รีเซต
นักเตะฟรีที่ไม่ฟรี : ไขข้อข้องไขนักเตะฟรีเอเยนต์ไม่เสียเงินจริงไหม ? | Main Stand

นักเตะฟรีที่ไม่ฟรี : ไขข้อข้องไขนักเตะฟรีเอเยนต์ไม่เสียเงินจริงไหม ? | Main Stand

นักเตะฟรีที่ไม่ฟรี : ไขข้อข้องไขนักเตะฟรีเอเยนต์ไม่เสียเงินจริงไหม ? | Main Stand
เมนสแตนด์
28 กันยายน 2563 ( 18:00 )
768

ฮาเมส โรดริเกซ, อาร์ตูโร วิดัล และ หลุยส์ ซัวเรส ชื่อเหล่านี้ คือนักเตะซูเปอร์สตาร์ที่ย้ายทีมแบบไม่มีค่าตัว ในตลาดซื้อขายรอบล่าสุด


 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นการย้ายทีมลักษณะนี้ แต่หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เม็ดเงินที่เคยอยู่หลัก 100 ล้าน กลับกลายเป็น 0 สร้างความสงสัยแก่แฟนบอลว่าเหตุใด สโมสรยักษ์ใหญ่ถึงยอมปล่อยผู้เล่นมูลค่ามหาศาล แบบไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว

Main Stand ไขข้อข้องใจว่า การเซ็นสัญญานักเตะฟรีเอเยนต์ไม่เสียเงินจริงหรือไม่ ? การขายนักเตะแบบ "ฟรี" แต่ไม่ "ฟรี" ดำเนินการอย่างไร ? และสโมสรต้องจ่ายเงินอะไรบ้าง จากการคว้านักเตะโดยไม่ผ่านสโมสรสักหนึ่งคน

 

ค่าเอเยนต์ผ่านทาง

เงินก้อนแรกที่สโมสรจ่ายในการเซ็นสัญญานักเตะไร้สังกัด คือ "ค่าเอเยนต์" นายหน้าที่รับบทบาทหาต้นสังกัดใหม่ให้แก่ผู้เล่น ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน

อย่างที่รู้กันดีว่า นักเตะที่เหลือสัญญากับต้นสังกัดเดิมไม่ถึง 6 เดือน สามารถย้ายทีมแบบไร้ค่าตัวตามกฎบอสแมน อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นไม่สามารถพูดคุยกับสโมสรอื่นได้โดยตรง เนื่องจากข้อกำหนดในสัญญาปัจจุบัน หน้าที่ในการกำหนดอนาคตของผู้เล่นเหล่านี้ ตกเป็นของ เอเยนต์ เพียงผู้เดียว

ปี 2019 ที่ผ่านมา FIFA เปิดเผยว่า เอเยนต์ได้เงินกินเปล่าจากการย้ายทีมของนักฟุตบอล รวมทั่วโลกเป็นมูลค่า 501 ล้านปอนด์ หรือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในประเทศโปรตุเกส สโมสรจ่ายเงินส่วนแบ่งให้เอเยนต์ มากกว่าค่าตัวนักเตะจากการซื้อขาย

FIFA จึงเข้ามาเขียนข้อบังคับใหม่ในปี 2020 ไม่อนุญาตให้เอเยนต์ได้ส่วนแบ่งจากการย้ายทีมเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อขาย ในกรณีที่การย้ายทีมครั้งนั้นมีค่าตัว แน่นอนว่า การเซ็นสัญญานักเตะไร้สังกัด สโมสรจะไม่เสียเงินในส่วนนี้ แต่เอเยนต์ยังมีส่วนแบ่ง 3 เปอร์เซ็นต์ จากค่าเหนื่อยที่นักเตะเซ็นสัญญากับต้นสังกัดใหม่

กล่าวให้เห็นภาพ หากนักเตะ A เซ็นสัญญากับสโมสรแห่งใหม่ ในฐานะนักเตะฟรีเอเยนต์ ด้วยมูลค่าสัญญา 10 ล้านปอนด์ สโมสรมีสิทธิ์เสียค่าเอเยนต์ในการเซ็นสัญญานักเตะ A เป็นมูลค่า 3 แสนปอนด์ คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของค่าเหนื่อยนักเตะ ตามกฎล่าสุดของ FIFA 

ค่าเอเยนต์ จึงเหมือนการจ่ายเงินเปิดประตูผ่านทางของทีมฟุตบอล เพื่อเข้าไปเจรจาเซ็นสัญญานักเตะไร้สังกัด เนื่องจากไม่เสียเงินเท่าการย้ายทีมตามปกติ เงินส่วนนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สโมสรพร้อมเสียให้เอเยนต์ เพื่อการันตีว่าพวกเขาจะได้นักเตะตามต้องการ

 

จ่ายโบนัสเพื่อมัดใจ

เงินอีกก้อนที่สโมสรมักต้องจ่ายในการเซ็นสัญญานักเตะ คือ ค่าโบนัสนอกเหนือค่าเหนื่อยพื้นฐาน รายได้ส่วนนี้คือรายละเอียดเล็กน้อย แต่มีความสำคัญในการมัดใจผู้เล่น โดยเฉพาะกับนักเตะไร้สังกัด ที่มีสิทธิเลือกต้นสโมสรใหม่อย่างอิสระ

การเพิ่มเงินโบนัสลงไปในสัญญานักเตะฟรีเอเยนต์ กลายเป็นส่วนสำคัญที่สโมสรเลือกใช้ เพื่อดึงดูดใจแข้งระดับซูเปอร์สตาร์ ให้เลือกมาเซ็นสัญญากับทีมตัวเอง เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าตัวเหมือนการย้ายทีมปกติ หลายสโมสรจึงใส่เงินโบนัสลงไปในสัญญา จนบางครั้ง มีมูลค่าแพงเกินความจริง

กรณีที่เห็นชัด คือการเซ็นสัญญา ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2016-2017 หลังกองหน้าชาวสวิดิชหมดสัญญากับปารีส แซงต์ แชร์กแมง 

เพื่อคว้าตัวดาวยิงรายนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกลงจ่ายค่าเหนื่อยอิบราฮิโมวิช เป็นมูลค่า 367,640 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือ 19 ล้านปอนด์ต่อปี ทำให้ซลาตันในวัย 35 ปี กลายเป็นผู้เล่นค่าเหนื่อยสูงสุดในพรีเมียร์ลีก และสูงกว่า ปอล ป็อกบา ที่ย้ายเข้าสู่ทีมในตลาดรอบเดียวกันถึง 2 เท่า

ค่าตอบแทนสูงขนาดนี้น่าจะมัดใจ อิบราฮิโมวิช ได้ไม่ยาก แต่เพื่อความชัวร์ว่านักเตะรายนี้จะไม่กลับลำ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใส่เงินโบนัสจากการทำประตู ทำให้ซลาตันได้เงินกินเปล่าตามผลงานส่วนนี้ 2.86 ล้านปอนด์ หรือราว 115 ล้านบาท

นอกจากนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังใส่โบนัสที่อิบราฮิโมวิชจะได้ หากสโมสรสามารถผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาล 2017-18 โดยกองหน้าชาวสวิดิชมีโอกาสได้เงินส่วนนี้สูงถึง 5.25 ล้านปอนด์ หากทัพปีศาจแดงคว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จ แต่สุดท้าย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จอดป้ายแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย จึงไม่ต้องเสียโบนัสส่วนนี้แก่อิบราฮิโมวิช แม้แต่ปอนด์เดียว

การใส่โบนัสในสัญญาเพื่อคว้าตัวนักเตะฟรีเอเยนต์ คือการลงทุนเพื่ออนาคตของทีมฟุตบอล แม้ตัวเลขที่ระบุไว้ในเงื่อนไขจะสูงเกินความจริง แต่รายได้ส่วนนี้ไม่ใช่เงินการันตีเหมือนค่าเหนื่อยพื้นฐาน หากนักเตะไม่สามารถทำผลงานดีตามคาดหวัง สโมสรจะไม่เสียเงินในเงื่อนไขที่ตกลงไว้ 

ถือเป็นวิธีทางธุรกิจที่ชาญฉลาดของที่เกิดขึ้นในโลกฟุตบอลปัจจุบัน นักเตะมีลุ้นรายได้มหาศาลจากโบนัสในสัญญา ขณะเดียวกัน สโมสรได้ผู้เล่นที่ต้องการ และมีโอกาสประหยัดงบ หากผู้เล่นฟรีเอเยนต์คนนั้น เป็นการเซ็นสัญญาที่ล้มเหลว

 

นักเตะฟรีที่ไม่ฟรี

เงินก้อนใหม่เข้ามามีบทบาทในการย้ายทีมของนักเตะฟรีเอเยนต์ คือส่วนแบ่งในสัญญาหลังการย้ายทีมแบบฟรีเอเยนต์ หลังสถานะการเงินของทีมฟุตบอลทั่วโลก เกิดความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมาสูญเสียรายได้มหาศาลในช่วง COVID-19 

โดยเฉพาะ ยักษ์ใหญ่ของลาลีกา อย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ที่ประสบปัญหานี้อย่างหนัก พวกเขาจึงตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หนึ่งในนั้นคือ ผู้เล่นค่าเหนื่อยแพงที่มีล้นทีม

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการทุ่มเงินก้อนโตในการซื้อตัวนักเตะ เหมือนหลายปีก่อน วิธีง่ายที่สุดในการกำจัดนักเตะส่วนเกิน หนีไม่พ้น การปล่อยตัวให้นักเตะย้ายทีมแบบไม่คิดเงินซื้อขาย ผู้เล่นชื่อดังอย่าง ฮาเมส โรดริเกซ, อาตูโร วิดัล และ หลุยส์ ซัวเรส ต่างซบต้นสังกัดใหม่ ด้วยค่าตัวที่ระบุไว้ชัดเจนว่า "ฟรี"

อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำว่า ฟรี ที่ระบุไว้ในค่าตัวเบื้องต้น กลับเป็นการย้ายทีมที่ "ไม่ฟรี" อย่างที่คิด เมื่อสโมสรฝั่งปล่อยตัวนักเตะ มีโอกาสได้โบนัสเป็นเงินก้อนหนึ่ง ตามที่ตกลงกับสโมสรคู่ค้า กล่าวให้เข้าใจง่าย คือคล้ายกับกรณีโบนัสระหว่างนักเตะ กับ สโมสร เพียงแต่รอบนี้ เป็นเงินโบนัสที่จ่ายระหว่างสโมสรสู่สโมสร

ยกตัวอย่างเช่น การย้ายทีมของซัวเรซ แม้ดาวยิงชาวอุรุกวัย จะย้ายไปร่วมทีมแอตเลติโก มาดริด แบบไม่มีค่าตัว แต่หากมองลงไปในรายละเอียดสัญญา ระบุว่า บาร์เซโลน่า มีโอกาสได้เงิน 6 ล้านยูโร หากแอตเลติโก มาดริด ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อีก 2 ฤดูกาลข้างหน้า ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

เช่นเดียวกันกับกรณีของ ฮาเมส โรดริเกซ ที่ย้ายจาก เรอัล มาดริด สู่ เอฟเวอร์ตัน แบบไม่มีค่าตัว เนื่องจากทัพราชันชุดขาวต้องการตัดรายจ่าย 140,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ของนักเตะชาวโคลอมเบีย อย่างไรก็ดี เรอัล มาดริด ตกลงว่าพวกเขาจะได้ส่วนแบ่ง หากเอฟเวอร์ตันขายฮาเมสออกจากทีมในอนาคต

ในขณะเดียวกัน สโมสรที่เป็นฝ่ายขายนักเตะแบบไม่คิดค่าตัว อาจไม่ได้อะไรเลยจากการซื้อขายรูปแบบนี้ หนำซ้ำยังมีภาระผูกพันตัดไม่ขาดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น กรณีของ ดิเอโก โกดิน กองหลังตัวเก๋าของอินเตอร์ มิลาน ที่มีรายงานว่าตกลงย้ายร่วมทีมกายารีแบบฟรี ๆ ด้วยสัญญามูลค่า 2.3 ล้านปอนด์ต่อปี โดย อินเตอร์ มิลาน ต้องมีส่วนจ่ายเงิน 1.4 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือค่าเหนื่อยปีแรกของโกดินที่กายารี

การย้ายทีมแบบ "ฟรี" แต่ "ไม่ฟรี" ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญในโลกฟุตบอล ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้เงินเกินตัวของหลายสโมสร ก่อนสถานการณ์ COVID-19 

การตัดรายจ่ายโดยหวังผลตอบแทนเพียงน้อยนิดจากโบนัสในสัญญา เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการประคองสโมสรให้อยู่รอด

หากการปล่อยตัวนักเตะในรูปแบบฟรีเอเยนต์ เกิดประสบความสำเร็จ และสามารถบาลานซ์การเงินของสโมสรได้จริง ไม่แน่ว่า อนาคตเราอาจเห็นการย้ายทีมแบบไม่มีค่าตัว เข้ามาแทนที่ การซื้อนักเตะด้วยค่าตัว 100 ล้าน ซึ่งเคยเป็นเทรนด์ของทีมฟุตบอล ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=b93bbbab-b640-4f18-aaa8-fbe64095e30c
https://www.bbc.com/sport/football/50655720
https://todayheadline.co/inter-milan-star-diego-godin-set-to-join-cagliari-on-free-transfer-with-three-year-contract-in-works/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-4485750/Cost-Man-Utd-signing-Ibrahimovic-Pogba-revealed.html
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-8717445/Everton-signed-James-Rodriguez-FREE-Real-Madrid-share-future-transfer-fee.html
https://www.transfermarkt.com/done-deal-suarez-leaves-barca-for-atletico-small-fee-possible-through-bonus-payments/view/news/371245

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> เอดูอาร์ เมนดี้ : จากคนตกงาน สู่นายทวารพันล้านแห่งทัพสิงโตน้ำเงินคราม | Main Stand

>> ติอาโก้ อัลคันทาร่า : นักเตะที่ 'คล็อปป์' ยอมทำลายปรัชญา 'ไม่ซื้อสตาร์ดัง' | Main Stand

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี