รีเซต
จีซองถึงฮึงมิน : ทำไมนักเตะเกาหลีประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกว่าแข้งญี่ปุ่น | Main Stand

จีซองถึงฮึงมิน : ทำไมนักเตะเกาหลีประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกว่าแข้งญี่ปุ่น | Main Stand

จีซองถึงฮึงมิน : ทำไมนักเตะเกาหลีประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกว่าแข้งญี่ปุ่น | Main Stand
เมนสแตนด์
20 ตุลาคม 2563 ( 16:30 )
1.1K

หากพูดถึงนักเตะเอเชียที่ประสบความสำเร็จ บนเวทีพรีเมียร์ลีก “พัค จีซอง” อดีตผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ “ซน ฮึงมิน” ซูเปอร์สตาร์ที่ตะบันไปแล้ว 7 ประตู นำดาวซัลโวร่วมของลีก คือ สองนักเตะชื่อดังจากเกาหลีใต้ ที่ใครต่างนึกถึง 


 

แต่เมื่อคิดถึง แข้งชาวญี่ปุ่นที่ไปได้ดีกับลีกอังกฤษ กลับต้องใช้เวลาคิดกันอยู่นานว่า มีใครบ้าง เพราะส่วนใหญ่มักไปไม่ค่อยรอดกับฟุตบอลแดนผู้ดี 

ผลงานที่สวนทางกันของ นักเตะเกาหลี และ ญี่ปุ่น ในพรีเมียร์ลีก ถือเป็นเรื่องลึกลับที่หลายคนสงสัย ? ทั้งที่ 2 ชาติ ต่างเป็นมหาอำนาจฟุตบอลในโลกตะวันออก และมีความเก่งกาจไม่ห่างกัน แต่ทำไมความสำเร็จบนแดนผู้ดีถึงต่างกันเช่นนี้

คำตอบที่แฟนบอลสงสัย ซ่อนอยู่ในเส้นทางที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ จุดเริ่มต้นบนประเทศอังกฤษ, ความแตกต่างของนักเตะสองประเทศ และทิศทางในอนาคต เรื่องราวทั้งหมด สามารถบอกเล่าว่า ทำไมนักเตะเกาหลีใต้ จึงประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก มากกว่านักบอลญี่ปุ่น

 

เริ่มต้นดีมีชัย

ความสำเร็จของแข้งเกาหลีใต้ และความล้มเหลวของนักเตะญี่ปุ่นในพรีเมียร์ลีก มีจุดเริ่มต้นจากนักฟุตบอลคนแรกของทั้ง 2 ชาติ ที่เข้ามาบุกเบิกประเทศอังกฤษ แต่มีเส้นทางการค้าแข้งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นักเตะญี่ปุ่นคนแรกที่เข้ามาเล่นในพรีเมียร์ลีก คือ จุนอิจิ อินาโมโตะ มิดฟิลด์ดาวรุ่งจาก กัมบะ โอซากา ที่ย้ายสู่อาร์เซนอล ด้วยสัญญายืมตัวหนึ่งฤดูกาล ในซีซั่น 2001-02

สภาพร่างกายเปี่ยมความฟิต,พละกำลังเหลือล้น และเทคนิคยอดเยี่ยม นี่คือคำอธิบายที่สื่อญี่ปุ่นมอบให้แก่ อินาโมโตะ เมื่อบวกกับความจริงที่ อาร์แซน เวงเกอร์ เคยคุมทีมนาโกยา แกรมปัส ในช่วงกลางยุค 90’s หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าแข้งญี่ปุ่นรายนี้ จะเป็นนักเตะเอเชียรายแรกที่แจ้งเกิดในฟุตบอลอังกฤษ

โชคร้ายที่ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินาโมโตะในอาร์เซนอล คือ ม้านั่งสำรอง เขาได้โอกาสลงสนามเพียง 2 นัดในลีกคัพ และอีก 2 นัดในยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ส่งผลให้ อินาโมโตะ บอกลาไอ้ปืนใหญ่โดยไม่ได้ลงสนามในพรีเมียร์ลีก แม้แต่เกมเดียว

เหตุผลแท้จริงที่อาร์เซนอลดึงตัว อินาโมโตะ มาร่วมทีม จึงไม่ใช่เรื่องของฝีเท้า แต่เป็นเรื่องการตลาดที่ไอ้ปืนใหญ่ ต้องการยกระดับสโมสรสู่ตลาดโลกตามแนวคิดพหุชาตินิยม (multi-nationalism) 

การคว้าตัว อินาโมโตะ เข้าสู่ทีมในแง่การตลาดจึงประสบความสำเร็จมาก เพราะอาร์เซนอล ยังคงเป็นทีมฟุตบอลจากอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน

แต่หากมองเรื่องผลงานในสนาม อินาโมโตะ มีสถานะเป็นเพียง ซามูไรจอมพเนจร เขาย้ายสู่ฟูแล่มด้วยสัญญายืมตัว 2 ฤดูกาล ก่อนย้ายสู่เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ด้วยค่าตัว 2 แสนปอนด์ ในปี 2004 ภายใต้เงื่อนไขว่า จะจ่ายค่าตัวเมื่ออินาโมโตะ เมื่อได้ลงสนามให้กับสโมสรอย่างเป็นทางการ

อินาโมโตะ ไม่สามารถแทรกเป็นตัวจริงที่ เวสต์บรอมวิช ในปีแรก จึงถูกส่งไปยืมตัวกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ก่อนหวนมาช่วยทีมในฤดูกาล 2005-06 แม้จะยึดตำแหน่งตัวจริงเป็นผลสำเร็จ แต่ต้นสังกัดกลับตกชั้น อินาโมโตะ จึงย้ายไปอยู่กับกาลาตาซาราย ยุติเรื่องราวของนักเตะญี่ปุ่นคนแรกในพรีเมียร์ลีก เพียงเท่านี้

สวนทางกัน นักเตะเกาหลีใต้คนแรกที่ย้ายสู่ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก พัค จีซอง ที่ย้ายจากพีเอสวี สู่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 4 ล้านปอนด์ ในตลาดซัมเมอร์ ฤดูกาล 2005-06 

สถานะของ พัค จีซอง ต่างจากอินาโมโตะตั้งแต่ต้น กองกลางชาวเกาหลีใต้ ไม่ได้ย้ายสู่ถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ด้วยเหตุผลทางการตลาด แต่ย้ายมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขุนพลปีศาจแดง ที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต้องการใช้งานจริง ไม่ต่างจาก ยาป สตัม และรุด ฟาน นิสเตอรอย สองนักเตะรุ่นพี่ที่ย้ายจากพีเอสวี มาประสบความสำเร็จกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

“ผมต้องการแสดงถึงคุณค่าของผมกับยูไนเต็ด ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ไม่ใช่ในแง่ของกลยุทธ์การตลาดเจาะทวีปเอเชีย ผมไม่ได้ย้ายมาสู่อังกฤษด้วยเรื่องของธุรกิจ” พัค จีซอง ให้สัมภาษณ์ในวันเปิดตัวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ไอ้หนุ่มจากกรุงโซลแสดงให้เห็นว่าเขามีดีดั่งคำพูด ด้วยก้าวขึ้นมายึดตัวจริงของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ฤดูกาลแรก และลงสนามช่วยต้นสังกัดถึง 45 เกม 

แม้จะมีอาการบาดเจ็บรบกวนในฤดูกาลถัดมา พัค จีซอง มีส่วนร่วมกับทีมไม่น้อย จนช่วยทัพปีศาจแดงคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2006-07 มาครองได้สำเร็จ

พัค จีซอง กลายเป็นนักเตะเอเชียคนแรกที่ครองแชมป์ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ ชื่อของ จุนอิจิ อินาโมโตะ หวนกลับมาอีกครั้ง เพราะมิดฟิลด์ชาวญี่ปุ่น คือส่วนหนึ่งของอาร์เซนอลชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2001-02 แต่เนื่องจากไม่เคยลงสนามช่วยทีมสักเกม อินาโมโตะ จึงหมดสิทธิ์รับเหรียญทองพรีเมียร์ลีก ดั่ง พัค จีซอง

ความสำเร็จของพัค จีซอง และความล้มเหลวของอินาโมโตะ ทำให้ทีมฟุตบอลจากอังกฤษมองศักยภาพของนักเตะจาก 2 ชาติ แตกต่างกันตั้งแต่ต้น ในฤดูกาล 2006-07 มีนักเตะเกาหลีใต้ค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ถึง 4 คน คือ พัค จีซอง, อี ยองพโย, ซอล กีฮยอน และอี ดงกุก ขณะที่ไม่มีนักเตะญี่ปุ่นสักคนเดียว

 

ขยัน > เทคนิค

นักฟุตบอลจากแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ล้วนมีจุดเด่นแตกต่างกัน ผู้เล่นจากยุโรปขึ้นชื่อในเรื่องเทคนิค และแทคติก, แข้งจากลาตินอเมริกา สร้างชื่อจากความสามารถเฉพาะตัว เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และนักกีฬาแอฟริกัน ไม่มีอะไรยอดเยี่ยมไปกว่าพละกำลังแข็งแกร่ง

สำหรับนักเตะจากเอเชีย จุดเด่นของพวกเขาคงหนีไม่พ้น “ความขยัน” คุณสมบัติเหล่านี้เต็มเปี่ยมในตัวนักฟุตบอลเกาหลีใต้ ตั้งแต่รุ่นพี่อย่าง พัค จีซอง จนถึงซูเปอร์สตาร์รุ่นน้อง ซน ฮึงมิน แข้งจากดินแดนโสมขาวขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องความฟิต วิ่ง 90 นาทีไม่มีหมด

“นักเตะเกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องความมีวินัย, ทำงานหนักอย่างเหลือเชื่อ, เต็มไปด้วยความกล้าหาญ และกระหายที่จะก้าวเข้ามาเล่นในลีกยุโรป” เกราร์ด นัส ผู้จัดการทีมชาวสเปน ระดับยูฟ่า โปร ไลเซนส์ ให้ความเห็นถึงนักฟุตบอลจากเกาหลีใต้

ความขยันของ นักเตะเกาหลีใต้ มีรากฐานจากวัฒนธรรมของชาติ ที่สอนให้คนในสังคมรู้จักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ หรือ เคลีก ที่เน้นการเข้าปะทะ และความแข็งแกร่งของร่างกาย เนื่องจากคติการทำงานหนักที่ฝังอยู่ในตัวนักเตะชาวเกาหลีใต้ทุกคน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ พัค จีซอง จะมีฉายาว่า “พัคสามปอด” จากการวิ่งไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เช่นเดียวกับ ซน ฮึงมิน ที่ได้รับฉายาว่า “ซอนนี” มาจากความเร็วในการวิ่งของเขา จนถูกนำไปเปรียบเทียบกับ โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก ตัวละครชื่อดังจากเกมตระกูลโซนิค

สไตล์การเล่นที่เน้นความขยัน และไม่หวาดกลัวต่อการเข้าปะทะของนักฟุตบอลเกาหลีใต้ เข้ากันได้ดีกับรูปแบบของพรีเมียร์ลีก ทั้ง พัค จีซอง และ ซน ฮึงมิน แทบไม่ต้องปรับตัวกับฟุตบอลอังกฤษ พวกเขาย้ายมาแจ้งเกิดในฐานะตัวหลักของทีม ก่อนก้าวเป็นซูเปอร์สตาร์ของพรีเมียร์ลีก ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

ตรงกันข้าม นักเตะญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีจุดเด่นแบบเดียวกับเกาหลีใต้ แข้งจากแดนอาทิตย์อุทัยขึ้นชื่อในเรื่องของเทคนิค และความเข้าใจแทคติกที่เหนือกว่าชาติไหนในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นจึงส่งออกแข้งฝีมือดีสู่ยุโรปต่อเนื่องนานหลายปี แต่ไม่ว่านักเตะรายนั้นจะเก่งแค่ไหน พวกเขากลับล้มเหลวในอังกฤษ

ฮิเดโตชิ นากาตะ คือ ตัวอย่างที่ชัดเจน หนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นรายนี้ พิชิตกัลโช่ เซเรีย อา จากการลงเล่นให้กับเปรูจา, โรมา และปาร์มา เขาย้ายมาสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2005-06 เพื่อพบความล้มเหลวครั้งใหญ่กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส สโมสรสุดท้ายก่อนแขวนสตั๊ดของนากาตะ

สำหรับรุ่นน้องอย่าง ชินจิ คางาวะ เรื่องราวของเขาเลวร้ายยิ่งกว่า นักเตะรายนี้ย้ายจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สู่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงพีคของอาชีพ เมื่อฤดูกาล 2012-13 ด้วยค่าตัวเบื้องต้น 12 ล้านปอนด์ 

เมื่อบวกกับมันสมองของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แฟนปีศาจแดงทั่วโลกมั่นใจว่า คางาวะ จะประสบความสำเร็จไม่ต่างจาก พัค จีซอง

แน่นอนว่า คางาวะ ไม่เคยก้าวสู่จุดเดียวกับตำนานชาวเกาหลีใต้ เทคนิคอันแพรวพราวของคางาวะ ไม่ตอบโจทย์ฟุตบอลเกมรับของเดวิด มอยส์ เมื่อบวกกับปัญหาอาการบาดเจ็บที่ตามรังควาญไม่เลิก คางาวะยอมแพ้กับการค้าแข้งบนเกาะอังกฤษ และกลับคืนต้นสังกัดเก่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2014

ความล้มเหลวของเพลย์เมคเกอร์สัญชาติญี่ปุ่นในอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากเทียบกับฟุตบอลเท้าสู่เท้า และมีแทคติกเข้มข้นของเจลีก เมื่อเจอฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ให้ความสำคัญกับสภาพร่างกาย และการเข้าปะทะ นักเตะญี่ปุ่นเชิงสูงเหล่านี้ จึงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ดั่งนักเตะเกาหลีใต้

ทางกลับกัน นักเตะญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นเรื่องความขยัน อย่าง ชินจิ โอกาซากิ สามารถประสบความสำเร็จคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฐานะนักเตะตัวหลักของเลสเตอร์ ซิตี้ ฤดูกาล 2015–16 หรือ มายะ โยชิดะ ที่เทคนิคไม่ดี แต่ทดแทนด้วยความสามารถในการเข้าปะทะ สามารถยืนระยะเป็นกองหลังตัวจริงของเซาแธมป์ตัน ได้เช่นกัน

นักเตะจากเกาหลีใต้จึงประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก เนื่องจากแข้งโสมขาวแทบทั้งหมด ยืนพื้นในเรื่องความขยัน และพละกำลัง ขณะที่นักบอลญี่ปุ่น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้สไตล์การเล่นแบบนี้ พวกเขาจึงไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลอังกฤษเท่าที่ควร

 

อนาคตของสองชาติ

ความสำเร็จของ ซน ฮึงมิน กับท็อตแนม ฮอทสเปอร์ ทำให้ความสนใจของชาวเกาหลีใต้กับกีฬาฟุตบอล หลั่งไหลสู่พรีเมียร์ลีก ทุกวันนี้ การชมแมตช์แข่งขัน รวมถึงทัวร์สนามฟุตบอลในอังกฤษ คือหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ จากอิทธิพลของซน ฮึงมิน

“ซน ฮึงมิน เป็นที่รู้จัก และได้รับความรักจากชาวเกาหลีใต้ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนถึงคนแก่อายุ 70-80 ปี” อี ซองโม นักข่าว Goal Korea กล่าว

จากการข้อมูลของเว็บไซต์ Naver (Google ของเกาหลี) ทุกครั้งที่ซน ฮึงมิน ลงสนาม ชาวเกาหลีใต้ราว 3 แสนคน จะติดตามการแข่งขันผ่านทางอินเตอร์เน็ต และอีกราว 2 แสนคนผ่านโทรทัศน์ ยิ่งกว่านั้น หากเป็นการแข่งขันเกมใหญ่ จะมีผู้ชมถึงหลัก 1 ล้านคน

ความโด่งดังของ “เบ็คแฮมแห่งเกาหลี” ทำให้จุดหมายปลายทางของนักเตะชาวเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นที่ค้าแข้งในยุโรป, เกาหลีใต้ หรือแม้แต่แข้งเยาวชน ต่างต้องการประสบความสำเร็จแบบซน ฮึงมิน ด้วยการเป็นซูเปอร์สตาร์ที่อังกฤษ

“เขาคือนักเตะเกาหลีใต้ที่ดีที่สุดตลอดกาล พัค จีซอง นั้นยอดเยี่ยม แต่ ซน ฮึงมิน คืออีกระดับ เขาทำงานหนัก, เขายิงประตูได้ และเขาทุ่มเทเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์” จี มินกยู นักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้วัย 11 ที่อาศัยในกรุงลอนดอน กล่าวกับ CNN

“เขาคือตัวอย่างของสิ่งที่ผมเชื่อมั่น ‘การทำงานหนักย่อมชนะพรสวรรค์’ เมื่อผมเห็นในสิ่งที่ซนทำ มันทำให้ผมเชื่อมั่นว่าผมสามารถประสบความสำเร็จอย่างเขาได้”

ขณะที่เส้นทางของนักเตะเกาหลีใต้มุ่งสู่อังกฤษ นักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นกลับไม่ได้คิดแบบนั้น สำหรับชาวอาทิตย์อุทัย การค้าแข้งในยุโรปคือเป้าหมายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน หากอยู่ในทวีปยุโรป พวกเขาถือว่าประสบความสำเร็จ

ชุนสึเกะ นากามูระ กับ กลาสโกว์ เซลติก หรือ เคสึเกะ ฮอนดะ กับ เอซี มิลาน นี่คือตัวอย่างของนักเตะชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก แต่ไม่เคยเฉียดเข้าใกล้พรีเมียร์ลีก นั่นเพราะพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จ และได้ความรักจากแฟนฟุตบอลชาวญี่ปุ่น โดยไม่ต้องพึ่งความโด่งดังของฟุตบอลอังกฤษ

เมื่อมองที่นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน มีเพียงคนเดียวที่เล่นในพรีเมียร์ลีก คือ ทาคุมิ มินามิโนะ กับ ลิเวอร์พูล ในขณะที่ลีกประเทศอื่น ทั้ง เยอรมัน และ เบลเยียม มีนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นถึง 5 ราย รวมถึง เนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอยู่ 4 ราย คงบอกถึงแนวทางในอนาคตอย่างชัดเจนว่า นักเตะญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดความสำเร็จของตัวเองไว้กับฟุตบอลอังกฤษ

นักเตะชาวเกาหลีใต้ จึงเป็นหน้าตา และความภาคภูมิใจของชาวเอเชีย เมื่อพูดถึงนักฟุตบอลจากโลกตะวันออกในพรีเมียร์ลีก ยิ่งพิจารณาจากแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ดูเหมือนว่า เกาหลีใต้จะครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลอังกฤษ เหนือญี่ปุ่นไปอีกนาน

 

แหล่งอ้างอิง

http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/teams/w/west_bromwich_albion/3613890.stm
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/teams/m/man_utd/4080568.stm
https://www.soccerphile.com/soccerphile/news/korean-soccer/premier-koreans.html
https://www.goal.com/en-gb/news/2896/premier-league/2012/07/09/3230604/the-asian-pioneer-park-ji-sungs-groundbreaking-seven-years
https://thesefootballtimes.co/2016/12/05/the-muddled-history-of-japanese-footballers-in-the-premier-league/
https://thediplomat.com/2019/05/the-significance-of-son-heung-min-south-koreas-star-footballer/
https://edition.cnn.com/interactive/2019/04/sport/son-heung-min-tottenham-hotspur-sport-intl/
https://www.goal.com/story/korea-beckham-son/index.html
http://www.rafabenitez.com/web/in/blog/my-opinion-on-korean-football/44/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ไขข้อข้องใจจากหลักฐานการแพทย์ : “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก” ร้ายแรงถึงจุดจบนักกีฬาอาชีพ ? | Main Stand

>> เหตุใด ฮ่องกง และจีนไทเป จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน | Main Stand

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี