วอลเลย์บอลหญิงไทย หลังการกลับมาของ “โค้ชอ๊อด" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร พร้อมด้วย “เฝิง คุน” ภรรยาซึ่งเคยเป็นอดีตกัปตันทีมมือเซตของจีนเข้ามาช่วยอีกแรง รอบนี้ดูจะเหนื่อยเป็นพิเศษ! ยังมีการบ้านชิ้นใหญ่ และงานอีกมากมายให้โค้ชอ๊อดต้องเร่งสะสางก่อนถึงรายการใหญ่ทั้งเนชันส์ลีก และวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก FIVB 2025 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพซึ่งประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในตอนนี้คือ "สัญญาณอันตราย" ที่บ่งชี้ว่าวอลเลย์บอลหญิงไทย กำลังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ยุคตกต่ำ คล้ายกับที่ทีมชาติเกาหลีใต้เคยเผชิญมา และสัญญาณนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์นี้ให้ชัดเจนขึ้น เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2016 ในการแข่งขันรอบชิงอันดับ 5 ระหว่างทีมชาติไทย กับทีมชาติจีน รอบชิงอันดับ 5 รายการเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ไฟนอล แบงค็อก 2016 ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ซึ่งเป็นแมตช์อำลาการคุมทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการของโค้ชอ๊อด รายชื่อนักกีฬาทั้ง 14 คนในชุดนั้นของโค้ชอ๊อดประกอบไปด้วย ปิยะนุช แป้นน้อย , พรพรรณ เกิดปราชญ์ , ทัดดาว นึกแจ้ง , หัตถยา บำรุงสุข , พิมพิชยา ก๊กรัมย์ , อัจฉราพร คงยศ , ชัชชุอร โมกศรี อ่านรายชื่อเหล่านี้แล้ว รู้สึกแปลกๆ อะไรกันบ้างไหมครับ? ส่วนอีกครึ่งทีม วรรณา บัวแก้ว , ปลื้มจิตร์ ถินขาว , อรอุมา สิทธิรักษ์ , วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ , มลิกา กันทอง มีทั้งผันตัวเป็นโค้ชและยังเลิกเล่นอยู่ ส่วนอีกคน โสรยา พรมหล้า หลังพักคลอดบุตรไป 1 ปี กลับมาเล่นได้ไม่นานยังมีเสียงเชียร์ให้คัมแบ็กกลับมาเสริมทัพ นักกีฬาในทีมของโค้ชอ๊อด ผ่านมาเกือบ 9 ปี ทุกวันนี้ในปี 2025 เมื่อมีกระทู้แฟนวอลเลย์บอลจัดไลน์อัพ 6 คนแรกของทีมชาติไทย ชื่อที่ถูกพูดถึงก็ยังคงวนเวียนอยู่กับ เพียว , เตย , ชมพู่ , บีม , บุ๋มบิ๋ม , แนน ซึ่งก็คือทีมชุดปี 2016 แค่ขยับตำสำรองชุดนั้นขึ้นมาแทนรุ่นพี่ที่เลิกเล่นไป ซึ่งรุ่นพี่ปัจจุบันบางคนยังเล่นอยู่ เป็นตัวทำคะแนนสูงสุดและเป็นเสาหลักของสโมสร เห็น ๆ ว่าอายุ 40 กว่าแล้วยังดีกว่าผู้เล่นยุคใหม่ คือสิ่งสะท้อนที่น่าตกใจ ในช่วงเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้เล่นดาวรุ่งคนใหม่ก้าวขึ้นมาเทียบชั้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์ , ชิงแชมป์เอเชีย หรือแม้กระทั่งซี วี.ลีก ยังชุดใหญ่ไฟกะพริบ แล้วดาวรุ่งเหล่านี้จะเอาประสบการณ์มาจากไหน ## การบ้านเร่งด่วนของโค้ชอ๊อด ปั้นเจนใหม่ให้ทันเวลา ในช่วง 8-9 ปีที่โค้ชอ๊อด เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เว้นวรรคจากการคุมทีมชาติไทย ผู้ที่เข้ามาสานต่อ ไม่สามารถสร้างผู้เล่นดาวรุ่ง ขึ้นมาทดแทน หรือก้าวขึ้นมาเป็น ตัวหลัก ในระดับทีมชาติได้อย่างจริงจังแม้แต่คนเดียว งานแรกๆ ที่เห็นถึงความพยายามของโค้ชอ๊อดในการแก้ปัญหาคือการมองหา และปั้นผู้เล่นดาวรุ่งขึ้นมาเสริมทีมอย่างเร่งด่วน เห็นได้จากการที่ทีมชุด Young All Stars ได้อุ่นเครื่องกับทีมรวมดาราวีลีกเกาหลีใต้ ผลคือกลับมาบทสรุป โค้ชอ๊อดเรียก “ออมสิน” ศศิภาพร จันทรวิสูตร เข้ามาเสริมแคมป์ทีมชาติ แสดงให้เห็นว่าบรรดาดาวรุ่งซึ่งจะว่าไปหลายคนอายุ 24-25 กันแล้ว ยังไม่อยู่ในมาตรฐานที่จะก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้ทันที ต่างกับยุคของเพียวหรือบุ๋มบิ๋ม ที่เข้าแคมป์ทีมชาติและสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (15-16 ปี) พวกเขาเติบโตเคียงข้างเหล่าบรรดา 7 เซียน สั่งสมทั้งฝีมือและประสบการณ์สุกงอมพร้อมขึ้นมาแทนได้อย่างไม่ติดขัด ไม่เป็นปัญหาสำหรับยุคเปลี่ยนผ่านเลย นักกีฬาตัวหลักชุดปี 2025 พรพรรณ เกิดปราชญ์ (32 ปี) , ปิยะนุช แป้นน้อย (35 ปี) , หัตถยา บำรุงสุข (31 ปี) , ทัดดาว นึกแจ้ง (31 ปี) ที่เหลือยี่สิบปลาย ๆ แตะสามสิบ พวกเธอเหล่านี้จะยังคงรักษาฟอร์มการเล่นในระดับพีคที่สุดได้อีกนานแค่ไหน?หากเกิดช่วงรอยต่อในตำแหน่งสำคัญที่ต้องอาศัยประสบการณ์สูงอย่างมือเซต หรือลิบเบอโร่ ยังไม่มีผู้เล่นดาวรุ่งคนไหน ที่แสดงให้เห็นถึงความ เสถียร และพร้อมที่จะยืนระยะเป็นตัวหลักได้ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ ต้องกลับมาให้เวลาโค้ชอ๊อดต้องกลับมาสร้างทีมเจนใหม่ขึ้นมาอย่างจริงจังอีกครั้ง สถานการณ์ที่วอลเลย์บอลหญิงไทยกำลังเผชิญอยู่ คือบรรยากาศแบบเดียวกับที่ทีมชาติเกาหลีใต้เคยประสบมาในอดีต ยุคที่พวกเขาไม่สามารถผลิตผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นมาเติมเต็ม และทดแทนรุ่นพี่ระดับตำนานได้ทันท่วงที คือสัญญาณอันตรายที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก และร่วมมือกันแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้ไทยยังคงเป็นทีมชั้นนำในวงการวอลเลย์บอลโลกต่อไป … #วอลเลย์บอล #วอลเลย์บอลหญิงไทย #เนชันส์ลีก #VNL2025 #FIVB2025 #ดาวรุ่งวอลเลย์บอล ภาพประกอบโดย ภาพปก Thailand Volleyball Association สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย : พื้นหลัง , เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร , ภาพที่ 1 , ภาพที่ 2 , ภาพที่ 3 , ภาพที่ 4 ส่องนักบอลตัวเต็ง ดูสดระเบิดแมทช์สุดมันส์บน App TrueID โหลดฟรี !