รีเซต
นักฟุตบอล LGBTQ+ ต้องรับมือกับอะไรบ้าง หลังการประกาศเพศสภาพที่แท้จริง | Main Stand

นักฟุตบอล LGBTQ+ ต้องรับมือกับอะไรบ้าง หลังการประกาศเพศสภาพที่แท้จริง | Main Stand

นักฟุตบอล LGBTQ+ ต้องรับมือกับอะไรบ้าง หลังการประกาศเพศสภาพที่แท้จริง | Main Stand
เมนสแตนด์
11 ตุลาคม 2565 ( 00:00 )
1.5K

เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลา PRIDE MONTH การจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA2S+ ซึ่งวงการกีฬาทุกประเภทต่างตอบรับ และช่วยเป็นกระบอกเสียงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

 


แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัยและย้อนแย้งในตัวคือ ฟุตบอล อันเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของโลก กลับมีนักฟุตบอลที่เผยตัวตนในฐานะเกย์น้อยมาก เนื่องจากความกลัวที่เกิดขึ้นจนฝังรากลึกในวัฒนธรรมของเกมลูกหนัง จนนำมาสู่โศกนาโกรรมอันน่าสะเทือนขวัญมาแล้ว

Main Stand พาคุณมาดูความจริงที่นักฟุตบอลนักฟุตบอล LGBTQ+ ต้องรับมือ หลังการประกาศเพศสภาพที่แท้จริง นำมาสู่การต่อสู้เพียงลำพังของเหล่านักฟุตบอล และอคติในสังคมที่ยังไม่จางหายไป เนื่องจากไม่มีใครเลือกใช้พลังของกีฬาให้เกิดประโยชน์

 

ความกล้าหาญของผู้เปิดเผย

กล่าวกันตามตรงแบบไม่อ้อมค้อม ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่แสดงความแข็งแกร่งของเพศชายออกมาอย่างชัดเจนมากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านการเข้าปะทะอย่างดุดัน หรือ การวิ่งอย่างทรหดตลอด 90 นาที เกมลูกหนังจึงเป็นพื้นที่ซึ่งใครหลายคนยังคงมองว่า ควรสงวนไว้กับชายชาตรีเท่านั้น และไม่ใช่เวทีที่จะต้อนรับกลุ่ม LGBTQIA2S+ หรือที่มักถูกเรียกอย่างเหมารวมว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศ (Homosexual)

อาการโฮโมโฟเบีย หรือ การเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงแพร่กระจายออกไปทั่วโลกฟุตบอลชายอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แมตต์ วิลเลี่ยมส์ นักข่าวของ BBC เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2005 ว่า การเปิดเผยว่านักบอลคนใดเป็นเกย์ในโลกฟุตบอล ไม่ต่างอะไรจากการละเมิดข้อห้ามสำคัญทางสังคม เช่น การร่วมเพศระหว่างผู้สืบสายเลือดเดียวกัน

ไซม่อน บรานส์ นักเขียนของ The Times ย้ำชัดอีกครั้งในปี 2006 ว่า นี่คือความเกลียดกลัวและข้อห้ามสำคัญที่จะไม่มีวันเปลี่ยนไปในโลกฟุตบอล ซึ่งเครื่องยืนยันถึงแนวคิดของบรานส์แสดงให้เห็นอย่างชัดในทศวรรษ 2010s 

เมื่อการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นแนวคิดหลักของกลุ่มหัวก้าวหน้า แต่การเปิดเผยตัวของนักฟุตบอลในฐานะเกย์ ยังคงเป็นการละเมิดข้อห้ามทางสังคมฟุตบอล และมีโอกาสนำมาสู่การถูกประจานหรือแสดงความรังเกียจอย่างเปิดเผย

จอห์น อมาเอชี่ นักบาสเกตบอล NBA คนแรกที่เปิดเผยตนในฐานะเกย์ (เปิดตัวในปี 2007 หลังเลิกเล่นเมื่อปี 2003) เคยกล่าวโจมตีว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่วัฒนธรรมเป็นพิษต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนำมาสู่การเปิดเผยเพศสภาพแท้จริงของนักฟุตบอลที่น้อยเอามาก 

ยิ่งกว่านั้น ฟุตบอลยังถูกโจมตีโดย คลาร์ก คาร์ลีส อดีตประธานสมาคมนักเตะอาชีพ ว่าควรจะเอาใจใส่ในการให้ความรู้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อต่อสู้กับอาการโฮโมโฟเบียในเกมลูกหนังมากกว่านี้

การออกมาเปิดเผยตัวของนักฟุตบอล LGBTQIA2S+ จึงต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาทราบดีว่า กระแสตอบรับที่ตามมาย่อมไม่ใช่การสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพียงอย่างเดียวเป็นแน่ 

และนับตั้งแต่ จัสติน ฟาชานู กองหน้าชาวอังกฤษซึ่งที่เป็นนักฟุตบอลคนแรกที่เปิดเผยตนในฐานะเกย์เมื่อปี 1990 นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องรับมือจากสังคมรอบข้าง แม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม

 

เผชิญหน้ากับความกลัวจากความเกลียดชัง

เหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฟุตบอล คือกีฬาที่อาการโฮโมโฟเบียฝังรากลึกจนแก้ไขไม่หาย แม้กระทั่งในปัจจุบัน ดังนั้นแล้ว ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นักฟุตบอลเหล่านี้จึงต้องรับมือกับคำดูถูกปรามาสในรูปแบบต่าง ๆ นานาจากผู้คนมากมาย 

โดยกลุ่มคนที่เปิดหน้าเพื่อโจมตีเพศสภาพของกลุ่มคนเหล่านี้มากที่สุด ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากแฟนบอลของทีมตรงข้าม ที่มองความแตกต่างทางเพศนี้เป็น "จุดอ่อน" ของบุคคลดังกล่าว และสมควรนำมาล้อเลียนเหยียดหยามเป็นอย่างยิ่ง

บุคคลที่ต้องรับมือกับความเจ็บปวดนี้ในปัจจุบัน คือ จอช คาวัลโล นักเตะวัย 22 ปี ชาวออสเตรเลีย ที่กลายเป็นผู้เล่นลีกสูงสุดคนแรกของโลกที่เปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา โดย คาวัลโล ลงเล่นให้กับทีม อเดลเลด ยูไนเต็ด ในศึกเอ-ลีก ของประเทศออสเตรเลีย อันถือเป็นหนึ่งในลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชีย และเป็นที่รู้จักไม่น้อยในวงกว้าง

แต่ลีกชื่อดังไม่ได้หมายความแฟนบอลต้องมีอารยธรรมที่ดีตามไปด้วย เพราะตลอดหนึ่งปีหลังจากคาวัลโลเปิดเผยเพศสภาพแท้จริงของตน เขาต้องรับมือกับคำด่าและคำดูถูกมากมายจากแฟนบอลฝั่งตรงข้าม ในหลายนัดที่เขาลงสนาม ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเจ็บปวดใจให้แก่ตัวเขามาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่า โลกฟุตบอลยังไม่เปิดรับความแตกต่างทางเพศ แม้จะในปี 2022

"ผมจะไม่ทำเป็นแกล้งไม่เห็นหรือไม่ได้ยินคำด่าที่มีใจความเหยียดเพศในเกมเมื่อคืนที่ผ่านมา ผมไม่สามารถหาคำใดมาอธิบายได้เลยว่าผมรู้สึกผิดหวังมากแค่ไหน เพราะนี่คือหลักฐานที่แสดงว่าสังคมของเรายังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ในปี 2022" จอช คาวัลโล เขียนลงอินสตาแกรม หลังถูกเหยียดเพศโดยแฟนบอล เมลเบิร์น วิคตอรี่

"นี่ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ และเราควรทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้พวกเขารับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ความเกลียดชังจะไม่มีวันชนะ และผมจะไม่มีวันขอโทษที่ผมเลือกใช้ชีวิตอยู่กับความจริง และตัวตนที่ผมเป็นในโลกที่อยู่นอกเหนือออกไปจากฟุตบอล"

คาวัลโล ยังเปิดเผยอีกว่าเขาถูกโจมตีด้วยคอมเมนต์เกลียดชังในอินสตาแกรมของเขาอยู่เป็นประจำ ซึ่งเจ้าตัวได้แสดงความผิดหวังที่เจ้าของช่องทางโซเชี่ยลมีเดียเหล่านี้ ไม่เคยลงมือจัดการความเห็นในลักษณะนี้อย่างจริงจัง ซึ่ง คาวัลโล ไม่ได้เป็นกังวลที่ตัวเองถูกโจมตีเท่านั้น แต่ยังเป็นห่วงเยาวชนรุ่นหลังที่ซึมซับความเกลียดชังเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ผ่านการอ่านข้อความที่ปรากฎในโลกออนไลน์

การออกมาเปิดเผยเรื่องราวในครั้งนี้ ส่งผลให้ เมลเบิร์น วิคตอรี่ ถูกปรับเป็นเงินราวหนึ่งแสนบาท และจะมีการปราบปรามความเห็นเหยียดเพศอย่างจริงจังมากขึ้นในลีกออสเตรเลีย แต่ราคาที่ คาวัลโล ต้องจ่ายคือ เขาได้รับข้อความขู่ฆ่าจากแฟนบอลที่ไม่พอใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเรื่องราวต้องบานปลายเป็นการสืบสวนของตำรวจ

แม้ คาวัลโล จะไม่ยอมแพ้จากการข่มขู่ และเลือกจะยืนหยัดที่จะต่อสู้ เพื่อสิ่งที่ถูกต้องต่อไป แต่ไม่ใช่นักฟุตบอลทุกคนที่จะเข้มแข็งแบบนี้ โธมัส ฮิตเซิ่ลสแปร์เกอร์ อดีตกองหลังทีมชาติเยอรมันที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์หลังแขวนสตั๊ดในปี 2014 จึงออกมาสนับสนุนให้นักฟุตบอล LGBTQIA2S+ เปิดเผยตัวพร้อมกันเป็นกลุ่ม เพื่อลดแรงเสียดทานที่นักบอลต้องได้รับเพียงลำพังอย่าง คาวัลโล

ฮิตเซิ่ลสแปร์เกอร์ ยังยอมรับด้วยว่า ความไม่กล้าของนักฟุตบอลจะเปิดเผยเพศสภาพของตนเอง เนื่องจากหวาดกลัวต่อคอมเมนต์จากแฟนบอล จะทำให้วงการขาดแบบอย่างที่สร้างความกล้าแก่คนรุ่นถัดไป เมื่อมองไปยังความจริงที่ฟุตบอลเป็นกีฬาระดับโลก แต่ไม่มีผู้เล่นในลีกใหญ่เปิดเผยว่าเป็นเกย์เลย คือเรื่องที่ทำให้นักฟุตบอลต้องตกอยู่ภายใต้ความกลัวจากสิ่งที่ตนไม่รู้ต่อไป

"มันเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ว่าความกลัวที่พวกเขาได้รับเป็นอย่างไร เพราะผมเปิดเผยตัวหลังจากเลิกเล่นไปแล้ว แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมได้ยินจากหลายปีที่ผ่านมา" 

"ในวันที่ผมคิดว่าจะเปิดเผยตัวเอง ผมสงสัยว่าผู้คนจะรู้สึกอย่างไร มีคนบอกว่าผมจะถูกคุกคามและข่มขู่จากแฟนบอลในสนาม แต่ผมไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนั้นได้ด้วยตัวเอง"

"ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรจนกว่าจะมีใครสักคนเผยตัวออกมาขณะที่ยังเล่นอยู่ เราเห็นการเผยตัวเหล่านี้จากลีกอื่นทั่วโลก แต่กลับไม่มีนักฟุตบอลเกย์แม้แต่คนเดียวบนลีกชั้นนำของยุโรป นั่นคือสิ่งที่ผู้คนอยากเห็นว่าปฏิกิริยาที่แฟนบอลจะแสดงออกมาเป็นอย่างไรกันแน่" 

 

อคติและความเมินเฉยของสังคม

นอกเหนือจากความหวาดกลัวที่นักฟุตบอล LGBTQIA2S+ ต้องได้รับเนื่องจากความหวาดกลัวจากแฟนบอลแล้ว ยังมีความหวาดกลัวอีกอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก คือ การลงโทษจากสังคมภายนอกโลกกีฬา เพียงเพราะแค่ว่าพวกเขา "แตกต่าง" ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากอคติที่ฝังรากลึก โดยปราศจากการปกป้องจากผู้มีอำนาจในสังคม

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะมาถึง เมื่อ FIFA เลือกประเทศกาตาร์ให้รับบทบาทเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งกาตาร์ไม่เพียงมีจุดยืนต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแข็งขัน แต่ยังมีกฎหมายลงโทษบุคคลในประเทศที่เปิดเผยตัวเป็นเกย์ ซึ่งโทษสูงสุดคือการจำคุก 7 ปี

จอช คาวัลโล ที่เคยติดทีมชาติออสเตรเลียชุดเยาวชน ออกมาเปิดเผยถึงความเป็นกังวลหากตัวเขาถูกเรียกติดทีมชาติ เพื่อไปเล่นฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดเลยที่กล้าออกมาพูดว่าจะรับรองความปลอดภัยให้กับนักฟุตบอลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาสู่โอกาสที่จะให้ คาวัลโล ถูกลงโทษโดยรัฐบาลกาตาร์ ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรแตกต่างจากนักฟุตบอลชายคนอื่น เว้นเพียงแต่เพศสภาพที่ต่างออกไป

"ผมเศร้ามากที่ได้เห็นข่าวพวกนั้นซึ่งเขียนว่า กาตาร์มอบโทษประหารชีวิตให้กับผู้คนที่เป็นเกย์ในประเทศ มันเป็นบางสิ่งที่ผมหวาดกลัวมาก และผมไม่อยากไปกาตาร์ด้วยเหตุผลเหล่านี้"

"หนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของอาชีพนักฟุตบอลคือการได้ลงเล่นให้กับทีมชาติของคุณ แต่เมื่อคุณได้รู้ว่าประเทศที่กำลังจะได้จัดฟุตบอลโลก เป็นชาติที่ไม่สนับสนุนผู้คนที่เป็นเกย์ แถมยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตหากคุณมีเพศสภาพแบบนั้น" 

"เรื่องนี้ทำให้ผมกลัวและนั่งทบทวนสิ่งเหล่านี้ใหม่อีกครั้งว่า ชีวิตของผมสำคัญกว่าความสำเร็จในอาชีพของผมหรือเปล่า"

ฮิตเซิ่ลสแปร์เกอร์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นโอกาสดีที่ FIFA จะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกฟุตบอล รวมถึงการแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ถกเถียงถึงปัญหาต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือสิทธิของเกย์ แต่จนถึงวันนี้ FIFA ยังคงนิ่งเฉย จึงเริ่มมีโรงแรงบางแห่งในกาตาร์ที่ประกาศตัวไม่รับแฟนบอลรักร่วมเพศ รวมถึงทางรัฐบาลก็ไม่รับประกันความปลอดภัยของแฟนบอลกลุ่มนี้

ความนิ่งเฉยของสังคมจนปล่อยให้อคติที่มีต่อกลุ่มคนผู้มีความหลากทางเพศดำเนินต่อไป เคยสร้างบทเรียนสำคัญแก่วงการฟุตบอลมาแล้ว 

เมื่อ จัสติน ฟาชานู นักฟุตบอลคนแรกที่เปิดเผยตนในฐานะเกย์ เลือกจะจบชีวิตของตนเองในปี 1998 เพราะกลัวที่จะไม่ได้รับความยุติธรรมในศาลเพียงเพราะเขาเป็นเกย์ (แถมยังเป็นบุคคลผิวดำ) หลังถูกจับด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศวัยรุ่นชายอายุ 17 ปีที่สหรัฐอเมริกา

"ผมได้ยินผู้คนพูดว่า 'คุณหนีทำไม' ก็นะ บางครั้งความยุติธรรมก็ไม่ได้เที่ยงธรรมเสมอไป และผมคิดว่าตัวผมเองคงไม่ได้รับการตัดสินอย่างเที่ยงธรรม เพียงเพราะว่าผมเป็นคนรักร่วมเพศ" ฟาชานู เขียนข้อความดังกล่าวไว้ในจดหมายลาตายของเขา

สิ่งที่น่ากลัวกว่าเสียงด่าจากแฟนบอล คือ ความไม่ยุติธรรมที่นักฟุตบอลเหล่านี้ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และถึงแม้ความตายของฟาชานูจะเลยผ่านมากกว่า 20 ปี เรายังเห็นได้ชัดว่า สังคมโลกยังคงมีอคติต่อนักฟุตบอลที่เป็นเกย์ และ จอช คาวัลโล ได้สะท้อนความกังวลของเขาในเรื่องนี้

สิ่งเดียวที่นักฟุตบอล LGBTQIA2S+ ยังทำได้ คือ การต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองต่อไป แม้เผชิญบททดสอบมากมาย คาวัลโล ยังเลือกแสดงจุดยืนในฐานะเกย์อย่างเปิดเผย และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เข้ามา เพราะเขาเชื่อว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งนั่นหมายถึงการสร้างสังคมที่เท่าเทียมในเรื่องของเพศสภาพ และขจัดอดคติในสังคมเพียงเพราะใครสักคนไม่มีเพศเหมือนกับพ่อแม่ของเรา

"ผมผิดหวังกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราทุกคนได้เรียนรู้เพื่อเติบโตต่อไป ในฐานะนักกีฬาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาใดก็ตาม เรื่องนี้ส่งผลกระทบถึงตัวคุณ มันจะเข้าไปถึงใจของคุณ และนั่นไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีเลย"

"อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะสร้างความตระหนักรู้ในใจผู้คน และแสดงให้เห็นว่ามันไม่โอเคเลยที่ใครจะแสดงออกถึงความเกลียดชังเหล่านั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนหรือคุณจะเชื่อมั่นในสิ่งใด เรามีเยาวชนอีกมากมายที่เผ้ามองเกมเหล่านี้ เรามีครอบครัวที่ดูแลพวกเขาอยู่" 

"เพราะฉะนั้นกีฬาต้องเป็นสังคมที่มอบความเคารพแก่ผู้คนทุกรูปแบบอย่างแท้จริง" จอช คาวัลโล โพสต์ผ่านอินสตาแกรมถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนโลกฟุตบอลอย่างแท้จริง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จัสติน ฟาชานู : แข้ง LGBTQ+ คนแรกในพรีเมียร์ลีกที่ขอตายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ : กัปตันทีมชาติเยอรมันที่ทำให้โลกรู้จักและยอมรับนักเตะ LGBTQ

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.bbc.com/sport/football/25660495
https://www.bbc.com/sport/football/26160126
https://web.archive.org/web/20130306055459/http://www.wsc.co.uk/wsc-daily/1158-february-2013/9476-the-continuing-taboo-of-homosexuality-in-football
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/4426278.stm
https://www.theguardian.com/football/2022/jan/09/no-words-gay-australian-footballer-josh-cavallo-calls-out-homophobic-crowd-abuse
https://www.goal.com/en/news/josh-cavallo-death-threats-coming-out-gay/blt7793dddc4b6e56a4
https://edition.cnn.com/2021/11/08/football/josh-cavallo-qatar-2022-world-cup-spt-intl/index.html
https://www.bbc.com/news/newsbeat-59060323
https://www.dw.com/en/thomas-hitzlsperger-lack-of-role-models-holding-back-gay-footballers/a-37948818
https://metro.co.uk/2022/02/01/collective-coming-out-could-be-solution-for-gay-footballers-says-thomas-hitzelsperger-16027261/
http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk/167715.stm

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ - ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541