รีเซต
เริ่มที่แดนภารตะ : เจาะเคล็ดลับความสำเร็จอินเดีย ต้นตำรับแบดมินตันที่แท้จริง | Main Stand

เริ่มที่แดนภารตะ : เจาะเคล็ดลับความสำเร็จอินเดีย ต้นตำรับแบดมินตันที่แท้จริง | Main Stand

เริ่มที่แดนภารตะ : เจาะเคล็ดลับความสำเร็จอินเดีย ต้นตำรับแบดมินตันที่แท้จริง | Main Stand
เมนสแตนด์
16 สิงหาคม 2565 ( 22:00 )
789

การคว้าแชมป์ โธมัสคัพ แชมป์โลกประเภททีมชาย ของทีมชาติอินเดีย ที่ประเทศไทยในปี 2022 คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ... ทว่าหากให้เปรียบเทียบแชมป์รายการนี้คงเปรียบเสมือนลูกเชอร์รี่บนหน้าเค้กที่ทำให้เค้กก้อนนี้ดูโดดเด่นขึ้นเท่านั้น 

 


เพราะเบื้องหลังความสำเร็จและแชมป์โธมัสคัพของอินเดียคือความนิยมระดับที่มากอย่างเหลือเชื่อ เมื่อ แบดมินตัน คือกีฬาที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในชาติที่มีประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน  

หลายคนรู้ว่าพวกเขาบ้า คริกเกต เป็นอันดับ 1 เพราะเป็นกีฬาที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี แต่สำหรับ แบดมินตัน กีฬาชนิดนี้เข้ามาอยู่ในหัวใจของชาวอินเดียได้อย่างไร ? 

ติดตามเรื่องราวได้กับ Main Stand ที่นี่

 

การแลกเปลี่ยนระหว่าง คริกเกต และ แบดมินตัน 

ประเทศอินเดีย ในภาพจำของใครหลาย ๆ คนคงเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมที่โดดเด่นด้วยศาสนา ความเชื่อ เทพเจ้าต่าง ๆ ฯลฯ ทำให้อินเดียเป็นอีกหนึ่งในจุดหมายสำคัญของโลกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปแสวงบุญตามความเชื่อของตน

อย่างไรก็ตามเรื่อง "ความคลั่งไคล้ในกีฬา" ไม่ค่อยเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปจะนึกถึงอินเดียมากนัก ถึงกระนั้นอินเดียก็เป็นประเทศที่มีธุรกิจกีฬาอาชีพที่เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะ "คริกเกต" ที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในชาติที่เก่งสุดในโลกและเป็นกีฬาที่มีความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองแค่ ฟุตบอล ที่มีเงินสะพัดปี ๆ หนึ่งหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ 


Photo : IMDB

ในส่วนของคริกเกตนั้นอาจจะคุ้นหูคุ้นตาใครหลาย ๆ คน เพราะมันคือกีฬาประจำชาติของพวกเขาที่ไม่ได้ปรากฏและถูกนำเสนอในแง่ของการแข่งขันเท่านั้น แต่คริกเกตยังได้รับการนำเสนอผ่านสื่อโฆษณา มิวสิกวิดีโอ หรือภาพยนตร์ของอินเดียหลาย ๆ ช่องทาง โดยเฉพาะในหนังเรื่อง Lagaan (ชื่อไทย : แผ่นดินของข้า) ที่นำแสดงโดยดาราชายอันดับ 1 ของประเทศอย่าง อาเมียร์ ข่าน ที่ทำรายได้มหาศาล ณ ตอนที่ออกฉายเมื่อปี 2001 

ในเรื่อง Lagaan บอกเล่าถึงที่มาของคริกเกตว่าเกิดขึ้นสมัยที่กองทัพอังกฤษบุกเข้ายึดอินเดียเป็นประเทศราชในช่วงหลังจากปี 1800 เป็นต้นมา จากนั้นคริกเกตก็กลายเป็นที่นิยมในอินเดียขึ้นมา... 

เราอาจจะกล่าวถึงคริกเกตไปพอสมควร เหตุผลก็เพราะว่าคริกเกตเป็นกีฬาที่สวนทางกับแบดมินตันในช่วงเวลานั้น เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ คืออินเดียได้รับอิทธิพลการเล่นคริกเกตมาจากคนอังกฤษ ส่วนคนอังกฤษก็ได้รับอิทธิพลในการเล่นแบดมินตันมาจากอินเดียเช่นกัน 

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงหลังปี 1850 ที่เมือง Poona หรือ ปูเน่ (Pune) ณ ปัจจุบัน โดยเมือง ๆ นี้คือหนึ่งในเมืองที่กองทัพอังกฤษมาตั้งฐานทัพในช่วงเวลาที่พวกเขาเข้ามาปกครองอินเดีย และที่ Poona นั้นเองเหล่าทหารอังกฤษได้พบกับการละเล่นที่พวกเขาเรียกว่า "Battledore" หรือกีฬาที่ใช้ไม้พายตีลูกขนไก่ ที่กลายเป็นแบดมินตันในปัจจุบันนั่นเอง


Photo : nationalbadmintonmuseum

ทหารอังกฤษ เห็นเด็ก ๆ ในเมืองเล่นเจ้า Battledore อย่างสนุกสนานด้วยกติกาง่าย ๆ คือการตีลูกขนไก่ไปมาระหว่างผู้เล่น 2 คน และหากฝ่ายไหนสามารถตีลูกอยู่กลางอากาศโดยไม่ตกพื้นได้นานที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ชนะ ด้วยความง่ายแต่สนุกและแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่น ๆ ในอังกฤษนี้ พวกเขาจึงเริ่มชื่นชอบกีฬาชนิดนี้และเรียกมันว่า Poona ตามชื่อของเมือง ๆ นี้และเอามันกลับไปที่อังกฤษแล้วพัฒนาต่อจนกลายเป็น "แบดมินตัน"  

เหตุผลที่ คริกเกต ฮิตกว่า แบดมินตัน ในอินเดียนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของความผูกพันและความจริงจัง คริกเกตคือกีฬาที่อาจจะไม่ใช่ของชาวอินเดีย แต่พวกเขาก็ฝึกฝนและมีอดีตเกี่ยวกับคริกเกต จนมันถูกเรียกว่า "กีฬาสร้างชาติ" ยกตัวอย่างเช่นในหนังเรื่อง Lagaan ที่มีการเล่าว่าครั้งหนึ่งในช่วงปี 1880 ชาวอินเดียที่โดนปกครองโดยอังกฤษบอกกับประเทศที่ปกครองพวกเขาว่า "พวกเราไม่มีผลิตผลทางเกษตรเพื่อจ่ายภาษีอีกแล้ว" 

ฝั่งอังกฤษจึงยื่นข้อเสนอด้วยการท้าแข่งคริกเกต โดยบอกว่า "หาก อินเดีย ชนะ อังกฤษ พวกเขาจะยกหนี้ให้และไม่ต้องจ่ายภาษีไปอีก 3 ปี แต่ถ้า อินเดีย แพ้ พวกเขาจะต้องจ่ายภาษีเป็น 2 เท่า" การท้าครั้งนั้นทำให้ชาวอินเดียรวมกลุ่มกันเพื่อทวงความยุติธรรม และสุดท้ายพวกเขาก็เป็นฝ่ายชนะ ... นี่คือตัวอย่างความผูกพันระหว่างคริกเกตกับคนอินเดีย


Photo : nationalbadmintonmuseum

ขณะที่ แบดมินตัน นั้นเป็นกีฬาเพื่อความสนุกที่ไม่ได้แข่งกันจริงจังแต่เป็นเพียงความนิยมในหมู่เด็ก ๆ เท่านั้น และแม้คนอังกฤษจะเอาไปต่อยอดเป็นแบดมินตัน ในยุคแรกก็เป็นเพียงกิจกรรมในงานปาร์ตี้ของชนชั้นสูงเท่านั้น 

ดังนั้นเอง แบดมินตัน จึงเป็นกีฬาที่แอบ ๆ อยู่ในสังคมอินเดีย กล่าวคืออาจจะมีคนเล่นกีฬาชนิดนี้อยู่บ้างแต่ก็ไม่มีความสำเร็จระดับสูงที่ทำให้คนทั่วโลกหรือแม้กระทั่งคนอินเดียร้องอ๋อได้เมื่อนึกถึงกีฬาชนิดนี้ แบดมินตันจึงอยู่ในสถานะที่เป็นกีฬาของเด็ก ๆ มานานกว่าเกือบ 200 ปี จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุค 2000s การเปลี่ยนแปลงของคนอินเดียและแบดมินตันจึงได้เริ่มขึ้น และมันก็กลายเป็นกีฬาที่ท้าทายความนิยมของคริกเกตได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

จุดเปลี่ยนสำคัญ

แบดมินตัน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างของอินเดียมากขึ้นในช่วงปี 1980 เพราะมีนักกีฬาที่ชื่อ ปรากาช ปาดูโคน (Prakash Padukone) ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันชาวอินเดียคนแรกที่คว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ ศึกแบดมินตันรายการใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเมื่อปี 1980 และยังคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งแบดมินตันชิงแชมป์โลกได้ในอีก 3 ปีต่อมา 


Photo : PTI

ความสำเร็จของ ปาดูโคน ทำให้มุมมองของชาวอินเดียที่มีต่อแบดมินตันเริ่มไปไกลกว่าการละเล่นสนุก ๆ ของเด็ก ๆ ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมออกกำลังกายของชาวอินเดียทุกเพศทุกวัย ตามหัวเมืองใหญ่เริ่มมีสนามแบดทั้งแบบสาธารณะและแบบเช่าเล่นเป็นชั่วโมงเพิ่มมากขึ้น จากนั้นพวกเขาก็เริ่มสร้างนักกีฬารุ่นหลัง ๆ ตามมาอย่าง ปุลเลลา โกปิจันท์ (Pullela Gopichand) ที่คว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ ได้ในปี 2001

การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นำไปสู่บุคลากรในวงการที่มากขึ้น โดยเฉพาะทาง ปาดูโคน และ โกปิจันท์ นั้นหลังจากที่ประกาศเลิกเล่นก็ได้กลายเป็นนักกีฬาระดับไอดอลขวัญใจคนทั้งชาติ นอกจากนี้เขายังได้เริ่มเดินหน้าขอทุนจากรัฐและเอกชนเพื่อนำมาสร้างอคาเดมีสำหรับฝึกเด็ก ๆ เยาวชนในอินเดียอีกหลายแห่ง ซึ่งโรงเรียนฝึกสอนของพวกเขาก็ได้สร้างนักแบดมินตันที่สร้างอิมแพ็กต์ได้มากที่สุดในวงการแบดมินตันของอินเดียในเวลาต่อมา 

ที่อคาเดมีของโกปิจันท์ มีเด็กสาวคนหนึ่งชื่อว่า ไซนา เนห์วาล (Saina Nehwal) ปรากฏตัวขึ้น จากนั้นอินเดียก็ได้เจอกับหนึ่งในนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จที่สุดตั้งแต่การคว้าแชมป์แบดมินตันหญิงเดี่ยวระดับเยาวชนชิงแชมป์เครือจักรภพ จนมาถึงระดับเยาวชนชิงแชมป์โลกซึ่งทำได้ในปี 2008 ทั้ง 2 รายการ ก่อนจะพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นสตาร์ดังของวงการ และคว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกในปี 2015 เหรียญทองแดงโอลิมปิกปี 2012 และเป็นนักแบดมินตันหญิงคนแรกของอินเดีย ที่เคยขึ้นเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก

ถ้าให้คนไทยพอนึกภาพออกก็คงคล้าย ๆ กับช่วงเวลาที่ รัชนก อินทนนท์ หรือ เมย์ กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ในช่วงปี 2013 หลังคว้าแชมป์โลกหญิงเดี่ยวได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น ... เพียงแต่อย่าลืมว่านี่คืออินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน และหลังจากการพัฒนาวงการแบดมินตันหลังปี 1980 อินเดียมีคนที่สนใจแบดมินตันแบบจริง ๆ จัง ๆ "อย่างน้อย" 37 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของประเทศไทย ... คิดเอาแล้วกันว่ากระแสฟีเวอร์ ไซนา เนห์วัล ณ ตอนนั้นจะมากขนาดไหน 

ช่วงเวลานั้นมีการแข่งขันในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ยอดขายอุปกรณ์แบดมินตันก็ทะยานแตะหลักที่ต้องใช้คำว่าฟีเวอร์ จนถึงขั้นมีการจัดการแข่งขันแบดมินตันแบบลีกในประเทศชื่อว่า พรีเมียร์ แบดมินตัน ลีก (Premier Badminton League - PBL) ซึ่งตัวของ PBL นี่แหละคือการตอกย้ำถึงความก้าวหน้าของแบดมินตันในอินเดียได้อย่างแท้จริง 

เพราะหลังจากที่ ไซนา เนห์วาล ขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกได้ไม่นานนักก็มีรุ่นน้องที่สร้างปรากฏการณ์ระดับเดียวกันเพิ่มอีก 1 คนคือ พีวี สินธุ (P. V. Sindhu) นักแบดมินตันหญิงที่ได้รับฉายาว่าเด็กมหัศจรรย์ที่ไปไกลยิ่งกว่าที่ ไซนา เนห์วัล ทำได้ เพราะนอกจากจะคว้าเหรียญในโอลิมปิก 2 สมัย สินธุ ถึงขั้นคว้าแชมป์โลกในปี 2019 มาครองได้เลยทีเดียว และเป็นคนแรกจากอินเดียที่เคยคว้าแชมป์โลกได้อีกด้วย

จากเดิมกระแสของ เนห์วัล ที่ดีอยู่แล้วมาตีบวกเพิ่มโดยแชมป์โลกของ พีวี สินธุ อีก ไม่ต้องห่วงเลยว่าความนิยมจะพุ่งสูงขึ้นมากขนาดไหน Vikram Singh Bisht อดีตนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติอินเดีย ยอมรับว่าการคว้าแชมป์และสร้างชื่อเสียงของ เนห์วาล และ สินธุ คือการเปลี่ยนแปลงในแง่ของความนิยมอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนตอนนี้ก็มีแต่สนามแบดมินตันที่เต็มไปด้วยเด็ก ๆ รุ่นใหม่เต็มไปหมด 

"มันเป็นเรื่องที่สุดยอดมากเลยที่วงการแบดมินตันของอินเดียมาได้ไกลขนาดนี้ ตอนนี้คุณไปที่ไหนก็จะเห็นความแตกต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน แต่ก่อนนักแบดมินตันอินเดียจะต้องสาละวนไปกับการเก็บกระเป๋าเดินทางไปหารายการแข่งในต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้เรามีรายการต่าง ๆ ในประเทศให้ลงเล่นอย่างน้อย 15-16 รายการทุก ๆ ปี เห็นได้ชัดว่านักแบดมินตันตอนนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างรอบด้านเลย" Vikram Singh Bisht กล่าว

ทรัพยากรคนเยอะ การสนับสนุนจากภาครัฐดี มีเอกชนเข้ามาช่วยตลอดเวลา มีรายการให้แข่งอย่างต่อเนื่อง มีเงินรางวัลมากกว่าในอดีตเพื่อดึงดูดใจนักกีฬา และมีอคาเดมีรวมถึงสนามแบดมินตันผุดขึ้นเต็มไปหมด ... ทั้งหมดนี้มากพอที่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้นักแบดมินตันอินเดียประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าในอดีต และส่งผลต่อความนิยมจากแฟน ๆ ในประเทศอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้แบดมินตันอินเดียยังปรับเพดานบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนั้นเรียกว่า "โซเชียลมีเดีย"

 

สัมพันธ์กันหมด 

อินเดีย คือดินแดนแห่งโซเชียลมีเดียอย่างแท้จริง ปัจจุบันอินเดียมี ประชากรอินเทอร์เน็ต หรือประชากรที่เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตแล้วจำนวนประมาณ 205 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ตัวเลขนี้ยังคงเติบโตขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้อินเดียยังเป็นประเทศที่เก่งกาจด้านอิเล็กทรอนิกส์มาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะที่นครมุมไบซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในด้านการผลิตซอฟต์แวร์ทุกชนิด ดังนั้นการมีสมาร์ทโฟนเข้ามาจึงเป็นการต่อยอดที่สอดคล้องซึ่งกันและกัน จนที่สุดแล้วในปี 2019 ที่ผ่านมาอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 (รองจาก จีน) และแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย 

สิ่งเหล่านี้เกี่ยวอะไรกับแบดมินตันน่ะเหรอ ? ง่ายนิดเดียว เพราะทุกอย่างต้องการฮีโร่ และเมื่อเรื่องราวของฮีโร่ของพวกเขาถูกถ่ายทอดส่งถึงสมาร์ทโฟนของประชากรในประเทศได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาจะไม่เข้าถึงแบดมินตันได้อย่างไร ? 

นอกจากนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังช่วยให้ประชากรอินเดียเข้าถึงการแข่งขันแบดมินตันรายการต่าง ๆ ได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พวกเขาสร้างลีกแบดมินตันของตัวเองก็มียอดผู้ชมการถ่ายทอดสดลีกในประเทศ (ย้ำกว่าในประเทศ) ถึง 37 ล้านคนต่อ 1 แมตช์ ขณะที่ยอดขายตั๋วสำหรับเข้าชมเกมในสนามก็เฉลี่ยอยู่ที่แมตช์ละ 11,500,000 รูปี หรือราว ๆ  5 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้แค่ดึงดูดนักกีฬาอินเดียเท่านั้น แต่นักกีฬาแบดมินตันต่างชาติชื่อดังอย่าง แคโรลินา มาริน จาก สเปน และ ไท่ ซือ หยิง จาก ไชนีสไทเป ก็เคยมาแข่งขันใน PBL มาแล้ว 

เฟร์นานโด ริบาส ผู้ฝึกสอนของมาริน ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2018 ว่า ความนิยมของแบดมินตันในอินเดียถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโลก เรียกได้ว่าความสำเร็จของการจัดการแข่งขันลีกทำให้มีหลาย ๆ เมืองในประเทศนี้ต่อคิวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอยู่ตลอดเลยก็ว่าได้ 

เทคโนโลยีช่วยให้คนเข้าถึงเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น บวกกับความสำเร็จที่เด่นชัดที่สร้างฮีโร่ของประเทศ เมื่อประกอบกับบริบทของสังคมที่ชอบใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันอย่างพอดิบพอดี เรื่องนี้เราไม่ได้คิดไปเอง บีเค ซิงห์ ซีอีโอของบริษัท Dalmia Cement บริษัทที่สนับสนุนแบดมินตันในประเทศอินเดียตั้งแต่วันที่สร้างลีกจนถึงทุกวันนี้ ยังยอมรับว่าความนิยมมีผลอย่างมากต่อการสนับสนุนจากนักลงทุนอย่างเขา 

"แบดมินตันเป็นกีฬาที่มีผู้เล่นและผู้ติดตามมากที่สุดรองจากคริกเกตแล้ว กว่าจะมาถึงจุดนี้นั้นมีที่มา แบดมินตันจะดังได้ผู้คนต้องเห็นความสำเร็จระดับโลก และประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้" บีเค ซิงห์ กล่าว 

ตอนนี้ อินเดีย แสดงให้เห็นถึงอำนาจของความสัมพันธ์ระหว่างกีฬาและโซเชียลมีเดียซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมและความสำเร็จได้เป็นอย่างดี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์โธมัสคัพ 2022 พร้อมทำให้ชื่อของนักแบดมินตันชายอย่าง ลัคชยา เซน (Lakshya Sen), ซาทวิค สายราช รานกิเรดดี (Satwiksairaj Rankireddy), ชีรัค เชตตี (Chirag Shetty) ที่โด่งดังเคียงคู่กับ เนห์วาล และ สินธุ

บางทีนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นอีกครั้งของยุคทองแห่งแบดมินตันของอินเดีย เพราะไม่นานจากนี้เราอาจได้เห็นแชมป์โลกหน้าใหม่ หรือเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์แดนภารตะก็ได้ใครจะรู้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.news18.com/news/sports/badminton-never-had-it-so-good-future-of-the-game-in-india-is-indeed-heartening-4342151.html
https://economictimes.indiatimes.com/news/sports/badminton-is-most-flourishing-sport-in-india-future-also-bright-pullela-gopichand/articleshow/77053623.cms
https://economictimes.indiatimes.com/news/sports/badminton-has-grown-rapidly-and-the-challenge-now-is-keeping-up-with-its-own-success/articleshow/62700613.cms
https://en.wikipedia.org/wiki/Saina_Nehwal
https://www.kreedon.com/evolution-indian-badminton/
https://olympics.com/en/featured-news/indian-badminton-history-rules-players-sport-game
https://gulfnews.com/sport/badminton-now-second-most-popular-sport-in-india-after-cricket-vimal-kumar-says-1.66064632
https://www.iloveindia.com/sports/badminton/history.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ - ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี