หรือวิ่งเพื่อสุขภาพกับระยะมาตรฐานที่ 5 กม. แต่ก็นั้นแหละครับคนเรามันมีความอยากชนะอยู่ในตัว พอวิ่งระยะนี้ได้บ่อยขึ้นก็เริ่มขยับมาที่ระยะมินิมาราธอน (Minimarathon) 10.5 กม. ผ่านสิบแล้วก็มาฮาฟมาราธอน (Half Marathon) 21.0 กม. โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะวิ่งในระยะฟูลมาราธอน (Full Marathon) 42.195 กม. ให้ได้สักครั้งในชีวิต และเชื่อว่ามีนักวิ่งหลายคนที่อยากสัมผัสกับระยะนี้เช่นกันแล้ว ฟูลมาราธอน แรกของผมก็มาถึง ก่อนการวิ่งผมได้รับคำเตือนจากหลายๆ คนมาแล้วว่าต้องเตรียมร่างกายให้ดีให้พร้อม เพราะการวิ่งในระยะทางไกลกว่า 42 กม. การวิ่งที่ใช้เวลา 5-6 ชม. นั้น เป็นการใช้ร่างกายหนักมาก ยิ่งเป็นการวิ่งครั้งแรกหากจบไม่สวย หรือมีอาการบาดเจ็บจะพาลทำให้กลัวการวิ่งไม่อยากวิ่งต่ออีกทีเดียว วันนี้เลยขอแชร์ประสบการณ์กับฟูลมาราธอนแรก และแนะนำการเตรียมตัววิ่งแบบง่ายตามสไตล์นักวิ่งธรรมดาๆ ที่ไม่ต้องอิงหลักวิชาการอะไรมากมาย ให้กับหลายคนที่กำลังมีแผนจะวิ่งฟูลมาราธอนสักครั้งในชีวิตบ้าง1. เลือกงานวิ่งให้ดี ๆ เปิดตัวงานแรกดี มีชัยไปกว่าครึ่งก่อนการตัดสินใจสมัครวิ่งฟูลมาราธอนให้ดูงานและผู้จัดด้วยนะครับ เพราะมีหลายงานที่นอกจากนักวิ่งจะวิ่งไม่จบแล้วหลายคนบาดเจ็บเพราะระบบการจัดงานที่ไม่ดีมาแล้ว ผมเลือกงาน Amazing Thailand Marathon (ATM 2019) เป็นการประเดิมฟูลมาราธอนแรก เพราะเห็นว่าเป็นงานใหญ่ที่จัดโดยกระทรวงท่องเที่ยว ผู้จัดงานมีระบบการจัดงานที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งน่าจะช่วยดูแลนักวิ่งหน้าใหม่อย่างผมได้ดี ทั้งเรื่องน้ำ เกลือแร่ พยาบาลและการดูแลความความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดแม้เส้นทางวิ่งจะฝ่ากลางเมือง กทม. แต่ก็มีการปิดถนนเกือบ 100% นักวิ่งเรือนหมื่นไม่ติดไฟแดงเหมือนงานอื่น น้ำดื่ม เกลือแร่ มีทุกระยะ 2 – 2.5 กม. มีเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่เป็นระยะทั้งนั่งในเต็นท์และคอยปั่นจักรยานติดตามนักวิ่ง แถมยังมีขนมโดนัท ลูกชุบ ลูกเกด ไอติม ในระยะ 18 กับ 31 กม. ไว้เติมพลังให้เหล่านักวิ่งกินกันให้จุกไปเลย แน่นอนงานวิ่งระดับนี้มักตามมาด้วยค่าสมัครที่สูงหน่อย แต่แนะนำให้สมัครครับ อย่าเสียดายกับค่าสมัครที่แพงกว่าปกติ เพราะมันแลกมากับการดูแล ความปลอดภัย เราตลอดการวิ่งด้วยเช่นกัน2.ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อมใจสู้อยากจะวิ่งอย่างเดียวไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะกับการวิ่งระยะไกลแบบนี้ ร่างกายเราต้องพร้อมมากถึงมากที่สุด ซ้อมบ่อยๆ ให้ได้ในระยะที่จะวิ่งหรือใกล้เคียง ร่างกายเราเป็นสิ่งอัศจรรย์หากเราเคยทำได้แล้วกล้ามเนื้อมันจะจดจำไว้ ในครั้งต่อไปมันก็จะปรับตัวได้เร็ว เหมือนปั่นจักรยานนั้นแหละครับถ้าเราปั่นเป็นแล้วก็จะเป็นเลย เพราะครั้งแรกผมซ้อมไม่ถึงแม้จะมีเวลาเตรียมตัวกว่า 3 เดือน ซ้อมวิ่งแทบทุกวันแต่ได้ระยะเฉลี่ยแค่ครั้งละ 10 กม. เท่านั้น มีบ้างในวันหยุดที่เพิ่มเป็น 20 – 23 กม. แต่ก็เพียงแค่ไม่กี่ครั้ง เรียกว่าอ่อนซ้อมไปหน่อย หากจากระยะฟูลมาราธอนมาก เมื่อถึงวันจริงพอวิ่งเกินระยะที่เคยซ้อมไว้เข้าระยะ กม. ที่ 25 เท่านั้นแหละอาการต่างๆ มันรุมเข้ามายังกะนัดกันไว้ งานนี้ฮาไม่ออก ผมเริ่มปวดที่ตรงเอ็นร้อยหวาย แล้วลามมาปวดกล้ามเนื้อตรงบริเวณน่อง เจ็บเท้าแสบที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างจากอาการเท้าพอง แรกๆ ยังพอวิ่งสลับเดินได้บ้าง แต่ช่วง 10 กม. สุดท้ายเจออาการที่ภาษานักวิ่งเขาเรียกว่า ‘ยางแตก’ หรือ ‘วิ่งชนกำแพง’ ดังโครม ช่วงท้ายเลยเดินมากกว่าวิ่ง ดีที่เก็บเวลาในช่วงแรกไว้เยอะเลยผ่านเวลา Cut off เข้าเส้นชัยจบระยะได้3. บัดดี้ บัดดี้เพื่อนครับควรหาเพื่อนเป็นคู่บัดดี้ไปวิ่งด้วยครับ ไม่ต้องเอาแบบพวกมากลากไปก็ได้ ขอเพียงแค่คนเดียวที่จะคอย Build up คอยกระตุ้น คอยชวนเราให้วิ่งต่อไปเรื่อย ๆ ได้ก็พอ หรือถ้าหากไม่ไหวกันแล้วจริงๆ ก็ชวนกันหยุดไปพร้อมๆ กัน จริงครับฟูลมาราธอนแรกผมถอดใจจะไม่วิ่งต่อตั้งแต่เข้า กม. ที่ 31 แล้ว เพราะอาการบาดเจ็บเริ่มรุมเข้ามาจนท้อละ ซึ่งถ้างานนี้ผมไปคนเดียวคงขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ทีมงานกลับบ้านก่อนแน่ ๆ แต่งานนี้ได้น้องที่เขาเคยผ่านการวิ่งมาหลาย Full มาเป็นบัดดี้ ที่คอยช่วยดัน ช่วยลาก กระตุ้น เดินเป็นเพื่อน วิ่งเป็นเพื่อนต่อ ไปสามารถวิ่งจนจบระยะฟูลมาราธอนมาได้แบบฉิวเฉียว4. เตรียมใจให้พร้อม ประเมินตัวเองให้ได้นอกจากร่างกายพร้อมแล้วใจก็ต้องพร้อม ต้องเตรียมใจและต้องคอยประเมินตัวเองไว้ด้วยนะครับ แน่นอนเป้าหมายการวิ่งคือจบระยะตามเวลาที่กำหนด แต่เราควรเผื่อใจไว้ในสถานการณ์อื่นบ้าง เพราะพอร่างกายเรามีอาการเหนื่อยล้าหรือเริ่มบาดเจ็บขึ้นมา มันจะถึงจุด ๆ หนึ่งที่เราต้องประเมินตัวเองให้ได้ว่าแค่ไหนจะ ไปต่อ หรือแค่ไหนจะ หยุด ให้เอาร่างกายตัวเองเป็นที่ตั้ง งานวิ่งฟูลมาราธอนมีจัดกันเกือบทุกเดือน งานนี้ไม่จบเตรียมตัวไปวิ่งงานใหม่ก็ได้ แต่หากเราฝืนร่างกายมากจนเกินไปเราจะไม่ได้วิ่งงานอื่นๆ ต่อเอา มีนักวิ่งหน้าใหม่หรือแม้กระทั่งนักวิ่งเก่าหลายคนที่เคยวิ่งมาแล้ว แต่ก็ยังวิ่งไม่จบระยะกับงานอื่นเพราะบาดเจ็บก็เยอะเคยได้ยินคนอื่นบอกไว้ว่ามีคนเพียง 1% เท่านั้นที่วิ่งจบฟูลมาราธอน ผมเองก็วิ่งระยะนี้เพียง 2 ครั้งคืองาน ATM 2019 กับงาน BANGSAEN 42 (2019) ซึ่งน่าเสียดายที่หลังจากนั้นผมเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าหัก เลยอดวิ่งอีกหลายงานซึ่งวางแผนไว้แล้วเช่นกัน และกับการกลับมาวิ่งในระยะฟูลมาราธอนอีกครั้งคงเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกเคยมีคนถามว่า ‘วิ่งมาราธอน’ แล้วได้อะไร ดีต่อสุขภาพจริงเหรอ ? ผมตอบว่า ‘การวิ่งมาราธอนไม่ดีต่อสุขภาพหรอก ทั้งเหนื่อย ทั้งทรมาน แต่เส้นทางก่อนจะถึงวันวิ่งนั้นแหละที่ให้อะไรกับเรามากกว่า’ การซ้อมการเตรียมตัว การมีวินัยและอดทน และสุขภาพที่ดี เอาเป็นว่าแค่เราฝืนตัวเองลุกขึ้นมาซ้อม ตื่นแต่เช้าลุกขึ้นมาวิ่งก็เป็นอะไรที่สุดแล้ว ฝากถึงหลายคนที่ชื่นชอบในการวิ่ง แม้ว่าบางครั้งเราจะวิ่งไม่จบระยะก็ตาม แต่การลุกขึ้นมาวิ่งนั้นก็เป็นการ ‘ชนะใจตัวเอง’ ที่มากกว่าการชนะอย่างอื่นแล้ว ขอให้มีความสุขในการวิ่งนะครับ เครดิตภาพปก โดย Pexels/pixabayภาพที่1 โดย SCAPIN/pixabayภาพที่2 โดย Twenty6pt2/pixabayภาพที่3 โดย 12138562/pixabayภาพที่4 โดย Woflman3000/pixabayภาพที่5 โดย Kinkate/pixabayภาพที่6 โดย Gadini/pixabay ส่องนักบอลตัวเต็ง ดูสดระเบิดแมทช์สุดมันส์บน App TrueID โหลดฟรี !