เมืองทอง ยื่นอุทธรณ์โทษแบนรังเหย้า ยืนยันรักษาความปลอดภัย ขั้นสุดแล้ว
สืบเนื่องจากที่คณะพิจารณาวินัยมารยาท ได้ลงโทษ เอสซีจี เมืองทองฯ จากกรณีหลังเกมที่มีแฟนบอลปะทะกับกองเชียร์ การท่าเรือ เอฟซี ในศึก โตโยต้า ลีก คัพ 2016 รอบรองชนะเลิศ นัดสอง วันที่ 14 ก.ย. ด้วยการแบนการเล่นในรังเหย้า 5 นัด โดยมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ในศึก ช้าง เอฟเอ คัพ 2016 รอบ 8 ทีมสุดท้าย ที่ไปเช่าสนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยไม่มีแฟนบอลของตัวเองเข้าไปเชียร์
โดยล่าสุดสโมสร เอสซีจี เมืองทองฯ ได้ทำการยื่นหนังสืออุทธรณ์เข้าไปถึงคณะอุทธรณ์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว มีดังนี้
เรียน ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เรื่อง ขออุทธรณ์การลงโทษ
อ้างถึง หนังสือ ที่ ฟ.(วม) 1111/2559 ลงวันที่ 20 กันยายน 2559
ตามหนังสือที่อ้างถึง คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาทฯ ได้พิจารณาลงโทษจากกรณีแฟนบอลสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ก่อการทะเลาะวิวาทนอกสถานที่จัดการแข่งขัน นั้น
สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ขอน้อมรับผลการพิจารณาลงโทษของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม สโมสรฯ มีประเด็นขออุทธรณ์ลดหย่อนโทษบางประการ รายละเอียด ดังนี้
ข้อ 1. สโมสรฯ ขอชี้แจงว่า สโมสรฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดอย่างเต็มความสามารถ ดังนี้
1.1 สโมสรฯ ได้มีการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทุกรอบด้าน และได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ขอกำลังจากตำรวจและทหารรวมประมาณ 400 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัยการแข่งขันในนัดนี้
1.2 สโมสรฯ ได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเต็มความสามารถ โดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการแข่งขัน เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่สโมสรฯ แยกที่นั่งของกองเชียร์ทั้งสองสโมสร และจัดระเบียบเวลาออกจากสนามหลังจบการแข่งขัน ให้แฟนบอลสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ออกจากสนามก่อน 30 นาที
1.3 นอกจากนี้ ในระหว่างการแข่งขัน สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อย และตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ก็ได้รับการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี
1.4 สโมสรฯ มีการแจ้งและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา
1.5 สโมสรฯ รับรองว่าได้ปฏิบัติตามกฎและระเบียบต่างๆ และมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดอย่างเต็มความสามารถภายในสถานที่แข่งขันและพื้นที่โดยรอบ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสโมสรฯ ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ FIFA และได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานสากลเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับการแข่งขันในนัดนี้เป็นพิเศษ และแม้สโมสรฯ จะมีการเตรียมการอย่างดี แต่ก็ยังมีผู้ที่พยายามก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งสโมสรฯ ก็รีบดำเนินการควบคุมสถานการณ์โดยเร็วโดยที่กองเชียร์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ รวมถึงการปะทะดังกล่าวสโมสรฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ข้อ 2. นอกจากนี้ สโมสรฯ เห็นว่า ก่อนหน้านี้ที่สมาคมฯ ออกคำสั่งให้สโมสรฯ จัดการแข่งขัน ณ สนามกลางในกรณีที่เป็นทีมเหย้า และห้ามกองเชียร์เข้าชมการแข่งขันทั้งที่เป็นทีมเหย้าและทีมเยือนนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีการสอบสวนสรุปข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าสโมสรฯ ได้ทำผิดกฎระเบียบหรือไม่ก็ตาม เท่ากับว่าสโมสรฯ ได้รับการลงโทษห้ามจัดการแข่งขันในสนามเหย้าไปแล้วจำนวน 1 นัด
ข้อ 3. ด้วยเหตุผลตามข้างต้น สโมสรฯ เห็นว่าคำตัดสินลงโทษเกินสมควร และจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ตัวนักกีฬา กองเชียร์ และผู้สนับสนุนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งไม่สมควรที่จะต้องมารับผิดชอบหรือรับผลกระทบจากการกระทำของผู้กระทำความผิดแต่ประการใด สโมสรฯ จึงขออุทธรณ์ลดหย่อนโทษบางประการ ดังนี้
3.1 สโมสรฯ ขออุทธรณ์โทษตามข้อ 2.2 ให้งดใช้สนามเอสซีจี สเตเดี้ยม เป็นสนามเหย้าในทุกรายการที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จัดขึ้นเบื้องต้น เป็นจำนวน 5 นัดติดต่อกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2559 นั้น
เนื่องจากฤดูกาลนี้สโมสรฯ เหลือการแข่งขันที่ได้เล่นเป็นทีมเหย้าอีกเพียง 2 นัด คือ (1) ฟุตบอลเอฟเอคัพ พบกับชลบุรี เอฟซี ในวันที่ 21 กันยายน 2559 (2) ฟุตบอลโตโยต้า ไทย ลีก พบกับอาร์มี่ ยูไนเต็ด ในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้สโมสรฯ ได้ถูกการลงโทษห้ามเล่นในสนามเหย้าและให้มาเล่นในสนามเป็นกลางมาแล้ว 1 นัด คือในรายการโตโยต้า ไทย ลีก นัดที่พบกับบีบีซียู เอฟซี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559
ดังนั้น โทษห้ามใช้สนามเหย้าในอีก 3 นัดที่เหลือ จึงต้องไปเริ่มนับต่อเนื่องในฤดูกาล 2560 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสโมสรอย่างมาก เนื่องจากทีมฟุตบอลอาชีพมีรายได้หลักจากงบประมาณของผู้สนับสนุนทีม การไม่ได้เล่นในสนามเหย้าต่อเนื่องจนถึงการเปิดฤดูกาลหน้า อาจทำให้ผู้สนับสนุนลดงบประมาณในการสนับสนุนทีม สโมสรยังขาดโอกาสในการจำหน่ายบัตรเข้าชมและการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ซึ่งอาจทำให้สโมสรสูญเสียรายได้มหาศาลและประสบปัญหาสภาวะทางการเงิน
รวมถึงมูลค่าการตลาดของไทยลีกย่อมได้รับความเสียหายเช่นกัน ประกอบกับนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างคู่นี้เมื่อปี 2557 สนามเอสซีจี สเตเดี้ยม ก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้อีกเลย เนื่องจากสโมสรได้ยกระดับการป้องกัน ทั้งการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยกว่า 400 คน ในแต่ละนัดที่แข่งขัน จนได้รับการยอมรับให้เป็นสนามที่มีความปลอดภัยระดับต้นๆ ของเมืองไทย
อีกทั้งเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมในพื้นที่ของสโมสรฯ และสโมสรได้พยายามป้องกันตามแผนรักษาความปลอดภัยอย่างสุดความสามารถแล้ว
สโมสรจึงขออุทธรณ์ให้ลดหย่อนโทษในกรณีนี้ให้สิ้นสุดในนัดที่พบกับอาร์มี่ ยูไนเต็ด วันที่ 19 ตุลาคม 2559 ซึ่งเท่ากับสโมสรจะโดนลงโทษห้ามเล่นในสนามเหย้าของตัวเอง 3 นัด (นับรวมนัดที่พบกับบีบีซียู เอฟซี) โดยสโมสรฯ จะนำเสนอแผนรักษาความปลอดภัยต่อคณะกรรมการฯ เพื่อให้พิจารณา
3.2 สโมสรฯ ขออุทธรณ์โทษข้อ 1.2.1 ห้ามกองเชียร์สโมสรเอสซีจี เมืองทองฯ เข้าชมการแข่งขันในทุกนัดที่เหลืออยู่ที่สมาคมฟุตบอลฯ จัดการแข่งขันของฤดูกาล 2559 โดยขออุทธรณ์พิจารณาลดหย่อนโทษ ดังนี้
(1) ในรายการโตโยต้า ไทย ลีก 2016 หากเป็นนัดสุดท้ายที่สโมสรฯ สามารถคว้าแชมป์ได้ ในกรณีนี้ขอให้กองเชียร์เข้าชมการแข่งขันได้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศ เพราะภาพการคว้าแชมป์ย่อมปรากฎต่อทุกสื่อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและยิ่งใหญ่ของวงการแข่งขันฟุตบอลบ้านเรา โดยสโมสรพร้อมวางมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและเสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาเฉพาะในประเด็นนี้ ซึ่งแยกจากแผนรักษาความปลอดภัยในข้อ 3.1
(2) กรณีสโมสรได้เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย ในกรณีนี้สโมสรขอให้พิจารณาอนุญาตให้กองเชียร์สโมสรเข้าชมได้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศที่มีผู้ชมเต็มสนามย่อมปรากฎต่อทุกสื่อ และย่อมสร้างความพึงพอใจให้กับผู้สนับสนุนการแข่งขัน เพื่อสร้างบรรยากาศและเป็นเกียรติต่อวงการฟุตบอลไทย โดยสโมสรพร้อมวางมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและเสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาเฉพาะในประเด็นนี้
ข้อ 4. นอกจากนี้ สโมสรฯ ขอยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์และบทลงโทษที่เคยเกิดขึ้นกับบางกอกกล๊าส เอฟซี เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการฯ ลงโทษสโมสรฯ เกินสมควรเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ ในอดีต ดังนี้
4.1 การแข่งขันระหว่าง บางกอกกล๊าส เอฟซี กับ การท่าเรือ เอฟซี รายการไทยลีก 24 ตุลาคม 2553 โดยเหตุการณ์ “เกิดขึ้นในบริเวณสนาม” ลีโอ สเตเดี้ยม สนามเหย้าของบางกอกกล๊าส ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย และมีผู้บริหารสโมสรบางกอกกล๊าสฯ ศีรษะแตก และมีทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก โดยสมาคมฟุตบอลฯ ได้สั่งลงโทษ ดังนี้
(1) ปรับเงิน บางกอกกล๊าสฯ 100,000 บาท และห้ามแข่งที่ลีโอ สเตเดี้ยม 3 นัด รวมถึงแฟนบอลห้ามเข้าชมเกมการแข่งขัน
(2) ปรับการท่าเรือฯ 133,000 บาท และห้ามกองเชียร์เข้าชมการแข่งขัน 4 นัด
4.2 การแข่งขันระหว่าง บางกอกกล๊าส เอฟซี กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ลีก คัพ รอบรองชนะเลิศ 26 กันยายน 2555 แฟนบอลเจ้าบ้านบางกอกกล๊าส ทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลบุรีรัมย์ จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องใช้น้ำฉีดเพื่อยุติเหตุการณ์ โดยเหตุการณ์นี้ “เกิดขึ้นในบริเวณสนาม” เช่นเดิม โดยสมาคมฟุตบอลฯ ได้สั่งลงโทษ ดังนี้
(1) ปรับเงินบางกอกกล๊าสฯ ทั้งหมด 80,000 บาท
(2) ปรับบุรีรัมย์ 50,000 บาท
ทั้งนี้ สโมสรฯ มีความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานการเชียร์ฟุตบอลไทย โดยการแยกแยะผู้ก่อเหตุวิวาทจากแฟนบอลทั่วไป เพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในอนาคต พร้อมดำเนินการตามมาตรฐานดูแลการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นในพื้นที่การดูแลของสโมสรฯ รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการชมและเชียร์อย่างสร้างสรรค์ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันของแฟนบอล จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดการปะทะกันเช่นนี้อีก ซึ่งจะสามารถยกระดับการเชียร์ฟุตบอลไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวงการฟุตบอลไทยต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ขอแสดงความนับถือ
นายรณฤทธิ์ ซื่อวาจา
ผู้อำนวยการสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
ข้อมูลจากแฟนเพจเฟสบุ๊ค Muangthong United FC.