รีเซต
ประธานเทคนิค : ตำแหน่งคนว่างงานของโค้ชไทยลีก…แท้จริงมีหน้าที่อะไร ? | Main Stand

ประธานเทคนิค : ตำแหน่งคนว่างงานของโค้ชไทยลีก…แท้จริงมีหน้าที่อะไร ? | Main Stand

ประธานเทคนิค : ตำแหน่งคนว่างงานของโค้ชไทยลีก…แท้จริงมีหน้าที่อะไร ? | Main Stand
เมนสแตนด์
18 กันยายน 2565 ( 20:15 )
437

เพราะทีม 1 ทีมมีองค์ประกอบมากมายให้ต้องจัดการดูแล ดังนั้นการที่จะใช้เจ้าของทีม หรือ เฮดโค้ช ลงมือทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการดูจะเป็นอะไรที่ยากและเปลืองแรงกันไปหน่อย 


 

เมื่อฟุตบอลก้าวสู่ยุคใหม่ มีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น การจะให้คน ๆ เดียวดูแลทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอาจจะทำให้ทุกอย่างพังลงได้ ดังนั้นจึงเกิดตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า "Technical Director" หรือ "ประธานเทคนิค" ขึ้นมา และแทบทุก ๆ ทีมมักจะมีตำแหน่งนี้กันหมดแล้ว ไม่เว้นแม้แต่สโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ในไทยลีก

จริง ๆ แล้วตำแหน่งประธานเทคนิคเกิดขึ้นที่ไหนเป็นที่แรก และพวกเขาเหล่านั้นมีหน้าที่ทำอะไร ?  

ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

อะไรคือ ประธานเทคนิค ? 

แม้เราจะได้ยินคำว่าประธานเทคนิคกันบ่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้วตำแหน่งนี้ไม่ใช่ของใหม่ในโลกฟุตบอล โดยเฉพาะในภาคพื้นฟุตบอลยุโรปนั้น ตำแหน่งประธานเทคนิค ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ช่วงต้นยุค 1990s แล้ว 

เราจะเริ่มมาอธิบายหน้าที่ของพวกเขาเหล่านี้ ประธานเทคนิค ไม่ใช่เจ้าของสโมสร ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ซีอีโอ แต่พวกเขาเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่เข้าใจกันง่าย ๆ ว่าคือ "ลูกจ้าง" ขององค์กรเหมือนกับโค้ชหรือนักเตะในทีม โดยการจ้างตำแหน่งประธานเทคนิคในตอนแรกนั้นจะเกิดขึ้นกับสมาคมฟุตบอลทีมชาติของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป  ด้วยเหตุที่ว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการกำหนดทิศทางการเล่นของ "ทีมชาติ" ให้ชัดเจน

เริ่มจากช่วงยุค 90s ทีมชาติต่าง ๆ เริ่มหันมานิยมจ้างโค้ชฟุตบอลที่ไม่ใช่คนชาติเดียวกัน และนักเตะในประเทศหลายคนก็นิยมออกไปค้าแข้งในต่างแดนกันมากขึ้น ดังนั้นการจะทำให้ "ทีมชาติ" ยึดมั่นในระบบและวิธีการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตำแหน่งประธานเทคนิค จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

2 ชาติแรก ๆ ที่ใช้งานตำแหน่งนี้ชัดเจนคือทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1995 พวกเขาจ้าง ฮันส์รูดี แฮสเลอร์ (Hansruedi Hasler) โดยหน้าที่ของ แฮสเลอร์ ในเวลานั้นคือการวางแบบแปลน แผน และวิธีการเล่นของทีมชาติทุกชุดตั้งแต่ชุดเยาวชนไปจนถึงทีมชาติชุดใหญ่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 


Photo : www.thunertagblatt.ch

โดย แฮสเลอร์ จะเป็นกำหนดวิธีการเล่นของทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ให้ใช้วิธีการเล่นแบบขยันวิ่ง เพรสซิ่ง และเล่นฟุตบอลไดเร็กต์ ที่เปลี่ยนจากรับเป็นรุกอย่างรวดเร็ว ... เมื่อกำหนดทิศทางการเล่นได้แล้วก็จะเป็นหน้าที่ที่เขาจะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อผู้บริหารองค์เพื่อให้ไปจ้างโค้ชที่มีประสิทธิภาพและเป็นคนที่สามารถทำให้ปรัชญาฟุตบอลที่ แฮสเลอร์ คิดค้นไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ 

หลังจากที่ แฮสเลอร์ รับงานกับสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาก็ได้สร้างนักเตะเยาวชนฝีเท้าดีหลายชุด โดยชุดที่น่าจะคุ้นหูคุ้นตาแฟนบอลบ้านเรามากที่สุดก็คือเด็ก ๆ รุ่นคว้าแชมป์โลกเยาวชนยู-17 ปี 2009 ประกอบไปด้วย ฮาริส เซเฟโรวิช, กรานิต ชาก้า, เซอร์ดาน ชากีรี่ รวมถึง ชาริล ชัปปุยส์ ที่ต่อมาเปลี่ยนมารับใช้ทีมชาติไทยนั่นเอง 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกหน่อยเราขอยกตัวอย่างประธานเทคนิคอีกคนที่ถือว่า "ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก" นั่นคือ มิเชล ซาบลอง ประธานเทคนิคของทีมชาติเบลเยียม ที่เริ่มเข้ามาทำงานหลังปี 2000 หลังความล้มเหลวของทีมชาติเบลเยียมในยูโร 2000 ที่พวกเขาเล่นกันไปคนละทิศคนละทาง นักเตะส่วนใหญ่อายุมากและไม่มีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่ 


Photo : tnp.straitstimes.com

ซาบลอง เข้ามาแก้ไขปัญหานั้นด้วยการของบประมาณจากสมาคมฟุตบอลเบลเยียมให้มาสนับสนุนพิมพ์เขียวของเขาด้วยการวางระบบการเล่น 4-3-3 และต้องการให้ทีมชาติทุกชุด และสโมสรในประเทศทุก ๆ ทีม ใช้แผนการเล่นนี้เป็นหลักเพื่อให้ทุกอย่างต่อยอดและส่งต่อถึงกันให้ง่ายที่สุด  

ซึ่งหลังจากลงมือลงแรงกันมาร่วมสิบปี สุดท้ายทีมชาติเบลเยียมก็ได้รากฐานฟุตบอลที่แข็งแกร่ง ทีมชาติของพวกเขาไต่ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ของโลกในฟีฟ่า แรงกิ้ง และนักเตะที่ผ่านการปลุกปั้นก็กลายเป็นแข้งระดับโลกทั้ง เอแดน อาซาร์, โรเมลู ลูกากู, แวงซองต์ กอมปานี และ เควิน เดอ บรอยน์ เป็นต้น 

 

ทำงานยากกับทีมใหญ่ 

แม้เราจะยกตัวอย่างประธานเทคนิคที่รับตำแหน่งและทำหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่หากสังเกตให้ชัดคุณจะเห็นว่าทั้ง แฮสเลอร์ และ ซาบลอง ต่างก็ทำงานในระดับทีมชาติทั้งสิ้น ... เพราะมันมีความแตกต่างกันพอสมควรสำหรับตำแหน่งประธานเทคนิคในทีมฟุตบอลระดับสโมสร ถึงแม้ว่าขอบข่ายหน้าที่จะคล้าย ๆ กันนั่นคือการกำหนดทิศทางการเล่นตั้งแต่ทีมเยาวชน ทีมหญิง และทีมชุดใหญ่ แต่วิธีการนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนกว่ากันเยอะเลยทีเดียว 

เพราะความสำเร็จของทีมระดับสโมสรนั้นรอกันไม่ได้ โดยเฉพาะทีมใหญ่ ๆ นั้นหากไร้ความสำเร็จสักปีสองปี พวกเขาก็คงปลดโค้ชแล้วจ้างคนใหม่มาแทนที่แล้ว ดังนั้นตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลก็จะทำงานยากขึ้นเยอะเพราะขาดซึ่งความต่อเนื่อง และบางครั้งก็ได้ทำงานกับโค้ชที่ปรัชญาฟุตบอลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

เราวัดกันง่าย ๆ ที่ตัวของ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ อดีตนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับตำแหน่ง "ประธานเทคนิค" ในทีมยุคที่มี โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เป็นเฮดโค้ช ทว่าหลังเริ่มงานกันได้ไม่นาน โซลชา ก็โดนปลดและทีมก็แต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก เข้ามาแทนที่ ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ คนแม้กระทั่งคนที่รู้ความเคลื่อนไหวของสโมสรก็ยังสงสัยว่า เฟล็ตเชอร์ นั้นทำอะไรกันแน่สำหรับตำแหน่งประธานเทคนิคที่เขาสวมหัวโขนอยู่ ... และคนที่พูดว่าไม่รู้ว่า เฟล็ตเชอร์ มีหน้าที่อะไรก็คือ รังนิก คนที่ต้องทำงานด้วยกัน มันแสดงให้เห็นว่าตำแหน่งประธานเทคนิคในระดับสโมสรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามันยากขนาดไหน 

"สำหรับบทบาทของเขา (เฟล็ตเชอร์) ในสโมสรนั้นผมไม่ทราบจริง ๆ พูดกันตรง ๆ ผมสามารถบอกคุณได้แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกซ้อมและระหว่างเกมการแข่งขัน ซึ่งมันดีที่เขาอยู่กับเรา" รังนิค กล่าว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นคำถามว่า เฟล็ตเชอร์ ทำหน้าที่อะไรกันแน่ 

นอกจากการทำหน้าที่ที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนของตัวกุนซือแล้ว งานของ "ประธานเทคนิค" ยังไม่ได้รับสิทธิ์ขาดมากเท่ากับในระดับทีมชาติ เนื่องจากแต่ละสโมสรจะมีคนตำแหน่งที่ใหญ่กว่าอย่าง "ผู้อำนวยการฟุตบอล" หรือ "ผู้อำนวยการกีฬา" (Director of Football หรือ Sporting Director) 


Photo : www.thisisanfield.com

หน้าที่ของผู้อำนวยการกีฬาคือการมี Data (ชุดข้อมูล) ที่ไว้ใจได้ มีการคิดวิเคราะห์ในแง่ของฝีเท้าและความเหมาะสมกับทีม ที่สำคัญคือเขาต้องทำงานเกี่ยวกับตัวเลขเพื่อนำมาคิดคำนวณเรื่องการลงทุน ซื้อ-ขาย ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรได้ผลประโยชน์มากที่สุด เปรียบได้กับการประสานงานระหว่างฝ่ายโค้ชและฝ่ายผู้บริหารให้เข้าใจตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ของ ลิเวอร์พูล ในอดีต ที่มีส่วนสำคัญในการซื้อตัว โมฮาเหม็ด ซาลาห์, ซาดิโอ มาเน่ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย  รวมถึง ซิกิ เบกิริสไตน์ ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ช่วยให้ทัพเรือใบสีฟ้าได้นักเตะดี ๆ มามากมาย รวมถึงการได้โค้ชที่มีแนวทางชัดเจนอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา เข้ามาคุมทีมด้วย 

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมตำแหน่ง Sporting Director หรือ ผู้อำนวยการกีฬา จึงสำคัญมาก ๆ ในยุคปัจจุบัน  ซึ่งความสำคัญนี้เองที่ทำให้บทบาทของประธานเทคนิคต้องลดลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ และบางครั้งในตำแหน่ง ประธานเทคนิค ก็อาจจะไม่จำเป็นเลยสำหรับบางทีม หากพวกเขามี ผู้อำนวยการกีฬา ที่มีฝีมือและทำงานได้ครอบคลุมอยู่แล้ว 

 

กับสโมสรเล็ก ๆ "ประธานเทคนิค" สำคัญมาก 

แม้ทีมใหญ่ ๆ ทั่วยุโรปจะยึดมั่นแนวทางการทำทีมที่กำหนดโดย "ผู้อำนวยการกีฬา" เนื่องจากงบประมาณทำทีมเยอะและต้องการเห็นความสำเร็จแบบเร่งด่วน แต่สำหรับทีมเล็ก ๆ ตำแหน่ง "ประธานเทคนิค" นั้นยังถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากในการยกระดับทีมให้ก้าวหน้าขึ้น 

เมื่อผู้อำนวยการกีฬามีค่าจ้างแพง และการจะให้พวกเขาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็ต้องมีงบประมาณการทำทีมจำนวนมากเพื่อให้ตอบโจทย์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งยากที่ทีมเล็ก ๆ จะทำได้ 

สิ่งที่ทีมสโมสรเล็ก ๆ พอจะทำได้คือการสร้างนักเตะของตัวเองเป็นหลัก และทำให้ทีมมีสิ่งหนึ่งทีเรียกว่า "ระบบการเล่นที่ชัดเจน" ทำให้นักเตะทั้งทีมและทุกชุดเข้าใจตรงกันว่าพวกเขาต้องเล่นแบบไหน เรียกง่าย ๆ ว่าคือการให้จุดแข็งของทีมเป็น "ระบบการเล่น" มากกว่า "คุณภาพส่วนตัวของนักเตะ" นั่นเอง 

ตัวอย่างของสโมสรเล็ก ๆ ที่สู้ด้วยระบบทีมนั้นมีมากมายโดยเฉพาะในศึกบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่มีการซื้อตัวน้อยมาก ทว่าเราจะอธิบายด้วยการยกตัวอย่างทีมในพรีเมียร์ลีกอย่าง ไบรท์ตัน เพราะเชื่อว่าผู้อ่านบ้านเราหลายคนคงเห็นภาพมากกว่า 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ไบรท์ตัน ยังเป็นแค่ทีมกลางตารางระดับแชมเปี้ยนชิพอยู่เลยด้วยซ้ำ ทว่าหลังจากที่ โทนี่ บลูม เจ้าของทีมและผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาบริหาร พวกเขาก็มีแนวทางการทำทีมไต่ระดับโดยค่อย ๆ เปลี่ยนทีมให้กลายเป็นทีมที่สามารถเล่นในพรีเมียร์ลีกได้ งานของ บลูม จึงเป็นการจ้างชายที่ชื่อว่า แดน แอชเวิร์ธ เข้ามารับตำแหน่ง "ประธานเทคนิค" เมื่อปี 2019 เพื่อทำให้ทีมมีจุดแข็งที่ระบบการเล่น ซึ่งตอนนี้คุณจะได้เห็นว่า ไบรท์ตัน กลายเป็นทีมที่มีวิธีการเล่นชัดเจนขนาดไหน

พวกเขาคือทีมเล็ก ๆ ของพรีเมียร์ลีกที่เลื่อนชั้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 แต่เมื่อผ่านไปแล้ว 3 ฤดูกาลพวกเขาก็รอดตกชั้นแบบไม่ต้องลุ้นตัวโก่งให้แฟน ๆ ต้องหวาดเสียว ที่สำคัญคือ ไบรท์ตัน ไม่ใช่ฟุตบอลทีมเล็กที่เล่นเหมือนกับทีมอื่น ๆ ในอังกฤษ พวกเขามีระบบการเล่นที่ชัดเจน มีการใช้บอลสั้น มีการเซ็ตบอลสวย ๆ ใส่ด้วยระบบเพรสซิ่ง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็น โมเดิร์นฟุตบอล ก็คงไม่ผิดนัก 

แดน แอชเวิร์ธ ที่เข้ามาทำทีมในตำแหน่งประธานเทคนิคอยู่ช่วงหนึ่งก่อนลาออกไปรับงานกับ นิวคาสเซิล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เล่าถึงหน้าที่ของเขาว่า "งานประธานเทคนิคเปรียบเสมือนคนที่อยู่กลางวงล้อที่ต้องหมุนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ประธานเทคนิคคือคนที่ต้องเชื่อมซี่เล็ก ๆ ของกงล้อให้ประสานกันตรงแกนกลางให้ได้ เพื่อให้วงล้อหมุนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ"  

"หลักการทำงานในตำแหน่งแบบผม ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องการดูแลผลประโยชน์ในระยะยาวให้กับสโมสร ผลลัพธ์ที่เราพูดถึงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่มันเป็นการพยายามทำให้แน่ใจว่าสโมสรของเรากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทำงานร่วมกับส่วนอื่น ๆ ของสโมสรและช่วยเหลือร่วมแรงกันเพื่อเป้าหมายระยะยาวที่ว่านั้น" แดน แอชเวิร์ธ กล่าว 

การอธิบายของ แอชเวิร์ธ ค่อนข้างชัดเจนเป็นอย่างมาก เขาคือคนสำคัญของทีมอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะในเรื่องของรูปแบบการเล่น การมีส่วนตัดสินใจในการเลือกเฮดโค้ชของทีม ไปจนถึงการทำงานร่วมกับส่วนอื่น ๆ ของสโมสร เพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่นและเดินไปบนเส้นทางที่ควรจะเป็น

ที่สุดแล้วเราจะเห็นได้ว่าชื่อของตำแหน่ง ประธานเทคนิค ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน ทุกลีก ทุกประเทศนี้ จะสำคัญก็ต่อเมื่อ "ผู้จ้าง" เชื่อมั่นในการทำงานของพวกเขาและให้ความสำคัญกับ "ประธานเทคนิค" อย่างจริงจัง ไม่ใช่การแต่งตั้งไว้โดยไม่รู้ว่าจ้างพวกเขามาทำไมและพวกเขาควรทำหน้าที่อะไร เมื่อนั้น ประธานเทคนิค ก็หมดความหมายในทันที 

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นประธานเทคนิคหลายรูปแบบ และเป็นเหตุผลที่ทำไมหลายคนยังงงว่าพวกเขาทำหน้าที่อะไร มีไว้เพื่ออะไร และหาคำจำกัดความของตำแหน่งนี้ได้ยากเหลือเกิน ... เพราะมันขึ้นอยู่กับบริบทในองค์กรนั้น ๆ ที่พวกเขาจะถูกกำหนดเอาไว้ยังไงและมีขอบเขตการทำงานแค่ไหนนั่นเอง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://thefootballfaithful.com/technical-directors-of-football-what-exactly-do-they-do-does-anybody-really-know/
https://www.bcsoccer.net/files/ArticleDocuments/WesburnFCTechnicalDirectorJobDescription2021Final.pdf
https://www.quora.com/What-does-a-technical-or-sporting-director-at-a-football-club-do
https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/michael-edwards-how-liverpool-stats-12125044
https://www.theguardian.com/football/blog/2014/jun/06/belgium-blueprint-gave-birth-golden-generation-world-cup-

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ - ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี